หนึ่งในหัวใจของการสร้างแบรนด์ และการทำการตลาดให้ประสบความสำเร็จ คือการรู้จักตัวตนที่แท้จริงของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ว่าเขาหรือเธอเป็นใคร มีนิสัยใจคอเป็นอย่างไร มีความเชื่อหรือสนใจในสิ่งไหน อะไรคือคุณค่าหรือเขาให้คุณค่ากับอะไรในชีวิต ฯลฯ เพื่อที่จะได้สื่อสาร หรือทำกิจกรรมทางการตลาดถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง และนำมาใช้ในการวางแผนการตลาดได้อย่าง ตอบโจทย์ ตรงเป้า โดนใจ.

การค้นหาตัวตนของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย หรือ Customer Persona จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำแบรนด์ และการตลาดที่ตอบโจทก์อย่างยิ่ง ยิ่งการทำแบรนด์หรือการทำการตลาดแบบยั่งยืน ซึ่งลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มเฉพาะเจาะจงยิ่งไปอีก การรู้จัก Persona ของลูกค้าจึงเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของความสำเร็จเลยทีเดียว หลายธุรกิจหลายแบรนด์คงยังมีข้อสงสัยว่า ลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้บริโภคยั่งยืนเป็นใคร มีอยู่จริงไหม และพวกเขาต้องการอะไรจากแบรนด์กันแน่?

ในงานประชุมนานาชาติ ด้านความยั่งยืนของแบรนด์ ครั้งที่ 7 ‘SB 22 Asia Pacific: Brands for Good #buildbackbetter’ ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2022 นอกจากทุกคนจะได้ร่วมฟังแนวคิดและแนวปฏิบัติจากกูรูระดับโลกด้านความยั่งยืน และชมการนำเสนองานวิจัยศึกษาการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในวิถีของความยั่งยืน หรือ Socio-Cultural Trend Tracker เพื่อทำความเข้าใจผู้บริโภคในมุมของความยั่งยืนให้มากขึ้นแล้ว ในวันที่ 25 ยังมี ‘Thai Sustainable Consumer Persona Workshop’ เวิร์กช็อปสำหรับนักการตลาด นักสื่อสาร นักธุรกิจ ที่สนใจเรื่องความยั่งยืน จะมาช่วยกันระดมความคิดและกำหนดภาพชัดของผู้บริโภคคนไทยแบบยั่งยืนกันอย่างสร้างสรรค์ แบบที่ไม่เคยทำมาก่อนด้วย 

ขนิษฐา (นุชชี่) ตั้งวรพจน์วิธาน นักวางกลยุทธ์เรื่องการสื่อสาร (IMC strategist) และผู้เชี่ยวชาญด้านความเข้าใจผู้บริโภคแบบลีกซึ้ง (Consumer Insight Expert) หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังเวิร์กช็อปครั้งนี้ เล่าถึงความสำคัญในการกำหนด Thai Sustainable Consumer Persona หรือผู้บริโภคคนไทยที่อยากมีวิถียั่งยืนว่า 

ธีมของงาน SB 22 Asia-Pacific ปีนี้คือ Brands for Good #buildbackbetter และ Brands for Good เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับนักการตลาด ในการช่วยสนับสนุนผู้บริโภคเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน ผ่านพฤติกรรมของผู้บริโภคที่อยากจะมีไลฟ์สไตล์แบบยั่งยืนว่าเขามีนิสัยใจคอยังไง ใน 9 พฤติกรรมที่อยู่ใน ‘The Nine Most Impactful Behaviors’ และพวกเขาอยากให้แบรนด์หรือธุรกิจทำอะไร สร้างอะไรไรบ้าง เพื่อสนับสนุนให้เขามีวิถีชีวิตที่ยั่งยืนได้

เวิร์กช็อป ‘Thai Sustainable Consumer Persona Workshop’ เป็นส่วนหนึ่งในเครื่องมือของ Sustainable Brands® ที่ชื่อว่า ‘Pull Factor Workshop’ ที่จะทำให้ฝ่ายการตลาดและฝ่ายพัฒนาแบรนด์ได้ดึงเอาปัจจัยต่างๆ ของผู้บริโภคที่อยากมีวิถียั่งยืน ว่าจาก 9 พฤติกรรมนั้นแต่ละประเทศมีพฤติกรรมด้านไหนที่เด่นชัดที่สุด แล้วระดมสมองคิดกลยุทธ์ทางการตลาดร่วมกัน เป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้นักสร้างแบรนด์และผู้บริโภคสามารถร่วมกันสร้างการดำเนินชีวิต สร้างไลฟ์สไตล์ สร้างสังคมและโลกอนาคตที่ยั่งยืนได้ พูดง่ายๆ คือจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราเอาเรื่อง ESG (Environmental Social & Governance) มาใช้ในการสร้างแบรนด์อย่างสร้างสรรค์ลงตัว

