สถานการณ์สิ่งแวดล้อมของโลกในปีนี้เรียกได้ว่าเข้าสู่ขั้นวิกฤต ปัญหาหมอกควัน ไฟป่า ขยะล้นทะเลจนถึงน้ำท่วม สะท้อนให้เห็นว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตกันอย่างเร่งด่วน ทุกวันนี้เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้ยั่งยืนขึ้นเราอาจนึกถึงการใช้ถุงผ้า ไม่สร้างขยะพลาสติก single use แต่ยังมีอีกหนึ่งความยั่งยืนที่ทุกคนสามารถทำได้คือการกินอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันนี้การกินของเรานั้นไม่ยั่งยืนสักเท่าไหร่และเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เราอาจนึกไม่ถึงว่าก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยมาจากระบบอุตสาหกรรมอาหารมีสัดส่วนมากกว่าก๊าซเรือนกระจกจากโรงงานอุตสาหกรรมหนักที่เรามองว่าเป็นตัวร้าย หรือการกินของยังทำให้ระบบนิเวศถูกทำลาย เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า สัตว์สูญพันธ์ุ และปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกมากมาย

การกอบกู้โลกจากวิกฤตสิ่งแวดล้อมในทุกวันนี้จะเป็นไปไม่ได้เลย หากเราไม่ปรับเปลี่ยนวิถีการกิน แต่ก่อนเปลี่ยน เราต้องเข้าใจถึงผลกระทบการกินของตนเองก่อน เพื่อให้รู้ว่าเราจะเปลี่ยนอะไร เปลี่ยนทำไม และเปลี่ยนยังไงให้ยั่งยืน

หลากหลายวิกฤต ที่มาจากการกินของมนุษย์

เรากำลังกินเนื้อสัตว์ ที่มาจากการเผาป่า

ที่ผ่านมาเราอาจได้ยินว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย แต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่เราเห็นภาพชัดได้เท่าเหตุการณ์ไฟป่าแอมะซอนที่ไหม้ลุกลามติดต่อกันยาวนานมาตั้งแต่ต้นปี ซึ่งเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าครั้งนี้ถือว่าเป็นวิกฤตใหญ่ ที่จุดชนวนให้เราต้องย้อนมองที่มาของเนื้อสัตว์ในจานอาหารของเราอย่างจริงจัง

ไฟป่ามากกว่า 75,300 จุด ที่เกิดขึ้นในประเทศบราซิลนั้น เป็นผลมาจากความต้องการเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นของประชากรโลก ปัจจุบันประเทศบราซิลนั้นเป็นผู้ส่งออกเนื้อรายใหญ่ที่สุดของโลก การผลิตเนื้อให้จำนวนมากนี้ ทำให้บราซิลต้องเพิ่มพื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์มากขึ้น ไม่เพียงแค่นั้นบราซิลยังเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารสัตว์อย่างถั่วเหลืองเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งประเทศไทยเองก็นำเข้าถั่วเหลืองจากบราซิลเช่นกัน ผลที่ตามมาของตลาดสินค้าส่งออกที่เติบโตคือนโยบายสนับสนุนการบุกรุกป่า เปลี่ยนแอมะซอนให้กลายเป็นทุ่งเลี้ยงวัวและปลูกถั่วเหลืองซึ่งเป็นอาหารสัตว์ป้อนระบบอุตสาหกรรมอาหารนั่นเอง 

ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในบราซิลหรือเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่เป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนานกว่า 50 ปี ยังมีป่าไม้ท้องถิ่น ทุ่งหญ้า และทุ่งหญ้าสะวันนาอีกมากมาย เช่นทุ่งหญ้าสะวันนาในอินโดนีเซีย ป่าฝนในแอฟริกาใต้ รวมถึงผืนป่าในเอเชียที่เจอสถานการณ์เดียวกัน ไม่แน่ว่าเนื้อที่เรากำลังกินอยู่นี้อาจเลี้ยงในทุ่งหญ้าที่เขาเผาป่ามาก็เป็นได้

