ผืนดินขนาดหนึ่งร้อยตารางวาใจกลางย่านฝั่งธนที่เรายืนอยู่นั้นต่างจากแวดล้อมโดยรอบอย่างน่าสนใจ ด้วยความร่มรื่นจากต้นหูกวางอายุหลายสิบปีที่แผ่กิ่งก้านคลุมทั่วอาณาบริเวณ เสียงเซ็งแซ่จากสัตว์นานาชนิดทั้งห่าน ไก่ แพะ และเสียงจากวงสนทนาที่กระจายตัวอยู่รอบๆ ล้วนทำให้เรารู้สึกถึงความเคลื่อนไหวและพลังงานสดใหม่ที่หมุนเวียนอยู่ในพื้นที่นี้จนสัมผัสได้

​ผืนดินตรงนี้คือฟาร์มไส้เดือนลุงรีย์ หรือ Uncle Ree Organic Farm สถานที่ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นฟาร์มไส้เดือนกลางกรุง ก่อนขยับขยายกลายเป็นฟาร์มลูกผสมที่มีทั้งเห็ด ห่าน ไก่ แพะ ผักปลอดสารพิษ แถมยังเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ที่มีชื่อเสียงลำดับต้นๆ ของประเทศ ผลิตเกษตรกรหน้าใหม่ออกไปสร้างสรรค์ผลผลิตปลอดภัยแล้วถึง 50 รุ่น

​ชารีย์ บุญญวินิจ ชายวัย 30 ปีผู้เรียกตัวเองว่า ‘ลุงรีย์’ มาตั้งแต่อายุเพิ่งต้นๆ เลขสอง คือผู้ริเริ่ม ก่อร่าง และเดินหน้าทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อมาตลอดเวลาเกือบสิบปี

​นั่นคือการทำให้ ‘การทำเกษตร’ เป็นเรื่องง่ายสำหรับคนเมือง

จากอยากกำจัด สู่การปฏิบัติ

​ลุงรีย์เล่าว่าเมื่อแรกจบการศึกษาจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาก็เหมือนเด็กหนุ่มทั่วไปผู้อยากท่องโลกก่อนเข้าสู่วัยทำงาน จึงเก็บกระเป๋าเดินทางสู่อเมริกาและทำงานในร้านอาหารอยู่พักใหญ่ ระหว่างนั้นเองก็เกิดปัญหาคาใจว่าทำไมขยะสดจากร้านอาหารถึงมากมายเหลือเกิน

​“เราเห็นปัญหาเรื่องขยะมาตั้งแต่ตอนอยู่อเมริกา พอกลับมาไทยก็เจอปัญหาเดิม คือขยะสดจากร้านอาหารหรือซูเปอร์มาร์เก็ตมันเยอะมาก และส่วนใหญ่ไม่ได้เอากลับมาใช้ประโยชน์ เราเลยพยายามหาวิธีแก้ปัญหาที่เวิร์กและใช้เงินน้อยที่สุด แล้วก็พบว่าไส้เดือนนี่แหละคือคำตอบ”

​หลังพบคำตอบของคำถามคาใจ ลุงรีย์ในวัยยี่สิบต้นก็เริ่มศึกษาเรื่องไส้เดือนอย่างลงลึก ก่อนพบว่าไส้เดือนนั้นกินขยะสดทั้งเศษผัก ผลไม้ รวมถึงกระดาษหนังสือพิมพ์หรือกล่องนมเหลือทิ้งก็เป็นอาหารของพวกมันได้หมด แถมยังเลี้ยงในกระบะซ้อนกันเป็นแนวตั้งได้สบาย หมายความว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถเลี้ยงไส้เดือนได้ทั้งนั้น และเมื่อเริ่มลงมือเลี้ยงได้สักพัก เขาก็ตัดสินใจส่งต่อความรู้ให้กับคนที่สนใจแบบไม่กั๊ก ด้วยหลักคิดว่าความรู้ยิ่งให้ยิ่งได้ จนเกิดเป็นคอมมูนิตี้ขนาดย่อมของกลุ่มคนเลี้ยงไส้เดือนขึ้นมาในที่สุด

