สมัยก่อนที่บ้านเราทำโรงงานเย็บผ้าค่ะ ช่วงวัยเด็ก จึงโตมากับการนอนกลิ้งบนกองเศษผ้า เอาเศษผ้ามาทำชุดให้บาร์บี้ และชอบไปเดินพาหุรัดกับคุณแม่อยู่บ่อยๆ ตอนนี้ พอมาอยู่นิวยอร์กก็ยังติดนิสัยชอบไปเดินดูผ้าแล้วเอาไปสั่งตัดตามแบบที่ตัวเองชอบอยู่เรื่อยๆ แต่เพิ่มเติมความสงสัยว่า ที่นี่เขาจัดการกับเศษผ้ากันยังไงนะ เพราะขยะจากผ้าก็ถือเป็นหนึ่งในปัญหาขยะที่โลกกำลังเผชิญอยู่

ปัญหาขยะผ้าในนิวยอร์ก เมืองแห่งแฟชั่น

จากสถิติพบว่าในเมืองนิวยอร์กมีการทิ้งเสื้อผ้า รองเท้า ลินิน และเครื่องใช้ต่างๆ ที่มีผ้าเป็นองค์ประกอบมากถึงสองแสนตันต่อปี ซึ่งนับเป็น 6% ของปริมาณขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้น ซึ่งนี่เป็นเพียงตัวเลขของฝั่งครัวเรือน (Residential waste) ทำการจัดเก็บและทำสถิติโดย Department of Sanitation ไม่นับรวมฝั่งธุรกิจ (Commercial waste) ที่จัดการและรับผิดชอบโดยบริษัทจัดการขยะเอกชน ที่ประมาณการว่าน่าจะมีปริมาณมากกว่าฝั่งครัวเรือนถึง 40 เท่า

เราเคยเห็นวิธีการจัดการเสื้อผ้าไม่ใช้แล้ว เช่น การบริจาคให้องค์กรการกุศล การจัดตั้งร้านเสื้อผ้ามือสอง เช่น Goodwill หรือ โครงการ Refashion ที่ภาครัฐตั้งตู้รับบริจาคเสื้อผ้าตามอาคารและสถานที่สาธารณะต่างๆ หรือเอกชนอย่างแบรนด์ Patagonia ที่รับซ่อมและรับสินค้าคืนเพื่อไปรีไซเคิล แต่ยังมีขยะเศษผ้าอีกส่วนหนึ่งที่คนไม่ค่อยนึกถึงกัน คือเศษผ้าจากหลังบ้านของแบรนด์แฟชั่นและดีไซเนอร์ต่างๆ

อธิบายให้เห็นภาพอย่างง่ายๆ ว่า ถ้าแบรนด์เสื้อผ้า/ห้องเสื้อแห่งหนึ่ง มีขยะเศษผ้าเหลือใช้แบบคละสีและขนาดจำนวน 20 ลัง เขาสามารถนำไปบริจาคให้องค์กรการกุศลเพื่อใช้ทำงานศิลปะได้ แต่ก็นับเป็นปริมาณที่ยากต่อการจัดการ (นึกภาพว่าสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าได้เศษผ้ามา 20 ลัง อาจจะเป็นการไปสร้างความลำบากให้เขาเพิ่มอีกก็ได้นะ) ทางเลือกต่อมาคือการรีไซเคิล แต่อุตสาหกรรมการรีไซเคิลเศษผ้านั้นต้องการผ้าขั้นต่ำ 20,000 ลังเพื่อให้คุ้มทุน บวกกับแบรนด์ก็มักไม่มีที่จัดเก็บ ทางเลือกสุดท้ายจึงเป็นการส่งไปทิ้งที่แลนด์ฟิลด์

นิวยอร์กที่ได้ชื่อว่าเป็นมหานครแห่งแฟชั่น มีแบรนด์เสื้อผ้าขนาดเล็กและกลางอยู่จำนวนมหาศาล ดีไซเนอร์แข่งกันออกคอลเลกชั่นใหม่ปีละ 4 ซีซั่น เท่ากับปริมาณเศษผ้าที่เกิดเพิ่มขึ้นทุกๆ ซีซั่นของปี หากรวมกันทั้งเมือง จำนวนเศษผ้า 20,000 ลังจึงไม่ใช่ตัวเลขที่สูงเกินเอื้อมที่จะส่งไปรีไซเคิล แต่เศษผ้ากลับถูกส่งไปที่แลนด์ฟิลด์ เพราะยังขาดระบบการจัดการที่ดีและขนาดของวงการแฟชั่นที่ยังเฉพาะกลุ่มและกระจายตัวกันอยู่ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีใครลุกขึ้นมาทำอะไรเลย

Fabscrap ศูนย์กลางอาสาสมัคร ที่ลุกขึ้นมาจัดการขยะผ้า

Jessica Schrieber อดีตผู้จัดการแผนก Recycling and Sustainability ของ NYC Department of Sanitation เธอเป็นหนึ่งในทีมงานโครงการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะผ้าของเมืองนิวยอร์ก และ Camille Tagle แฟชั่นดีไซเนอร์ ทั้งสองเห็นปัญหาของปริมาณขยะเศษผ้าในนิวยอร์กและปริมาณเศษผ้าที่เกิดขึ้นในวงการแฟชั่น จึงก่อตั้ง Fabscrap ขึ้นเป็น Reuse and recycle textile center หรือศูนย์กลางรับบริจาคเศษผ้าจากแบรนด์ต่างๆ เพื่อนำมาคัดแยกชนิด สี และส่งต่อเพื่อรีไซเคิล หรือขายเพื่อให้นักออกแบบได้นำไปใช้ต่อ

