“กาแฟเย็นแก้วนึงค่ะ”

ทุกครั้งที่เราสั่งกาแฟ ในหนึ่งออเดอร์เราอาจได้แก้วพลาสติกหนึ่งใบ หลอดหนึ่งอัน ดีไม่ดีแถมหูหิ้วหรือถุงพลาสติกมาด้วย สรุปเราได้ขยะสามชิ้นต่อการกินแค่ครั้งเดียวเท่านั้น แล้วตลอดชีวิตของเราล่ะ เรามีส่วนสร้างขยะบนโลกใบนี้มากขนาดไหน

ขยะกำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก เพราะคนทิ้งมีมากกว่าคนจัดการ และวิธีการจัดการก็ยังเป็นเรื่องที่แก้ไม่ตก ขยะส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนบก มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมในทะเล แต่ทุกวันนี้ ทะเลทั่วโลกประสบปัญหาขยะท่วมท้นมหาสมุทร และประเทศไทยติดอันดับผู้สร้างขยะในทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก! โดยขยะที่ไหลไปรวมกันในทะเลส่วนใหญ่เป็นถุงพลาสติก หลอด ฝาพลาสติก และภาชนะบรรจุอาหาร (ทั้งพลาสติกและโฟม) เหตุการณ์เต่ากินขยะจนตาย วาฬกินขยะจนตาย หรือนกทะเลถูกอวนรัดขาจนตายอาจเป็นเพียงภาพสะท้อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับสถานการณ์จริงแล้วมันหนักหนากว่านั้นเยอะ เพราะในน้ำทะเลล้วนปนเปื้อนไปด้วยมลพิษจากเคมีที่ติดไปกับขยะ พลาสติกที่แตกตัวเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ที่มีหน้าตาเหมือนแพลงก์ตอนกลายเป็นอาหารให้สัตว์ทะเลต่างๆ ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา แล้วมนุษย์เราก็จับสัตว์ทะเลเหล่านั้นมากินอีกที นั่นก็แปลว่า ขยะกลับมาเยือนเราโดยสมบูรณ์แบบอย่างที่เราไม่ทันจะรู้ตัว

ทุกอย่างดีขึ้นเดี๋ยวนี้เมื่อเรา ‘ทำทันที’

ทะเลไทยสวยงามติดอันดับโลก ไม่ว่านักท่องเที่ยวจากประเทศไหนล้วนอยากมาเยือนทะเลไทยสักครั้งในชีวิตทั้งนั้น แต่หาดท่องเที่ยวยอดนิยมกลับเต็มไปด้วยขยะ จนชายสวิสคนหนึ่งชื่อ Roman Peter เกิดคำถามว่า เราจะลงมือทำอะไรได้บ้างเพื่อรักษาความงามเหล่านี้ไว้ให้คงอยู่ตลอดไป

“เก็บขยะสิ” คือคำตอบที่ได้

เราไม่มีวันทำให้อะไรดีขึ้นได้เลย ถ้าเอาแต่พูดแล้วไม่ยอมลงมือทำ ชายคนที่ว่าเริ่มหาแนวร่วมและพันธมิตรทางความคิด จนได้อาสาสมัครกลุ่มหนึ่งช่วยกันทำความสะอาดพื้นที่รอบชายฝั่งทะเลที่งดงามเป็นประจำทุกสัปดาห์ จากคนกลุ่มเล็กๆ ไม่กี่คนได้เพิ่มปริมาณจิตอาสาเป็นหลักร้อยในเวลาเพียงไม่กี่เดือน และนั่นเองที่โครงการเล็กๆ ในนาม Trash Hero Lipe Thailand ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการเมื่อสี่ปีก่อน

ขวดน้ำพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดและพบมากที่สุดจากการเก็บขยะตามชายหาด Trash Hero จึงได้จัดทำกระบอกน้ำขึ้นมาเพื่อจำหน่ายให้คนใช้ดื่มและสามารถเติมน้ำเพื่อใช้ซ้ำได้อีก โดยขอความร่วมมือกับเจ้าของที่พักในเกาะให้ลูกค้าช่วยกันใช้ขวดน้ำนี้ในระหว่างการพักอาศัยบนเกาะ (จะเช่าหรือซื้อเป็นของตัวเองก็ได้) ซึ่งปรากฏว่าช่วยลดปัญหาขยะขวดน้ำได้มหาศาล

เมื่อการลงมือทำเล็กๆ เริ่มส่งผลกระทบที่น่าชื่นใจในวงกว้าง แนวทางการทำงานแบบนี้จึงเริ่มขยายตัวออกไปยังพื้นที่ท่องเที่ยวชายหาดอื่นๆ อาสาสมัครร่วมเก็บขยะหลายคนเป็นชาวต่างชาติที่ชอบใจในความคิดนี้ก็นำกลับไปทำที่ประเทศของตัวเอง จากโครงการเล็กๆ ที่เกิดขึ้นกลายเป็นเครือข่ายความร่วมมือที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ Trash Hero มีเครือข่ายย่อยในประเทศไทยถึง 21 แห่ง และเครือข่ายในต่างประเทศอีกหลายแห่ง อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ กรุงปราก และนิวยอร์ก จนรวมพลังกลายเป็น Trash Hero World ในทุกวันนี้

เราต่างเป็น Trash Hero ได้ทุกคน

ทุกวันนี้ Trash Hero กลายเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมขนาดเล็กที่กำลังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ทีละน้อยในหลากหลายพื้นที่เพราะเข้าไปถึงหัวใจของชุมชนอย่างแท้จริง ตรงตามพันธกิจสำคัญที่ผู้ก่อตั้งองค์กรได้ริเริ่มไว้คือ การสร้างสังคมที่ยั่งยืนโดยที่ชุมชนเป็นเจ้าของโครงการเอง (Community-based project)

ทุกหน่วยย่อยในแต่ละจังหวัด (หรือเรียกว่าแชปเตอร์) จะเป็นเจ้าของกิจกรรมในพื้นที่ของตัวเอง สามารถออกแบบหรือทำกิจกรรมใดก็ได้ ด้วยความถี่บ่อยขนาดไหนก็ได้ตามแต่กำลังที่ตัวเองมี โดยอยู่ภายใต้แนวคิด 4 ประการคือ

1. ลงมือทำและสร้างจิตสำนึกการรับรู้ ผ่านกิจกรรมเก็บขยะประจำสัปดาห์/เดือน (แล้วแต่ออกแบบ) ในชุมชน เก็บขยะในพื้นที่สาธารณะเพื่อลดจำนวนขยะในปัจจุบัน  ช่วยสร้างจิตสำนึกและอาจลดปริมาณขยะในอนาคต

2. ให้ความรู้ ผ่านการทำกิจกรรมหรือสร้างความร่วมมือร่วมกับองค์กรย่อยๆ ในชุมชน เช่น หมู่บ้าน โรงเรียน ฯลฯ เพื่อให้ความรู้เรื่องผลกระทบของขยะต่อตัวเองและสิ่งแวดล้อม และให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะอย่างถูกวิธี การมีพลเมืองที่มีความรู้เรื่องการจัดการขยะมากขึ้น ย่อมหมายถึงปัญหาขยะที่จะลดลงได้ในอนาคตด้วย

3. สร้างแรงบันดาลใจ สิ่งหนึ่งที่น่ารักมากสำหรับโครงการนี้คือการทำงานของตัวเองอย่างเต็มใจโดยไม่ตำหนิ ไม่พร่ำบ่น หรือต่อว่าคนที่มีหน้าที่จัดการขยะหน่วยงานอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งเสียตั้งแต่เริ่มต้น การลงมือทำสิ่งดีๆ ในพื้นที่สาธารณะจึงเป็นแรงกระเพื่อมให้เกิดการร่วมไม้ร่วมมือมากขึ้น กลายเป็นเครือข่ายอาสาสมัครที่มากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละพื้นที่ เพราะทุกคนต่างได้ประโยชน์เดียวกันคือบ้านที่งดงามขึ้น

4. เน้นความยั่งยืน การเก็บขยะอาจเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ต้นเหตุจริงๆ ที่ต้องเปลี่ยนคือพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในสังคม Trash Hero จึงเน้นกิจกรรมรณรงค์เรื่องการพกพาวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ซ้ำได้ เช่น ถุงผ้า กระบอกน้ำ เพื่อให้คนหันมาใช้ขวดน้ำแบบเติมได้ เพื่อลดขยะขวดน้ำ โดยจูงใจผู้ซื้อด้วยการเติมน้ำฟรีได้จากจุดบริการ Trash Hero Refill ทั่วประเทศ (หรือทั่วโลกถ้าไปต่างประเทศ)

