เชื่อในเรื่องกฎแรงดึงดูดไหมคะ ว่าคนที่สนใจเรื่องเดียวกันจะวนมาเจอกัน

ส่วนตัวเราเชื่อเรื่องนี้มาก และเชื่อว่าพลังงานนี้ทำให้เราได้มาเจอกับ หยาดฝน วาทยานนท์ หรือ หยาด หญิงสาวที่เป็นทายาทของกิจการโรงพิมพ์ ‘สมุยอักษร’ ผู้ผลิตสิ่งพิมพ์ครบวงจรรายใหญ่บนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี นอกจากเธอจะเข้ามาสืบทอดกิจการที่กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 27 อีกสิ่งที่หยาดตั้งใจเข้ามาสร้างและสานต่อ คือการดูแลสิ่งแวดล้อมและการจัดการของเสียแบบครบวงจร

ของเสียที่เกิดจากกิจกรรมของโรงพิมพ์ หลักๆ จะมีสองอย่างคือ น้ำเสียจากการพิมพ์หรือหมึกพิมพ์ และเศษกระดาษ โดยโรงพิมพ์แห่งนี้ยังสนใจการจัดการของเสียในครัวเรือนของพนักงานและกิจกรรมอื่นๆ ในโรงพิมพ์อีกด้วย

หยาดบอกว่า กิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมดเริ่มจากความตั้งใจของคุณพ่อ-อานนท์ วาทยานนท์ ซึ่งริเริ่มการทำกิจกรรมเพื่อสังคมโดยผลักดันให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้ทายาทอย่างเธอได้เรียนรู้ว่า ความคิดเห็นของผู้นำองค์กร มีผลต่อความใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมขององค์กรอย่างมาก

“คุณพ่อเชื่อว่า เมื่อเราทำธุรกิจมาถึงจุดที่เราอยู่ตัวแล้ว เราควรคืนกลับให้สังคมและสิ่งแวดล้อม”

กิจกรรมหลักๆ ของที่นี่มี 3 อย่าง คือการทำน้ำหมักชีวภาพหรือน้ำ EM (Effective Microorganisms) การบำบัดน้ำเสีย และการจัดการขยะ

ส่วนแรกที่ดำเนินการมากว่าสิบปีแล้ว คือการ ทำน้ำ EM แจกฟรีให้ชาวบ้านและชุมชน โดยน้ำ EM ของที่นี่จะใช้เฉพาะเศษผลไม้เปรี้ยวคุณภาพดีเท่านั้น เช่น เปลือกสับปะรด เปลือกส้ม ซึ่งช่วงหลังได้รับความร่วมมือจากเทศบาลนำเปลือกผลไม้คุณภาพดีมาให้ ทำให้น้ำ EM ของที่นี่ออกมาคุณภาพดี กลิ่นไม่เหม็น โดยที่โรงพิมพ์จะแบ่งเวลาพนักงานให้ผลัดกันมาทำคนละ 2 ชั่วโมง หมุนเวียนกันทั้งปี เรียกกันว่ามา ‘ลง EM’ พนักงานก็จะมาเป็นคนจัดการเศษผลไม้ หมัก กรอกลงขวดพลาสติกที่เป็นขยะขวดพลาสติกใช้ซ้ำ น้ำ EM ที่ได้จะนำมาใช้กับกิจกรรมอื่นในโรงงาน เอาไปแจกที่ตลาดและมีแจกหน้าโรงพิมพ์ให้คนมาลงชื่อรับไปแบบฟรีๆ

“ปัญหาที่ตลาดช่วงแรกๆ คือไม่มีคนกล้าใช้ แต่พอเราให้ฟรี ให้ลองใช้ เขาก็กล้าใช้มากขึ้น จากตอนแรกที่แมลงวันในตลาดเยอะมาก ตอนหลังลดลงอย่างเห็นได้ชัดเพราะน้ำ EM ช่วยเรื่องความสะอาด ช่วยเรื่องกลิ่น ช่วงหลังพอเอาไปแจกก็หมดเร็วตลอด”

หยาดการันตีว่า น้ำ EM ของที่โรงพิมพ์เธอฮอตสุดในสมุยเลย

เรื่องต่อมาคือการ บำบัดน้ำเสีย เนื่องจากโรงพิมพ์จะมีกระบวนการพิมพ์ที่ทำให้เกิดน้ำเสียจากหมึกพิมพ์อยู่เเล้ว ซึ่งเป็นปัญหาหลักของกิจการโรงพิมพ์ ที่นี่ใช้วิธีบำบัดแบบธรรมชาติ โดยเริ่มจากทิ้งน้ำให้ตกตะกอน แล้วแยกตะกอนออก เอาไปตากแห้งแล้วทุบเป็นเศษเล็กๆ ส่งให้มหาวิทยาลัยทักษิณเพื่อนำไปวิจัยทำอิฐบล็อก ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่วนน้ำจะนำมาบำบัดด้วยการกรองผ่านถ่าน เติมออกซิเจน เติมน้ำ EM ในน้ำ ผ่านพืชน้ำ กรองซำ้เรื่อยๆ จนน้ำใสแล้วจึงค่อยปล่อยลงสู่ธรรมชาติ

