เทรนด์ meatless เนื้อสัตว์ทางเลือกที่ทำมาจากโปรตีนพืช อย่างเช่น plant-based burger ที่มาแรงสุดๆ เมื่อปีที่ผ่านมา ดูเหมือนจะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นนวัตกรรมโปรตีนทางเลือกที่เหมือนเนื้อสัตว์เท่านั้น เพราะล่าสุดเราได้เห็น Fishless Tuna ปลาทูน่าที่ทำมาจากโปรตีนพืช มาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการกินปลาที่ดีต่อสุขภาพและดีต่อท้องทะเล

ทางเลือกของคนอยากกินมังฯ แต่ไม่อยากตัดใจจากรสชาติของปลา

“กระแสมังสวิรัติที่มาแรง ทำให้ในปัจจุบันเรามีโปรตีนทางเลือกทดแทนที่เนื้อไก่ เนื้อหมู หรือเนื้อวัวมากมาย แต่เราแทบจะไม่เห็นทางเลือกของปลาทะเลอย่างทูน่าในท้องตลาดเลย” Chad Sarno เชฟและหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Good Catch Foods สตาร์ทอัพด้านอาหารทดแทนเนื้อสัตว์ บอกว่าไอเดียของ Fishless Tuna เกิดขึ้นมาเพราะเขาอยากเพิ่มโปรตีนทางเลือกให้กับคนกินอาหารมังสวิรัติ

“เนื้อสัตว์บนโลกนี้มีความหลากหลายทั้งรสชาติ ทั้งสัมผัส ซึ่งความแตกต่างนี้ก็เหมาะกับการทำอาหารที่ต่างกันไป ผู้คนที่หันมากินอาหาร plant-based ก็มองหาสิ่งทดแทนเนื้อสัตว์เพื่อปรุงเมนูที่เขาคุ้นเคย Fishless Tuna จึงอยากมาทำลายข้อจำกัดของการปรุงอาหารเหล่านั้น”

จุดเด่นของ Fishless Tuna คือหน้าตา สัมผัส และรสชาติที่แทบไม่ต่างจากปลาทูน่าปกติ แต่ไม่มีกลิ่นคาวปลาที่หลายๆ คนไม่ชอบ ซึ่งทูน่าที่ไม่ใช่ปลานี้ทำมาจากพืชถั่ว 6 ชนิดได้แก่ ถั่วเลนทิล (lentils) ถั่วขาว (navy bean) ถั่วลันเตา (pea) ถั่วลูกไก่ (chickpea) ถั่วเหลือง (soy) และถั่วปากอ้า (fava) นำไปปรุงรสด้วยน้ำมันจากสาหร่าย (Algal Oil) ที่ไม่เพียงทำให้ Fishless Tuna มีรสชาติที่เหมือนกับปลาทะเล แต่ยังให้คุณค่าทางอาหารที่ไม่ต่างกัน 

“Fishless Tuna มีทั้งโปรตีนที่สูง ไขมันต่ำ มีโอเมก้า 3 มีประโยชน์เหมือนกับปลาทูน่าจริงๆ ซึ่งเราเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ของ Good Catch ไม่ได้เป็นเพียงแค่ทางเลือกของชอบกินปลาที่หันมาสนใจอาหาร plant-based แต่จะเป็นหนึ่งในทางออกของปัญหาการประมงทูน่าที่กำลังเป็นวิกฤตใหญ่ในท้องทะเลได้ด้วย” 

เทรนด์การกินที่ช่วยอนุรักษ์ทูน่าในท้องทะเล

ปลาทูน่าถือว่าเป็นหนึ่งในอาหารทะเลที่ได้รับความนิยมสูงสุดและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก จากรายงานเรื่อง ‘จากทะเลสู่กระป๋อง:การจัดอันดับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องไทย’ ของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าปลาทูน่าเชิงพาณิชย์ทั่วโลกมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 42 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยในแต่ละปีมีการจับปลาทูน่าทั่วโลกมากกว่า 6 ล้านตัน และยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด

ทำไมใครๆ ก็กินปลาทูน่า

ปลาทูน่ากลายเป็นปลาทะเลยอดฮิตของคนทั่วโลกในเวลาไม่ถึง 100 ปี สาเหตุที่ทำให้ปลาชนิดนี้กลายเป็นปลาสำคัญเชิงพาณิชย์ ก็เพราะอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องของสหรัฐอเมริกาซึ่งได้ทดลองนำปลาทูน่าที่หาง่าย ราคาไม่แพง แต่คนไม่นิยมกินในยุคนั้นเพราะกลิ่นที่รุนแรง มาแปรรูปให้กลายเป็นอาหารที่กินง่าย นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนสนใจปลาทูน่ามากขึ้น

