ช่วงปีที่ผ่านมานี้ เราน่าจะได้ยินคำว่า ‘ยั่งยืน’ กันจนชินหู และหลายองค์กรในภาคธุรกิจไม่ว่าจะเพื่อสังคมหรือไม่ ก็เริ่มพูดถึงคำว่า Sustainable Development Goals กันบ่อยขึ้น แล้วที่จริงมันคืออะไร และเกี่ยวอะไรกับชีวิตเรากันแน่

เป้าหมาย 17 ข้อ สู่โลกยั่งยืน

Sustainable Development Goals (SDGs) คือแผนการพัฒนาโลกเพื่อความยั่งยืน มีเป้าหมายจะขจัดความยากจนให้หมดไป พร้อมๆ กับดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกคน ทุกตัว ทุกที่บนโลก แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยมีองค์การสหประชาชาติ (United Nations) เป็นหัวเรือใหญ่ในการชวนเชิญ 193 ประเทศสมาชิกทั่วโลกมาร่วมมือกันจัดทำขึ้น โดยมีกรอบระยะเวลา 15 ปีให้แต่ละประเทศวางแผนและติดตามผล เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 17 ข้อ ภายในปี 2030 

ประเทศไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ก็ได้เป็นตัวแทนประเทศในการให้คำมั่นสัญญาต่อที่ประชุมสหประชาชาติ ว่าประเทศไทยจะเข้าร่วมผลักดันเป้าหมายและดำเนินการอย่างต่อเนื่องและสร้างสรรค์เพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ด้วยเช่นกัน

โดยคำว่า ‘ยั่งยืน’ ในที่นี้ ถูกแบ่งออกเป็น 17 ข้อ ซึ่งครอบคลุม 169 เป้าหมาย แบ่งเป็นประเด็นทางความยั่งยืนดังนี้

1. No Poverty ขจัดความยากจน ความยากจนนี้หมายรวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หรือสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงในการเข้าถึงทรัพยากรและการบริการขึ้นพื้นฐาน ไปจนถึงชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

2. Zero Hunger ขจัดความหิวโหยและความอดอยาก รวมไปถึงแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารและส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้เด็กและผู้ด้อยโอกาสเข้าถึงอาหารที่เพียงพอและมีคุณค่าทางโภชนาการ 

3. Good Health and Well-being มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การสร้างภูมิคุ้มกันของโรคและการดูแลสุขภาพเพศและระบบสืบพันธ์ุ ยุติการระบาดของโรคเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคติดต่ออื่นๆ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีน และการเข้าถึงยาในราคาที่เหมาะสม 

4. Quality Education การศึกษาที่เท่าเทียม คือการศึกษาที่ทั่วถึง เสมอภาคทุกเพศ มีคุณภาพ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การอบรมสายอาชีพ และที่สำคัญที่สุดคือเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายทุกคนได้รับการศึกษาฟรีในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา 

5. Gender Equality ความเท่าเทียมทางเพศ เป้าหมายเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทั่วโลก รวมไปถึงการพัฒนาบทบาทของสตรี ลดช่องว่างในตลาดแรงงาน และลดความรุนแรงทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศ

6. Clean Water and Sanitation การจัดการน้ำและสุขาภิบาล แม้ว่าน้ำจะเป็นทรัพยากรพื้นฐานที่เราคุ้นกันดี แต่การเข้าถึงและขาดแคลนน้ำสะอาดคือปัญหาใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นทุกทวีปทั่วโลกซึ่งกระทบประชากรกว่า 40% ในข้อนี้นอกจากการจัดการน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคแล้ว ยังครอบคลุมถึงการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวกับแหล่งน้ำ เช่น ป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ  

7. Affordable and Clean Energy พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ ข้อนี้คือการเข้าถึงและการลงทุนในแหล่งพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานความร้อน โดยสร้างโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผลิตพลังงานสะอาดในประเทศกำลังพัฒนา และลดการใช้งานโรงไฟฟ้าขนาดกลาง

8. Decent Work and Economic Growth การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อบรรลุเป้าหมายการผลิตในระดับที่สูงขึ้นและผลิตผ่านนวัตกรรมทางเทคโนโลยี สนับสนุนให้เกิดมาตรการที่กำจัดการใช้แรงงานทาสและการค้ามนุษย์ เกิดการจ้างงานและการทำงานที่เหมาะสมสำหรับทุกเพศ

