1 2 4+1 42 ไม่ใช่เลขเด็ดประจำงวดนี้ แต่เป็นตัวเลขในการคิดนโยบายจัดการขยะของสำนักงานกรุงเทพมหานครฯ

“เราอยากให้ประชาชนแยกขยะแบบ 4+1 (ขยะอินทรีย์ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล ขยะติดเชื้อ ขยะเศษอาหาร) โดยตั้งเป้าระยะไกลไว้ว่าอยากให้แยกได้ละเอียดเท่าญี่ปุ่นคือ 42 ชนิด แต่เราพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือคนส่วนใหญ่แยกหรือทิ้งมาเป็นแค่ 1 เราเลยปรับนโยบายมาเป็นให้แยก 2 ประเภท”

พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการฯ ด้านสิ่งแวดล้อม เล่าถึงที่มาของนโยบายไม่เทรวมให้เราฟัง

เป็นความจริงที่ว่า ปริมาณขยะมูลฝอยในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 มีปริมาณขยะมูลฝอยเฉลี่ย 10,166 ตันต่อวัน และเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2561 ปริมาณขยะมูลฝอยเฉลี่ย 10,705 ตันต่อวัน และแม้ว่าปริมาณจะลดลงในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา เพราะกิจกรรมต่าง ๆ ในเมืองลดน้อยลง แต่ถึงอย่างนั้นปริมาณขยะต่อวันในปี 2564 อยู่ที่ 8,674 ตันต่อวัน

เรามาคิดกลม ๆ ว่า ค่าจัดการขยะตันละ 600 บาท ในแต่ละวันกรุงเทพมหานครต้องใช้งบประมาณในการจัดการขยะกว่า 5 ล้านบาท ในขณะที่กว่าร้อยละ 60 ของขยะ เป็นขยะมูลฝอยที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพียงแต่ไม่ได้รับการแยกอย่างถูกวิธี ขยะรีไซเคิลจึงหลุดลอดออกจากระบบ และจบลงที่หลุมฝังกลบอย่างน่าเสียดาย สาเหตุนั้นก็มาจากระบบคัดแยกต้นทางที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ และการสื่อสารที่ยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย

“เวลาเราลงพื้นที่ คนมักจะพูดว่าแยกทำไม เดี๋ยว กทม. ก็เทรวม นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนไม่อยากแยก” พรพรหมสะท้อนเสียงที่ได้รับจากประชาชน ทั้งในช่วงเวลาที่เขาได้ช่วยอาจารย์ชัชชาติหาเสียงก่อนได้รับการเลือกตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด จนถึงการลงพื้นที่ทำงานในปัจจุบัน

อีกหนึ่งโจทย์สำคัญในการแยกขยะของ กทม. ในครั้งนี้ จึงเป็นการเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนให้แยกขยะ โดยรับรองว่า กทม. จะนำขยะที่แยกไปจัดการต่อให้

“จากการได้รับฟังเสียงจากประชาชนว่า แยกขยะแล้ว กทม. เอาไปรวม เราก็มาดูว่า กทม. ไม่แยกจริงไหม ซึ่งในความเป็นจริง กทม. แยกนะ แต่ไม่ได้แยกเศษอาหารและขยะเปียก ทำให้ขยะรีไซเคิลปนเปื้อน การแยกต่อจึงยาก เลยต้องเอาไปเทรวมที่รถขยะก่อน และสุดท้ายถ้าแยกไม่ได้จริง ๆ ต้องเอาไปฝังกลบ” พรพรหมเล่าต่อถึงที่มาของแคมเปญไม่เทรวม ที่ชวนให้คนแยกขยะ

แยกสองถัง นโยบายที่คิดจากบนลงล่าง และล่างขึ้นบน เพื่อมาเจอกันตรงกลาง
โจทย์ต่อมาคือจะแยกอย่างไร แยกกี่ประเภท ให้ขยะที่ถูกฝังกลบลดลง และประชาชนสามารถให้ความร่วมมือได้ง่าย

