ใครว่าจันทบุรีมีแต่ก๋วยเตี๋ยวหมูเลียง เส้นจันท์ผัดปู หมูชะมวงกันเล่า ที่นี่มีของดีของอร่อยประจำถิ่นซ่อนอยู่ตามชุมชนต่างๆ เยอะมาก ยิ่งคนชอบขนมอร่อยแบบไทยๆ ต้องไม่พลาดมาเที่ยวบ้านหนองบัวแห่งนี้ มีขนมโบราณที่แปลกทั้งชื่อและหน้าตาให้เลือกลิ้มลองชนิดกินกันไม่หวาดไม่ไหวเลยทีเดียว

หนองบัวเป็นชุมชนขนาดเล็กตั้งอยู่ในอำเภอเมืองจันทบุรี ในอดีตเป็นย่านการค้าที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่ง ด้วยทำเลที่อยู่ติดคลองและเชื่อมต่อไปถึงทะเล  จากคลองขนาดใหญ่เชื่อมต่อไปยังคลองเล็กๆ หลังบ้านได้อีก ชาวบ้านจึงไปมาหาสู่หรือค้าขายกันด้วยเรือเป็นหลัก  ชาวจีนเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่อพยพมาอาศัยอยู่ที่นี่ โดยโล้สำเภาเอาสินค้าจากเมืองจีนมาขาย คนหนองบัวเป็นคนรักสงบ อยู่กันเรียบง่ายแบบพึ่งตัวเองเป็นหลัก ในชุมชนนี้จึงมีทุกอย่าง ทั้งนาข้าว สวนผักที่ชาวบ้านปลูกผักสวนครัวขาย ไร่อ้อย สวนผลไม้ ขณะเดียวกันความที่อยู่ใกล้ทะเล ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงมีอาชีพประมง ขายอาหารทะเล ถนอมอาหาร ชุมชนแห่งนี้จึงอุดมสมบูรณ์ด้วยวัตถุดิบนานาชนิด พรั่งพร้อมด้วยภูมิปัญญามากมายหลายอย่างจนน่าอิจฉา

โรงหีบอ้อยบ้านหนองบัว จุดเริ่มต้นของความหวานแบบเมืองจันท์
ฉันได้ความรู้ใหม่ว่าน้ำอ้อยเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของอาหารพื้นบ้านหลายอย่างในจันทบุรี เช่น หมูชะมวง หมึกต้มน้ำอ้อย ก๋วยเตี๋ยวหมูเลียง ฯลฯ  จนเรียกได้ว่ามีน้ำอ้อยดีมีชัยไปกว่าครึ่ง คุณรัตนธร เขาหนองบัว และคุณรุ่งโรจน์ บัวขาว ประธานและที่ปรึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนหนองบัว พาเรานั่งรถซาเล้งลัดเลาะไปในหมู่บ้านเพื่อชมโรงหีบอ้อยแบบโบราณอายุ 30 กว่าปี โรงหีบนี้ยังใช้วิธีการทำน้ำอ้อยแบบเดิมๆ คือใช้แรงงานคนในทุกขั้นตอนการผลิต ยกเว้นตอนหีบน้ำจากอ้อยเท่านั้นที่เปลี่ยนมาใช้เครื่องหีบเพื่อความสะดวกและประหยัดเวลามากขึ้น

ขั้นตอนการทำน้ำอ้อยเริ่มต้นด้วยการหีบน้ำจากอ้อยสด กรองกาก น้ำอ้อยที่ได้จะไหลไปรวมในบ่อพักน้ำอ้อยสด จากนั้นใช้ท่อดูดน้ำอ้อยส่งไปยังเตาที่มีกระทะเรียงต่อกันทั้งหมด 5 ใบ คนงานจะค่อยๆ เคี่ยวให้น้ำอ้อยสดสีเขียวอื๋อให้งวดลง แล้วตักใส่ในกระทะต่อไปเพื่อเคี่ยวให้งวดลงไปเรื่อยๆ จนถึงกระทะใบสุดท้ายที่น้ำอ้อยจะงวดได้ที่จนเป็นสีเหลืองทองอร่าม คนงานจึงเทน้ำอ้อยลงมาใส่กระบะเพื่อคนให้แห้งเป็นผงน้ำตาล