9. Industry, Innovation and Infrastructure อุตสาหกรรม นวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐาน คือการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ ชลประทาน พลังงาน สารสนเทศ ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และพัฒนาเทคโนโลยี

10. Reduces Inequalities ลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการเงิน การลงทุน การเข้าถึงการศึกษาและสาธารณสุข การอพยพย้ายถิ่นฐาน การแบ่งเขตแดน ส่งเสริมนโยบายด้านภาษี การส่งออกและนำเข้าสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนา 

11. Sustainable Cities and Communities เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน การจัดการกับความยากจนที่กระจุกตัวอยู่ในเมือง พร้อมกับการวางแผนเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากร การสร้างความปลอดภัยในเมือง รวมไปถึงการลงทุนเรื่องขนส่งสาธารณะ สร้างพื้นที่สีเขียว ปรับปรุงผังเมือง และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคนกับเมืองด้วย 

12. Responsible Consumption and Production แผนการบริโภคและการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อนี้เน้นไปที่ ‘doing more and better with less’ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการบริโภคน้อยลง การดูแลทั้งสายพานจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค รวมไปถึงการจัดการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ การกำจัดขยะและลดมลพิษด้วย

13. Climate Action การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวของภูมิภาคที่มีภาวะเสี่ยงของประชาชน โดยเฉพาะประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเล ประเทศที่เป็นเกาะ และการร่วมมือกันจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส

14. Life below water การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล มีแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมาย เช่น สร้างกรอบการทำงานเพื่อป้องกันระบบนิเวศชายฝั่ง ปกป้องทะเลจากมลภาวะจากแหล่งบนบก จัดการการเป็นกรดของมหาสมุทร อนุรักษ์และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนผ่านกฎหมาย 

15. Life on Land การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก ข้อนี้มุ่งเน้นที่การอนุรักษ์และฟื้นฟูประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก เช่น ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่กึ่งแห้งแล้ง และภูเขา สร้างแนวทางการลดการทำลายป่า รักษาความหลากหลายของระบบนิเวศ

16. Peace and Justice Strong Institutions สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก หมายถึงการลดความรุนแรงทุกรูปแบบในสังคม แก้ปัญหาความขัดแย้งทั้งภายในและระหว่างประเทศ การฆาตกรรม การลดการใช้อาวุธผิดกฎหมาย ส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชน และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาในสถาบันการปกครองทั่วโลก 

17. Partnerships for the goals ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายทั้ง 16 ข้างต้นจะสำเร็จได้เมื่อทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา (North-South) และความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (South-South)

เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย แต่ละประเทศจะส่งแผนงานและรายงานความคืบหน้าที่เกิดขึ้นในประเทศของตนไปยังที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (General Assembly of the United Nations) ที่จัดขึ้นทุกปีที่สำนักงานใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ เมืองนิวยอร์ก นอกจากนั้น UN Department of Economic and Social Affairs (UN DESA) ก็จะจัดทำรายงานความคืบหน้าในทุกปีอีกด้วย 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัญหาใหญ่ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนคือการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลรวมทั้งการไม่มีระบบจัดการและจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเห็นได้ชัดจากเป้าหมายข้อที่ 16. Peace justice and strong institution ซึ่งข้อนี้เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดได้ยากยิ่ง หากเรายังไม่มีแผนการทำงาน แผนการวัดและประเมินผล และสำคัญที่สุด คือการบริหารงานที่โปร่งใส

*ตารางความคืบหน้าของทั้ง 17 หัวข้อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากรายงาน Asia and the Pacific SDG Progress Report 2019 

ตอนนี้คงจะพอเห็นภาพแล้วว่าแต่ละประเทศ เขากำลังตื่นตัวและร่วมมือกันเพื่อลงมือเปลี่ยนแปลงโลกให้ยั่งยืนในเรื่องใดบ้าง คำถามคือ แล้วในระดับพลเมืองตัวเล็กๆ อย่างเรา จะมีส่วนร่วมอย่างไรได้บ้างล่ะ

วิธีเปลี่ยนโลกให้ยั่งยืนด้วยมือเรา 

จะเห็นว่าในเป้าทั้ง 17 ข้อ มีหลายๆ ข้อที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคอย่างเราๆ โดยตรง เพราะมันคือพฤติกรรมการเลือกกิน เลือกบริโภคของเรานั่นเอง

