เราพบกันในวันฝนพรำ 

เฮเลียน่ามาในชุดกันฝนเต็มยศ ตั้งแต่เสื้อผ้าหลายเลเยอร์ ไปจนถึงแจ็คเก็ตตัวยาวเนื้อวาวคล้ายเครื่องแบบนักบินอวกาศ บูทยาว กางเกงกันน้ำ หมวกไหมพรม พร้อมเป้ตุงๆ ที่ขนอุปกรณ์เสริมอุ่นสำหรับเหตุการณ์เฉพาะหน้า ข้างกายเฮเลียน่ายังมีซิงเนอ-ลาบราดอร์คู่ใจที่เฮเลียน่าพาเข้าป่าเสมอกำลังแกว่งหางว่องไวเชิงแนะนำตัวกับเรา 

สถานที่นัดพบของเราคือเขตป่าสงวน Långängen-Elfviks ในเขตลีดิงโง (Lidingö) ที่ห่างออกไปจากสตอกโฮล์มประมาณ 40 นาที เหตุผลหนึ่งที่เราตกลงกันที่นี่เพราะใกล้บ้านเฮเลียน่าในระยะที่แค่ชี้นิ้วข้ามทะเลสาบไป เราก็มองเห็นได้แบบไม่ต้องพึ่งกล้องส่องทางไกลว่าบ้านกับป่าอยู่ใกล้ในระยะเดินถึงมากแค่ไหน ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือ เฮเลียน่าเกิด โต และใช้ชีวิตในแถบนี้ กว่าห้าสิบปีที่ใช้ป่าแห่งนี้เป็นที่เดินเล่นหย่อนใจประจำทำให้มั่นใจได้เลยว่า เฮเลียน่าแทบจำจะทางแยกทางเลี้ยวในป่าได้อย่างแม่นยำ 

งานประจำของเฮเลียน่าคือนักประสาทวิทยา แต่อาชีพในฝันแต่เด็กของเฮเลียน่าคือไกด์ ที่เธอได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง Derzu Usula ของอากิระ คุโรซาว่า ว่าด้วยนักสำรวจชาวรัสเซียที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากชาวป่าผู้ใช้ชีวิตแบบหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ความเกื้อกูลกันได้พัฒนาจนเกิดเป็นมิตรภาพแน่นแฟ้นชั่วชีวิตของนักสำรวจ—ตัวแทนฝ่ายความศิวิไลซ์และนักนำทาง-ตัวแทนของความพื้นเมือง ฮีโร่ของเฮเลียน่าวัยเด็กเลยเป็นไกด์ชาวท้องถิ่นอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งเฮเลียน่าได้แต่หวังไว้ว่าเธอจะได้ใช้ความช่ำชองในป่าของตัวเองเป็นอย่างดีให้ความช่วยเหลือนักเดินทางจากต่างถิ่นในรูปแบบคล้ายเคียงกัน

เฮเลียน่าพับเก็บฝันไว้พักใหญ่ จนกระทั่งราว 2-3 ปีก่อนที่ Forest Bathing เริ่มเป็นกระแสขึ้นมา บวกกับความใกล้ชิดป่าตั้งแต่เด็กเลยทำให้เฮเลียน่าเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาว่า การเป็นไกด์สำหรับกิจกรรม Forest Bathing อาจเป็นคำตอบสำหรับความฝันของเธอ เฮเลียน่าเลยไปเข้าร่วมอบรมไกด์สำหรับกิจกรรมอาบป่าผ่านสมาคม Nature & Forest Therapy แล้วเอาความรู้นั้นมาปรับใช้ให้เข้ากับพื้นที่ สภาพป่า และภูมิอากาศของป่าที่เธอคุ้นชินทางสำหรับนำทางนักเดินทาง 

เพราะมนุษย์ถูกออกแบบมาให้เชื่อมโยงกับธรรมชาติ 

แนวคิดดั้งเดิมของ Forest Bathing คือความต้องการลดทอนการใช้ชีวิตอยู่แต่ในตึก ในบ้าน หรือชีวิตที่คร่ำเคร่งเร่งรีบอยู่กับการงานและเทคโนโลยีให้หันไปใช้เวลากับธรรมชาติบ้าง จุดตั้งต้นของ Forest Bathing เริ่มที่ญี่ปุ่นราวทศวรรษ 1980 มีที่มาจากคำว่า shinrin-yoku ซึ่งมีความหมายตรงตัวคือการอาบป่าหรือการเปิดรับป่าผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ รัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอรวมการอาบป่าเป็นหนึ่งในโปรแกรมเพื่อสุขภาพหลังมีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันตรงกัน

ระหว่างเราอยู่ใกล้ชิดต้นไม้ เคมีในต้นไม้และพืชในป่าจะหลั่งสารไฟตอนไซด์ (Phytoncides) ออกมาในอากาศ เคมีชนิดนี้มักพบมากในกลิ่นจากต้นไม้ในป่า เช่น กลิ่นต้นสน คุณประโยชน์ของไฟตอนไซด์คือช่วยลดความดันเลือด เพิ่มประสิทธิภาพให้สมาธิและความจำ ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น รวมถึงกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย

การอาบป่าอาจดูคล้ายคลึงกับการเดินป่า แต่เฮเลียน่าอธิบายความแตกต่างว่า เมื่อเราเดินป่า จ็อกกิ้ง หรือออกกำลังกายรูปแบบใดๆ ก็ตามในป่า เรามักคำนึงถึงเส้นทางหรือจุดหมายปลายทางเป็นหลัก แต่การอาบป่านั้นนักอาบป่าสามารถเลือกทางเดินได้ตามชอบใจ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า คือการมองเห็น การได้ยิน การรับรส การได้กลิ่น และการสัมผัสเป็นเหมือนสะพานเชื่อมโลกในตัวเราเข้ากับโลกของธรรมชาติ ปล่อยให้ธรรมชาติเข้ามาหาตัวเราผ่านหู ตา มือ จมูก ปาก และเท้า

การอาบป่าก็ไม่จำเป็นว่าต้องทำในป่าเสมอไป สำหรับคนเมืองอาจเลือกไปสวนสาธารณะหรือสถานที่ไหนก็ได้ที่มีต้นไม้ แล้วเปิดสัมผัสไปยังต้นไม้ที่อยู่ใกล้ตัวเรา 

ห้าภารกิจสานสัมพันธ์กับป่า  

หลังจากย่ำเท้าเข้าป่ามาได้สักระยะ เฮเลียน่าเริ่มมอบหมายภารกิจแรกให้เราเปิดประสาทสัมผัส เพื่อให้หู ตา มือ จมูก ปาก เท้า ของเราทักทายธรรมชาติ เราเลือกทำเลกันใต้ต้นสนใหญ่ นั่งพักพิงข้างลำต้นชะลูดแล้วหลับตา พร้อมเสียงของเฮเลียน่าที่คลอมาเป็นระยะว่าให้เราทำอะไรบ้าง เช่น ให้เงี่ยหูฟังเสียงใบไม้เสียดสี เสียงกิ่งไม้โยกไหว เสียงหยดน้ำกระทบบนใบไม้ เสียงนกร้องจากไกลๆ ใช้จมูกพินิจกลิ่นต่างๆ ใกล้ตัว มีกลิ่นดิน กลิ่นฝน กลิ่นใบไม้ หรือกลิ่นอะไรอื่นบ้าง ใช้มือและเท้าสัมผัสความชื้นของดิน ใช้ดวงตาที่หลับลงจินตนาการภาพว่าตอนลืมตาต้นไม้ที่เราเห็นตรงหน้าจะมีหน้าตาแบบไหน หลังจากนั้นจึงค่อยๆ เปิดเปลือกตาขึ้น สำหรับเราขั้นตอนนี้คล้ายคลึงกับการนั่งสมาธิ แต่ความต่างคือระหว่างหลับตา เราไม่ได้เดินทางเข้าไปภายในจิตใจ หากแต่เดินทางผ่านประสาทรับรู้ต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงกับโลกภายนอก 

ภารกิจที่ 2-4 คือการเดินอย่างอิสระ เฮเลียน่าไกด์ว่าเราสามารถเลือกเดินได้ตามใจชอบเลยว่าจะปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่จุดไหนในป่า เมื่อครบเวลา เฮเลียน่าจะส่งสัญญาณให้เดินกลับไปยังจุดนัดพบ ในแต่ละภารกิจจะมีโจทย์ให้เราสานปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติต่างรูปแบบกัน เช่น ภารกิจที่ 2 คือการเชื่อมสัมพันธ์กับดินผ่านจมูก ปาก และสัมผัส เมื่อเดินไปเจอจุดที่เราถูกใจ ให้คุกเข่าลง ก้มหน้า เอาจมูกแตะดิน ถ้าใจถึงพอ จะลองชิมดินดูด้วยก็ได้ ภารกิจนี้ดูอิหลักอิเหลื่อพอดูสำหรับเรา เพราะไหนจะชั่งใจว่าจะเอาหน้าจิ้มดินแฉะฝนลงไประดับไหนดีหนอ ยังจะต้องรับมือกับความลุกลี้ลุกลนของซิงเนอที่รีบวิ่งแจ้นมาดูว่าเราเป็นลมหน้าทิ่มไปแล้วรึเปล่า แต่พอได้เอาหน้าใกล้ดินแบบนี้ก็ทำให้ได้รู้สึกชัดว่า การเดินขนานกับพื้นดินนั้นปิดโอกาสไม่ให้เราได้สัมผัสว่าดินนุ่มหรือมีกลิ่นหอมซับซ้อนมากขนาดนี้มาก่อน 

ภารกิจที่ 3 ก็ยังเป็นการเดินอย่างอิสระ แต่รอบนี้เป็นการสานปฏิสัมพันธ์กับต้นไม้ เฮเลียน่ากับเราแยกกันเดินไปคนละทางพร้อมโจทย์ว่า แต่ละคนต้องหยิบ ‘ของชำร่วย’ จากเส้นทางที่เราเดินผ่านมาเล่าสู่กันฟังหลังจบภารกิจ เฮเลียน่าเลือกใบไม้ที่หล่นอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่มานำเสนอ เพราะสนใจว่าทำไมนกถึงเลือกทำรังบนต้นไม้ที่สูงใหญ่ขนาดนั้น ส่วนเราเลือกกิ่งไม้ที่หล่นอยู่ใต้ต้นไม้ที่มีกิ่งเตี้ยเกือบระนาบดิน เพราะเรารู้สึกว่ากิ่งก้านที่แผ่ลงมาในระดับที่เราเอื้อมถึงนี้เหมือนต้นไม้พยายามจะโบกมือทักทายกับคนผ่านทางอย่างเรา 

ภารกิจถัดมาคือการเชื่อมสัมพันธ์กับน้ำ เฮเลียน่าปรับภารกิจนี้ให้เข้ากับวันฝนพรำเช่นนี้เป็นพิเศษโดยการเริ่มจุดเดินบริเวณแอ่งน้ำ ในโจทย์นี้เรายังเดินได้อย่างอิสระตามเคย เพียงแต่ต้องสังเกตลักษณะการเดินทางของน้ำ ตั้งคำถามว่าน้ำเหล่านี้เดินทางไปที่ไหนมา และพวกมันจะเดินทางไปจุดไหนต่อไป 

เกือบ 3 ชั่วโมงในป่าไม่ได้ทำให้เราเหนื่อยหอบ เพราะการอาบป่าไม่เหมือนการออกกำลังกายในป่า แต่เป็นการเดินละเลียด ใช้ประสาทสัมผัสเชื่อมโยงตัวเราเข้ากับป่า แต่ขอยอมรับแหละว่าภารกิจที่ 5 ซึ่งจะได้นั่งพักและทำพิธีชงชาในป่าเขาเป็นภารกิจที่เราเฝ้ารอมากที่สุด 

และแล้วท่ามกลางฝนที่เริ่มลดขนาดเม็ดลง เฮเลียน่าเริ่มลำเลียงของออกจากเป้ใบโต ในนั้นมีทั้งกาน้ำชาเหล็กหล่อใบเขื่อง น้ำร้อน และขนมแกล้ม ซิงเนอกุลีจอช่วยเฮเลียน่าปูผ้า จากนั้นชาจากใบโคลเวอร์และดอกเอลเดอร์ฟลาวเวอร์ที่เฮเลียน่าเก็บเองจากป่าแห่งนี้เมื่อช่วงฤดูใบไม้ร่วงก็เริ่มส่งกลิ่นหอมหลังผ่านน้ำร้อน เราลำเลียงขนมใส่ถ้วยเซรามิกสีน้ำเงินเข้ากับผ้าปู รินชาใส่ถ้วยชา 3 ถ้วย เราคิดในใจว่า 3 ถ้วยนี้คงเป็นชาสำหรับเฮเลียน่า เรา และซิงเนอ แต่แล้วเฮเลียน่าก็เฉลยว่า ชาถ้วยที่ 3 เป็นของป่า พิธีนี้เป็นการแบ่งปันอาหารร่วมกันระหว่างคนกับป่า และขอให้เราเอาชาไปเสิร์ฟใต้ต้นไม้ที่เราชอบพร้อมเอ่ยชวนให้ต้นไม้มาสังสรรค์ในพิธีชาร่วมกัน เฮเลียน่าจบพิธีชาด้วยการอ่านบทกวีของแมรี่ โอลิเวอร์ ในบทที่ชื่อว่า Sleeping In The Forest ที่แม้เราจะไม่ได้นอนในป่าตามชื่อบทกวี แต่ในท่อนที่ว่า “I thought the earth remembered me, she took me back so tenderly.” ก็แทนสิ่งที่เรารู้สึกระหว่างอาบป่าได้ดีว่าผืนดิน ต้นไม้ ฝน แอ่งน้ำที่เราผ่านพบในวันนี้มีปฏิสัมพันธ์ต่อการมาเยือนของมนุษย์อย่างเราอย่างอ่อนโยนเพียงใด 

ก่อนจากกัน เราตั้งคำถามกับเฮเลียน่าว่า การอาบป่าจะฟังดูเป็นเรื่องเพ้อฝัน จับต้องไม่ได้ ไม่น่าเชื่อถือสำหรับบางคนรึเปล่า ซึ่งเฮเลียน่าก็ได้ทิ้งคำตอบไว้ให้ว่า “ธรรมชาติมีอยู่ในหลายรูปทรง อยู่รายรอบตัวเรา เต็มไปด้วยความลับไม่รู้จบที่พร้อมให้เราเข้าไปศึกษา พร้อมให้ถักทอเรื่องเล่าใหม่ๆ สิ่งนี้เตือนให้ฉันนึกถึงความสนุกที่ตัวเองพบเจอในวัยเด็กที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและป่าที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา การเดินทางในป่าคือการผจญภัยแสนอัศจรรย์ที่กาลเวลาไม่มีจุดสิ้นสุด และที่นั่นทุกอารมณ์ความรู้สึกมีที่ทางของตัวเอง” นอกจากนั้น “การอาบป่ายังเป็นกิจกรรมที่ชวนให้เราดำดิ่งเข้าไปในประสบการณ์ที่จะได้สานสัมพันธ์กับโลกที่กระจัดกระจายรอบตัวเรา หาความสงบ ความเงียบให้ตัวเอง

“ให้ป่าโอบกอดเรา เพราะเราก็คือส่วนหนึ่งในความหลากหลายของธรรมชาตินี่เอง”  

​ภาพถ่าย: ณวรา หิรัญกาญจน์