หมูกระทะและไก่ทอดของเรา ก็ทำให้โลกร้อนได้

อุตสาหกรรมปศุสัตว์นอกจากจะทำให้เราสูญเสียพื้นที่ป่ามากมาย ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนอีกด้วย มีการประเมิณว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั่วโลกมีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกราว 14% หรือเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคคมนาคมขนส่งทั้งทุกประเภท 

ก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ที่ปล่อยมาจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์คือก๊าซมีเทน ซึ่งมีที่มาจากการตดและเรอของสัตว์เคี้ยวเอื้อง อย่าง วัว ควาย แพะ แกะ แต่การรณรงค์ให้ลดกินเนื้อแดง แล้วหันมากินเนื้อขาวอย่างไก่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะดีต่อโลกขึ้นมาสักเท่าไหร่ แม้ว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อน้ำหนัก เนื้อไก่อาจส่งผลกระทบน้อยกว่าเนื้อวัว แต่รอยเท้าทางนิเวศ (ปริมาณการบริโภคและขยะที่เกิดขึ้น เทียบกับอัตราการฟื้นฟูระบบนิเวศ) ของเนื้อไก่นั้นกลับมีขนาดใหญ่มากกว่า พูดง่ายๆ ว่าคนนิยมบริโภคเนื้อไก่มากกว่า จึงเกิดเกิดกระบวนการผลิตที่สร้างผลกระทบมหาศาลเช่นกัน

ไม่เพียงแค่นั้น การขยายตัวของปศุสัตว์ ยังทำให้เราต้องใช้พื้นที่สำหรับการเพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ มากขึ้นอีกด้วย ทุกวันนี้เราใช้พื้นที่ถึง 1 ใน 4 ของโลกไปกับการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่เป็นอาหารสัตว์ ซึ่งทำให้ที่ดินบริเวณดังกล่าวสูญเสียความสมบูรณ์

จากปกติที่ผืนดินต้องเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนของโลกที่ใหญ่ที่สุด ก็กลายเป็นดินเสื่อมสภาพและปล่อยคาร์บอนกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศอีกที

อาจกล่าวได้ว่าการกินหมู กินวัว หรือสัตว์อะไรก็ตามที่กินอาหารสัตว์จากโรงงาน เรากำลังเพิ่มความรุนแรงของภาวะโลกร้อน ทั้งในทางตรงและทางอ้อม 

โลกกำลังเสียเงินไปเปล่าๆ หลายพันล้าน ผ่านอาหารที่กลายเป็นขยะ 

นอกจากประเด็นเรื่องป่าแอมะซอนแล้ว อีกหนึ่งประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกพูดถึงมากมายในวันนี้คือปัญหาขยะอาหาร รู้หรือไม่ว่าอาหารที่เรากินทิ้ง กินขว้าง กินไม่หมดในวันนี้ เป็นสาเหตุต้นๆ ของภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน เพราะขยะอาหารนั้นยังก่อให้มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี อาหารที่ถูกทิ้งจำนวนมากเหล่านี้ต้องใช้ที่ดินขนาดใหญ่ 3 เท่าของประเทศไทย และใช้น้ำ 173,000 คิวบิกเมตรในการเพาะปลูก นั่นหมายความว่าเป็นการใช้ทรัพยากรโลกมหาศาล เพื่ออุดกระบวนการผลิตและบริโภคที่ไม่เห็นคุณค่าของอาหาร 

ตุนอาหารจนกินไม่ทันในวันนี้ แต่เราจะไม่มีอาหารในวันหน้า 

ขณะที่เราชั่งใจว่าวันนี้กินอะไรดี หันไปทางไหนก็มีแต่ของน่ากิน ซื้อมาตุนเก็บไว้จนกินแทบไม่ทัน ยังมีประชากรบนโลกอีกกว่าล้านคนต้องเผชิญกับภาวะอดอยาก เลือกกินไม่ได้ และที่น่าตกใจคือในอนาคตเราก็จะไม่มีกินเหมือนกัน!

เพราะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดน้อยลงสวนทางความต้องการอาหาร ในขณะที่ประชากรบนโลกยังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

มีการคาดการณ์เอาไว้ว่าอาหารของเราอาจจะหมดโลกในอีก 50 ปี หากเราบริโภคทรัพยากรแบบไม่เห็นคุณค่าแบบทุกวันนี้

กู้โลกได้ด้วยการกินแบบยั่งยืน

หลากหลายปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น คงทำให้ทุกคนเห็นแล้วว่าการกินของเรานั้นส่งผลกระทบต่อโลกมากมายแค่ไหน แต่เราสามารถช่วยโลกให้หลุดพ้นมาจากภาวะวิกฤตได้ ด้วยการเริ่มต้นจากการเปลี่ยนวิถีการกิน!

วิถีการกินแบบยั่งยืนถูกพูดถึงมากขึ้นเมื่อ UN ประกาศให้ ‘การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน’ เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นจริงภายในปี 2030

โดยเป้าหมายนี้ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งวิถีการผลิตและการบริโภค ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า กระตุ้นให้ทุกประเทศเห็นความสำคัญของวิธีการกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดรอยเท้าทางนิเวศที่มนุษย์สร้าง

การบริโภคที่ยั่งยืนนั้นเกี่ยวข้องกับวิถีการผลิตอาหารทั้งระบบ ตั้งแต่การปลูกและการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระบวนการแปรรูปและการขนส่งที่ไม่ก่อให้เกิด food mile หรือระยะการเดินทางของอาหารที่ต้องสูญเสียทรัพยากรในการขนส่งมากเกินไป และการบริโภคอย่างเข้าใจเห็นคุณค่า ที่มา และความสำคัญของอาหารที่เรากิน

4 วิธีกินดี ที่ช่วยกู้โลก

แม้การกินอย่างยั่งยืนจะเป็นเรื่องครอบจักรวาล แต่ถ้าเราปรับพฤติกรรมการกินตั้งแต่วันนี้ ก็สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวได้ ซึ่งเรามีวิถีการกินดีเพื่อกอบกู้โลกจากภาวะวิกฤตที่ทุกคนสามารถทำได้มาแนะนำ

ทวงคืนผืนป่า ลดอุณหภูมิโลก ด้วยการกินเนื้อให้น้อยลง

อย่างที่เราบอกไปว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นส่วนสำคัญซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและการตัดไม้ ทำลายป่า การกินเนื้อสัตว์ให้น้อยลงจึงเป็นหนึ่งในวิถีกินยั่งยืนที่ถูกพูดถึงเป็นอันดับต้นๆ ในทุกวันนี้ ยิ่งมีงานวิจัยที่ทำการเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างมื้ออาหารทั่วไป มื้ออาหารมังสวิรัติ และมื้ออาหารแบบวีแกน แล้วพบว่าการรับประทานมังสวิรัติและอาหารวีแกนสามารถลดรอยเท้าคาร์บอนได้ถึงร้อยละ 63 และ 70 ตามลำดับ ยิ่งทำให้การรณรงค์ลดกินเนื้อกลายเป็นกระแสกินดีที่มาแรงไปทั่วโลก

นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์จากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (IPCC) ยังบอกว่าหากเราสามารถลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงได้ จะสามารถทวงคืนที่ดินซึ่งใช้ไปกับอุตสาหกรรมปศุสัตว์ได้ด้วย และถ้าเราสามารถนำที่ดินไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผืนดินดังกล่าวก็จะซึมซับการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยออกจากมนุษย์ได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

แต่การหักดิบเลิกกินเนื้อไปเลยอาจเป็นเรื่องยากเกินไป ในต่างประเทศจึงมีการรณรงค์ผ่านกิจกรรม Meatless Monday ที่ชวนให้ทุกคนลดการกินเนื้อสัตว์หนึ่งวันในแต่ละสัปดาห์

มีการวิเคราะห์ไว้ว่าถ้าคนทั้งโลกลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงได้ประมาณ 15% ผ่านกิจกรรม Meatless Monday  จะมีค่าเท่ากับการลดการใช้รถยนต์กว่า 240 ล้านคันต่อปีเลยทีเดียว

กินวัตถุดิบท้องถิ่น ลดความเสี่ยงจากสารเคมีและการผลิตที่ไม่ยั่งยืน 

อีกหนึ่งวิถีการกินดีอย่างยั่งยืนที่มาแรงขึ้นทุกๆ วันก็คืออาหารท้องถิ่นหรือ local food การบริโภคอาหารจากท้องถิ่นนอกจากจะทำให้เราได้รับวัตถุดิบที่สดใหม่ รู้จักที่มา รู้ว่าปลูกโดยใคร ยังช่วยลดการผลิตอาหารอย่างไม่ยั่งยืนในระบบอุตสาหกรรมและเพิ่มความเป็นธรรมทางรายได้ให้กับเกษตรกรได้อีกด้วย

