ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐนิวยอร์กได้ประกาศผ่านร่างนโยบายแบนถุงพลาสติก โดยห้ามร้านค้าให้บริการถุงพลาสติกแก่ลูกค้า โดยจะมีผลเริ่มใช้ในเดือนมีนาคม ปี 2020

ทำไมนิวยอร์กต้องแบนถุง?

จากผลสำรวจ ประมาณการว่า รัฐ นิวยอร์กมีการใช้ถุงพลาสติกมากถึง 23 ล้านล้านใบต่อปี แค่เฉพาะใน เมือง นิวยอร์กนั้น มีการใช้สูงถึง 10 ล้านล้านใบ นับเป็นการสร้างขยะปริมาณ 1,700 ตันต่อสัปดาห์ ที่ทำให้เมืองนิวยอร์กต้องเสียงบประมาณ 12.5 ล้านบาทไปกับการขนขยะไปทิ้งที่แลนด์ฟิลด์ (ที่ผังกลบขยะ)

ด้วยเหตุนี้ สภานิติบัญญัติจึงได้ผ่านกฏหมายแบนการใช้ถุงพลาสติกเพื่อหวังจะลดประมาณขยะ โดยกฏนี้ ยังมีข้อยกเว้นให้กับถุงใส่อาหารสำหรับซื้อกลับบ้าน พลาสติกห่ออาหารและเนื้อสัตว์ และพลาสติกห่ออาหารแบบแพ็ค โดยการประกาศนี้ ทำให้นิวยอร์กกลายเป็นรัฐที่ 2 ของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีกฏแบนถุงพลาสติก ตามหลังรัฐแคลิฟอร์เนียร์ (เมืองซานฟรานซิสโก) ที่ประกาศไปเมื่อปี 2016

ปัญหาขยะพลาสติกกำลังเป็นวิกฤตที่ทั่วโลกตื่นตัว ภาคประชาชนเริ่มรณรงค์ ลด ละ เลิกใช้ถุงพลาสติก หันมาใช้ถุงที่ใช้ซ้ำได้ หรือ รีไซเคิลกันมากขึ้น การออกกฏหมายและข้อบังคับ หรือการออกแบบนโยบาย นับเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ภาครัฐทั่วโลกนำมาใช้เพื่อหวังแก้วิกฤตการปัญหาขยะพลาสติกในระดับโครงสร้าง

นโยบายรัฐ (Public policy) ช่วยจำกัดพฤติกรรม

นโยบายรัฐ คือเครื่องมือของรัฐบาลที่ใช้วางแนวทางการในการบริหารประเทศและวางโครงสร้างสังคมแบบภาพรวม เน้นการแก้ปัญหาแบบระยะยาว เพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยนโยบายที่ออกมาแสดงให้เห็นความสนใจของรัฐบาลในประเด็นนั้นๆ ซึ่งบางครั้งคือการส่งเสริมพฤติกรรมบางอย่างในขณะที่ลงโทษอีกกลุ่มพฤติกรรมหนึ่ง เช่น นโยบายการแบน

การออกนโยบายแบนและกฎหมายควบคุมต่างๆ จึงต้องย้อนไปศึกษาว่าพฤติกรรมที่มีปัญหาในประเทศนั้นคืออะไร เกิดจากอะไร และพฤติกรรมใหม่ที่ต้องการคืออะไร รวมถึงจะส่งผลดีหรือเสียอย่างไรด้วย เช่น เมื่อในตลาดมีความต้องการใช้มากเพราะสะดวก จึงต้องหาทางควบคุมที่ผู้ใช้หรือให้ทางเลือกอื่น หรือหากมีความต้องการซื้อมากเพราะต้นทุนต่ำ ก็ต้องไปจัดการที่แหล่งผลิต เป็นต้น

การออกแบบนโยบาย คือ การวาดภาพสังคมแบบที่ต้องการและออกกฎเพื่อให้ภาพนั้นเกิดขึ้นจริง จึงต้องย้อนไปศึกษาว่าพฤติกรรมเดิมในประเทศนั้นคืออะไร เกิดจากอะไร และจะสร้างพฤติกรรมใหม่ที่ต้องการได้อย่างไร รวมถึงจะส่งผลดีหรือเสียในระยะยาวอย่างไรด้วย เช่น ต้องการให้ปริมาณขยะในประเทศลดลงภายในห้าปี ก็ต้องย้อยไปดูว่าขยะที่มีมากสุดในประเทศคืออะไร คนนิยมใช้เพราะอะไร และออกนโยบายเพื่อควบคุมหรือลดการใช้วัสดุนั้น 