หลักการดำเนินงานของที่นี่คือ เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ทำให้สามารถรับบริจาคเศษผ้าจากแบรนด์ต่างๆ และแบรนด์สามารถนำไปยื่นลดหย่อนภาษีได้ มีบริการรถไปรับเศษผ้าถึงที่ หรือสามารถเอาไปให้ที่โรงแยกได้เลย โดยขอให้เก็บป้ายบอกชนิดของผ้าไว้ เพื่อช่วยให้แยกชนิดของผ้าได้ง่ายขึ้น หลังจากนั้นจะมีทีมงานและอาสาสมัครมาช่วยกันคัดแยกเศษผ้า ส่วนหนึ่งนำมาขายเพื่อให้คนเอาไปใช้ซ้ำ และส่วนหนึ่งนำไปจัดเก็บที่โรงงานเพื่อรวบรวมนำไปรีไซเคิล

เราได้ไปเป็นอาสาสมัครคัดแยกเศษผ้าที่โกดังของ Fabscrap มาค่ะ รู้สึกเหนือความคาดหมายกับภูเขาถุงเศษผ้าที่ที่นี่ได้รับ และแปลกใจกว่านั้นเมื่อเปิดถุงออกดู ในถุงดำขนาดใหญ่นั้นไม่ใช่แค่เศษผ้า แต่อัดแน่นไปด้วยตัวอย่างผ้าที่แปะบนกระดาษ

การทำงานของที่นี่ อาสาสมัครทุกคนจะมีสเตชั่นเป็นของตัวเอง มีตะกร้าต่างๆ วางอยู่รอบโต๊ะพร้อมป้ายกำกับ พร้อมถังขยะ และถังใส่เศษกระดาษเพื่อนำไปรีไซเคิล โดยจะแบ่งชนิดผ้าออกเป็น 100% Wool 100% Cotton 100% Poly และ Mix หรือผ้าที่มีส่วนประกอบหลายชนิดแต่ถ้าไม่มีป้ายบอกชนิด แล้วลองจับดูไม่ยืดหยุ่นก็ให้จัดลงตะกร้านี้ได้เลย ส่วนอันที่ไม่แน่ใจแต่มีการยืดหยุ่น หรือมีส่วนผสมของ Spandex บอกไว้ ให้จัดลงกลุ่ม Spandex (Lycra Elastic Elastane) และผ้าชิ้นที่มีขนาดใหญ่ โดยเมื่อจบการทำงาน อาสาสมัครทุกคนจะได้รับเศษผ้าคนละห้าปอนด์เป็นค่าตอบแทน

แยกผ้าแล้วไปไหน

ผ้าแต่ละชนิดที่แยกออกมา จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้สองทาง คือ Reuse และ Recycle

Reuse: ที่นี่จะนำมาคัดแยกต่อตามสีและขนาด เพื่อขายในราคาถูกให้แก่ นักเรียน นักศึกษา และนักออกแบบ คนทั่วไปให้ได้นำไปใช้ซ้ำ

Recycle: จะมีที่ไปต่างกัน ถ้าเป็น 100% Wool 100% Cotton 100% Poly นำไปรีไซเคิลได้ หรือรีไซเคิลแบบ fiber-to-fiber technologies หรือการนำไปผลิตเป็นผ้าใหม่ (ทั่วโลกอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาเทคโนโลยีนี้) ส่วน Mix จะนำไปสับย่อยให้เป็นชิ้นเล็กๆ ทำแผ่นฉนวน พรม หรือผ้าห่ม และกลุ่มที่มีส่วนผสมของ Spandex Lycra Elastane ส่วนใหญ่คัดแยกเพื่อนำไปทิ้ง แต่ไม่สามารถรีไซเคิลได้เนื่องจากมีส่วนผสมของพลาสติกเกรดต่ำ จะทำให้ไหม้ระหว่างการรีไซเคิล และไม่สามารถแยกเส้นใยได้

เสื้อผ้า แฟชั่น การแต่งตัว มีข้อถกเถียงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกันมายาวนาน สุดท้ายเเล้วเราเชื่อว่า แฟชั่นเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัวที่ไม่มีใครถูกหรือผิด แต่เราในฐานะผู้บริโภคนั้นมีสิทธิเลือก ทางออกของการแก้ปัญหาอาจไม่ใช้การละเลิก แต่อาจเป็นการใช้อย่างเข้าใจและคิดให้รอบคอบมากขึ้น การมาเป็นอาสาสมัครคัดแยกผ้าวันนี้ทำให้เราได้เห็นอีกเลเยอร์ของปัญหาขยะผ้า ได้รู้จักชนิดของผ้าและกระบวนการมากขึ้น ทำให้ต่อจากนี้จะเลือกซื้อเสื้อผ้าอะไรคิดให้ละเอียดมากขึ้น และเช่นเดียวกับทุกๆ ครั้งที่ออกไปเป็นเป็นอาสาสมัครคือ

“ทุกปัญหานั้นมีทางออกเสมอ ถ้าเราเข้าใจว่าปัญหาจริงๆ นั้นคืออะไร”

ที่มาข้อมูล:
www.fabscrap.org
www.eco-business.com/news/a-way-to-repeatedly-recycle-polyester-has-just-been-discovered

ภาพถ่าย: Parppim Pim