เราออกไปช่วยโลกกันเถอะ! ทั้งปลูกป่า พกถุงผ้า ใช้รถโดยสารสาธารณะ กินผักออร์แกนิก แต่หลายคนอาจจะไม่เคยล่วงรู้ว่าพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงซ้อนอยู่ในตู้เสื้อผ้าเรานี่เอง

​จะเดินทางไปไหนมาไหนเราก็มักจะเห็นเสื้อผ้าวางขายอยู่แทบทุกที่ ตั้งแต่ปั๊มน้ำมัน ตลาดชุมชน ตลาดนัด ยันห้างหรู แฟชั่นทุกวันนี้เรียกได้ว่ามาเร็วไปเร็ว หรือ Fast Fashion เราตัดสินใจซื้อเสื้อผ้ากันง่ายมากเพราะว่าเสื้อผ้ามีราคาถูกแสนถูก บางครั้งคิดว่าซื้อมาใส่เล่นๆ ยังคุ้มเลย พร้อมกันนั้นในหัวของคุณก็เริ่มหาเหตุผลร้อยแปดมาสนับสนุนการซื้อนั้น อาจจะเป็นเสื้อผ้าตัวเก่าใส่จนเบื่อแล้ว หรือถ้าจะโละไปก็ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวเอาไปหย่อนลงกล่องบริจาคให้คนอื่นรับไปใช้ต่อได้อีก

แต่คุณรู้ไหม? อุตสาหกรรมแฟชั่นจัดเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมลภาวะเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอุตสาหกรรมน้ำมัน ในแต่ละปีมีเสื้อผ้าผลิตออกมามากถึง 80,000,000,000,000 ตัว และเสื้อผ้าปริมาณ 2 ล้านตันถูกส่งไปทิ้งที่หลุมฝังกลบทุกปี สำหรับคนไทยเองกว่า 58% มีการซื้อเสื้อผ้าใหม่ทุกเดือนอย่างน้อย 1 ชิ้นและแนวโน้มมูลค่าการซื้อเสื้อผ้ายังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี

ไม่ใช่เพียงปริมาณมหาศาลของอุตสาหกรรมแฟชั่นเท่านั้น แต่เสื้อหนึ่งตัวยังครอบคลุมถึงทรัพยากรอื่นๆ อีกมากมาย

• สารเคมีที่ใช้ในการผลิต: 25% ของสารเคมีที่ผลิตทั่วโลกถูกใช้ในอุตสาหกรรมนี้

• การใช้น้ำปริมาณมหาศาลในการแปรรูปเส้นใย: น้ำ 2,500 ลิตร ถูกใช้ในการผลิตเสื้อยืดหนึ่งตัว และ 8,000 ลิตรสำหรับการผลิตกางเกงยีนส์

• พลังงานในการผลิตรวมถึงพลังงานในการขนส่งสินค้าไปทั่วโลก

• ปัญหาด้านแรงงานเด็ก การถูกกดขี่ ค่าแรงที่ไม่เป็นธรรมหรือมีสภาพการทำงานที่ไม่ถูกสุขอนามัย

แฟชั่นเนิบช้า (Slow Fashion หรือ Sustainable Fashion) จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อทัดทานและเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมแฟชั่นกระแสหลัก โดยเน้นการผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีทั้งในขั้นตอนการปลูกและกระบวนการแปรรูป รวมถึงการผลิตสินค้าที่คงทนแข็งแรงเพื่อยืดอายุการใช้งาน slow fashion ไม่เพียงคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงการดูแลสวัสดิภาพแรงงานและค่าแรงที่เป็นธรรมอีกด้วย

แม้ว่าออกจะฟังดูโลกสวยและเชยๆไปซักหน่อย แต่ slow fashion ก็มีดีไซด์ที่เก๋ไก๋และแซ่บได้เหมือนกัน หนึ่งในผู้นำวงการ slow fashion ตัวแม่อย่าง เอ็มม่า วัตสัน ก็ได้อวดโฉมให้เราดูอย่างต่อเนื่องผ่าน Instagram ของเธอ พร้อมทั้งอธิบายรายละเอียดการผลิตของเสื้อผ้าแต่ละชิ้นที่สวมใส่อีกด้วย

“เสื้อโค้ทผลิตจากแบรนด์ StellaMcCartney ซึ่งเป็นยี่ห้อดังที่ได้ให้คำมั่นว่าจะไม่ผลิตเสื้อผ้าาจากหนังสัตว์ และใช้เป็นแบรนด์ทุ่มเทให้กับการพัฒนาวัสดุอื่นๆ เช่น เส้นใยรีไซเคิล ผ้าฝ้ายออร์แกนิก ส่วนเสื้อด้านในเป็นผ้าที่ผลิตมาจากเส้นใยไผ่ธรรมชาติ ผลิตโดยการออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์สามมิติจึงไม่มีส่วนของผ้าที่เหลือทิ้ง”

​อีกหนึ่งแคมเปญท้าทายที่ได้รับการกล่าวถึงทั่วโลกอย่างยี่ห้อ Patagonia ที่ติดป้ายบนเสื้อคลุมไว้ว่า ‘Don’t Buy This Jacket’ เพื่อเป็นการสื่อสารกับผู้ซื้อว่าคุณไม่ควรบริโภคเกินความจำเป็น ถ้าคุณมีเสื้อคลุมในลักษณะเดียวกันอยู่แล้วคุณก็ไม่ควรซื้อมันอีก เพราะทุกขั้นตอนการผลิตได้ทิ้งร่องรอยของสารเคมีและคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับโลกใบนี้ รวมถึงแนะนำให้ผู้ซื้อซ่อมแซมเสื้อผ้าเก่าและส่งต่อเสื้อผ้าเหล่านั้นโดยไม่นำไปทิ้งอีกด้วย

ในเมืองไทยเองอาจจะยังไม่มีแบรนด์ที่ประกาศตัวเป็น slow fashion อย่างเต็มรูปแบบ แต่จริงๆ ก็มีร้านค้าที่เข้าข่าย slow fashion อยู่ไม่น้อย เพียงแต่ผู้ซื้ออาจจะต้องทำการบ้านอีกนิด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกซื้อเสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าฝ้ายธรรมชาติ การย้อมครามโดยที่ไม่ใช่สารเคมีสังเคราะห์ สนับสนุนสินค้าท้องถิ่น และที่สำคัญคุณควรจะรักในสิ่งที่คุณซื้อ เลือกเสื้อผ้าที่ตัดเย็บอย่างใส่ใจ สามารถสวมใส่ได้บ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

ไม่ว่าป้ายลดราคาหรือภาพนางแบบจะยั่วยวนใจแค่ไหนก็ตาม…จงเข้มแข็งเข้าไว้ อย่าลืมว่าพลังการเปลี่ยนแปลงอยู่ในมือคุณ