ว่ากันง่ายๆ กฎหมายและข้อบังคับคือเครื่องมือหนึ่งในการแก้ปัญหานั่นเอง ตามรายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nation Environment programme) ทำการสำรวจในปี 2018 มีการประกาศใช้กฏหมายหรือข้อบังคับเพื่อลดปริมาณถุงพลาสติกแล้วถึง 127 ประเทศ จาก 192 ประเทศ (ที่ได้รับการสำรวจในรายงานฉบับนี้ ทั้งโลกมี 195 ประเทศ ซึ่งไทยไม่อยู่ในนั้นค่ะ…)

สำหรับเรา การแก้ปัญหาในเชิงนโยบายนั้นเหมือนการสร้างกรุงโรมที่ไม่สามารถเสร็จได้ภายในวันเดียว เราเลยลองหยิบตัวอย่างประเทศที่น่าสนใจ ชวนมาดูว่าแต่ละประเทศมีการออกกฏเพื่อลดปริมาณขยะถุงพลาสติกภายในประเทศ และบทลงโทษอย่างไรกันบ้าง

นโยบายแบนถุงพลาสติกที่น่าสนใจทั่วโลก

สั่งแบนหรือควบคุมการใช้
(Ban or restriction)

กฎในหมวดหมู่นี้ คือ การสั่งห้ามใช้ โดยมีรายละเอียดการควบคุมที่ต่างกัน ปัจจุบันมีการประกาศแบนการใช้ถุงพลาสติก แล้ว 91 ประเทศ

  • ประเทศแรกที่ประกาศกฏแบนถุงพลาสติก คือ บังคลาเทศ โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2002 หลังจากพบว่าถุงพลาสติกไปอุดตันท่อระบายน้ำ เป็นสาเหตุของปัญหาน้ำท่วม
  • เคนย่า ได้ทดลองออกกฎเพื่อลดปริมาณขยะถุงพลาสติก เช่น การควบคุมความหนาและขึ้นภาษี แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในปี 2017 จึงได้ประกาศกฏหมายแบนถุงพลาสติก และกลายเป็นประเทศที่มีบทลงโทษรุนแรงที่สุดในโลก ขนาดที่ถือถุงพลาสติกก็อาจโดนปรับหรือติดคุกได้เลย โดยบริษัทที่ผลิตและนำเข้าถุงพลาสติก มีบทลงโทษปรับอยู่ที่ $19,000 ถึง $38,000 หรือติดคุกสูงสุด 4 ปี แต่ยังมีข้อยกเว้นให้กับบรรจุภัณฑ์และถุงขยะ

ควบคุมการใช้ โดยใช้ค่าความหนาของพลาสติกเป็นเกณฑ์
(Thickness requirement)

โดยมีทั้งการแบนถุงพลาสติกที่บางกว่ามาตรฐาน การห้ามนำเข้า ห้ามผลิต ห้ามใช้ หรือ เรียกเก็บภาษีเพิ่ม โดยส่วนใหญ่จะสั่งแบนถุงพลาสติกที่มีความหนาต่ำกว่า 50 ไมครอน หรือ อนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะที่มีความหนา 50 ไมครอน

  • ปี 2016 ประเทศเซเนกัล สั่งห้ามนำเข้า ขาย ผลิต และใช้ถุงพลาสติกชนิดบางที่นิยมใช้ตามร้านค้ามีขนาดบางกว่า 30 ไมครอน และเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากผู้ใช้สำหรับถุงที่หนากว่า  30 ไมครอนด้วย โดยมีโทษตั้งแต่ปรับ สูงสุด (20 million CFC ประมาณ $10300) ไปจนถึงจำคุก 2 ปี โดยกฏที่ประกาศออกนั้นมีสองเป้าหมายคือหนึ่งเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก และต้องการส่งเสริมให้มีการจัดการขยะพลาสติกที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ควบคุมโดยการกำหนดอัตราส่วนของวัสดุในถุงพลาสติก
(Material composition or type)

โดยจะไม่อนุญาตให้ใช้หรือนำเข้าถุงพลาสติกที่ไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เช่น ต้องรีไซเคิลได้ หรือ มีส่วนผสมของวัสดุที่ย่อยสลายได้  biodegradable

  • ทวีปแอฟริกาใต้ 23 ประเทศ เช่น มาลี ตูนิเซีย Togo Niger เอธิโอเปีย มีกฏแบนถุงพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ (ban non-biodegradable) ทั้งการนำเข้าและการใช้
  • การออกกฏควบคุมเป็นบางรัฐ เช่น ปี 2018 เมืองมุมไบ รัฐที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอินเดีย โดยมีโทษปรับถึง 278 ปอนด์ หรือ จำคุกสามเดือน ไม่ใช่แค่ถุงพลาสติก อินเดียกำลังพัฒนากฎให้ครอบคลุมไปถึงพลาสติกใช้แล้วทิ้งชนิดอื่นๆ ด้วย

ควบคุมปริมาณการนำเข้าและอัตราการผลิตภายในประเทศ
(Production volume or number of registration)

  • สาธารณรัฐกาบูเวร์ดี (Cape Varde) เป็นประเทศเดียวทีมีกฏควบคุมจุดนี้ โดยตั้งเป้าลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกไว้ที่ 60% ในปี 2015 และงดใช้ 100% ภายในปี 2016 ปัจจุบันถุงพลาสติกที่ใช้ได้ในประเทศเป็นแบบย่อยสลายได้ biodegradable and compostable เท่านั้น

การรณรงค์ให้ใช้ถุงแบบใช้ซ้ำได้

นอกจากออกกฏมาเพื่อควบคุมการใช้แล้ว การออกแบบนโยบายยังต้องคำนึงถึงทางเลือกใหม่ให้ผู้ใช้งานเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม บางประเทศจึงมีนโยบายช่วยสร้างแรงจูงใจให้บริษัท ร้านค้า ประชาชนให้มาใช้วัสดุแบบใช้ซ้ำได้แทนถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง เช่น บังคับร้านค้ามีบริการถุงแบบใช้ซ้ำได้ให้ลูกค้า ลดภาษีให้ หรือ ละเว้นถุงพลาสติกแบบใช้ซ้ำได้จากการแบน

  • ปี 2011 อิตาลี เป็นประเทศแรกในสหภาพยุโรป ที่ประกาศแบนถุงพลาสติก แต่การแบนอย่างกระทันหันนั้นทำให้เกิดกระแสโจมตีกลับอย่างมาก เนื่องจากประชาชนปรับตัวตามไม่ทัน ทำให้ในปี 2012 ได้มีการประกาศให้ใช้ถุงพลาสติกได้ แต่ต้องเป็นแบบ biodegradable หรือ ถ้าสำหรับใส่ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับอาหารต้องส่วนผสมที่รีไซเคิลได้อย่างน้อย 30% นอกจากนั้นยังมีกฏบังคับให้ร้านค้าให้บริการถุงพลาสติกแบบใช้ซ้ำได้ให้ลูกค้าอีกด้วย

เรียกเก็บภาษีเพิ่มจากฝั่ง โรงงานผู้ผลิต ผู้นำเข้า

  • ปี 2010 สมัชชาแห่งชาติ เวียดนาม ประกาศใช้ Environmental Protection Tax (เริ่มใช้ 2012) เรียกเก็บภาษีเพิ่มจาก ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่ายถุงพลาสติก นอกจากนั้นกฏหมายนี้ยังมีผลครอบคลุมถึงกิจการทุกอย่างที่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำมัน ถ่าน หิน ยาฆ่าแมลง สารกำจัดวัชพืช ของป่าสงวน และการฆ่าเชื้อในโกดัง ด้วยแนวคิดว่า ผู้ที่สร้างมลพิษจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้วยการจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น “polluters must pay”

เก็บค่าธรรมเนียมผู้ใช้

  • Ireland มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับสิ่งแวดล้อม จากร้านค้าและลูกค้าที่ใช้ถุงพลาสติก ราว 22 เซนต์หรือประมาณ 7 บาทต่อถุง นอกจากนั้น ไอร์แลนด์ยังเป็นหนึ่งในสี่ประเทศของโลกที่ออกกฏครอบคลุมไปถึงการแบน Microbead ในระดับประเทศด้วย (Prohobition of micro-plastic bill)

ออกกฏให้ผู้ผลิตต้องมีมาตรการรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ของตน
(Return, Collection and recycling)

ออกกฏให้ผู้ผลิตต้องมีแผนการจัดการผลิตภัณฑ์ตลอดอายุการใช้งาน หรือการนำกฏ Extended Producer responsibilities (EPR) มาใช้ในประเทศ โดย EPR คือ กฎที่ควบคุมผู้ผลิตให้ต้องขยายความรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ของตนเองครอบคลุมไปถึงหลังการใช้งาน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพวัสดุ การรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการนำไปทิ้งและกำจัด และสร้างมาตรการสนับสนุนให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

  • ประเทศภูฏาน ประกาศใช้ Waste prevention and management Act of Bhutan 2009 ซึ่งมีการแบนพลาสติก และเป็นอีกหนึ่งประเทศที่นำ กฏ EPR มาใช้ โดยบังคับให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ของตน และต้องกำจัดได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ภูฎาณ ใช้เวลาเกือบ 20 ปี ในการผลักดันกฎหมายแบนพลาสติก โดยเริ่มตั้งแต่ 1999 และออกโปรแกรมทดลองใช้ในปี 2005 และ 2009 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนสามารถประกาศผ่านร่างกฏข้อบังคับได้ ในปี 2012 และ ใช้ได้สมบูรณ์ในปี 2016

เพิ่มอัตราการรีไซเคิล
(Recycling target)

รวมไปถึงการตั้งเป้าให้ผลิตภัณฑ์พลาสติกนั้นรีไซเคิลได้มากขึ้น

  • ประเทศญี่ปุ่น เป็นอีกประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์และมีการใช้บรรจุภัณฑ์ จำนวนมาก นอกจากจะนำ EPR มาใช้แล้ว จึงมีการออกแบบกฏหมายเพื่อกำหนดอัตราการใช้บรรจุภัณฑ์และบริษัทผู้ผลิตต้องรายงานการจัดการเพื่อลดปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์ให้แก่รัฐบาล และโฟกัสที่การรีไซเคิลมากขึ้นอีกด้วย (Act on the promotion of Sorted Collection and Recycling of Containers and Packaging, 1995)

นโยบายแบนถุงพลาสติก คือทางออกของปัญหานี้จริงไหม?

โดยส่วนตัว ถ้ามองในมุมของนักออกแบบเพื่อแก้ปัญหาสังคม เราถูกสอนให้มองว่าสังคมคือระบบหนึ่งและปัญหาทุกอันคือส่วนหนึ่งของระบบเดียวกัน ทุกปัญหามีความสัมพันธ์กันหมด ทางออกของหนึ่งปัญหามักจะสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาเสมอ สิ่งสำคัญจึงเป็นการชั่งน้ำหนักของผลได้ผลเสียที่จะเกิดขึ้น การออกกฏหมายแบบถุงพลาสติกอาจช่วยลดปริมาณการใช้หรือควบคุมจำนวนได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลกระทบต่อระบบอุตสาหกรรมของการผลิตถุงพลาสติกและเศรษฐกิจ จึงต้องมีการศึกษาและเก็บข้อมูลเพื่อให้แก้ปัญหาได้เหมาะกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจของประเทศตนเอง และคำนึงถึงผลกระทบในทุกๆ ด้านที่จะตามมาค่ะ

ในมุมมองของประเทศต่างๆ ก็เช่นกัน การออกกฏแบนและควบคุมการใช้ถุงพลาสติกยังเป็นที่เรื่องที่ทั่วโลกถกเถียงถึงผลได้และผลเสีย และยังต้องใช้เวลาอีกมากในการติดตามผล

แต่สุดท้ายแล้ว กฎและนโยบายของประเทศเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการแก้ปัญหา ถึงแม้ว่าจะมีกฏออกมามากมาย หากผู้บริโภคหรือภาคประชาชนไม่ปฎิบัติตามกฏ ปัญหานี้ก็จะไม่มีทางแก้ไขได้ เช่นเดียวกับการที่หากเราเริ่มเข้าใจว่าทุกกฏการควบคุมนั้นออกมาเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใช้ เมื่อมีความต้องการใช้มากเกินไปจึงต้องมีกฏออกมาเพื่อห้ามใช้

เมื่อมองมุมนี้เราจะพบว่าอำนาจในการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั้นอยู่ในมือของพวกเรา อยู่ในทางเลือกของเรา และการเปลี่ยนแปลงก็จะเริ่มได้จากการเลือก ที่จะ ลด ละ เลิก ใช้ถุงพลาสติกของเราเองค่ะ

ภาพถ่าย: Parppim Pim

ข้อมูลอ้างอิง:
https://wedocs.unep.org
www.wri.org
www.worldatlas.com
Bhutan – www.xinhuanet.com/english/2019-02/02/c_137793052.htm
Kenya – www.nationalgeographic.com
Senegal – www.presidence.sn
Vietnam – https://k-learn.adb.org