ถ้าพูดถึงปฏิทิน เราคงนึกถึงปฏิทินที่ทำเป็นตารางใช้สำหรับดูวัน เดือน ปีที่หมุนเวียนผ่าน แต่ปฏิทินฉบับนี้ มีหน้าตาแตกต่างออกไป เพราะมันมาด้วยรูปแบบของภาพประกอบเหล่าพืชผักอันแปลกตา ซึ่งบอกเล่าผ่านฤดูกาลในไร่หมุนเวียน

“คำว่าไร่หมุนเวียน หลายคนมักจะเข้าใจผิด คิดว่ามันคือไร่เลื่อนลอย คิดถึงชาวเขาเผาป่า ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ เหมือนชาวเขากลายเป็นแพะ ว่าเขาเป็นคนที่ทำร้ายสิ่งพวกนี้”

มิ้น-ธัญญพร จารุกิตติคุณ นักวิจัยการออกแบบและพัฒนาโครงการนี้ บอกเราขณะที่กำลังเล่าถึงที่มาของ ‘Seasonal Calendar’ หรือ ‘ปฏิทินฤดูกาลในไร่หมุนเวียน’ หนึ่งในสื่อที่สร้างขึ้นมาเพื่อนำเสนอข้อมูลของผลผลิตในไร่หมุนเวียนแต่ละเดือน เพื่อให้ชุมชนรู้จักวางแผนการปลูกผลผลิต รวมถึงสื่อสารให้คนภายนอกเข้าใจไร่หมุนเวียนมากขึ้นอีกด้วย

ไร่หมุนเวียนกับความเข้าใจผิด

ไร่หมุนเวียน มักถูกเข้าใจผิดมาโดยตลอดว่าคล้ายไร่เลื่อนลอยและคือการทำลายป่า แต่จริงๆ แล้วแนวคิดของไร่หมุนเวียนคือระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ที่สร้างขึ้นจากภูมิปัญญาของชาวปกาเกอะญอผู้ใช้ชีวิตบนพื้นที่สูง ซึ่งเป็นการเพาะปลูกในพื้นที่หนึ่ง ช่วงเวลาหนึ่ง แล้วย้ายไปปลูกในพื้นที่ใหม่ เพื่อให้ดินได้ฟื้นความอุดมสมบูรณ์ แล้วจึง ‘หมุนเวียน’ กลับมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่แห่งเดิมในช่วงระยะเวลา 5-7 ปี

หนึ่งในชาวบ้านในชุมชนปกาเกอะญอที่พยายามสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับไร่หมุนเวียนมาเสมอ คือ จั๊มพ์-ณัฐดนัย ตระการศุภกร ชาวปกาเกอะญอรุ่นใหม่ และนักพัฒนาชุมชนที่มีองค์ความรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นทางอาหารในไร่หมุนเวียน จั๊มพ์ได้เข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่ม ‘Slow Food Youth Network Thailand’ เครือข่ายเยาวชนที่สนใจในเกษตรกรรม ความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงทางอาหาร และได้มาเจอกับมิ้น ทั้งคู่จึงเกิดไอเดียในการนำแนวคิดของกระบวนการเชิงออกแบบมาปรับใช้เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่

สิ่งแรกๆ ที่พวกเขาทำด้วยกัน คือการออกแบบประสบการณ์การเดินทางในไร่หมุนเวียนที่ อ. หินลาดใน จ. เชียงราย โดยสร้างทริปที่พาเชฟ อาจารย์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม และคนที่สนใจเรื่องออร์แกนิก ไปเดินสำรวจไร่หมุนเวียน รวมทั้งเก็บพืชผลที่เกิดขึ้นในบริเวณนั้น เพื่อให้เห็นภาพของความหลากหลายของพืชผลที่เกิดขึ้น ซึ่งจากประสบการณ์ที่ได้ในทริปครั้งนั้น ทางโครงการก็มีการต่อยอดด้วยการให้ผู้ร่วมทริปได้ช่วยการร่วมสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากผลผลิตของชุมชน เช่น น้ำผึ้ง ผงปรุงรส รวมถึงร่วมคิดค้นเมนูอาหารที่แปลกใหม่ร่วมกับชาวบ้าน

“ทริปนั้นสนุกดี ทุกคนมีส่วนร่วมมาก หลังจากจบงานนั้น เรากับจั๊มพ์ก็เลยคุยกันว่า นอกจากเราจะชวนให้คนมาสัมผัสไร่หมุนเวียนจริงๆ เราจะทำยังไงให้คนรู้สึกเข้าถึงเรื่องนี้ได้ง่ายมากขึ้น ซึ่ง Seasonal Calendar คือหนึ่งในงานออกแบบที่เราคิดว่าจะช่วยให้คนเข้าใจไร่หมุนเวียนได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงชุมชนชาวปกาเกอะญอ”

เดือนนี้มีผักอะไร

“ที่จริงแล้ว Seasonal Calendar คือองค์ความรู้ที่น่าจะมีอยู่แล้วในอดีต เป็นเครื่องมือของชนเผ่าที่เป็นเกษตรกร ใช้สื่อสารกันในชุมชนว่าในแต่ละฤดูกาลเหมาะสมกับการปลูกพืช ผักอะไร จะได้วางแผนการผลิตได้”

