เรื่องราวแสนโรแมนติกที่เกิดขึ้นระหว่างหนุ่มไอทีกับสาวออฟฟิศที่บังเอิญได้ใช้เวลาร่วมกันหนึ่งวันในภาพยนตร์ แฟนเดย์ ความรักแบบลิ้นกับฟันของคู่พี่ชายขี้หวงกับน้องสาวสุดป่วนในภาพยนตร์ น้อง พี่ ที่รัก เรื่องราวของแก๊งตุ๊ดสุดฮาในซีรี่ส์ ไดอารี่ตุ๊ดซี่ หรือจะเป็นความเข้มข้นของการโกงข้อสอบข้ามทวีปกับครูพี่ลินในภาพยนตร์ ฉลาด เกมส์ โกง ฉากสร้างความสุขในความทรงจำของใครหลายคนทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นผลงานจากค่าย GDH 559

และเมื่อต้นปี นอกจากจะได้หัวเราะตัวโยนและน้ำตารื้นไปกับคู่เพื่อนสนิทในหนังเรื่อง เฟรนด์โซน.. ระวังสิ้นสุดทางเพื่อน ฉากหนึ่งที่เรียกรอยยิ้มชาวสายกรีนไปได้ก็คือ ฉากที่กิ๊ง (รับบทโดย ใบเฟิร์น-พิมพ์ชนก) นางเอกในเรื่อง พกถุงผ้าไปซูเปอร์มาร์เก็ต และปฎิเสธถุงพลาสติกจากพนักงาน 

เบื้องหลังทุกๆ ฉากที่เราได้เห็นกันบนจอ ล้วนผ่านไอเดียและแรงกำลังของทีมงานนับร้อยชีวิตที่ช่วยกันประกอบสร้างภาพนั้นขึ้นมา มาดูกันว่า เบื้องหลังและที่มาของฉากกรีนๆ ในหนังของ GDH มันเกิดขึ้นได้ยังไง

ภาพกรีนๆ ในภาพยนตร์ 

“ในบท เราเขียนให้ตัวละครหลักสะพายถุงผ้าไปทุกที่ อย่างฉากซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตซึ่งเป็นฉากที่มีอยู่แล้วในเนื้อเรื่อง บทสนทนา ‘รับถุงพลาสติกไหม’ จากพนักงานก็เป็นบทสนทนาที่เราเจอในชีวิตประจำวัน พอตัวละครพกถุงผ้า เขาก็ปฎิเสธได้อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากสื่อสารกับคนดู” 

หมู-ชยนพ บุญประกอบ เล่าให้เราฟังถึงความตั้งใจที่จะพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม ในหนังเรื่องเฟรนด์โซน ที่เขาเป็นทั้งคนเขียนบทและผู้กำกับ 

ในยุคที่ทุกคนเริ่มหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ภาพยนตร์เป็นสื่อหนึ่งที่สื่อสารกับคนได้ในวงกว้าง และเมื่อผู้กำกับภาพยนตร์คนหนึ่งเลือกหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาเล่า ด้วยการทำให้ว่า ‘ใครๆ ก็ทำกัน’ มากกว่าการ ‘บอกให้ทำ’ ผลลัพธ์จึงออกมาน่ารักและน่าทำตาม แถมยังช่วยย้ำว่า เราทุกคนสามารถมีส่วนในการพูดถึงเรื่องนี้และเริ่มการเปลี่ยนแปลงในแบบของตัวเองได้เช่นกัน

ที่จริงแล้ว ประเด็นกรีนๆ ไม่ได้มาจากแต่ฝั่งผู้กำกับอย่างเดียว แต่การลดขยะนี้แอบสอดแทรกอยู่ในนโยบายของบริษัทเลยด้วยซ้ำ

พระเอกสายกรีน ทั้งในจอและนอกจอ

การสอดแทรกพฤติกรรมสายกรีนให้กับตัวละครนั้นที่เราเห็นกันนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบายลดขยะของบริษัท GDH 559

ในแต่ละปีค่าย GDH มีการผลิตภาพยนตร์และซีรี่ส์ออกมากให้คนดูประมาณ 3-4 เรื่อง โดยเฉลี่ย ภาพยนตร์หนึ่งเรื่องมีคิวถ่ายประมาณ 20-25 คิวถ่าย ส่วนซี่รี่ส์จะอยู่ที่ 35-40 คิวถ่าย ซึ่งในการออกกองแต่ละครั้งมีทีมงานอย่างน้อย 20-30 คน และในการทำงานแต่ละวันก็มีทั้งการสร้างฉาก อุปกรณ์ประกอบฉาก อาหาร และน้ำดื่มให้ทีมงานและนักแสดง นั่นแปลว่า เมื่อสิ้นเสียงคัทจากผู้กำกับ สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นในวันนั้นจึงไม่ใช่แค่เพียงฟุตเทจสวยๆ แต่ยังเป็นขยะจำนวนมากที่ทีมงานต้องจัดการเช่นกัน 

“ในแต่ละวันพอถ่ายเสร็จ เรามีทีมงานเก็บของ เก็บขยะใส่ถุงดำ เราเริ่มเห็นกันว่ามันมีขยะถุงใหญ่หลายถุงมากๆ บางครั้งไปออกกองต่างจังหวัด บางสถานที่ไม่มีที่ทิ้งขยะ เราก็ต้องขนขยะสองสามถุงใส่รถตู้กลับมาทิ้งกรุงเทพ เลยเริ่มคิดว่าถ้าปล่อยไว้แบบนี้มันไม่เวิร์กแล้วล่ะ เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากลดขยะในส่วนนี้”

สุย-สุวิมล เตชะสุปินัน ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภาพยนตร์เล่าให้เราฟังถึงที่มานโยบายการลดขยะของบริษัท 

การลดขยะในกองถ่าย เป็นจุดเริ่มต้นแรกของทางค่าย โดยเริ่มจากเปลี่ยนจากกล่องโฟมใส่อาหารมาเป็นการใช้กล่องแบบชานอ้อย ลดการใช้แก้วน้ำหรือขวดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งมาเป็นกระบอกน้ำที่ติดชื่อทีมงานแต่ละคน มีตะกร้าใส่แก้วพลาสติกที่สามารถล้างได้ สำหรับเสิร์ฟน้ำหวานหรือน้ำอัดลมวางไว้ให้ นอกจากนี้ฉากบางฉากที่ต้องสร้างขึ้น เศษโฟมเศษไม้ก็จะนำมารีไซเคิลให้ได้มากที่สุด หรือบางส่วนก็แบ่งให้ชาวบ้านแถวนั้นนำไปใช้ต่อ ซึ่งนโยบายนี้ได้เริ่มใช้มากว่า 3 ปีแล้ว 

คุณสุยเล่าให้เราฟังเพิ่มว่า ในช่วงแรกที่เริ่มใช้นโยบายนี้ ต้องมีการปรับตัวทั้งทางบริษัทและพนักงาน เนื่องจากจำนวนบุคลากรของแต่ละกองก็แตกต่างกันไป บางกองใช้คนมาถึง 40-80 คน การต้องล้างแก้วจำนวนมากก็เป็นการเพิ่มงานให้ทีมสวัสดิการ บริษัทจึงใช้วิธีเพิ่มค่าแรงให้ทีมสวัสดิการ และที่บริษัทก็จะมีแก้วน้ำกระติกน้ำกองกลางให้เบิกไปใช้ ค่อยๆ ปรับตัวไป 

“ค่าใช้จ่ายมันไม่ต่างกันมากนะ อาจจะมีส่วนเพิ่มขึ้นอยู่บ้าง เช่น ค่าอาหาร การเปลี่ยนจากโฟมมาเป็นชานอ้อย ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น เช่น 4 บาทต่อกล่อง แต่เรามองว่ามันคุ้มสำหรับการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา”

“ตั้งแต่ทำมา เราเริ่มเห็นการตระหนักถึงเรื่องนี้ร่วมกัน เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดที่สุด คือคนในกองก็เริ่มนำกระบอกน้ำ นำแก้วของตัวเองมา อันนี้เป็นเรื่องน่าชื่นใจที่เราเห็นพนักงานค่อยๆ เริ่มลงมือทำไปกับเรา”