ซึ่งหากเริ่มลงมือเองไม่ได้ก็มีหลายองค์กรที่ทำแคมเปญกระตุ้นให้คนออกมามีส่วนร่วมอยู่ไม่น้อย อาทิ

ActNow for Climate Action 

แคมเปญของ UN เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้โดยเริ่มจากการเปลี่ยนพฤติกรรมหลัก 2 อย่าง นั่นคือ เปลี่ยนการกินและการบริโภค มาเป็นมื้ออาหารปลอดเนื้อสัตว์ และแฟชั่นปลอดขยะ (zero-waste fashion) คลิกเข้าไปดูได้ที่ www.un.org/en/actnow

The Lazy Person’s Guide to Saving the World 

ฮาวทูกู้โลกแสนง่ายที่เริ่มทำไปพร้อมๆ กับการนอนขี้เกียจบนโซฟาได้ เช่น เปลี่ยนจากการกดไลก์ข้อมูลดีๆ บนหน้าฟีดมาเป็นการกดแชร์แทน ไม่นิ่งเฉยต่อการกลั่นแกล้งออนไลน์ กดรีพอร์ตข้อความที่ไม่เหมาะสมให้ใช้เวลาอาบน้ำไม่เกิน 5-10 นาที เป็นต้น ถ้าเราเริ่มสนุกขึ้นมาแล้ว ในลิสต์นี้ยังมีฮาวทูให้ไต่ระดับความเป็นนักกู้โลก สู่การจัดการบ้าน ชุมชน และที่ทำงานด้วย ที่สำคัญที่สุด อย่าลืมว่าทุกการกระทำของเรามีผลต่อโลกใบนี้ คลิกเข้าไปดูได้ที่ www.un.org/sustainabledevelopment/takeaction

ติดตามว่าประเทศอื่นๆ เขาทำอะไรกันบ้าง ได้ที่นี่ sdgactioncampaign.org

แล้วในระดับออฟฟิศ ทำอะไรได้บ้าง 

นอกจากองค์การสหประชาชาติ หรือ UN จะเป็นแม่งานในการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศแล้ว ในออฟฟิศของ UN เองก็มีแคมเปญและกิจกรรมมากมายเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนในองค์กรเช่นกัน อาทิ 

ออฟฟิศปลอดพลาสติก Zero Waste action + Bring your own cup

ทุกร้านอาหารและร้านกาแฟในออฟฟิศของ UN จะไม่มีพลาสติกให้ พนักงานจะต้องนำแก้วมาเอง หรือถ้าลืมนำมาสามารถเช่าแก้วน้ำได้ กล่องอาหารเป็นแบบย่อยสลายได้เท่านั้น 

พนักงานชวนกันมายื่นคำมั่นลดการกินเนื้อสัตว์ กับ Green Monday 

กรีนมันเดย์คือสตาร์ทอัพเพื่อสังคมที่ทำเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงทางอาหาร โดยวางตัวเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมองค์กร ร้านอาหาร และโรงเรียน มาร่วมกันขับเคลื่อนการกินมังสวิรัติ

*ภาพจาก greenmonday.com

การลด carbon emission ในการเดินทางไปประชุม

ด้วยการทำงานระหว่างประเทศทำให้ต้องมีการเดินทางเกิดขึ้นบ่อย จึงเริ่มมีนโยบายในการคำนวณเส้นทางที่สร้างก๊าซคาร์บอนน้อยที่สุด ลดการเดินทางด้วยเครื่องบินและรถส่วนตัวภายในประเทศ เปลี่ยนมาเป็นขนส่งสาธารณะ เช่น รสบัส รถไฟ หรือทำให้เกิดการเดินทางน้อยที่สุด 

นอกจากนี้ ยังเพิ่มการประชุมแบบ remote meeting และ online training ให้มากขึ้น หรือถ้ามีความจำเป็นต้องประชุมแบบต่อหน้าจริงๆ ก็ส่งเสริมให้ใช้โปรแกรมในการคำนวณเพื่อหาสถานที่ในการประชุมที่ทำให้เกิดการเดินทางของผู้ร่วมประชุมน้อยที่สุด 

เรื่องแบบนี้จะปล่อยให้ประเทศ รัฐ สำนักงาน หรือบุคคล ทำไปเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ต้องทำไปด้วยกันทั้งหมด ว่าไหม?

ที่มาภาพถ่าย: flickr UN