คอมพิวเตอร์คู่ใจที่ตอนนี้เปิดไม่ติดอีกแล้ว ทีวีเครื่องเก่าที่ภาพเริ่มไม่ชัด หรือโทรศัพท์มือถือรุ่นเก่าที่ไม่รองรับระบบปฎิบัติการใหม่ คุณเอาไปทิ้งที่ไหนคะ?

กองภูเขาทีวีนับพันเครื่อง คอมพิวเตอร์หน้าตาไม่คุ้นแต่มีโลโก้รูปแอปเปิ้ลที่คุ้นตา สิ่งที่หน้าตาคล้ายวิทยุแต่ก็ไม่แน่ใจใช่ไหม พิมพ์ดีดสุดคลาสสิก นี่คือภาพที่เราเห็นเมื่อเดินเข้าไปในโกดังแห่งนี้

Gowanus E-Waste Warehouse เป็นโกดังจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดของเมืองนิวยอร์ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ The Lower East Side Ecology Center มีโปรแกรมรับจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทำงานแบบเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ที่นี่ให้บริการแบบไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับครัวเรือน ธุรกิจขนาดเล็ก และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร โดยเปิดรับ 2 ช่องทาง คือ นำมาทิ้งที่โรงงาน และรับผ่าน Neighborhood Collection Day Events ที่จะไปตั้งจุดรับทิ้งในย่านต่างๆ ของเมือง 

Electronic VS Electric

คำว่า e-waste ตัว e นั้นย่อมาจาก อิเล็กทรอนิกส์ (electronics) ที่หลายคนอาจสับสนและผสมกับคำว่าอิเลกตริก (electric) ซึ่งหมายถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด 

ที่จริงแล้ว electronic – waste หมายถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้และจัดเป็นวัตถุอันตราย  (hazardous waste) เพราะมีส่วนประกอบของโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท หากไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสม สารเคมีอาจปนเปื้อนลงสู่น้ำและดิน เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงไม่ควรให้ปนไปทิ้งที่หลุมฝังกลบเด็ดขาด!! โดยในประเทศสหรัฐอเมริกา ประมาณการว่า 70% ของโลหะหนักที่ปนเปื้อนในหลุมฝังกลบมาจาก e-waste

โดย e-waste ที่โกดังแห่งนี้รับจัดการ ครอบคลุมเฉพาะอุปกรณ์ที่มีแผงวงจร คอมพิวเตอร์ หน้าจอคอมพิวเตอร์ สแกนเนอร์ ปรินเตอร์ แฟกซ์ คีย์บอร์ด โทรทัศน์ แทบเล็ต กล่องรับสัญญาณ เครื่องเล่นเพลง โทรศัพท์ อุปกรณ์บันทึกภาพหรือบันทึกเสียง แบตเตอรี่ หลอดไฟ เกมและอุปกรณ์บังคับ สายชาร์จและซีดี ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ จะถูกจัดการโดย Department of Sanitation ซึ่งหนึ่งในวิธีจัดการคือการนำไปบด แล้วแยกเอาส่วนที่เป็นโลหะกับพลาสติกออกจากกันเพื่อนำไปรีไซเคิล 

เราได้พบกับ Nicole Swient หัวหน้าทีมของที่นี่พาเราเดินดูและอธิบายความแตกต่างของการรีไซเคิลขยะชนิดต่างๆ ที่นี่ เริ่มจาก

ทีวีและหน้าจอคอมพิวเตอร์ ภายในมีหลอดรังสีแคโทด (CRT) ซึ่งตามกฎหมายจัดเป็นของเสียอันตราย เนื่องจากมีตะกั่ว ต้องส่งให้โรงงานรีไซเคิลเฉพาะทางจัดการ

หลอดไฟ หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์มีสารปรอท หลอดไฟ LED ไม่นับเป็นขยะพิษ จัดการง่ายที่สุด

ถ่านและแบตเตอรี่ ต้องปิดขั้วเพื่อไม่ให้เกิดการไหลของประจุไฟฟ้า จะอันตรายที่สุดเมื่อบวมและกรดไหลออกมา 

แผ่นซีดีและดีวีดี พวกนี้จะถูกนำไปรีไซเคิลกลายมาเป็นโปรยสายรุ้ง (confetti) แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการรีไซเคิลนั้นยุ่งยากและซับซ้อนมาก ทางออกที่ดีที่สุดจึงเป็นการใช้ซ้ำ 

แผงวงจร อันนี้ประกอบไปด้วยโลหะที่มีค่าหลายชนิด เช่น เงิน ทองแดง เหล็ก อะลูมิเนียม ที่สามารถแยกแล้วนำไปขายต่อได้ แต่ขั้นตอนการสกัดโลหะพวกนั้นออกต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและอันตราย หากทำแบบไม่มีการควบคุมจะสร้างสารพิษร้ายแรงปล่อยสู่อากาศ ที่นี่จึงส่งไปให้โรงงานที่มีการควบคุมมาตรฐานและการันตีความปลอดภัยเท่านั้น

มาถึงตรงนี้นิโคลซึ่งทราบว่าเรามาจากประเทศไทย หันมาถามเราว่า “คุณไม่รู้หรือ ขยะพวกนี้ถูกรับซื้อจากฝั่งเอเชียเพื่อนำโลหะไปขายต่อจำนวนมาก และโรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้ควบคุมมาตรฐานความปลอดภัย มันทำเงินได้ดี แต่ก็อันตรายต่อโลกมากนะ” 

นอกจากรับจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อไปรีไซเคิล ที่นี่ยังมีบริการให้คำปรึกษาและซ่อมของที่คนมาทิ้ง (แต่ไม่ได้รับซ่อมนะ) โดยเขาจะทดสอบอุปกรณ์ทุกชิ้นที่ได้รับมา แล้วซ่อม ขัดเงา ตกแต่งเพื่อให้นำมากลับมาใช้งานได้มากที่สุด โดยแบ่งเป็น 2 ช่องทางคือ

ReUse Store คือ ร้านขายของมือสองที่เกิดจากการซ่อมของที่คนนำมาทิ้งแล้วขายในราคาถูก ที่นี่มีตั้งแต่ ซีดีหนัง ซีดีเพลง เกม คอมพิวเตอร์ ทีวี สเตอริโอ ไปจนถึงจอไอแมคที่เป็นเจ้าของได้ในราคาเพียง 400 เหรียญ 

Prop Library ที่นี่คัดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์วินเทจ มีตั้งแต่กล้องฟิล์ม กล้องถ่ายภาพยนตร์ ทีวี พิมพ์ดีด โทรศัพท์ โดยเปิดให้เช่าเพื่อไปถ่ายภาพยนตร์และรายการทีวี นอกจากนั้นยังเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม ที่ทำให้เราได้เห็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รุ่นโบราณ และได้เห็นพัฒนาการด้านดีไซน์ของคอมพิวเตอร์แมคอินทอชกว่าสิบรุ่น! 

นิโคลหันมาบอกเราที่กำลังยืนตาเป็นประกายว่า 

“ของทุกชิ้นมีประวัติศาสตร์อยู่ในนั้น คุณไม่รู้หรอกว่าแต่ละวันจะเจอกับของอะไรบ้าง นั่นคือความสนุกของการได้ทำงานที่นี่”

บังเอิญว่าวันที่เราไป มีคนขับรถเอาขยะมาให้พอดี พี่ๆ เลยตะโกนเรียกเราให้มาดูวิธีทำงาน การบริการที่นี่ไม่มีค่าใช้จ่าย ยกเว้น อุปกรณ์บางชนิดที่จัดการยากก็จะคิดเงินเป็นบางชิ้น เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องละ 50 เหรียญ (หนึ่งพันห้าร้อยบาท) แบตเตอรี่ UPS ก้อนละ 1.5 เหรียญ (ห้าสิบบาท) เทป แผ่นดิสก์ ซีดี ดีวีดี ปอนด์ละ 0.5 เหรียญ (สิบห้าบาท) 

ทุกคนที่นี่น่ารักมากๆ ทำงานด้วยความยิ้มแย้ม และพร้อมตอบคำถามเราเสมอ และเรารับรู้ได้ถึงแพสชั่นของนิโคล 

“ขยะพวกนี้อันตรายมาก ถึงแม้ว่านี่จะเป็นแค่ส่วนเล็กๆ แต่มันจำเป็นต้องได้รับการจัดการ นี่เป็นสิ่งที่ฉันพอจะทำได้เพื่อลูกหลานของเรา”

หลังจากไปดูวิธีการจัดการขยะมาหลายที่ สิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจมากในวงการนี้คือ จิตสำนึกของคนที่นี่ ในเมืองนิวยอร์กคุณต้องเสียเงินเพื่อทิ้งขยะ ทุกที่ที่เราไปจะได้เจอคนที่มีความตั้งใจในการคิดวิธีจัดการขยะ คนที่ยอมเสียเงินเพื่อให้ขยะได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี คนที่ยอมใช้ชีวิตยุ่งยากขึ้นอีกนิดเพื่อลดปริมาณขยะ และความรู้สึกขอบคุณที่มีคนคิดระบบลดขยะพวกนี้ขึ้นมา อย่างที่คุณผู้ชายที่นำของมาทิ้งเดินไปหาพนักงานทุกคนและกล่าว “ขอบคุณที่ทำสิ่งนี้นะ” การลดขยะทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นหลายด้านเลย 

“ที่นี่เป็นเหมือนสนามเด็กเล่นของฉัน คุณสามารถซ่อม สร้าง ของใหม่ๆ จากขยะพวกนี้ได้ แถมยังเป็นแหล่งของขวัญคริสมาสต์ชั้นดีด้วยนะ”

นิโคลกล่าวพร้อมรอยยิ้ม เมื่อเราถามว่าอะไรคือสิ่งที่เธอรักที่สุดที่ได้ทำงานนี้

ที่มาข้อมูล: 

www.lesecologycenter.org/programs/ewaste
https://en.wikipedia.org/wiki/Electronic_waste#Definition

ข้อมูลเพิ่มเติม:

ข้อมูลการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทย ปี 2560
https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2018/04/wb133.pdf

  • ประเทศไทยยังไม่มีเทคโนโลยีในการสกัดโลหะจากแผงวงจร เพราะมีต้นทุนสูง และยังไม่มีกฎหมายจัดการเรื่องนี้ขยะประเภทนี้โดยตรง มีเพียงกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับการจัดการของเสียอันตราย และการประกอบกิจการอุตสาหกรรม และกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับต่างๆ

ภาพถ่าย: Parppim Pim