“เดิม กทม.เน้นเรื่องแยกขวดพลาสติก แต่จากการทำงานเราพบว่าพลาสติกมีกลไกทางเศรษฐศาสตร์ดูแลอยู่แล้ว เพราะมีมูลค่า คนส่วนมากจึงแยก แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือขยะเปียกและเศษอาหาร เพราะหนึ่ง ทำให้ขยะเหม็น สอง ปนเปื้อน ทำให้สิ่งที่ควรจะรีไซเคิลได้ กลายเป็นรีไซเคิลไม่ได้ และสาม มีมูลค่าน้อย ทีมนโยบายเห็นว่าถ้าเอาขยะส่วนนี้ออกมาได้ จะทำให้ขยะที่เหลือจัดการได้ง่ายขึ้น ซึ่งสัดส่วนขยะ 46% คือขยะเศษอาหาร”

อย่างที่ได้กล่าวมาว่า กทม. มีเป้าหมายอยากให้ประชาชนแยกขยะได้ 5 ประเภท แต่ในความเป็นจริงยังเป็นไปได้ยาก การปรับนโยบายในครั้งนี้จึงเป็นการเริ่มต้นให้ง่ายที่สุด เพื่อให้ทุกคนสามารถปรับพฤติกรรมไปพร้อมกันได้อย่างยั่งยืน แยก 2 ประเภทจึงเป็นธงแรกที่ กทม. เลือกจะปัก พร้อมกับเจอจุดคัดง้างที่จะทำให้การแยกขยะและการจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากขึ้น คือการแยกขยะเศษอาหารและขยะเปียกออกมา

ทว่านโยบายที่ต้องการความร่วมมือจากประชาชน จะสำเร็จไม่ได้หากขาดการรับฟังเสียงและการเข้าใจประชาชนอย่างแท้จริง เดิมทีนโยบายนี้มีแผนว่าจะเเยกเป็นขยะเปียก-ขยะแห้ง ทีมนโยบายจึงเปิดให้ประชาชนโหวตผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊กของ กทม. ว่าถ้าจะแยกขยะเป็นสองประเภท ควรแยกเป็นอะไรดี

ผลที่ได้คือ มีคนมาแสดงความคิดเห็นว่า คำว่าเปียกกับแห้งมีความสับสน เช่น ขวดที่มีน้ำ แก้วชานม เป็นขยะเปียกหรือแห้ง โดนัทที่ค้างคืนจนเเข็ง เป็นขยะเปียกหรือแห้ง และผู้เข้าร่วมกว่าครึ่งอยากให้ใช้คำว่า ‘ขยะเศษอาหาร’ กับ ‘ขยะทั่วไป’

นโยบายไม่เทรวม แยกขยะเศษอาหารใส่ถุงสีเขียว แยกขยะทั่วไปใส่ในถุงสีดำ จึงเกิดขึ้นจากการออกแบบร่วมกันของทีมนโยบาย สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานกรุงเทพมหานคร และความคิดเห็นของชาว กทม. เพื่อชาว กทม.

ไม่เทรวม ประตูแรกของโครงการพัฒนาระบบการจัดการขยะครบวงจร นำร่อง 3 เขต
โครงการพัฒนาระบบจัดการขยะครบวงจร คือแผนการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยแบ่งงานออกเป็น 3 ระยะ

ระยะที่หนึ่ง แคมเปญ ไม่เทรวม เน้นการสื่อสารให้ประชาชนร่วมแยกขยะ และสร้างความเชื่อมั่นว่า กทม. ไม่เทรวมตามสัญญา โดยให้ประชาชนแยกขยะเป็นสองประเภทคือ ขยะเศษอาหาร และขยะทั่วไป แล้ว กทม. เพิ่มตะกร้าแยกขยะท้ายรถเพื่อเก็บขยะแบบแยกประเภท และเพิ่มรถเก็บขยะเศษอาหาร 1 รอบ

