อยากเป็นคนเอาถ่านกับเขาบ้าง

ถึงแม้ว่าทุกวันนี้เราจะมีเตาแก๊สเตาไฟฟ้าใช้กันทั่วไป จนถ่านไม้ลดความสำคัญไม่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราอีกต่อไป แต่ถ้าเมื่อไรที่นึกถึงการทำอาหารแบบปิ้งย่าง เราจะไม่มีทางลืมถ่านไปได้เลย เพราะปิ้งย่างด้วยถ่านให้ทั้งกลิ่นและรสสัมผัสของอาหารที่แตกต่างจริง ๆ ถ่านต้องมาละค่ะ วันนี้จึงขอชวนมาทำความรู้จักกับถ่าน แถมไม่ใช่ถ่านธรรมดา ๆ แต่เป็นถ่านโกงกาง ซึ่งมีเรื่องราวความเป็นมาเบื้องหน้าเบื้องหลังไปถึงชุมชนต้นทางที่น่าสนใจมาก จากถ่านหนึ่งก้อน สะท้อนถึงชุมชนประวัติศาสตร์หนึ่งแห่ง อยากลองมาเป็นคนเอาถ่านด้วยกันหรือยังคะ

ถ่านไม้โกงกางเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของจังหวัดสมุทรสงคราม แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่บ้านเขายี่สาร ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา

เขายี่สารเป็นเนินเขาเตี้ย ๆ ลูกเดียวที่มีของสมุทรสงคราม บ้านเขายี่สารจึงมีลักษณะกายภาพที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น และถึงแม้เขตปกครองจะอยู่ในอำเภออัมพวา แต่ถ้าเอ่ยชื่อแล้วมีภาพบ้านสวนยกร่องผุดขึ้นมา ขอบอกว่านั่นไม่ใช่และออกจะห่างไกลจากบ้านยี่สารมาก

ทุกวันนี้ เราสามารถบอกได้คร่าว ๆ ว่าจะไปบ้านเขายี่สารให้วิ่งไปทางเส้นลัดเลียบทะเลสู่ชะอำ ถนนดีเดินรถสะดวกแม้จะเป็นทางสองเลน แต่ในอดีตการเข้าถึงยี่สารไม่ได้สะดวกง่ายดายเหมือนอย่างนี้ นี่คือชุมชนริมทะเลกลางดงป่าโดยแท้ ขึ้นชื่อเรื่องยุงชุมและงูเห่า ห่างไกลจากศูนย์กลางความเจริญ เป็นพื้นที่น้ำเค็ม 100% เพาะปลูกทำนาทำสวนไม่ได้ นอกจากพืชไม้ชายเลนและไม้พื้นถิ่นเท่านั้น แม้แต่น้ำจืดก็ไม่มีใช้ สมัยที่ยังไม่มีการตัดถนนเข้าไป ผู้คนต้องอาศัยการสัญจรไปมาทางน้ำเท่านั้นในการเข้าออกชุมชน เด็กนักเรียนที่ต้องเข้าไปเรียนหนังสือที่ตัวอำเภอหรือใครจะเข้าไปติดต่อราชการก็ต้องพายเรือมาเป็นเวลาร่วมชั่วโมง ความเป็นอยู่อันโดดเดี่ยวทำให้บ้านเขายี่สารมีวิถีชีวิตทั้งการกิน การอยู่ การประกอบอาชีพ รวมไปถึงวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ข้อที่น่าสนใจคือ ชุมชนบ้านป่าชายขอบแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาช้านานแล้ว มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าในยุคการค้าข้ามคาบสมุทรตั้งแต่สมัยอยุธยา ยี่สารเป็นชุมทางหมุดหมายของนักเดินเรือสมัยนั้น อาจเป็นจุดพักหลบคลื่นลม และเป็นจุดซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าด้วย ชื่อยี่สาร ก็สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า ปสาน ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า บาซาร์ ที่แปลว่า ตลาด นั่นเอง ดังนั้น ชุมชนแห่งนี้แม้จะอัตคัดขัดสนในแง่ทรัพยากรการดำรงชีวิต แต่เศรษฐกิจคงจะเจริญดีมิใช่น้อย สิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันความมั่งคั่งของชุมชนยี่สารในอดีตก็คือ วัดเขายี่สาร ซึ่งยังคงเค้าความงดงามตามแบบศิลปกรรมและงานฝีมือช่างชั้นครู มีองค์ประกอบทั้งวิหาร โบสถ์ รอยพระพุทธบาท ศาลาการเปรียญ เจดีย์ ลานทำบุญ ฯลฯ ครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นความโอ่อ่าสง่างามกลางป่าที่น่าอัศจรรย์ใจ หากไม่ใช่ผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่มีหรือจะสร้างวัดวาอารามระดับนี้ได้

