แหงล่ะ เกลือมีรสเค็ม
แต่นอกจากจะอุดมไปด้วยเกลือแร่หรือโซเดียมที่จำเป็นต่อร่างกาย เกลือยังมีเรื่องอีกมากที่เราควรทำความเข้าใจให้ครบถ้วน เพราะมันดันโยงไปถึงเรื่องโรคร้ายที่น่ากังวลและสิ่งที่เราต้องระวัง
และนี่คือทางลัดที่สรุปแบบชัด ง่าย เข้าใจเลย

เกลืออะไรไม่เค็ม?
เพื่อให้ง่ายในการทำความเข้าใจ เราจะแบ่งเกลือออกเป็น 3 พวก พวกแรกคือเกลือเค็มทั่วไปอย่างเกลือสมุทรหรือเกลือสินเธาว์ที่เราคุ้นเคย พวกที่สองคือเกลือหวาน ที่มาในรูปของผงชูรสและเครื่องปรุงรสอื่นๆ ส่วนพวกที่สามคือเกลือจืด อันได้แก่เหล่าผงฟูในขนมอบ และสารกันบูดต่างๆ

เกลือทั้งสามพวกนี้มี โซเดียม ซึ่งร่างกายต้องใช้ในการควบคุมความสมดุลของของเหลวในร่างกาย รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ และช่วยให้ประสาท กล้ามเนื้อ และการดูดซึมสารอาหารในไตและลำไส้เล็กทำงานได้ดี แปลง่ายๆ ว่าร่างกายขาดโซเดียมไม่ได้!

ไม่ต้องง้อเกลือ
ในเกลือมีโซเดียมก็จริง แต่ในอาหารเกือบทุกชนิดก็มีโซเดียมอยู่ในปริมาณต่ำๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผักกาดขาว แตงกวา เนื้อหมู เนื้อปลา นมสด ไข่ต้ม ถั่ว และผลไม้ต่างๆ ต่อให้ไม่กินเกลือเลยสักเหยาะ ร่างกายก็ไม่ขาดโซเดียมหรอก

จัดจนเจ็บ
แต่ คนไทยติดรสจัด ชอบความเค็ม เลิฟความนัว เราจึงบริโภคโซเดียมเกินกว่าที่ร่างกายต้องการถึง 2 เท่า อันก่อให้เกิดโรคร้ายน่ากังวลใจอย่าง โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เส้นเลือดในสมองแตกเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคกระดูกพรุน และมะเร็งในกระเพาะอาหาร!!! (มันอันตรายจนต้องขอใส่เครื่องหมายตกใจหลายๆ ตัว)

โซเดียมเหี้ยมยังไง
จำเป็นต่อร่างกายอยู่ดีๆ แต่ก็ทำร้ายร่างกายได้หากมีมากไป เพราะคุณสมบัติของโซเดียมคือการดูดน้ำในร่างกาย สังเกตง่ายๆ เวลาเรากินอาหารที่มีรสเค็มหรืออาหารที่ใส่ผงชูรสมากๆ เราจะรู้สึกหิวน้ำ เพราะโซเดียมดูดน้ำเข้าไปมากกว่าปกติ ซึ่งเมื่อดูดมากๆ เข้า น้ำในเส้นเลือดก็มีมากขึ้นในขณะที่หลอดเลือดยังกว้างเท่าเดิม เมื่อมันไหลไม่สะดวก ความดันในเลือดก็จะสูงขึ้น มากเข้าก็อาจทำให้เส้นเลือดโป่ง ปวดหัว หนักเข้าอาจถึงขั้นเส้นเลือดแตกจนเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ส่วนไตที่ต้องทำหน้าที่ขับโซเดียมออกจากร่างกาย ก็จะต้องทำงานหนัก โอเวอร์โหลดเมื่อไหร่ก็พังได้ทุกเมื่อ นั่นจึงเป็นเหตุและผลที่ทำให้เราต้องระวังตัว ระวังไต

โควต้าความเค็ม
ร่างกายต้องการโซเดียมแค่ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือแค่ 5 กรัมเอง เทียบง่ายๆ คือเกลือ 1 ช้อนชาเท่านั้น
แต่ถ้าใครไม่ได้ทำอาหารกินเอง อย่าลืมว่าแม่ค้าเหยาะน้ำปลา กะปิ ซีอิ๊ว ซอสปรุงรสไปไม่ไม่ยั้งเรียบร้อยแล้ว ถ้าต้องกินอาหารนอกบ้าน งดราดน้ำปลาพริกหรือเหยาะซอสน่าจะปลอดภัยกว่า ส่วนอาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง หรืออาหารกึ่งสำเร็จรูปแสนสะดวกต่างๆ มักจะมีปริมาณโซเดียมมากถึงมากที่สุด หลีกเลี่ยงได้เป็นดี เช่นเดียวกับขนมกรุบกรอบ ขนมอบที่เติมผงฟู และอาหารที่ใส่สารกันบูด ก็มีโซเดียมหนักข้อเช่นกัน

ปรุงอร่อย ไม่ง้อเกลือ
การลงมือทำอาหารเองเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย ห่างไกลโซเดียม เพราะเราควบคุมปริมาณได้ง่ายกว่า แต่ถ้ากลัวจืดชืดและไม่อร่อย แนะนำให้อาศัยรสชาติจากวัตถุดิบอย่างหอมใหญ่ หอมแดง พริกไทย และสมุนไพรต่างๆ ช่วยให้อาหารรสจัดจ้านขึ้นได้โดยไม่ต้องเหยาะและปรุง แม้ช่วงแรกๆ จะยังไม่ชิน แต่ถ้าใช้เวลาสัก 1 สัปดาห์ รับรองว่าลิ้นที่เคยรับบทหนักจะค่อยๆ ปรับตัวและรับรู้รสชาติที่แท้จริงได้ดีขึ้นด้วยนะ