​“ความสนุกของเราตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้คือการกำจัดขยะ แต่พอเริ่มเลี้ยงไส้เดือนมาสักพักเราก็เริ่มเห็นรายละเอียดที่มากกว่านั้น คือการเลี้ยงไส้เดือนมันมีปัจจัยเสริมมากมาย ไม่ว่าจะน้ำ ปุ๋ย หรือดิน เราเลยแยกวิธีการเลี้ยงไส้เดือนออกเป็น 2 แบบ คือเลี้ยงเพื่อผลิตปุ๋ย กับเลี้ยงเพื่อผลิตตัวไส้เดือน” เขาว่า ก่อนแนะนำให้เรารู้จักกับผลิตภัณฑ์จากไส้เดือน 3 ชนิดที่นับเป็นรายได้หลักของฟาร์ม

​“ผลิตภัณฑ์เรามีทั้งหมดสามตัว คือมูลไส้เดือน ใช้เป็นปุ๋ยดีมาก เมือกไส้เดือน ใช้พ่นบำรุงพืชทางใบ และตัวไส้เดือน ใช้พรวนดินหรือเป็นอาหารสัตว์เพิ่มโปรตีน แต่ที่คนไม่รู้คือไส้เดือนพันธุ์ไทยเป็นยาได้ด้วย ตำรับโบราณเรียกกันว่ารากดิน มีสรรพคุณแก้โรคความดัน โรคหอบ แต่เรื่องนี้เรากำลังศึกษากันอยู่ว่าจะเป็นไปได้แค่ไหนกับการทำให้คนหันมากินไส้เดือนกันเป็นเรื่องปกติ” ลุงรีย์เล่าพลางหัวเราะ เราทวนคำตอบว่าไส้เดือนกินได้จริงๆ ใช่ไหม เขายิ้มรับก่อนพยักหน้า พลางเสริมว่าสรรพคุณจากไส้เดือนมีอีกนานัปการที่เราไม่รู้

ทำงานให้ได้งาน

​จากแค่เลี้ยงไส้เดือนเพื่อกำจัดขยะและส่งขาย ลุงรีย์ยังใช้ไส้เดือนสร้างอาหารด้วยการนำพวกมันไปเลี้ยงสัตว์ และใช้ปุ๋ยจากไส้เดือนมาดูแลพืชผักในฟาร์มขนาดร้อยตารางวาจนงอกงาม เก็บผลผลิตได้เป็นรายวัน ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารและค่าปุ๋ยลงได้อย่างมหาศาล

​“คนชอบบอกว่าเรามีไอเดียเยอะ แต่จริงๆ เราแค่ยึดทฤษฎีไม่กี่ข้อเท่านั้นเอง ทฤษฎีแรกที่เอามาใช้คือการจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการทำเกษตรแนวตั้ง และยุบสิ่งที่ความต้องการใกล้เคียงกันให้มาอยู่ด้วยกัน เป็นการทำให้พื้นที่หนึ่งงานให้ได้งาน” เขายกตัวอย่างให้เราเห็นภาพชัดด้วยโมเดลการเลี้ยงไส้เดือนพร้อมผักไมโครกรีนที่สามารถทำคู่กันได้ ด้วยการนำเผล็ดผักมาปลูกบนดืนในกระบะเลี้ยงไส้เดือน เพราะไมโครกรีนและไส้เดือนมีความต้องการเหมือนกันคือน้ำ ปุ๋ย และดิน ผลลัพธ์คือนอกจากผักไมโครกรีนเขียวอวบดีมากจากปุ๋ยมูลไส้เดือน ไส้เดือนยังได้อาหารจากรากผักที่เหลือทิ้งหลังถูกตัดไปบริโภคด้วย เรียกว่าวิน-วินทั้งสองฝ่าย

​“อีกทฤษฎีที่เราใช้คือการจับจังหวะ พูดง่ายๆ ก็คือการทำเกษตรแบบหมุนวนนั่นแหละ เช่น เรามีบ่อเลี้ยงปลา เราก็ต่อท่อลำเลียงน้ำจากบ่อปลามาปลูกผักอควาโปนิกส์ (วิธีการปลูกผักแบบใช้น้ำจากบ่อปลา และไม่ใช้ปุ๋ยเคมี) ในกระบะที่ซ้อนอยู่บนบ่อไปพร้อมกัน ผักก็จะได้น้ำและปุ๋ยจากขี้ปลา ส่วนในกระบะผักเราจะใส่เม็ดดินเผากลมๆ ไว้ให้รากผักยึดเกาะ ซึ่งมันจะช่วยกรองและเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำอีกทาง”