ส่วนของการ แยกขยะ เบื้องต้นพนักงานทุกคนจะต้องช่วยกันคัดแยก โดยที่นี่จะแยกขยะเป็น 6 ประเภท ส่วนของขยะที่รีไซเคิลได้ก็จะนำไปขาย ขยะเศษกระดาษ ที่เหลือจากการตัดตามไซส์พิมพ์ ที่นี่จะนำมาทำเป็นสมุดโน้ต มอบเป็นของขวัญให้ลูกค้า และของขวัญปีใหม่

ส่วน ขยะเปียก เริ่มจากให้พนักงานเอาขยะเปียกของตัวเองที่บ้านมารวมกันที่โรงพิมพ์ แต่เนื่องจากปริมาณยังน้อย เลยรับจากร้านอาหารใกล้ๆ โรงพิมพ์มาเพิ่ม จากนั้นก็เอามาหมักเป็นปุ๋ย โดยการเทเศษอาหารลงไปกลบด้วยขี้เลื่อย ราดด้วยน้ำ EM ซ้อนไปเรื่อยๆ แล้วกลับกองขยะ ซึ่งความพิเศษของกระบวนการนี้คือใช้ ‘หนอนแม่โจ้’ มาเป็นตัวช่วยในการย่อยขยะให้เร็วขึ้น หยาดเสริมว่า หลังๆ เริ่มมีคนมาขอซื้อหนอนและปุ๋ยมากขึ้น ทำให้เธอเริ่มเห็นโอกาสที่จะพัฒนาเป็นธุรกิจเสริมในอนาคตอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการเอาเศษอาหารมาหมักทำก๊าซชีวภาพ พอได้ก๊าซมาในปริมาณที่ใช้ได้ ก็จะเอาใช้ทำอาหาร ทำขนม แจกให้พนักงานในโรงพิมพ์

ปัจจุบันโมเดลการจัดการขยะของโรงพิมพ์ ได้ขยายไปสู่ชุมชนบางมะขาม กลายเป็น บางมะขามโมเดล ทำให้เกิดการรวมตัวของชุมชน สร้างจุดรวมขยะ ย้ายจากการทำแค่เฉพาะในโรงพิมพ์มาเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องการจัดการขยะของชุมชน จ้างคนมา 1-2 คนมาช่วยจัดการ รับขยะจากครัวเรือน และร้านอาหารในชุมชนที่เป็นพาร์ตเนอร์กัน นำมาหมักเป็นปุ๋ย แล้วให้ทุกคนช่วยกันออกค่าใช้จ่ายในการดูแล ไม่ใช่แค่เป็นผู้นำของชุมชน สมุยอักษรยังเป็นผู้นำด้านการจัดการขยะและรักษาสิ่งแวดล้อมของธุรกิจโรงพิมพ์ที่มีคนมาดูงานเป็นประจำอีกด้วย

ไม่ใช่แค่เรื่องการจัดการขยะที่ที่นี่ทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ สิ่งที่เราประทับใจคือการจัดการทรัพยากรมนุษย์อย่างเพื่อนมนุษย์ หัวใจของที่นี่คือการทำให้พนักงานมีจิตสาธารณะ ตระหนักรู้เรื่องเพื่อส่วนรวมและชุมชนมาก ไม่เฉพาะแค่กิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่พนักงานเข้ามามีส่วนร่วม ที่นี่ยังมีกิจกรรมเพื่อสังคมอื่นๆ เช่น ทุกเดือนที่มีวันเกิดพนักงาน เจ้าของวันเกิดในเดือนนั้นจะออกไปพบปะคนแก่ในชุมชน เอาของขวัญไปเยี่ยม ไปทำกิจกรรมร่วมกัน รวมไปถึงการเก็บขยะที่ทะเล กวาดลานวัด ทำให้ทุกคนมีจิตสาธารณะ เมื่อขอความช่วยเหลืออะไรทุกคนก็ยินดีที่จะร่วมมือ เพื่อการอยู่ร่วมกันของทุกคนในพื้นที่ ชุมชน ธุรกิจ สิ่งแวดล้อม

“คุณพ่อเชื่อเรื่องการพัฒนาคน ถ้าเราสนับสนุนให้เขามีจิตสาธารณะ นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม เราก็จะไม่เพียงแค่รักษาสิ่งแวดล้อม แต่เรายังสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้สังคมอีกด้วย”

ตัวเราเองเคยสงสัยว่าทำไมคนถึงสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำไมถึงยอมละทิ้งความสบายส่วนตัวเพื่อสิ่งที่แทบมองไม่เห็นผล ตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่า การจัดการขยะก็คือการจัดการกับจิตใจตัวเอง ทำให้เรากลับมาคิดว่าสิ่งที่เราทำส่งผลกระทบต่อใครบ้าง และเราจะลดผลกระทบนั้นได้ยังไง มันคือการเริ่มปรับจากตัวเอง และความเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นกับตัวเราตั้งแต่เราลงมือทำแล้วล่ะ

ภาพถ่าย: หยาดฝน วาทยานนท์