คุณรัตนธรและคุณรุ่งโรจน์เล่าให้ฟังว่า ตอนยังเล็กพอรู้ว่าวันไหนโรงงานจะหีบอ้อย เด็กๆ ในหมู่บ้านจะมารอกันสลอน พอถึงขั้นตอนนี้ทุกคนจะถือไม้ไว้คนละอัน พอน้ำอ้อยร้อนๆ ที่งวดได้ค่อยๆ ไหลลงมาในกระบะแล้ว ต่างคนก็ต่างเอาไม้พันน้ำอ้อยให้ม้วนติดกับไม้ กลายเป็นตังเม-ท็อฟฟี่แบบไทยๆ กินกันจนเพลินไปเลย

คนงานต้มน้ำอ้อยลองเอาน้ำอ้อยร้อนๆ พันไม้แล้วแช่น้ำเย็นทันทียื่นส่งมาให้ฉัน น้ำอ้อยที่ได้เปลี่ยนสภาพกลายเป็นของกึ่งเหลวกึ่งแข็งสีทองสวยใส พอเอาเข้าปากแล้วกัดกิน มันทั้งหวานทั้งหอม ยืดยาวเหมือนชีส นี่มันอร่อยกว่าคาราเมลใดๆ ในโลกหล้าเลยล่ะ !

เมื่อเทน้ำอ้อยลงกระบะแล้ว คนงานจะใช้พายคนน้ำอ้อยให้เย็นและแห้งลง เมื่อแห้งแล้วน้ำตาลจะเกาะกันเป็นผืน ต้องคราดให้น้ำอ้อยแตกออกจากกันแล้วใช้สากทุบให้น้ำอ้อยกลายเป็นผงละเอียด เสร็จแล้วจึงตักใส่ถุงพร้อมจำหน่ายซึ่งส่วนใหญ่จะมีคนมารอรับซื้อถึงโรงหีบเลย จุดเด่นของน้ำอ้อยหนองบัวคือมีความหอมตามธรรมชาติซึ่งหายากจากน้ำอ้อยแหล่งอื่นๆ อาจเพราะกระบวนการผลิตที่ยังคงเรียบง่ายไม่ซับซ้อนทำให้เก็บรักษากลิ่นรสของอ้อยไว้ได้อย่างดี มีน้ำอ้อยดีขนาดนี้ ฉันรู้เลยว่าขนมบ้านหนองบัวต้องอร่อยเด็ดแน่นอน

มาชิมถึงจะรู้ ว่าทำไมบ้านหนองบัวจึงเป็นชุมชนขนมแปลก
สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจของชุมชนหนองบัวคือบ้านเรือนส่วนใหญ่ของชาวบ้านยังคงเป็นเรือนไทยโบราณอายุร่วม100 ปี แทบทุกหลังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ มีคนอยู่อาศัยจริงๆ โดยแต่ละคนก็ตั้งร้านขนมอยู่หน้าบ้านของตัวเอง ขนมส่วนใหญ่เป็นขนมโบราณที่คนเฒ่าคนแก่ยังคงเก็บรักษาเอาไว้ให้คนรุ่นใหม่ได้กินกัน

ขนมที่เป็นไฮไลท์เด็ดของที่นี่คือ ขนมควยลิง จากร้านยายลิ ทำจากแป้งข้าวเหนียวดำปั้นเป็นรูปทรงยาวรี นำไปต้มน้ำร้อนให้สุกแล้วนำมาคลุกมะพร้าวขูด เวลากินจิ้มกับน้ำตาลทรายผสมงาดำ เหตุที่เรียกชื่อแบบนี้เพราะรูปร่างของขนม (ก่อนนำไปคลุกมะพร้าว) นั่นเอง ขนมอีกอย่างที่ใช้ส่วนผสมคล้ายๆ กันคือ ขนมติดคอ ทำจากแป้งข้าวเหนียวดำปั้นเป็นก้อนกลมต้มน้ำร้อนให้สุก หน้าตาคล้ายโมจิญี่ปุ่นเวลากินให้คลุกน้ำจิ้มที่ทำจากน้ำอ้อยผสมถั่วลิสงป่น ได้รสชาติหนึบหนับหวานเค็มมันในคราวเดียว ขนมเกสรดอกลำเจียก ทำจากแป้งข้าวเหนียวร่อนเป็นแผ่นห่อไส้มะพร้าวกวน ขนมไข่นกกระสา ทำจากแป้งสาคูห่อถั่วกวน โรยด้วยขี้ไต้หรือมะพร้าวคั่วที่แยกน้ำมันและหัวกะทิออกจนหมดแล้ว ขนมพระพาย ทำจากแป้งข้าวเหนียวห่อถั่วกวนปั้นเป็นก้อนกลมแล้วต้มให้สุกแล้วราดครีมหัวกะทิสด ข้าวเหนียวเหลือง หน้าตาแบบแบบข้าวเหนียวมูนแต่ที่มีสีเหลืองเพราะผสมสีจากขมิ้น มูนให้นิ่มไม่แห้งเกินไปโรยหน้ากุ้งที่ตำจากกุ้งแท้ๆ ผสมน้ำตาลอร่อยได้ใจมาก ข้าวต้มย่าง หรือข้าวเหนียวปิ้งที่เรารู้จักแต่ห่อใหญ่มากอย่างกับห่อหมก!