สำหรับเมืองไทยนั้น ผลการศึกษาการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในวิถีของความยั่งยืน ที่นำเสนอโดยดร.ดั่งใจถวิล อนันตชัย ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าผู้บริโภคคนไทยมีความพร้อมและอยากจะมุ่งสู่วิถียั่งยืน ด้วยคะแนนจากการสำรวจพฤติกรรมที่โดดเด่นทั้งกลุ่ม Choose Nature-Friendly ที่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มคนที่หันมาบริโภคอาหารแบบวีแกนในกลุ่ม Eat More Plants และอื่นๆ อย่าง Support Women and Girls, Be  Energy Smart แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะทำแบรนด์ก็ยังต้องค้นให้เจอว่า ตัวตนของคนเหล่านี้แท้จริงแล้วเขาอยู่ตรงไหน หน้าตาเป็นยังไง ไลฟ์สไตล์ความสนใจคืออะไร สิ่งไหนคือคุณค่าในชีวิตของพวกเขา 

เราจะมาหาตัวตน บุคลิกของลูกค้าคนไทยที่มีวิถียั่งยืนว่าเขามีจริงไหม เมื่อมีจริงแล้วเขามีดีกรีของความยั่งยืนแค่ไหน เช่น Eat More Plants คือการไม่กินเนื้อสัตว์ในวันพระแค่นั้นพอไหม Be Energy Smart คือใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดไฟเบอร์ 5 ไม่พอมานานแล้วใช่ไหม พลังงานทดแทนคือความจำเป็นอันดับต้นๆ ในการใช้ชีวิตประจำวันหรือเปล่า ซึ่งจากการศึกษาในครั้งนี้เราพบว่าคนไทยเราเด่นในนิสัย Choose Nature-Friendly มากที่สุด เช่น การเลือกใช้ผ้าทอ ผ้าย้อมธรรมชาติ กินผักผลไม้ออร์แกนิก แล้วแบรนด์ต้องทำอะไรเพื่อจะไปอยู่ในใจอันดับต้นๆ ในการสร้างไลฟ์สไตล์ยั่งยืนให้เกิดขึ้น

เวิร์กช็อปครั้งนี้ถูกออกแบบมาอย่างสนุกสุดๆ สร้างสรรค์สุดๆ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปได้เรียนรู้และเจาะลึกในการค้นหาตัวตนของผู้บริโภคยั่งยืนอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ทำให้แบรนด์ได้เริ่มต้นแคมเปญที่ตอบโจทย์อนาคตของแบรนด์เอง และช่วยให้เกิดสังคมยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เราจะเริ่มด้วยการช่วยกันคิดว่าลูกค้าคนไทยที่อยากมีวิถียั่งยืนเขาอยู่ในสเตจไหนใน Need Stage ซึ่งมีอยู่ 7 สเตจ เช่น เป็นสเตจที่แค่ทำอะไรก็ได้ที่อยู่ใน moment ในกระแสของความยั่งยืนก็พอ (Momentum Stage) หรือไปถึงจุดที่เลือกแต่สิ่งที่สร้างผลกระทบที่ดีให้กับโลก ให้กับสังคมมากกว่าตัวเอง (Purpose Stage) ซึ่งในเวิร์กช็อปนี้เราออกแบบให้สนุกขึ้น ด้วยการมีหุ่นมาตั้ง และมีเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ มีอาหารการกินมาให้ กลุ่มที่ทำเวิร์กช็อปที่เราแบ่งเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละแปด หรือ สิบคน จะได้เลือกของ สินค้า ภาพที่แสดงภาพลักษณ์ต่างๆ ให้หุ่นของเขา แล้วมาดูกันว่าคนไทยวิถียั่งยืนของพวกเค้าน่าจะมีหน้าตายังไง สวมเสื้อผ้าแบบไหน ในกระเป๋ามีอะไรบ้าง เพื่อให้เห็นภาพคนไทยวิถียั่งยืนหน้าตาเป็นอย่างไร เลือกกินใช้ ชื่นชมอะไร เพื่อที่จะนำไปเป็นต้นแบบของลูกค้าที่ชัดเจนเพื่อไปสู่การคิดกิจกรรมทางการตลาดที่ตอบโจทก์ โดนใจ

ถ้าเราเป็นนักการตลาดและนักสร้างแบรนด์โดยเฉพาะแบรนด์ในแนวทางยั่งยืน เราต้องรู้ให้ได้ว่าผู้บริโภคเขียวในระดับไหน ในเรื่องอะไร ถ้าเราเขียวมากไปลูกค้าอาจจะเครียด เราต้องทำให้พอดีกับเขา แต่เราในฐานะแบรนด์ก็ต้องนำหน้าพาพวกเขาด้วย ช่วยสร้างไลฟ์สไตล์แบบยั่งยืนผ่านสินค้า บริการ กิจกรรมของแบรนด์เรา