จากเครื่องมือที่ใช้กันเฉพาะกลุ่ม ทั้งคู่ออกแบบ Seasonal Calendar นี้ขึ้นเพื่อสื่อสารกับลูกค้าที่จะมารับผักของชุมชนและผู้บริโภค ให้รู้จักและเข้าใจว่าพืชผักแต่ละชนิดในชุมชนออกผลผลิตในฤดูกาลใด ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นปฏิทินฤดูกาลอย่างที่เห็น มิ้นและจั๊มพ์ลงไปทำงานร่วมกับเยาวชนในชุมชนปกาเกอะญอ 5 ชุมชน จาก 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านห้วยหินลาดใน จ. เชียงราย หมู่บ้านขุนแม่หยอด จ. เชียงใหม่ และหมู่บ้านแม่ลายเหนือ จ. แม่ฮองสอน โดยใช้เวลาในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากท้องถิ่นนานถึง 2 ปี เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เห็นถึงความหลายหลายของพืชพันธ์ุต่างๆ ซึ่งสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าจากระบบเกษตรกรรมแบบยั่งยืนของไร่หมุนเวียนได้อย่างครบถ้วน

“พืชผลจะออกดอก ออกผลให้กินได้ในแต่ละช่วงเวลาที่เหมาะสม ตามสภาพแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ ซึ่งปฏิทินฤดูกาล ก็เป็นเหมือนสื่อที่ทำให้ทั้งคนปลูก คนกิน เข้าใจว่าในแต่ละช่วงฤดูกาลมีพืชผักผลไม้อะไร แล้วเราควรบริโภคอะไรในช่วงฤดูกาลไหน”

กินหลากหลาย คือความมั่นคง

นอกจากจะสื่อสารว่าในเเต่ละเดือนมีพืชผักใดบ้าง ปฏิทินฤดูกาลยังแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงทางอาหารที่เกิดขึ้นในไร่หมุนเวียน พืชพันธ์ุท้องถิ่นหลากหลายสายพันธ์ุสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่ชุมชนรักษาไว้ ซึ่งตรงกันข้ามกับคนเมืองในปัจจุบัน เรามักกินตามความอยากของตนเอง ส่งผลให้เกษตรกรเลือกผลิตอาหารเพื่อสนองความต้องการของคนกิน ไม่ใช่จากวัตถุดิบจริงๆ ที่พื้นถิ่นมี ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวิธีการปลูก ใช้สารเคมีมากขึ้น หันมาปลูกแบบเชิงเดี่ยวเพื่อให้ได้ผลผลิตอย่างใดอย่างหนึ่งในปริมาณที่เยอะ ซึ่งทำลายทั้งระบบนิเวศและความหลากหลายทางอาหาร

“พฤติกรรมเลือกบริโภคอะไรบางอย่างมากเกินไป จะทำให้สิ่งเหลืออยู่ถูกหลงลืม เกษตรกรก็มุ่งปลูกอย่างเดียว จนทำให้พืชหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ค่อยๆ สูญพันธ์ุ แล้วเราก็เลือกกินไม่ได้อีกต่อไป แต่ถ้าเราเลือกกินอย่างหลากหลาย ก็จะทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร เพราะเราจะมีทางเลือกในการกิน เราจะรู้ว่าอนาคตมีอะไรที่กินได้” มิ้นเล่า

“ความมั่นคงทางอาหาร คือการที่ทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงอาหารที่ดีได้ ซึ่งมันดีต่อสุขภาพของเรา ขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ต่อความหลากหลายทางวัตถุดิบ ทำให้พืชผลเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นไปตามระบบนิเวศที่ควรจะเป็น ไม่ใช่เราไปกำหนดว่ามันควรจะเป็นแบบไหนตามความต้องการบริโภคของเรา”

ปฏิทินที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้

ปฏิทินฤดูกาลในไร่หมุนเวียนนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น มิ้นบอกกับเราว่าถ้าเป็นไปได้ ในอนาคตเธอก็อยากให้มีปฏิทินเวอร์ชั่นอื่นๆ เกิดขึ้นมาอีก

“เราไม่ได้จำกัดว่าปฏิทินฤดูกาลจะต้องเป็นเรื่องของไร่หมุนเวียนเท่านั้น อาจจะเป็นเรื่องพืชสมุนไพร หรือว่าเป็นพืชผลปกติทั่วไปที่เราเห็นตามตลาด แต่ต้องทำให้คนเข้าใจได้ดีขึ้นว่าเขาควรกินสิ่งนี้ในเดือนไหน ซึ่งถ้าใครมีองค์ความรู้ มีข้อมูล และมีความสามารถในการสื่อสาร ก็สามารถสร้างมันออกมาได้ ไม่จำเป็นว่าเราเท่านั้นต้องเป็นคนทำ”

ใครอยากสนับสนุน สามารถหาซื้อปฏิทินฤดูกาลในไร่หมุนเวียน ได้ที่บูทของกลุ่ม ‘สำรับสำหรับไทย’ ในงาน BANGKOK ART BOOK FAIR ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY วันที่ 6-9 กันยายนนี้

ภาพถ่าย: สุทธิภา คำแย้ม

ผู้จัดทำปฏิทินฤดูกาล
ผู้นำเยาวชนปกาเกอะญอ: จั๊มพ์-ณัฐดนัย ตระการศุภกร
นักวิจัยการออกแบบและพัฒนาโครงการ: มิ้น-ธัญญพร จารุกิตติคุณ
พ่อครัว: ปริญญ์ ผลสุข
ภาพประกอบ: สุทธิภา คำแย้ม
ออกแบบ: สตูดิโอ 150