ขนมหลายอย่างใช้น้ำอ้อยเป็นส่วนผสมอยู่บ้างแต่ที่เด่นๆจนได้กลิ่นหอมของน้ำอ้อยชัดเจนคือ ขนมถั่วแปบโบราณ ซึ่งแตกต่างจากที่เราคุ้นเคยคือไส้ถั่วแปบทำจากมะพร้าวขูดกวนน้ำอ้อย ห่อแป้งข้าวเหนียวแล้วคลุกมะพร้าวขูดอีกที แป้งนุ่มไส้หอมน้ำอ้อยอร่อยมาก ขนมตะไลน้ำอ้อย คล้ายขนมถ้วยตะไลที่เราเคยเห็นแต่ที่นี่ใช้น้ำอ้อยหนองบัวกวนกะทิและไม่ใส่ใบเตย หวานหอมน้ำอ้อยตัดเค็มมันจากกะทิ ขนมไข่กบ ทำจากสาคูกวนน้ำอ้อยโรยหน้าด้วยกะทิสด เด็ดสุดคือ ก๋วยเตี๋ยวหมูเลียง ร้านป้าตุ๊กแก ที่ใช้น้ำอ้อยหนองบัวเป็นวัตถุดิบสำคัญในการปรุงน้ำก๋วยเตี๋ยวร่วมกับสมุนไพรเฉพาะตามตำรับคนเมืองจันท์ น้ำซุปหวานหอมอร่อยมากโดยไม่ต้องปรุงเลย หากจะปรุงก็เพียงใช้พริกน้ำส้มทำจากพริกขี้หนูตำผสมน้ำส้มสายชูขลุกขลิกราดนิดหน่อยเท่านั้นพอ (ไม่ใช้พริกป่น)  สำหรับฉันแล้วร้านนี้คือก๋วยเตี๋ยวหมูเลียงที่อร่อยที่สุดในจันทบุรีเลยล่ะ

พอได้เดินในย่านชุมชนฉันเข้าใจเลยว่าทำไมที่นี่จึงถูกเรียกว่าชุมชนขนมแปลก เพราะขนมโบราณหลายอย่างไม่สามารถหากินได้จากที่อื่นๆ บางอย่างก็มีชื่อเรียกที่ไม่คุ้นเคยจึงเป็นของแปลกสำหรับคนต่างถิ่น

ฉันชอบ ขิงดอง ร้านผลไม้แช่อิ่มบ้านโจ้เป็นพิเศษเพราะใช้น้ำส้มมะปิ๊ด (ส้มลูกเล็กเหมือนส้มจี๊ด) ดองขิงร่วมกับเกลือโดยไม่ใส่น้ำเลย รสชาติจึงเปรี้ยวสดชื่นไม่หวานเหมือนขิงดองทั่วไป และที่น่าลองชิมสุดๆ คือ มะพร้าวคั่ว อาหารโบราณทำจากมะพร้าวขูด คั่วจนหอม ตำจนแตกมัน คลุกเกลือป่น น้ำอ้อย ใช้คลุกข้าวสวยร้อนๆ กินช่วยเจริญอาหารได้ดี (เสียดายที่ของหมดเลยไม่ได้ซื้อมาชิม)