ด้วยรสชาติและสัมผัสอันเป็นเอกลักษณ์ คุณค่าทางโภชนาการที่ อัดแน่นทั้งโปรตีนชนิดย่อยง่าย วิตามิน ไอโอดีน โอเมก้า 3 แถมยังมีแคลอรี่ต่ำและราคาไม่แพง ทูน่าจึงถูกนำไปทำอาหารที่หลากหลาย ไม่จำกัดแค่ในรูปแบบปลาทูน่ากระป๋องเท่านั้น ทุกวันนี้เราสามารถนำทูน่ามากินแบบสดๆ เป็นซาชิมิหรือซูชิ นำไปย่างทำเป็นสเต็ก หรือจะนำไปดัดแปลงให้เป็นอาหารท้องถิ่นก็ยังทำได้ ซึ่งประโยชน์ ความอร่อย และความหาง่าย จึงไม่แปลกใจที่ทั่วโลกมีการบริโภคทูน่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่ในขณะที่เรากินปลากันมากขึ้นทุกๆ ปี ปลาทูน่าในท้องทะเลก็มีปริมาณลดลงทุกๆ ปีเช่นกัน ปัจจุบันนี้ 4 ใน 5 สายพันธุ์ปลาทูน่าที่คนนิยมกินกัน ได้แก่ ปลาทูน่าพันธุ์ตาโตและปลาทูน่าพันธุ์ครีบน้ำเงินที่นิยมนำมาทำซูชิกับซาชิมิ ปลาทูน่าพันธุ์ครีบยาวและปลาทูน่าพันธุ์ครีบเหลืองที่นิยมนำมาทำปลาทูน่ากระป๋อง ถูกจัดให้เป็นปลาที่อยู่ในสถานะใกล้ภาวะคุกคามไปจนถึงใกล้สูญพันธ์ุแล้ว

ทำไมปลาทูน่าจะหมดโลก

ตั้งแต่ทูน่ากลายเป็นปลาเชิงพาณิชย์ ประชากรปลาทูน่าในทะเลทั่วโลกมีจำนวนลดลงไปมากกว่า 2 ใน 3 ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากกระบวนการของอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ ที่มักจะใช้อุปกรณ์ล่อปลา (FADs) ร่วมกับอวนล้อมขนาดใหญ่ เพื่อจับปลาทูน่าให้ได้มากที่สุด

วิธีประมงที่ใช้อุปกรณ์ล่อปลาถือว่าเป็นการประมงแบบทำลายล้าง ที่กว้านจับมาทั้งปลาปลาทูน่าขนาดปกติและปลาทูน่าที่ยังไม่โตเต็มวัย ไม่ได้วางไข่ขยายพันธุ์ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมปลาทูน่าไม่สามารถขยายพันธ์ุได้รวดเร็วทันความต้องการของมนุษย์ จนมีคำกล่าวที่ว่าหากในอนาคตยังไม่มีวิธีการควบคุมการประมงที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีการควบคุมการบริโภคปลาทูน่า ภายในปี 2048 เราก็จะไม่มีซาชิมิและทูน่ากระป๋องให้กินกันอีกต่อไป

กรีนพีซบอกว่าการรักษาปลาทูน่าให้มีกินจนถึงลูกหลานได้ นอกจากจะต้องรณรงค์ต่อต้านวิถีประมงเกินขนาดแล้ว คนกินอย่างเรายังต้องทำความรู้จักกับอาหารให้มากขึ้น ลึกขึ้น ไม่เพียงแค่รู้ว่ารสชาติมันเป็นอย่างไร ปลอดภัยกับเราไหม แต่ควรรู้ว่าอาหารที่เรากินส่งผลกระทบอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน 

วิกฤตของปลาทูน่านั้นไม่ใช่ปัญหาที่แก้ได้ง่ายๆ แต่ในฐานะผู้บริโภค อาจจะเริ่มต้นจากการตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราจำเป็นต้องกินปลาทูน่ากันมากมายจริงๆ ไหม แล้วเราสามารถเลือกการกินปลาหรืออาหารชนิดอื่น ที่ดีต่อตัวเองและดีต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กันหรือไม่

Fishless Tuna จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่นวัตกรรมอาหารที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองเทรนด์ meatless ที่มาแรง แต่ยังเป็นทางเลือกของการกินที่ทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนทางอาหารได้ โดยไม่ต้องตัดใจจากรสชาติที่โปรดปราน

ทางเลือกกินรักษ์โลก ที่มาถึงเมืองไทย

โปรตีนทางเลือกอย่าง plan-based meat ไม่ได้เป็นที่พูดถึงหรือได้รับความสนใจแค่ในต่างประเทศ แต่เริ่มเป็นกระแสในเมืองไทยเช่นกัน ล่าสุดเราได้เห็นการผสมผสานเทรนด์นี้เข้ากับอาหารสตรีทฟู้ดของไทยอย่าง ข้าวกะเพราวิถี ‘plant-based’ จาก ทานไทย (Thaan Thai) บริษัทนวัตกรรมอาหาร ที่อยากให้คนไทยเข้าถึงกระแส plant-based ผ่านอาหารที่เราคุ้นเคย

ทานไทยจะใช้เนื้อสัตว์ทางเลือกแบรนด์ OmniPork โปรตีนที่ทำมาจากเห็ดหอม ข้าว ถั่วเหลือง และถั่วลันเตาแทนหมูสับ แต่ยังปรุงรสชาติให้เผ็ดร้อนจัดจ้านถูกปากคนไทย

ข้อมูลอ้างอิง
https://goodcatchfoods.com
www.livekindly.com
www.greenpeace.or.th
www.fao.org

ภาพถ่าย: Good Catch