สุดสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ฟาร์มของลุงรีย์ยังคงคึกคักเช่นเคย

เพราะเจ้าของฟาร์มอารมณ์ดีอย่าง ลุงรีย์ ชารีย์ บุญญวินิจ เกษตรกรรุ่นใหม่ผู้เปลี่ยนขยะจากเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยชั้นดี เขายินดีเปิดบ้านต้อนรับเหล่าสายกรีนจาก greenery. ให้เข้ามาล้อมวงลงฟาร์ม เรียนรู้เรื่องพืชผัก เรื่องดินและเรื่องการแยกขยะแบบครบวงจร ในฐานะ Greenery Idol คนแรกของเรา

ก่อนจะแยกย้ายกันกลับ เราเลยขอชวนลุงรีย์มาอัพเดทเรื่องการทดลองครั้งใหม่ในฟาร์มกลางเมืองแห่งนี้ ซึ่งแตกหน่อจากการทำปุ๋ยมูลไส้เดือนที่เราเห็นกันจนคุ้นตา ไปเป็นโมเดลธุรกิจแลกเปลี่ยนขยะจากร้านอาหารให้กลายเป็นพืชผักสูตรพิเศษ และอีกหนึ่งไอเดียที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้อย่างรีฟิลสเตชั่นแนวใหม่เอาใจนักปลูกผักคนเมือง

การทดลองที่ 1: สร้างระบบขนส่งที่เป็นมิตร

“ฟาร์มเรามีกระบวนการประหลาดๆ ละมั้ง คนเลยอยากมาเรียนรู้ มาเรียนเสร็จเขาก็เอากลับไปทำของตัวเองต่อ พอเราเปิดคอร์สเยอะๆ เข้า เราเลยมีลูกศิษย์ที่ทำนู่นทำนี่เต็มไปหมด”

ลุงรีย์เริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทดลองครั้งใหม่นี้ หลังจากที่เขาพบว่าการเปิดคอร์สเกือบ 80 ครั้งที่ผ่านมา ตนเองได้ผลิตบุคลากรที่สามารถนำเรื่องเหล่านี้ไปต่อยอดได้อีกเป็นสิบๆ ชีวิต แถมพวกเขาเหล่านั้นยังสร้างผลผลิตทั้งหมูเห็ดเป็ดไก่และพืชผักตามมาอีกมากมายมหาศาล

“ด้วยความที่คนเหล่านี้เป็นเพื่อนๆ เราทั้งนั้น พอเขาเรียนกับเราเสร็จ ไปปลูกผักกลับมา เขาก็ชอบเอาของมาดร็อปไว้ที่ฟาร์มเรา ฝากให้เราไปส่งตามร้านอาหาร ไปวางขายที่อื่น เพราะเรามีรถส่งของ 

“เราไม่ได้ตั้งใจจะเป็นบริษัทค้าส่งวัตถุดิบออร์แกนิกอะไรหรอกนะ แต่เรารู้ตัวว่าเรามีจุดเด่นคือเรารู้วิธีการเพิ่มมูลค่าสินค้า เรารับของมาเรารู้ว่าเราควรจะโพสิชั่นมันยังไง จะเล่าเรื่องตรงไหน บางทีเราเล่าเรื่องสนุกกว่าเจ้าของอีก เราเลยเริ่มหยิบจุดนี้มาช่วยเพื่อนๆ ขายของก่อน เพราะเราอยากให้คนอื่นรู้ว่าอาหารเหล่านี้มันมีที่มาที่ไปยังไง”

เมื่อทำมากเข้า ลุงรีย์ก็พบว่าเขามีมิตรสหายจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่มักจะชอบมาฝากของให้เขานำไปส่งขายต่อ จากการรับฝากเฉยๆ ลุงรีย์จึงเริ่มพัฒนาระบบขนส่งขนาดย่อมขึ้นมา โดยเริ่มคิดค่าส่ง ค่าไฟ ค่าเดินทางต่างๆ ให้มีความเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น จนกลายเป็นระบบขนส่งเล็กๆ และเรียบง่ายภายในฟาร์ม