การได้เห็น customer persona ที่ชัดเจน จะเป็นประโยชน์ต่อนักการตลาด นักสร้างแบรนด์ในการคิดกิจกรรมทางการตลาด กิจกรมการสร้างแบรนด์ เพื่อตอบความต้องการของลูกค้าได้อย่างตอบโจทย์ โดนใจ อย่างไม่พลาดเป้า

เช่นตอนนี้นักการตลาดรู้แล้วว่า Energy Smart ในความคิดคนไทยไปไกลกว่าประหยัดไฟเบอร์ห้ามานานแล้ว ดังนั้นก็ต้องทำอะไรบางอย่างให้คนไทยรู้ว่ามันไปได้มากกว่านั้น เช่น ผู้บริโภคสนใจเรื่องพลังงานจากแสงอาทิตย์ผ่านโซลาร์เซลล์ คนที่ทำธุรกิจแผงโซลาร์รู้แล้วว่าอนาคตความต้องการด้านนี้จะสูงขึ้น ก็ต้องเตรียมพร้อม อย่างตอนนี้มีนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ทำเรือทัวร์ไหว้พระเก้าวัด โดยใช้เรือพลังงานโซลาร์เซลล์ ก็ทำให้คนที่สนใจเรื่อง Energy Smart อยากสนับสนุนธุรกิจนี้ แม้เดิมอาจไม่สนใจเรื่องไหว้พระเก้าวัดนักก็ตาม แต่อยากสนับสนุนกิจการนี้ด้วยเหตุผลแห่งความยั่งยืน

หรือยกตัวอย่างถังขยะดีคอมโพสต์ที่ราคา 70,000-80,000 บาท ตอนนี้มีคนไทยทำในราคา 20,000 กว่าแล้ว แต่เราก็ยังอยากให้อยู่ในราคา 3,000-5,000 บาทเพื่อที่ทุกบ้านจะได้มีได้ ถ้าแบรนด์เห็นโอกาสและทำออกมาใน mass scale ต้นทุนการผลิตก็จะถูกลง ทำราคาได้ถูกลง ถ้าราคาถูกลงเราเชื่อว่าผู้บริโภคก็จะคิดเรื่องนี้มากขึ้น เพราะสิ่งที่เขาจะได้มากกว่าการกำจัดขยะ คือการสร้างชีวิตใหม่ให้ขยะอาหารสดได้เกิดใหม่เป็นปุ๋ยชีวภาพ ไปปลูกต้นไม้ให้เติบโตงอกงาม แล้วเป็นการลด waste และสร้างประโยชน์ให้ดิน ให้โลกไปในคราวเดียวกัน

สิ่งที่เราเห็นกันแล้วคือคนไทยอยากมีวิถียั่งยืน แต่ไม่รู้จะทำยังไง และส่วนใหญ่สินค้าในกลุ่มนี้จะแพง เจ้าของธุรกิจ นักการตลาด และนักสร้างแบรนด์เห็นแล้วว่ามีคนอยากได้ แต่ไม่มีของให้เขา หรือมีแต่ก็จ่ายไม่ไหว หรือของไม่ได้ตอบโจทย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ อันนี้คือ marketing gap/opportunities คุณก็จะได้ทำสิ่งนี้มาตอบโจทย์ผู้บริโภค

เมื่อเราจะขายของ เราก็ต้องหาลูกค้าให้เจอ เวิร์กช็อปนี้จะมาช่วยกันหาว่าลูกค้าแนวยั่งยืนมีจริงหรือเปล่า ถ้ามีอยู่จริงเขามีดีกรีแค่ไหน เป็นคนแบบไหน ต้องการอะไรเพื่อร่วมกันคอนเฟิร์มว่า ประเทศไทยมี sustainable consumer นี้อยู่จริง

SB 22 Asia Pacific จะจัดขึ้นในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ และเปิดกว้างให้ทุกคนที่มีความสนใจเรื่องธุรกิจและสังคมยั่งยืน สามารถเข้ารับฟังได้ฟรี เพียงลงทะเบียนผ่าน www.sb22asiapacific.com 

ส่วนนักสื่อสารและนักการตลาดที่สนใจเข้าร่วม ‘Brands for Good: Thai Sustainable Consumer Persona Workshop’ ในวันที่ 25 เวลา 1300-1700น ที่ สตูดิโอ TV DIRECT วัชรพล และ Workshop ครั้งนี้ เราเปิดรับเพียง 30 ท่าน ค่าใช้จ่ายท่านละ 2,800 บาท พร้อมลันช์บ็อกซ์พิเศษกับเมนูอาหารที่สนับสนุนการกินอย่างยั่งยืน ผ่านเมนูอาหารจากพืชเป็นหลักเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดย Bio Buddy และเชฟหนุ่ม เชฟ Curtis จาก Samuay & Son สมัครด่วน www.sb22asiapacific.com 

QR Code สำหรับลงทะเบียน

ภาพ: Sustainable Brands Bangkok