จากอดีตอันรุ่งรอง มีอันถึงกาลเปลี่ยนแปลง เมื่อการคมนาคมเปลี่ยน เส้นทางการค้าเปลี่ยน ยี่สารที่เคยคึกคักก็เงียบเหงา ผู้คนทิ้งถิ่นออกไปจากที่นี่ แต่ถึงอย่างนั้นยี่สารก็ไม่เคยร้างราหรือล่มสลาย คนที่ยังอยู่และยึดเป็นเรือนตายต้องอาศัยภูมิปัญญาในการหาอยู่หากินและปรับตัวเข้ากับความแร้นแค้นให้ได้ น้ำจืดไม่มีก็ใช้วิธีออกไป “ล่มน้ำ” คือเอาเรือเปล่าไปหาแหล่งน้ำจืด พอเจอแล้วก็เอียงกาบเรือเหมือนจะล่มเพื่อวักน้ำเข้ามาใส่ไว้ในเรือจนเต็มปริ่ม พืชผักไม่มีก็เรียนรู้วิธีกินพืชธรรมชาติ กลอย อุตพิด บุก จาก แสม ลำแพน ฯลฯ รวมถึงชะคราม วัชพืชน้ำเค็มซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศก็ดังมาจากยี่สารนี่เอง

คนยี่สารประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ทำกะปิ ปลาแห้ง ปลาเค็ม และตัดไม้ขายฟืน จนกระทั่งเมื่อราวปี พ.ศ.2480 ได้รับวิทยาการด้านการเผาถ่านจากชาวจีนอำเภอกันตรัง จังหวัดตรัง เกิดเป็นอาชีพทำถ่านอย่างเป็นล่ำเป็นสันแทนการตัดฟืนขึ้นเป็นครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน

คนยี่สารจึงไม่ใช่ประเภทตัดไม้ทำลายป่ามาทำถ่าน แต่งานของเขาคือ อาชีพปลูกป่าเผาถ่าน ทำเป็นวงจรตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง

ถ่านที่ว่านี้คือ ถ่านไม้โกงกาง เลือกใช้เฉพาะโกงกางใบเล็ก ซึ่งมีคุณสมบัติโดดเด่นเหมาะสมในการทำถ่านคุณภาพดี แต่ในป่าชายเลนธรรมชาติไม่ได้มีแต่ต้นโกงกาง ยังมีแสมและไม้อื่น ๆ ด้วย เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอต่อการประกอบอาชีพ คนยี่สารจึงต้องถางป่าเดิมและปลูกป่าโกงกางขึ้นมาใหม่ กว่าไม้โกงกางจะโตพอนำมาทำถ่านได้ต้องมีอายุอย่างน้อย 12 ปี เพราะฉะนั้นจึงต้องปลูกป่ากันอย่างเป็นจริงเป็นจังและไม่หยุดยั้ง เพื่อให้มีทรัพยากรหมุนเวียนใช้ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน คนยี่สารจึงไม่ใช่ประเภทตัดไม้ทำลายป่ามาทำถ่าน แต่งานของเขาคือ อาชีพปลูกป่าเผาถ่าน ทำเป็นวงจรตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง ป่าชายเลนที่บ้านยี่สารจึงยังคงหนาแน่นและอุดมสมบูรณ์

โกงกางใบเล็กเป็นต้นไม้ขนาดกลางถึงใหญ่ซึ่งขึ้นได้ดีในดินเลนที่น้ำทะเลท่วมถึง แต่ไม่ท่วมขัง ลักษณะลำต้นสูงเป็นแท่งตรง เอกลักษณ์คือมีรากค้ำยันเก้งก้างระเกะระกะที่โคนต้น ขยายพันธุ์โดยใช้ฝัก วันที่จะทำการปลูกป่าเรียกว่า ปักฝัก เขาจะเอาฝักโกงกางที่สะสมไว้บรรทุกใส่เรือเข้าไปในแปลงปลูก ใช้วิธีปักส่วนโคนของฝักให้ฝังลงในดินประมาณ 5 เซนติเมตร พื้นที่ 1 ไร่จะปลูกประมาณ 4,000 ฝัก แต่ใช่ว่าจะได้โกงกางถึง 4,000 ต้น บางต้นอาจเกิดการเสียหาย แห้งตาย หรือมีผู้รบกวนอย่างปูหรือลิงแสม หลังจากปักฝักไปสักหนึ่งปีแล้วก็ต้องออกไปสำรวจความเจริญเติบโต ต้นไหนเสียหายก็ต้องปลูกใหม่ซ่อมแซม จากนั้นก็ปล่อยให้โกงกางเติบโตตามธรรมชาติ ให้วันเวลาเปลี่ยนกล้าไม้อ่อนแอเป็นไม้ใหญ่ได้ใช้ประโยชน์