การทดลองที่ 2: เปลี่ยนขยะจากร้านอาหาร เป็นผักสูตรพิเศษเฉพาะตัว

หลังจากการขับรถส่งวัตถุดิบกลายเป็นอีกหนึ่งกิจวัตรเล็กๆ ประจำเดือน ลุงรีย์เริ่มเห็นว่าการตีรถเปล่ากลับฟาร์มบ่อยๆ กำลังทำให้เขาเสียทรัพยากรไปโดยใช้เหตุ ดังนั้นเมื่อนำของไปส่งถึงร้านแล้ว เขาก็ควรจะได้อะไรแลกเปลี่ยนกลับมาเหมือนกัน

“เราเริ่มคิดว่าเราจะสามารถทำอะไรได้มากกว่าการตีรถเปล่ากลับฟาร์มไหมนะ เลยลองเริ่มต้นจากร้านแฟนก่อน คือพอไปส่งของเสร็จ เราก็ขอเอาแผงไข่หรือเศษอาหารที่ร้านกลับมาทำปุ๋ยที่ฟาร์ม แต่เราพบว่ามันยากที่เขาจะเก็บขยะไว้ให้เราได้ถ้าไม่แช่แข็งหรือใส่ถุงดำไว้ ซึ่งพอเราไม่ได้ไปรับทุกวันมันก็ลำบาก เราเลยคิดว่างั้นทำถังใส่เศษอาหารไว้ให้เขาเลยดีไหมล่ะ”

การทดลองของลุงรีย์จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยเขาหันมาศึกษาวิธีการทำถังปุ๋ยหมักเศษอาหารรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างถัง Bio Trash ของตนเอง ที่มีคอนเซปต์เอาใจคนรักษ์โลก อยากทำปุ๋ย แต่กลัวเจ้าหนอนตัวขาวที่มักโผล่มาเซอร์ไพรส์แบบไม่ได้ตั้งใจ ด้วยถังขนาดกะทัดรัดที่มีฝาปิดแน่นหนา แล้วเริ่มต้นใช้เองในฟาร์ม ก่อนจะขยับขยายไปยังร้านอาหารพันธมิตรที่ลุงรีย์จะต้องไปส่งผักบ่อยๆ 

“เรามีร้านในลิสต์เป็นสิบอยู่แล้ว ก็ลองไปถามเขาดูว่าอยากมาร่วมกับเราไหม บางทีเขาก็ไม่ได้อยากซื้อถังของเราหรอก เพราะไม่รู้จะจัดการยังไง เราเลยเปิดให้เช่าแทน ถ้าเขายอมเช่าเราก็ยอมลดค่าผักผลไม้ที่เอามาส่งให้ เช่น ลดราคาไข่จาก 7 บาท เหลือ 6 บาท แล้วเราก็ได้คนทำปุ๋ยให้เราทุกเดือน”

แล้วมีปุ๋ยเยอะขนาดนี้ ลุงรีย์เอาปุ๋ยไปทำอะไรต่อ-เราสงสัย

“เราจะเปิดประมูลปุ๋ยจากแต่ละร้านให้กับลูกศิษย์หรือเพื่อนๆ ที่ทำฟาร์มเหมือนกัน สมมติเรามีร้านที่ร่วมกับเรา เราก็จะไปถามว่ามีใครอยากปลูกผักให้ร้านนี้ ก็เอาขยะจากร้านนี้ไป แล้วร้านนี้ต้องการผักอะไรบ้างก็ลิสต์มาเลย เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ว่าร้านต้องการผักอะไรบ้าง เวลาปลูกผักเลยมักปลูกสิ่งที่ร้านไม่ได้ใช้ หน้าที่เราคือเข้าไปช่วยเชื่อมตรงนี้ บอกเขาว่าร้านนี้ขาดผักอะไร แล้วเกษตรกรต้องปลูกอะไร

“ด้านร้านอาหาร เราต้องทำให้เขารู้ว่าเขาได้อะไรมากกว่าไข่ที่ลดราคา พอเราจับคู่ร้านอาหารกับฟาร์มไหนแล้ว เราก็จะให้ฟาร์มนั้นทำป้ายแปลงผักเป็นชื่อร้านอาหารเลย เหมือนเขาได้แปลงผักโดยที่เขาไม่ต้องปลูกเอง มีคนคอยอัพเดทว่าผักวันนี้เป็นยังไงบ้าง ร้านก็เอาไปเพิ่มมูลค่าได้ เช่น ร้านนี้เป็นร้านซีฟู้ดที่มีขยะส่วนใหญ่เป็นเปลือกกุ้ง เราก็เอาทักษะที่เราถนัดอย่างการสร้างสตอรี่มาช่วยแนะนำ ต่อยอด ให้เขาเล่าเรื่องได้ว่าผักที่ร้านเขาก็ปลูกด้วยปุ๋ยสูตรกุ้งเหมือนกันนะ ยุคนี้มันเป็นยุคของการเล่าเรื่องซึ่งเราตอบโจทย์เขาพอดี แล้วผู้บริโภคที่ชอบเรื่องการกินประสบการณ์อยู่แล้ว เขาก็จะยิ่งสนใจ

“ถึงจะมีโมเดลขนาดนี้ เราก็ยังยืนยันว่าเราไม่ได้เป็น supplier นะ เราเป็นแค่เกษตรกรที่เชื่อมโยงทุกคนเข้าด้วยกัน เราเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เรายืนอยู่ในทุกตำแหน่ง เราเลยเข้าใจทุกคน”

การทดลองที่ 3: ใครๆ ก็รีฟิลได้

นอกจากการยืนอยู่ในทุกตำแหน่งของห่วงโซ่การบริโภคจะทำให้ลุงรีย์สามารถสร้างธุรกิจหมุนเวียน ที่เชื่อมโยงเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภคให้เข้าใกล้กันได้มากขึ้นแล้ว มันยังทำให้ลุงรีย์มองเห็นช่องว่างด้านการจับจ่าย การเลือกกิน เลือกซื้อของของคนเมืองอีกกลุ่ม ซึ่งเริ่มหันมาสนใจเรื่องการกินดี อยู่ดี ทั้งคนที่อยากลองปลูกผักเองแต่ก็ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน หรือคนที่อยากหมักปุ๋ยจากเศษอาหารแต่ก็ยังมีเรื่องให้ไม่กล้าลงมือทำอีกเต็มไปหมด

ด้วยเหตุนี้ลุงรีย์จึงเริ่มทดลองอีกหนึ่งธุรกิจเล็กๆ ควบคู่ไปกับการขับรถส่งผัก ด้วยการจัดสเตชั่นเล็กๆ ในฟาร์ม เปิดเป็น ‘Fill in Farm’ ในทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ เพื่อให้นักแยกขยะและนักปลูกผักมือใหม่ได้แวะมาตักปุ๋ย เทน้ำหมักหรือจะแค่มาปรึกษาขอข้อมูลจากลุงรีย์ก็ยังได้

“แต่ก่อนใครจะไปกล้าทำปุ๋ยแบบไม่มีถุงพลาสติก จริงไหม ขนาดเราซึ่งปลูกผักและแยกขยะเองยังเคยใช้ปุ๋ยจนทิ้งพลาสติกแหลกลาญเลย แต่แฟนเราเขาทำร้าน Lessplasticable อยู่ ซึ่งก็เป็นรีฟิลสเตชั่นเหมือนกัน เราเลยได้แรงบันดาลใจมาว่าจริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นอะไรก็รีฟิลได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราอยากให้เกิดในการรีฟิลก็คือของหมวดแปลกๆ ที่คนเรานึกไม่ถึงและไม่ได้จำเป็นต้องใช้เยอะขนาดนั้น อย่างปุ๋ย คนเมืองก็คงไม่อยากซื้อทั้งกระสอบหรอกถ้าเขาปลูกแค่กระบองเพชรต้นเล็กๆ เอง

“เราอยากให้ทุกคนรู้ว่าจริงๆ แล้วถึงคุณจะไม่ใช่ภาคครัวเรือนเล็กๆ คุณก็สามารถทำรีฟิลสเตชั่นของตัวเองได้เหมือนกัน อาหารหมาก็รีฟิลได้ ร้านขายซีฟู้ดก็ทำได้ สมมติเราเอาปูมาวางเรียงกันให้คุณหยิบใส่กล่อง ตักน้ำแข็งโปะกลับบ้าน แค่นี้ก็เป็นรีฟิลสเตชั่นแล้ว หรืออยู่สำเพ็งยังทำได้เลย ก็เปิดแผงให้คนมาซื้อของโดยที่เขาต้องเตรียมถุงมาเองไง มันง่ายมากๆ” 

มากไปกว่ารีฟิลสเตชั่นสไตล์ใหม่ไม่เหมือนใคร ลุงรีย์ยังแอบกระซิบกับเราด้วยว่าที่นี่กำลังจะมีอัตราแลกเปลี่ยนพิเศษของตัวเอง ให้ใช้เป็นสิทธิแลกซื้อสำหรับใครที่ไม่อยากพกเงินมาจ่ายแบบปกติ ซึ่งเจ้าสิทธิแลกซื้อนี้ก็ไม่ใช่ของไกลตัวที่ไหน แต่เป็นตัวละครหลักของฟาร์มลุงรีย์อย่างเจ้าไส้เดือนนักพรวนดินนี่เอง