วิถีเกษตรต้องง่าย

​อีกหนึ่งกิจกรรมและรายได้หลักของฟาร์มลุงรีย์คือการเปิดอบรมเรื่องการทำเกษตรให้กับผู้สนใจ อย่างวันที่เราไปเยือน ก็มีการอบรมเรื่องการทำปุ๋ยหมักและเรียนรู้การเลี้ยงไส้เดือนให้เราได้เข้าไปแจม โดยการเรียนการสอนทั้งหมดตั้งอยู่บนไอเดียเดียวกันที่ว่า การทำเกษตรต้องง่ายและทำได้แม้อาศัยอยู่ในเมืองหลวง!

​“จริงๆ เราไม่ใช่คนปลูกผักเก่ง แต่ปลูกได้เพราะหาวิธีที่ง่ายเจอ เราเลยอยากส่งต่อวิธีการทำเกษตรแบบง่ายๆ ให้คนที่ปลูกผักไม่เก่งสามารถปลูกผักกินเองที่บ้านได้

เช่น เราซื้อส้มตำมากินที่คอนโด ได้สะระแหน่ได้โหระพาแถมมา แค่เอากิ่งมันมาปักลงดินอีกอาทิตย์สองอาทิตย์มันก็แตกใบให้เก็บกินได้แล้ว อะไรแบบนี้คือความรู้ที่เราอยากส่งต่อให้คนเมืองใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอาหาร” เขาบอกเราด้วยน้ำเสียงเต็มไปด้วยความหวัง ก่อนเล่าถึงอีกหลายวิธีการง่ายๆ ที่ทำได้จริง ไม่ว่าจะการปลูกผักไมโครกรีนในกระบะที่ทำได้แม้อยู่คอนโด หรือการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อกำจัดขยะในครัวเรือนนั้นก็ไม่ยากอย่างที่คิดหากรู้วิธีการ

“ถ้ามองให้ไกลกว่านั้น เป้าหมายของการปลูกผักหรือเลี้ยงไส้เดือนอาจไม่ต้องเพื่อสร้างอาหารก็ได้ คือแค่ตั้งกระถางผักไว้ในบ้านก็มีความรื่นรมย์เกิดขึ้นแล้ว เป็น Organic Therapy แบบง่ายๆ ที่ทำได้เลย หรือการเลี้ยงไส้เดือนก็อาจทำให้คุณมีไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจ ซึ่งเรามองว่าฟังก์ชั่นพวกนี้มันทำให้การทำเกษตรเป็นมิตร และดึงคนให้เข้ามาสนใจได้มากกว่าการไปบอกว่าวิถีธรรมชาติมันดีต่อโลกยังไง” ลุงรีย์ว่า

​แบรนดิ้งลุงหนวดชาวสวน

​เมื่อขยับขยายกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ได้สักระยะ กลุ่มคนรักในวิถีเกษตรอินทรีย์ที่เชื่อมต่อกันผ่านพื้นที่แห่งนี้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นเครือข่ายคอยช่วยเหลือกันอยู่ตลอด ลุงรีย์เล่าความน่ารักของคนในกลุ่มอย่างติดตลกว่า ทุกคนล้วนมีคาแรกเตอร์เป็นลุงชาวสวนคล้ายๆ กัน จึงต่างเรียกกันด้วยสรรพนามลุงแม้อายุยังไม่เข้าเลขสาม ซึ่งความเป็นลุงนี่แหละที่กลายเป็นแบรนด์ของฟาร์มไปแล้วอย่างไม่รู้ตัว

​“พอเราทำงานตรงนี้มาได้สักระยะ ความเป็นลุงรีย์ หรือ Uncle Ree มันกลายเป็นภาพจำไปโดยปริยาย พอพูดคำนี้คนก็จะนึกถึงลุงหนวดชาวสวนที่ทำฟาร์มไส้เดือน ภาพจำแบบนี้มันเป็นแบรนด์ที่แข็งแรงและต่อยอดได้เยอะ เพราะเมื่อคนรู้จักเรา รู้ว่าเราทำอะไร เพื่ออะไร ความไว้ใจก็จะตามมา”