เขียวให้มากกว่าแค่ในกองถ่าย

“วันนี้ เราคิดว่าทำได้ดีประมาณ 80% ความท้าทายคือบางวันที่มีคนเข้าฉาก 200-300 คน บางสถานที่ยากต่อการจัดการ อันนี้ก็ยังต้องใช้พลาสติกอยู่บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางบริษัทพยายามหาทางจัดการอยู่ และตั้งเป้าจะให้กองถ่ายของเราปลอดพลาสติก 100% ในอนาคต” 

นอกจากกองถ่ายสีเขียวแล้ว คุณสุยบอกว่า GDH ยังมีแผนค่อยๆ ส่งเสริมความสนใจในสิ่งแวดล้อมลงไปในบทภาพยนตร์ ซี่รีส์ ผ่านพฤติกรรมของตัวละครอีกด้วย

อย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของผู้กำกับขวัญใจสายฮิป เต๋อ- นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ที่จะชวนคนมาเก็บบ้านรับปีใหม่ กับภาพยนตร์ ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไร ไม่ให้เหลือเธอ ซึ่งก่อนหน้านี้มีกิจกรรม prop casting ที่ชวนคนส่งของเข้ามาชิงพื้นที่ปรากฏตัวในภาพยนตร์ จากกิจกรรมนั้นมีคนสนใจส่งของรักของหวงเข้าร่วมจำนวนมากและมีคนส่งของแบบไม่ขอรับคืนก็มีมากเช่นกัน ทำให้ทางค่ายได้เห็นว่ามีของจำนวนมากที่คนหนึ่งอยากทิ้ง แต่ยังสามารถมีประโยชน์ต่อคนอื่นๆ ได้

และจากไอเดียนั้นก็ได้ถูกนำมาต่อยอดเป็นกิจกรรม ‘ทิ้งday’ ซึ่ง GDH จับมือกับ มูลนิธิกระจกเงา ชวนคนอยากตัดใจมาทิ้งของ ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า หนังสือ หรือของเล่น เพื่อนำไประดมทุนส่งต่อให้กับมูลนิธิกระจกเงา และร่วมซื้อของมือสองจากดารานำและแขกรับเชิญได้อีกด้วย ใครอยากไปร่วมทิ้งขยะให้เป็นประโยชน์ก็ไปเจอพวกเขาได้ที่ Fashion Hall Siam Paragon ในวันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคมนี้ เวลา 11.00-21.00 น.

ภาพยนตร์ ฮาวทูทิ้ง จะเข้าฉาย 26 ธันวาคมนี้  หรือติดตามผลงานอื่นๆ จากค่าย GDH ทั้ง ตุ๊ดซี่ & เดอะเฟค เรื่องราวสุดเฟคของแก๊งเพื่อนซี้สี่ตุ๊ดหนึ่งดี้ที่กำลังเรียกเสียงหาอยู่ในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ และซีรี่ส์อีกสองเรื่องใหม่ คือ One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ ซีรี่ส์แนวโรแมนติก แฟมิลี่ ทุกวันพฤหัส 20.00 น.ทาง Line TV และ ฉลาดเกมส์โกง เดอะซี่รี่ส์ ที่จะได้ชมกันกลางปีหน้า 

“บริษัทเราวางแนวคิดในการตระหนักถึงปัญหานี้ร่วมกันของทีมงานทุกฝ่าย แต่ไม่ได้กำหนดกรอบว่าต้องทำอะไรบ้าง เพราะไม่อยากไปจำกัดความคิดของฝั่งครีเอทีฟ เราเริ่มมีการค่อยๆ ใส่เข้าไปในบทภาพยนตร์ ในซีรี่ส์ สอดแทรกให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาใส่ใจกับเรื่องนี้ เช่น ตัวละครใช้ถุงผ้า ถ้ามีฉากดื่มน้ำก็จะไม่ใช่แก้วพลาสติก เป็นต้น แต่จะไม่ถึงขั้นเป็นบทสนทนาที่พูดออกมา ซึ่งทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับจังหวะที่เหมาะสมของบทในเรื่องนั้นๆ ด้วย” 

ภาพถ่าย: GDH