อร่อยเฉพาะถิ่น ได้กินเฉพาะหนองบัว
ที่นี่ยังมีอาหารอร่อยเฉพาะถิ่นอีกหลายอย่างที่หากินได้เฉพาะหนองบัวเท่านั้น เช่น หอยพอกย่าง หอยที่ต้องนำมาย่างบนแผ่นสังกะสีเพราะน้ำในตัวเยอะ หากย่างบนตะแกรงทั่วไปจะทำให้ถ่านดับ กุ้งจ่อม ปลาจ่อม ซึ่งเทียบเคียงได้กับปลาร้าของชาวอีสาน โดยหมักปลาเล็กปลาน้อยหรือกุ้งที่เหลือขายกับเกลือและข้าวคั่วในโอ่ง เก็บไว้ในที่เย็นทิ้งไว้ 1 เดือนเพื่อให้สุก เอามาทำอาหารเป็นเครื่องจิ้มเหมือนน้ำพริก ทุกวันนี้ในจันทบุรีมีเหลือแค่ชุมชนนี้เท่านั้นที่ยังทำกุ้งจ่อมปลาจ่อมอยู่

หากมีเวลาอยากให้ลองมาชิมอาหารแบบหนองบัวแท้ๆที่ร้านครัวบัวขาว โดยเฉพาะเมนู ไก่ต้มมะละกอ ทำจากวัตถุดิบแบบเครื่องต้มยำ แตกต่างด้วยการใส่เร่วหอม-สมุนไพรเฉพาะของเมืองจันท์ ได้รสชาติหวานๆ เปรี้ยวๆ จากระกำ มะละกอใช้แบบดิบเกือบสุกคือเนื้อมีสีเหลืองแต่ยังแข็งอยู่ให้รสชาติหวานอร่อยตามธรรมชาติ ยางมะละกอทำให้เนื้อไก่เปื่อยง่าย เนื้อจึงนุ่มมากเมื่อกินเคียงกับ พริกเกลือ (คนที่นี่เรียกน้ำจิ๊มซีฟู๊ดว่าพริกเกลือ)  หมึกต้มน้ำอ้อย ภาษาหนองบัวเรียกหมึกฮี้บ (ฮี้บหมายถึงการทำให้หวาน เช่น กุ้งฮี้บ ปลาฮี้บ) ที่ทำง่ายๆ เพียงต้มน้ำใส่หอมแดง พริกไทยดำและน้ำอ้อย รอน้ำเดือดใส่ปลาหมึกก็เสร็จพิธี แต่เดิมเมนูนี้มาจากหมึกน้ำดำของชาวเลที่ทำอาหารกินกันบนเรือ โดยจะใช้น้ำหมึกของปลาหมึกใส่ลงไปในน้ำแกงด้วยเพิ่มรสหวานตามธรรมชาติ

หนองบัวจึงเป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีเรื่องเล่าล้นหลาม มีของอร่อยล้นเหลือจากความรุ่มรวยทางทรัพยากรที่มี จากภูมิปัญญาของผู้คนที่ยังหลงเหลือ ใครที่สนใจวิถีชีวิตเก่าๆ บ้านเรือนเก่า อาหารดั้งเดิมแบบโบราณต้องมาเยือนที่นี่ให้ได้สักครั้ง ฉันเดินเล่นในหมู่บ้านมีคนเฒ่าคนแก่ส่งยิ้มหวานให้ตลอดทาง คุณยายคนหนึ่งเล่าว่า คนหนองบัวอายุยืนมาก ส่วนใหญ่เกิน 90 ปีกันทั้งนั้น “น่าอิจฉาจัง” ฉันบอกออกไป คุณยายตอบทันทีว่า

“ฉันยังคิดเลยว่าถ้าได้เกิดมาอีกก็จะขอเป็นคนหนองบัวนี่ล่ะ อากาศดี อาหารสดๆ มีทุกอย่าง ผลไม้ อาหารทะเล คนก็ไม่ขี้ลัก ชีวิตนี้เราจะต้องการอะไรอีก..ใช่ไหม”

ฉันหันกลับไปยิ้มให้คุณยายและบ้านเรือนเก่าด้วยความอาวรณ์ และบอกตัวเองว่าต้องกลับมาเยือนที่นี่อีกครั้งแน่นอน

หมายเหตุ : ชุมชนขนมแปลกบ้านหนองบัว เปิดขายเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น ตั้งแต่เวลา10.00-15.00 น. หรือถ้าสนใจเรียนรู้วิถีชีวิตอาจเลือกพักโฮมสเตย์ในหมู่บ้านได้
FB: ชุมชนขนมแปลกริมคลองหนองบัวจันทบุรี

ภาพถ่าย: วิรตี ทะพิงค์แก