นอกจากนี้การอุดหนุนสินค้าในท้องถิ่นที่อยู่ไม่ห่างไกลจากที่พักอาศัยของเราช่วยลดพลังงานในการขนส่ง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดความเสี่ยงในการเจอสารอันตรายที่จะปนเปื้อนตลอดการอิมพอร์ตข้ามน้ำข้ามทะเลมาให้เรา

ซึ่งปัจจุบันอาหารท้องถิ่นนั้นไม่ได้หากินยากอย่างที่หลายๆ คนคิด ในกรุงเทพฯ เรามี Farmer’s Market และตลาดสีเขียวมากขึ้น นอกจากจะทำให้เราได้เลือกซื้อวัตถุดิบท้องถิ่นอันหลากหลายและปลอดภัยจากสารเคมี เรายังได้พูดคุยกับเกษตรกรผู้ผลิตตัวจริงเสียงจริงอีกด้วย

กินอาหารให้หลากหลาย สร้างอนาคตของการกินที่เราเลือกได้

นอกจากอาหารท้องถิ่น อีกหนึ่งวิถีการกินที่เราไม่ควรมองข้ามคือการกินอาหารให้หลากหลาย ความหลากหลายในที่นี้ ไม่ได้มีเพียงการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่หรือกินผักให้ครบ 5 สี แต่หมายถึงการเลือกกินวัตถุดิบหลากหลายสายพันธุ์ หลากหลายประเภท โดยเฉพาะวัตถุดิบสายพันธุ์ท้องถิ่น ซึ่งการกินอาหารที่หลากหลายนี้ นอกจากจะทำให้เราได้สารอาหารหลายๆ ชนิด ได้สนับสนุนเกษตรกรรายย่อย แต่ยังก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารอีกด้วย

รู้หรือไม่ว่าวิถีของผู้คนในปัจจุบันที่มักกินอาหารบางอย่างมากเกินไป นอกจากจะให้สินค้าเหล่านั้นการเป็นสินค้าเชิงอุตสาหกรรมมีวิธีการผลิตที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ยังทำให้สิ่งเหลืออยู่ถูกหลงลืม พอเกษตรกรก็มุ่งปลูก มุ่งผลิตสินค้าอย่างเดียว พืชหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ค่อยๆ สูญพันธุ์ แต่ถ้าเราเลือกกินอย่างหลากหลาย ก็จะทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร เพราะเราจะมีทางเลือกในการกิน เราจะรู้ว่าอนาคตมีอะไรที่กินได้

นอกจากการพืชพันธุ์อาหารที่แตกต่างในแต่ละถิ่นแล้ว ในต่างประเทศยังได้อัพเกรดความหลากหลายไปอีกขั้นด้วยการค้นหาวัตถุดิบใหม่ๆ ที่จะมาเป็นทางเลือกการกินในอนาคต เพิ่มความมั่นคงทางอาหารในช่วงวิกฤตที่ประชากรจะล้นโลก ไม่ว่าจะเป็นสาหร่าย ไลเคน หรือกระทั่งหนอนแมลงวัน ตัวอย่างเช่นบริษัท Entocycle ที่พบว่า หนอนแมลงวันลายอาจจะเป็นโปรตีนชั้นดีในอนาคตได้ เพราะมันสามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายประเภท เช่นบดแทนเนยถั่ว ทำเป็นโปรตีนเลียนแบบเนื้อสัตว์หรือโปรตีนเกษตรก็ยังได้ 

แม้ว่านี่จะเป็นแค่ไอเดียจากบริษัทนวัตกรรมอาหาร แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าหากเรายังไม่ใส่ใจระบบนิเวศตั้งแต่วันนี้ ในอนาคตเราอาจจะต้องกินแมลงเป็นอาหารหลักแทนเนื้อหรือผักกันจริงๆ

กินให้หมดเกลี้ยง ลดขยะอาหาร และการสูญเสียทรัพยากรโดยใช่เหตุ

นอกเหนือไปจาการเลือกอาหารอย่างรู้ที่มา การกินอย่างรู้ที่ไปของอาหารที่กลายเป็นก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะปัญหาอาหารขยะส่วนใหญ่นั้นมาจากครัวเรือนไม่ใช่ร้านอาหาร หรือซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งสาเหตุในการทิ้งอาหารของผู้บริโภคมีตั้งแต่ซื้ออาหารมาเยอะเกินจนกินไม่ทัน สับสนข้อมูลวันหมดอายุหรือวันที่ควรบริโภคก่อนบนฉลาก ไปจนถึงเหตุผลที่ว่าหน้าตาของอาหารนั้นๆ ไม่สวยงาม มีรูปร่างไม่สมประกอบจึงทิ้งมันไป

การทิ้งขยะอาหารทุกครั้งเราไม่ได้สูญเสียแค่วัตถุดิบนั้นๆ ไปเท่านั้น แต่เรายังสูญเสียทรัพยากรที่เป็นต้นทุนในการผลิตอาหารอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำ แร่ธาตุ แรงงาน พลังงาน รวมถึงที่ดิน ไหนจะก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการย่อยสลายขยะ ที่ทำให้ขยะอาหารกลายเป็นต้นเหตุสำคัญอันดับต้นๆ ของภาวะโลกร้อน มากเท่าจำนวนก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากประเทศอุตสาหกรรมโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน

ผู้บริโภคอย่างเราสามารถแก้ไขปัญหาขยะอาหารได้หลายวิธีตั้งแต่การเลือกซื้อวัตถุดิบและอาหารให้พอดี นำเศษอาหารเหลือทิ้งไปทำปุ๋ยอินทรีย์ รวมถึงเลือกซื้อวัตถุดิบที่หน้าตาไม่สวยหรือที่เรียกว่า ugly fruit เพื่อลดการทิ้งวัตถุดิบโดยใช่เหตุ ซึ่งบริษัทสตาร์ทอัพในต่างประเทศหลายๆ เจ้า เช่น Full Harvest, Misfits Market และ Imperfect Produce ก็ได้พยายามแก้ไขปัญหาการไม่ซื้อวัตถุดิบไม่สวยนี้ ด้วยการสร้างช่องทางจำหน่ายส่งผลผลิตทางการเกษตรที่มีรูปทรงไม่สมบูรณ์จากฟาร์มเกษตรกรไปสู่ผู้บริโภค ในราคาถูกกว่าสินค้าคัดแล้วซึ่งวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต นอกจากพืชผลรูปร่างไม่สวยเหล่านี้จะไม่ถูกทิ้งไปแบบสูญเปล่า ผู้บริโภคเองก็ได้ของสดใหม่ส่งตรงจากฟาร์มในราคาย่อมเยาอีกด้วย

วิถีการกินยั่งยืนนี้ไม่เพียงแค่ส่งผลดีต่อโลก แต่ยังส่งผลดีต่อการกินและสุขภาพของเรา การเปลี่ยนแปลงไม่เพียงแค่เป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการปกป้องสภาพภูมิอากาศและเสริมความมั่นคงทางอาหาร แต่ถ้าเราสามารถคืนพื้นที่ปลูกพืชสำหรับอาหารสัตว์อุตสาหกรรม ก็สามารถเปลี่ยนพื้นที่เหล่านี้ไปปลูกพืชพันธุ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพของมนุษย์ได้ เมื่อระบบนิเวศไม่ถูกทำลาย เราสามารถเลือกกินของอร่อยได้อย่างหลากหลายและปลอดภัย เพราะเกษตรกรไม่ต้องใช้สารเคมีเพื่อเร่งผลผลิต 

กระบวนการกู้โลกนี้จึงไม่เพียงแค่ช่วยให้โลกพ้นวิกฤต แต่ยังช่วยให้เรามีของดีๆ ให้กินได้อย่างยั่งยืน

อ้างอิงข้อมูล
https://eatforum.org
https://edition.cnn.com
www.ipcc.ch
www.worldwildlife.org
www.greenpeace.org
www.the101.world

ภาพประกอบ: npy.j