ถ้าคุณไม่มีเงินกินข้าว ไส้เดือนแอฟริกันตัวละ 3 บาท ไทเกอร์ตัวละ 1 บาท บลูเวิร์มตัวละ 60 สตางค์ ไส้เดือนไทยให้มากหน่อยตัวละ 5 บาท เพราะเดี๋ยวต่อไปเราจะพยายามชูโรงไส้เดือนไทย แต่ตอนนี้มันเลี้ยงยาก แล้วทั้งหมดทั้งปวงตีเป็นเงินได้ เอามาแลกข้าวกินทีนี่หรือจะมาตักปุ๋ยในฟาร์มเรากลับไปก็ได้เหมือนกัน ไม่ต้องจ่ายเงิน เอามาเป็นกิโลๆ ได้เลย เพราะเราก็ขี้เกียจไปหาเหมือนกัน” ลุงรีย์หัวเราะ พร้อมยืนยันกับเราว่าเขาไม่ได้ล้อเล่น

การทดลองที่ 4: การทดลองที่ไม่มีวันหยุด

“ฟาร์มของเราเน้นคิดสิ่งใหม่ ทำอะไรที่สนุก ใช้คอนเน็กชั่นที่มีอยู่ให้เป็น เพราะเรารู้ว่าเราทำอะไรได้ เรามีอะไรบ้าง ก็ใช้มันให้คุ้มสิ โดยทุกอย่างที่เราทำก็ง่ายๆ เกิดขึ้นจากหลักบันไดเก้าขั้น และหลักเศรษฐกิจพอเพียงทั้งนั้น แค่เอามาปรับให้สนุกขึ้น”

ทำเยอะขนาดนี้ลุงรีย์ได้อะไรบ้าง-เราถาม

“ได้ดิ ตังค์ไง” ลุงรีย์ตอบเราในทันทีปนเสียงหัวเราะ “พูดให้ชัดเลยคือทุกๆ การทดลองของเรา เราจะคิดก่อนทำเสมอให้ได้ 3 อย่าง คือ สิ่งที่เราทำดีต่อสิ่งแวดล้อมจริงไหม เกิดประโยชน์ต่อคนรอบข้างจริงไหม และได้กำไรจริงไหม เรื่องกำไรนี่สำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นเลยนะ อันนี้ต้องพูดให้ชัดเลย ไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้ เพราะสิ่งที่ทำอยู่มันต้องใช้เงินเยอะ แล้วเรายังต้องหล่อเลี้ยงคนอีกเต็มไปหมด

“ถ้าทำกำไรได้ แสดงว่ามันไม่แบน มันประสบความสำเร็จ คนเขาก็จะเห็นทันที ยิ่งถ้าคนเห็นเยอะ เขาก็อาจจะอยากเอาไปต่อยอดให้ดีขึ้นก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะดีมากๆ เพราะทุกโมเดลที่เราทดลองทำอยู่เราก็บอกไม่ได้หรอกว่ามันสมบูรณ์แล้วหรือยัง แต่ที่แน่ๆ มันจะเป็นธุรกิจที่ทำให้โลกเราดีขึ้น”

แน่นอนว่าในอนาคตลุงรีย์ก็ยังมีโมเดลอื่นๆ อีกมากมายในหัว ที่กำลังรอเวลาในการออกแบบและทดลอง เพื่อให้เกิดธุรกิจที่เป็นรูปเป็นร่างดังเช่นที่ผ่านๆ มา

“เราสนุกกับมัน แล้วเราก็อยากให้เรื่องเหล่านี้ ทั้งการแยกขยะหรือการทำปุ๋ยกลายเป็นเรื่องที่คนอื่นจะเอนจอยด้วย เพราะฉะนั้นมันไปได้ไกลกว่านี้อีกเยอะ แล้วคิดดูสิตอนนี้เราอายุ 30 เรายังสนุกกับมันขนาดนี้ พอถึงวันที่เราอายุ 50 เป็นลุงรีย์จริงๆ ตอนนั้นเราจะสนุกขนาดไหน”

ภาพถ่าย: greenery.