​การต่อยอดอย่างเช่น Uncle Drive by Uncle Ree หรือระบบซื้อขายและขนส่งสินค้าออร์แกนิกจากกลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายที่สร้างรายได้อย่างงดงามให้กับทั้งเกษตรกรและคนกลาง

​“เราต้องการเป็นคนกลางที่ไว้ใจได้ เป็นคนกลางต่อเดียวที่เชื่อมเกษตรกรกับผู้บริโภคโดยตรง เพราะสาเหตุหลักๆ ที่ทุกวันนี้สินค้าอินทรีย์หรือออร์แกนิกแพง เป็นเพราะมันถูกขายผ่านคนกลางหลายทอดมากๆ”

​ลุงรีย์บอกถึงเป้าหมายของ Uncle Drive ว่าแบบนั้น ก่อนเล่าถึงกระบวนการทำงานว่าเริ่มจากรับซื้อสินค้าจากเกษตรกรอินทรีย์ที่เขาคัดสรรแล้วว่ามีคุณภาพ จากนั้นนำมาสต็อกไว้ตามบ้านของเครือข่ายที่กระจายตัวอยู่ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อส่งต่อถึงมือผู้บริโภคที่สั่งสินค้านั้นๆ ซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกัน ส่วนราคาขนส่งก็บวกเพิ่มจากราคาสินค้าไปตามระยะทางอย่างสมเหตุสมผล

​“เรื่องที่เราอยากทำต่อไปคือการช่วยเหลือเกษตรกรในการสร้างแบรนด์ ช่วยสร้างสตอรี่ดีๆ ให้กับสินค้า มีเซอร์วิสที่ดี ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มที่เวิร์ก เพราะยุคนี้คุณภาพสินค้าจำเป็นต้องไปคู่กับการสื่อสารที่ดีด้วย ที่สำคัญคือเราต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ทั้งเกษตรกร คนกลาง ร้านอาหาร และผู้บริโภค”

สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่

นอกจากภารกิจในฟาร์ม ลุงรีย์ยังมีอีกหน้าที่ที่ทำต่อเนื่องมา 5 ปีแล้ว นั่นคือการสร้างเครือข่าย Thailand Young Farmer คัดเลือกคนรุ่นใหม่ที่มีใจอยากทำเกษตร และมีความกล้าหาญพอจะเริ่มลุยกับเส้นทางสายนี้ มาเข้าอบรมการทำเกษตรแบบลงลึก ด้วยเชื่อว่าการทำเกษตรอินทรีย์สามารถยังชีพได้หากเกษตรกรมีความรู้ความชำนาญมากพอ ทั้งในเรื่องการทำเกษตร การตลาด และสิ่งแวดล้อม

​“เท่าที่ผ่านมาก็มีทั้งฝั่งที่ทำเกษตรแล้วรอดและไม่รอด ส่วนที่รอดจะเป็นฝั่งที่ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปมากกว่า คือทดลองจากเล็กๆ ก่อน เช่น เริ่มจากปลูกผักหนึ่งต้นให้รอด ขยับเป็นสองต้น สามต้น ถ้ารอดแล้วถึงเรียนรู้การปลูกเป็นฟาร์ม อาจเช่าที่ทดลองทำเกษตรก่อนก็ได้แล้วค่อยซื้อที่ดินเป็นของตัวเอง”

“คือเราไม่เคยสนับสนุนให้ใครลาออกจากงานมาทำเกษตรเลยนะ มันเสี่ยงเกินไป แต่สนับสนุนให้เริ่มจากการลงมือทำที่บ้านตัวเองก่อนนี่แหละ เอาให้ชัดว่าชอบจริงไหม ถ้าทำจริงแล้วจะรอดรึเปล่า”

ลุงรีย์ทิ้งท้ายด้วยเสียงหัวเราะ

ติดตามความเคลื่อนไหวของฟาร์มลุงรีย์ได้ที่ www.facebook.com/unclereefarm.page

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง