ชื่อยี่ห้อตัวใหญ่ๆ ถุงพลาสติกซีลแน่นหนา สัญลักษณ์รับรองคุณภาพ และคำโฆษณา คือสิ่งที่เราเห็นจนชินตาบนถุงข้าวสารที่ซื้อหาได้ทั่วไป แต่เมื่อเราแวะเวียนไปงาน Bangkok Art Book Fair ที่ผ่านมา นอกจากอาร์ตบุ๊กสุดเท่ สารพัดซีนหรือหนังสือทำมือเก๋ไก๋ และความเป็นศิลปะที่อัดแน่นอยู่ทั่วงาน เรายังพบถุงข้าวสารที่แตกต่างจากอาร์ตบุ๊กทั้งงานและแตกต่างไปจากถุงข้าวสารเดิมๆ ที่เราเคยเห็นมา

“ข้าวฉลากพิเศษ ‘วิธีหุงข้าวให้อร่อย’ นี้ เป็นงานทดลอง เราคิดว่าคนที่มาเดินงานนี้น่าจะเป็นคนที่สนใจเรื่องสิ่งพิมพ์เป็นทุนเดิม ฉะนั้น นี่เป็นโอกาสที่คนจะได้เห็นสินค้าของเราเพิ่มขึ้น เราเลยตั้งโจทย์ให้ตัวเองต่อ คือจงไปหาวิธีส่งแมสเสจให้เข้ากับงานนี้มา คำตอบก็คือ ทำฉลากให้มันเป็น zine ไปด้วยเลยแล้วกัน คือแรกๆ ไม่คิดว่าเราจะสนุกกับมันได้จริงๆ แต่ตอนนี้คือการคิดและเชื่อมโยงข้าวให้เข้ากับงานอื่นๆ นั้นเป็นความสนุกแบบที่ไม่ได้คาดการณ์เอาไว้ตอนเริ่มทำ” ยูน-พยูณ วรชนะนันท์ นักออกแบบและนักวาดภาพประกอบที่มีผลงานโดดเด่นในประเทศญี่ปุ่นอย่างมากมายเล่าถึงถุงข้าวสุดเก๋ที่เธอออกแบบโดยมีวิธีการหุงข้าวให้อร่อย ไล่ตั้งแต่การเลือกประเภทของข้าว การซาว การหุงแบบต่างๆ เพื่อให้ได้ข้าวที่ดีและอร่อยที่สุด ไปพร้อมๆ กับการเป็นฉลากที่ทั้งสวยและสื่อสารไปด้วยในคราวเดียวกัน“

และนี่ไม่ใช่ถุงข้าวถุงแรกจากการออกแบบของเธอ ก่อนหน้านี้ ข้าวสารในชื่อแต้คุนฮะ มีข้าวในวาระโอกาสพิเศษ ทั้งปีใหม่ ตรุษจีน และวันแม่ ออกมาอย่างต่อเนื่อง “เดิมทีบ้านเราเป็นร้านขายข้าวสาร ตั้งแผงขายอยู่หน้าตลาดท่าดินแดงมาตั้งแต่รุ่นปู่ จนวันนึงก็เปิดเป็นร้านข้าวสาร ชื่อว่าแต้คุนฮะ อายุร่วมๆ 60 กว่าปีได้ ด้วยความที่เราเห็นข้าวสารมาตั้งแต่เด็กๆ ไปเล่นปีนกระสอบข้าวสารบ่อยๆ มีความทรงจำอยู่มากเกินไป พอพ่อกับแม่จะเกษียณ พวกเราสามพี่น้องทำใจไม่ได้ แต่ทุกคนก็รับช่วงต่อไม่ได้เหมือนกันเพราะต่างก็มีงานของตัวเอง ก็เลยตัดสินใจว่าจะลองเอามาทำต่อ โดยปรับให้มันเข้าทางที่เราถนัดด้วย เราจะได้สนุกกับมันได้” นักออกแบบสาวเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการแบ่งเวลาจากงานหน้าจอคอมพิวเตอร์มามองกิจการที่บ้าน

ข้าวตามร้านข้าวสารไม่เหมือนข้าวถุงขายในห้าง ข้าวในห้างจะต้องคุมรสชาติให้เป็นมาตรฐานเดียวทั้งปี แต่ข้าวตามร้านข้าวสารมันจะมีฤดูกาล และฤดูที่อร่อยมากๆ คือช่วงปลายปี พอเห็นข้าวใหม่ถูกต้มเป็นข้าวต้ม น้ำเหนียวๆ ร้อนๆ วางอยู่บนโต๊ะ ส่งกลิ่นหอมกรุ่น เราจะดีใจว่าฤดูข้าวใหม่มาถึงแล้ว”

“การดีใจกับฤดูกาลเป็นเรื่องเล็กๆ แต่มันเหมือนเวลาเราได้กินอะไรอร่อยๆ แล้วอยากซื้อไปฝากคนอื่น ก็เลยสรุปกันได้ทันทีว่า ข้าวแบบนี้แหละที่เราอยากทำ นั่นคือ ข้าวของขวัญ”

และจากไอเดียของการให้ นักออกแบบในร่างลูกสาวร้านข้าวสารก็ตีโจทย์ต่อว่าคือการส่งต่อความปรารถนาดี จากที่ต้องพะยี่ห้อ ‘แต้คุนฮะ’ ตัวใหญ่ๆ เธอจึงออกแบบเป็นคำอวยพรมงคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ขอให้แข็งแรง รุ่งเรือง สุขกาย สบายใจ และทำให้ตัวข้าวเป็นของขวัญจบในตัว ทั้งการห่อ ผูกโบ และหิ้วไปให้ได้เลย เพราะเจ้าตัวเลือกถุงสำเร็จรูปของญี่ปุ่นมาออกแบบฉลากต่อ และด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็นสวรรค์ของงานพิมพ์ มีกระดาษมากมายหลายแบบให้ทดลองใช้ และระบบการพิมพ์หลายๆ แบบให้ลองพิมพ์ ในฐานะนักออกแบบ เธอก็ได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ในการกลับมาสานต่อกิจการของครอบครัวนี้ด้วย

“ที่เลือกถุงแบบญี่ปุ่นและทำฉลากเป็นคำอวยพร เพราะคนให้ก็ไม่ต้องไปลำบากห่อหรือเขียนการ์ดอะไรอีก แล้วก็ไม่เป็นภาระให้คนรับต้องแบกข้าวหนักๆ กลับบ้าน เพราะเราลองจนได้น้ำหนักที่หิ้วได้พอดีๆ สบายตัว คือหลักๆ เราจะจำลองสถานการณ์ก่อนทำทุกครั้ง ว่าถ้าเราเป็นคนรับและเป็นคนให้แล้วจะเป็นยังไง แล้วก็หาสิ่งที่ดีที่สุดต่อทั้งสองฝ่าย” ยูนเล่าดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ที่เธอใส่ใจเช่นเดียวกับการเลือกข้าวอย่างมืออาชีพที่พ่อกับแม่ยังสนุกที่จะร่วมด้วยช่วยทำ

เพราะในข้าวอร่อยๆ หนึ่งถุงนี้ มีความปรารถนาดีบรรจุอยู่ด้วย

ข้าวแต้คุนฮะฉลากพิเศษ ‘วิธีหุงข้าวให้อร่อย’ ราคา 200 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจของร้าน
FB: www.facebook.com/taekunhashop

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง