ในอเมริกา 40% ของอาหารที่ถูกผลิตขึ้นกลายเป็นขยะ ในขณะที่ 1 ใน 7 ของคนอเมริกันกลับไม่สามารถเข้าถึงอาหารและขาดความมั่นคงทางอาหาร 

จากสถิตินี้ทำให้มีคนกล่าวว่า

“ปัญหาไม่ใช่เรามีอาหารไม่พอ แต่เราขาดการจัดการทรัพยากรที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงอาหารได้ต่างหาก” 

Robert Lee และครอบครัว ย้ายจากเกาหลีใต้มาเริ่มต้นชีวิตในอเมริกา ช่วงแรกครอบครัวเขาไม่ได้มีฐานะร่ำรวยมากนัก พ่อของเขาทำงานเป็นผู้จัดการซูเปอร์มาร์เก็ต และมีคุณแม่เป็นแม่บ้านที่เลี้ยงเขาและน้องชาย ทุกคนต้องใช้ชีวิตอย่างประหยัดเพื่อให้เขาและน้องชายได้เรียนหนังสือ

โรเบิร์ตจึงเข้าใจดีถึงความรู้สึกในวันที่ไม่มีอาหารติดบ้าน “มันไม่ใช่แค่ปัญหาด้านร่างกายที่คุณรู้สึกหิว แต่การที่ต้องคิดอยู่ตลอดเวลาว่ามื้อหน้าจะมีข้าวกินหรือไม่ มันยังส่งผลต่อสุขภาพจิตด้วย” 

ความตระหนักถึงคุณค่าของอาหารที่ไม่ควรกลายเป็นขยะ เป็นแรงตั้งต้นให้เขาและเพื่อนร่วมชั้นเรียน Louisa Chen ตั้ง Rescuing Leftover Cuisine เพื่อแก้ปัญหาอาหารเหลือทิ้งและความขาดแคลนอาหาร

Rescuing Leftover Cuisine (RLC)

คือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่เป็นตัวกลางส่งอาหารที่เหลือจากร้านอาหารในเมืองนิวยอร์กไปยังบ้านพักผู้ด้อยโอกาสหรือสถานที่ที่มีความต้องการด้วยการดำเนินงานหลัก 3 ด้าน คือ

1. เป็นตัวเชื่อมขนส่งอาหารที่เหลือจากร้านอาหารไปยังบ้านพักผู้ด้อยโอกาส โดยมีทีมงานซึ่งเป็นอาสาสมัครไปรับอาหารและขนไปส่งยังสถานที่ที่ต้องการ 

2. สร้างแพลตฟอร์มเชื่อมต่อ ระหว่างร้านอาหาร สถานที่ที่ต้องการอาหาร และอาสาสมัคร โดยเริ่มจากร้านอาหารสมัครเข้ามาในโปรแกรม ทีมงานจับคู่กับศูนย์พักพิงหรือสถานที่ที่มีความต้องการในละแวกนั้น จากนั้น จึงจัดตารางวันและเวลาที่ต้องการไปรับอาหาร แบ่งเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในปฎิทิน ทำให้คนที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมเป็นอาสาสมัครทำงานได้ง่าย มีหลายเวลาให้เลือก และการทำงานแต่ละครั้งใช้เวลาแค่สามสิบนาทีหรือหนึ่งชั่วโมงเท่านั้น 

3. การลดที่ต้นเหตุ โดยเป็นที่ปรึกษาด้านการลดปริมาณขยะให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร เพื่อให้ร้านอาหารได้รู้สถานการณ์ปัญหาของตัวเองและเริ่มลดขยะที่ต้นเหตุ เช่น เมื่อร้านอาหารเข้าร่วมโปรแกรม จะได้รับรายงานว่าร้านบริจาคอาหารมาเป็นจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งช่วยให้เขาเห็นว่าในแต่ละวันต้องเสียเงินไปกับอาหารอะไรบ้าง นอกจากนั้น ตัวเลขเหล่านี้จะช่วยให้เขาสามารถกำหนดปริมาณอาหารให้พอเหมาะต่อยอดขายของเขาได้ เป็นการช่วยลดขยะและลดต้นทุนของร้านด้วย 

โรเบิร์ตเล่าให้เราฟังว่า จุดเด่นของนิวยอร์กคือมีร้านอาหารจำนวนมาก มีธนาคารอาหาร และมีสถานพักพิงที่มีความต้องการจำนวนมากเช่นกัน ทั้งหมดกระจายตัวอยู่ทั่วเมืองและสามารถเดินถึงกันได้ในไม่กี่นาที แต่เมื่อโปรแกรมขยายไปยังเมืองอื่นๆ เช่น บอสตัน ชิคาโก ลอสแองเจลิส ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนจากการเดินเป็นรถยนต์ ซึ่งทำให้ต้องมีการประสานงานที่ละเอียดขึ้น ใช้ระบบการทำงานแบบเป็นหน่วยย่อย มีแกนนำในรัฐนั้นๆ อาจหาอาสาสมัครยากขึ้นบ้าง แต่ภาพรวมนั้นยังมีคนสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ และขยายไปยังเมืองใหม่ขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี 

การเปลี่ยนแปลงใหญ่คือโมเดลรายรับที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่ได้มีรายรับจากนายทุนและผู้บริจาคเป็นหลัก ตอนนี้เริ่มมีการเก็บเงินค่าบริการและขนส่งจากร้านอาหารที่มาบริจาคแต่ก็ยังเป็นอัตราที่ต่ำกว่าค่าบริการอื่นๆ ในตลาด food rescuing การเก็บเงินนอกจากจะสร้างรายได้เพื่อให้โปรเจกต์อยู่ได้ด้วยตัวเองแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความรับผิดชอบร่วมกันด้วย เช่น บางครั้งมีการนัดไว้แล้วแต่ทางร้านผิดสัญญาไม่ได้เตรียมอาหารให้ ทำให้ทางทีมเสียเวลา ตอนนี้ก็จะมีระบบปรับเพื่อทำให้มั่นใจว่าทางร้านจะเตรียมอาหารไว้ให้ตามที่ตกลงกัน และนี่ไม่ใช่ฟรีเซอร์วิส 

โมเดลเล็กๆ ที่อยากขยายไปสู่ทั่วโลก

ปัจจุบัน RLC กำลังก้าวขึ้นปีที่ 6 ขยายสาขาไป 16 รัฐในอเมริกา และมียอดการบริจาคมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โรเบิร์ตเล่าว่าในสามปีแรก RLC สามารถช่วยชีวิตอาหารไปได้มูลค่า 1 ล้านปอนด์ ซึ่งต่อมาในปี 2018 ยอดบริจาคเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านปอนด์ต่อปี และปี 2019 นี้ยอดบริจาคครึ่งปีแรกก็ทำลายสถิติเกิน 1 ล้านปอนด์แล้ว และมีแนวโน้มว่าจะสามารถส่งต่ออาหารเหลือไปเป็นมื้ออาหารได้ถึง 4 ล้านปอนด์ภายในปีนี้ 

ความท้าทายในวันนี้ของ RLC คือระบบการจัดการหลังบ้าน การวัดและประเมินผลโครงการในแต่ละปี เนื่องด้วยโปรแกรมมีความยืดหยุ่นสูง มีความไม่แน่นอนของร้านอาหารและปริมาณอาหารที่จะได้รับบริจาคในแต่ละควอเตอร์ รวมถึงการดำเนินการด้วยอาสาสมัครทั้งหมด ทำให้ยากต่อการวางแผนและจัดสรรเรื่องงบประมาณ และยากที่จะวางแผนสำรองหากเกิดปัญหาฉุกเฉินขึ้น

แม้จะยังมีปัญหาอยู่บ้างหากมองในเชิงธุรกิจ แต่โรเบิร์ตมีเป้าหมายที่จะทำให้ RLC กลายเป็นโมเดลของโลกในการแก้ปัญหาขยะอาหารเหลือทิ้งและคนขาดแคลนอาหาร ก้าวต่อไปคือการขยายสาขาไปทั่วอเมริกาและฝันว่าจะขยายไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

ประสบการณ์ลองเป็นอาสาสมัคร

อีกหนึ่งความน่าสนใจคือโครงการนี้ดำเนินการด้วยอาสาสมัครทั้งหมด ซึ่งเราและเพื่อนได้มีโอกาสลองไปเป็นอาสาสมัครมาด้วยค่ะ 

ขั้นตอนการสมัครง่ายมาก ในเว็บไซต์จะมีปฎิทินให้เราดูว่ามีเวลาเข้าร่วมได้วันไหน เวลาไหน และย่านไหนบ้าง ซึ่งมีให้เลือกเยอะมากๆ เราสามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้เลย จากนั้นก็ไปเจอกับทีมที่ร้านอาหารตามเวลานัดหมาย เมื่อไปถึงทางร้านจะเตรียมอาหารใส่ถุงมาไว้ให้ จากนั้นก็ช่วยกันถือ เดิน หรือนั่งรถไฟ ไปยังจุดหมายใกล้ๆ ค่ะ 

เป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่าย สะดวก มีหลายช่วงเวลาให้เลือก ฉันใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียน ก่อนกลับบ้าน มาเป็นอาสาสมัครได้” – คาเรน

นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของนวัตกรรมที่ไม่ใช่การออกแบบสิ่งใหม่ แต่เป็นการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่เดิมด้วยวิธีการใหม่ ที่น่าสนใจและน่านำมาปรับใช้ในบ้านเรามากๆ ค่ะ

www.rescuingleftovercuisine.org

ภาพถ่าย: Parppim Pim