โดยขยะเศษอาหารจะนำไปทำปุ๋ยหมัก หรือเขตจัดเก็บรวบรวมส่งโรงงานกำจัดมูลฝอยด้วยเทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพอ่อนนุชเพื่อหมักเป็นก๊าซผลิตไฟฟ้า ขยะทั่วไปจะเข้ากระบวนการคัดแยก เพื่อไปทำ RDF และสุดท้ายขยะที่รีไซเคิลไม่ได้และขยะที่เผาไม่ได้จะถูกนำไปฝังกลบ

ระยะที่สอง โครงการปลอดขยะในพื้นที่/สถานที่แหล่งกำเนิดขยะ เน้นแยกขยะต้นทางและขยะเปียกจากองค์กรแบบมุ่งเป้า 6 แหล่งกำเนิด คือ โรงเรียนสังกัด กทม. อาคารสำนักงาน วัดและศาสนสถาน ร้านอาหารและตลาด ชุมชน และกิจกรรมอีเวนต์หรือเทศกาลต่าง ๆ โดยลดการใช้ถุงพลาสติก ขยะจะมีการคัดแยกออกเป็น 4 ประเภท คือ ขยะเศษอาหาร เพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์และทำปุ๋ยหมัก ขยะทั่วไปและขยะอันตราย นำไปจัดการที่ศูนย์จัดการขยะ ส่วนขยะรีไซเคิล จะร่วมมือกับเครือข่ายซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า นำไปจัดการด้วยกระบวนการรีไซเคิล

นอกจากนั้นยังเปิดรับความร่วมมือจากภาคประชาสังคมและเอกชน เช่น ในเขตพญาไท จัด speed dating ระหว่างผู้อำนวยการเขต แกนนำชุมชนทั้ง 17 ชุมชน พร้อมเชิญกลุ่มสตาร์ทอัพและเครือข่ายที่สนใจด้านการจัดการขยะมาพิตช์ไอเดีย 3 นาที เล่าสิ่งที่สตาร์ทอัพนั้น ๆ ทำอยู่ให้ชุมชนฟัง หากชุมชนสนใจโครงการไหน คิดว่าเหมาะกับชุมชน ก็จับคู่กันร่วมสร้างชุมชน zero waste ได้เลย

ระยะที่สาม ตั้งจุดรับขยะ เช่นที่ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต สำนักงานเขต ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับขยะ และแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อเพิ่มเเรงจูงใจในการแยกขยะ

ปัจจุบัน ไม่เทรวมดำเนินการนำร่อง (ระหว่างเดือนสิงหาคม 65 – มีนาคม 66) ใน 3 เขตนำร่อง คือ เขตปทุมวัน เขตพญาไท เขตหนองแขม และมีเป้าหมายในการขยายผลเก็บขยะเศษอาหารให้ครอบคลุม

ชวนชาว กทม. แยกขยะเศษอาหาร แยกไว้ตรงไหน บอก Traffy Fondue และเราจะไปเก็บให้
ถึงตอนนี้ กทม. ได้ดำเนินการนำร่องนโยบายไม่เทรวมใน 3 เขตนำร่อง ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัด และเส้นทางเดินรถในเวลาที่จำกัด เพื่อขยายผลไปยังเขตอื่น ๆ และจัดสรรรถเก็บขยะได้เพียงพอต่อความต้องการ แต่เพื่อให้ชาวกรุงเทพฯ สามารถจัดการขยะในครัวเรือนของตัวเองได้สะดวกขึ้น กทม. จึงชวนประชาชนมาลงทะเบียน เพื่อให้ กทม. เข้าไปรับขยะ ผ่านแอปพลิเคชั่น Traffy Fondue เพื่อจะได้จัดสรรเส้นทางและรับขยะจากทุกบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อยากให้ไปเก็บที่ไหน มาบอก กทม. ที แล้วเขาจะไปเก็บให้ และ ‘ไม่เทรวม’ แน่นอน

ขอบคุณภาพจาก สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.