ดังนั้น ทุกคนจึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Trash Hero ได้โดยไปร่วมกิจกรรมกับแชปเตอร์ย่อยในแต่ละพื้นที่ หรือขอตั้ง Trash Hero ในพื้นที่ของตัวเองขึ้นมาใหม่เลยก็ได้ หากคิดว่าตัวเองมีใจที่จะทำงานเพื่อสังคมของตัวเองจริงๆ คลิกรายละเอียดได้ที่
http://trashhero.org/chaptersignup

เพราะเป็นได้มากกว่าขยะ

เพราะขยะเป็นได้มากกว่าขยะ หากแชปเตอร์ใดมีบุคลากรที่มีความสามารถและมีความพร้อม อาจต่อยอดงานของตัวเองได้ด้วยการสร้างสรรค์ขยะสู่ผลิตภัณฑ์ได้ด้วย เช่น ผลิตภัณฑ์รองเท้า ทะเลจร ที่ทำมาจากเศษพลาสติก ซึ่งได้จากการหลอมขยะรองเท้าแตะที่เก็บได้จากชายหาดมาเป็นวัสดุทดแทนยางพาราใช้ทำพื้นรองเท้า  โดยทำความสะอาด บด อัดและนำมาขึ้นรูปใหม่ ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีก็ทำเป็นเพียงรองเท้าแตะเดินชายหาด ต่อมาจึงพัฒนาเป็นรองเท้าประเภทต่างๆ ได้โดยใช้ร่วมกับวัสดุอื่นๆ ด้วย

ปัจจุบัน Trash Hero Thailand ได้ประสานความร่วมมือกับ Bamboo School โรงเรียนของเด็กขาดโอกาสริมชายแดนพม่าในจังหวัดกาญจนบุรี  โดยอาสาทำ Eco-brick หรือขยะขวดน้ำที่บรรจุขยะชิ้นเล็กๆ แล้วอัดแน่นจนเต็ม (จำเป็นต้องแน่นเพราะอาคารต้องการความแข็งแรง) เพื่อทำเป็นโครงสร้างในการก่อสร้างอาคารเรียน สำหรับคนที่สนใจสามารถทำ Eco-brick ส่งไปให้ Bamboo School ได้ที่ 234 ซ.แมมแคท หมู่บ้านบ้องตี้ล่าง ต.บ้องตี้ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี 71150 ภายในเดือนตุลาคม 2560 นี้

ขยะเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกคนต่างให้ความห่วงใย แต่แค่นั้นไม่เพียงพออีกแล้ว การเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆเริ่มต้นได้จากจุดเล็กๆ พกถุงผ้าซื้อของ พกกระติกน้ำ พกภาชนะสำหรับซื้ออาหารนอกบ้าน พกตะเกียบประจำตัว เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้หากทุกคนบนโลกนี้ช่วยกันและทำได้พร้อมๆ กัน โลกนี้คงจะดีขึ้นได้ในพริบตา

————
Trash Hero ในประเทศไทยมีแชปเตอร์ย่อยๆ ในแต่ละพื้นที่ ได้แก่ หลีเป๊ะ อ่าวนาง บ้านกรูด กรุงเทพ บางสะพาน ชลบุรี เชียงใหม่ หัวหิน เขาหลัก เขาสก เกาะลันตา เกาะพงัน เกาะสมุย เกาะศรีบอยา เกาะเต่า ปัตตานี ภูเก็ต จันทบุรี เกาะพีพี ปราณบุรี อ่าวไร่เลย์ สามร้อยยอด สงขลา ตรัง หากอยู่ในพื้นที่ใดสามารถร่วมทำกิจกรรมทำความสะอาดเมืองได้กับแชปเตอร์นั้นๆ หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://trashhero.org/

ภาพถ่าย: Trash Hero Thailand
ขอขอบคุณ: คุณปวีณา ศรีอ่ำดี Trash Heroเชียงใหม่เอื้อเฟื้อข้อมูลบางส่วน
อ้างอิง: จากกองขยะพลาสติกสู่แพขยะในทะเลไทย www.thaipublica.org TED Talk :Talking Trash in Yangon