ป่าผืนไหนได้อายุพร้อมเก็บเกี่ยว เจ้าของจะว่าจ้างทีมหรือหาแรงงานเข้าไปตัดป่า วิธีการคือตัดจนเหี้ยนตลอดที่ดินผืนนั้น โดยตัดต้นไม้ไปถึงโคน จากนั้นจะตัดไม้เป็นท่อน ๆ ยาว 1.3 เมตรเป็นขนาดมาตรฐาน มีศัพท์เฉพาะเรียกว่าไม้หลา ไม้หลาที่ได้ต้องนำมาทุบเปลือกออกให้หมด เพราะไม้มีเปลือกจะทำให้เผายากและได้ถ่านสีไม่สวย ส่วนรากหรือกิ่งก้านเล็กที่ไม่ได้ขนาดก็จะนำไปทำเป็นเชื้อเพลิงหน้าเตา ใช้ประโยชน์หมดทุกส่วนแทบไม่มีเศษเหลือทิ้ง

ไม้ทั้งหมดจะถูกลำเลียงลงเรือเพื่อถ่ายไม้มาไว้ที่โรงเตา ภาพที่เราจะเห็นทันทีเวลาไปเยี่ยมชมโรงเตาก็คือขบวนทิวแถวไม้โกงกางที่ตั้งตรงเป็นระเบียบเรียงรายหนาแน่นรอเวลานำเข้าเตาเผาซึ่งซ่อนตัวหลบตาอยู่ภายในโรงเตา

โรงเตาคืออาคารที่คลุมเตาเผาถ่าน สร้างด้วยวัสดุธรรมชาติเป็นหลัก อย่างเช่น ไม้ไผ่ หลังคามุงจาก ในหนึ่งโรงจะมีเตาหลายเตาขึ้นอยู่กับขนาดกิจการแต่ละแห่ง กลิ่นควันที่รมอยู่ในทุกอณูพื้นที่ คราบสีดำเงา และลำแสงที่ลอดผ่านเข้ามาเพียงน้อยนิด ให้บรรยากาศเยิรเงาสลัวที่ตราตรึงแก่ผู้พบเห็นเสมอ

เตาเผาถ่านไม้โกงกางเป็นเตาขนาดใหญ่ราวกับอาคารหลังย่อม ๆ หลังหนึ่ง ลักษณะเป็นโดมรูปครึ่งวงกลม มองภายนอกเหมือนอิกลู บ้านของชาวเอสกิโมอย่างไรอย่างนั้น สร้างจากอิฐมอญทนไฟนับหมื่น ๆ ก้อน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของเตาประมาณ 5-6 เมตร มีปล่องระบายควัน 5 ปล่อง ด้านหน้ามีช่องทางเข้าออกเป็นประตูเตาช่องเดียว เวลาลำเลียงไม้เข้าเตาก็ต้องมีวิธีพิเศษเพื่อให้ใส่ไม้เข้าได้มากเพียงพอคุ้มค่าต่อการเผาแต่ละครั้ง และได้ถ่านที่ยังเป็นท่อนยาวเหมือนตอนเป็นไม้สดเข้าไป ไม่แตกหักเสียหาย โดยเขาจะเรียงไม้ขนาดใหญ่เข้าไปก่อน วางเป็นแนวตั้งอย่างเป็นระเบียบ แล้วจากนั้นจึงใส่ไม้ขนาดเล็กเรียงเป็นแนวนอนซ้อนอยู่บนไม้ตั้งจนกระทั่งเต็มเตา รวม ๆ แล้วหมื่นกว่าท่อน จากนั้นก็ปิดประตูเตาด้วยการก่ออิฐฉาบด้วยดินน้ำจืด เหลือแค่ช่องใส่เชื้อเพลิงเล็ก ๆ ที่ด้านล่างเท่านั้น

หลังจากเริ่มจุดไฟหน้าเตาแล้ว จากนี้ไปตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 10-15 วัน จะต้องคอยเฝ้าเติมเชื้อเพลิงอยู่ตลอดเวลาไม่ให้ขาด การใส่ไฟหน้าเตาถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในกระบวนการเผาถ่าน ต้องมีคนทำหน้าที่ควบคุมดูแลไฟ เรียกว่า ไส้หู้ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ประสบการณ์ สามารถสังเกตลักษณะของไฟ ดูสี ดมกลิ่น มองควันแล้วรู้ว่าสถานการณ์ภายในเตาอยู่ในขั้นไหน ถ่านสุกได้ที่แล้วหรือยัง เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็จะชักไฟออก ปิดช่องให้เล็กลงอีกหรือปิดสนิทไปเลย ทิ้งไว้อย่างนั้นอีกประมาณ 12 วันเพื่อให้ถ่านเย็นลง แล้วจึงเปิดเตาและลำเลียงถ่านออกจากเตา

กรรมวิธีทำถ่านแบบนี้ที่ถูกควรเรียกว่าเป็นการอบ ไม่ใช่การเผา แต่เราก็เรียกกันจนเคยชินติดปากไปซะแล้ว ผลพลอยได้จากการอบถ่านคือ น้ำส้มควันไม้ ซึ่งมีคุณภาพดีเยี่ยมเพราะได้จากการเผาถ่านไม้จำนวนมหาศาลและเป็นเวลานานด้วย จึงมีความเข้มข้นสูงกว่าน้ำส้มควันไม้ทั่ว ๆ ไป

ถ่านไม้โกงกางสีดำสนิทจะถูกนำมาหั่นเป็นท่อนสั้นอีกครั้งเพื่อให้ได้ขนาดพอเหมาะพร้อมใช้ แล้วบรรจุลงถุงหรือกล่องส่งขายต่อไป ตลาดใหญ่ของถ่านไม้โกงกางคือย่านเยาวราช คนจีนเรียกถ่านโกงกางว่า กาจี๊ ยอมรับกันมาเนิ่นนานว่าถ่านโกงกางบ้านยี่สารเป็นของดีมีคุณภาพ นอกจากนี้ถ่านโกงกางของเรายังส่งไปขายในหลาย ๆ ประเทศด้วย บางทีขณะกินเนื้อย่างอยู่ที่เกาหลีสังเกตดี ๆ อาจเห็นถ่านโกงกางของไทยอยู่ในเตาย่างก็เป็นได้

ถ่านโกงกางมีคุณสมบัติโดดเด่นคือให้ไฟแรง และสม่ำเสมอ ควันน้อย เถ้าน้อย และไม่แตกปะทุ เป็นถ่านไทยราคาถูกกว่าถ่านนำเข้า

ถ่านโกงกางมีคุณสมบัติโดดเด่นคือให้ไฟแรง และสม่ำเสมอ ควันน้อย เถ้าน้อย และไม่แตกปะทุ เป็นถ่านไทยราคาถูกกว่าถ่านนำเข้า แต่คุณภาพไม่ได้น้อยหน้าเลย เราสามารถภูมิใจกับถ่านไม้โกงกางตั้งแต่ที่มา กระบวนการ และการใช้งานได้อย่างเต็มภาคภูมิ ปิ้งย่างครั้งต่อไปลองหาถ่านไม้โกงกางมาใช้ดูนะคะ

หรือถ้าใครได้รู้จักถ่านโกงกางแล้วนึกอยากมาเยี่ยมเยือนชุมชนบ้านเขายี่สารก็มาได้เลย ที่นี่เป็นชุมชนขนาดเล็กแต่ก็มีจุดน่าสนใจมาก สามารถใช้เวลาแบบเที่ยววันเดียวได้อย่างเต็มอิ่ม จุดที่ห้ามพลาดคือพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร จัดแสดงโบราณวัตถุที่ขุดพบและเป็นร่องรอยความเจริญของบ้านเขายี่สาร มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ สมบัติวัตถุ และเครื่องใช้ไม้สอยในวิถีชีวิตของคนยี่สารจัดแสดงไว้อย่างน่าสนใจมาก ๆ พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวันเสาร์-อาทิตย์ บนเขาเป็นที่ตั้งของวัดเขายี่สาร ชมความงามของสถาปัตยกรรม นมัสการพระพุทธบาท หลวงพ่อปากแดง ที่มาของตำนานพระกินเด็ก แล้วก็แวะกินอาหารกลางวันที่ร้านคุณจ๋า เป็นอาหารพื้นบ้านแบบคนยี่สารที่แปรเปลี่ยนความอัตคัดเป็นความโอชา กุ้งหอยปูปลาจากประมงพื้นบ้านอร่อยและสด นอกจากนี้ยังมีกลุ่มย้อมผ้าจากเปลือกไม้ ซึ่งต่อยอดจากภูมิปัญญาการอยู่กับป่าของคนยี่สารอีกเช่นกัน ผ้าย้อมสีเปลือกไม้ตะบูนคือต้นตำรับ และแน่นอนว่าสามารถขอเข้าไปเยี่ยมชมโรงเตาเผาถ่านได้ด้วย จะได้เห็นวิถีของคนทำถ่านอย่างใกล้ชิดจริง ๆ แต่เตือนไว้นิดหนึ่งว่า อย่าพูดถึงไฟในทางไม่ดี ในทางเสียหาย หรือขาดความเคารพ ไฟลุก ไฟไหม้ ฯลฯ เรื่องแบบนี้คนที่ทำงานกับไฟเขาถือ

ภาพ : วีรวุฒิ กังวานนวกุล