เพิ่งผ่านปีใหม่มาไม่นาน เชื่อว่าหลายคนน่าจะได้จัดบ้านครั้งใหญ่ ส่วนตัวเราพบว่าของที่จัดการยากที่สุด คือของที่ยังใช้ได้อยู่แต่เราไม่ใช้แล้ว จะทิ้งก็เสียดาย จะเอาไปให้คนอื่นก็ไม่รู้จะไปให้ใคร แล้วชื่อแรกที่เรานึกถึงก็คือ ‘มูลนิธิกระจกเงา’ 

ที่นี่เขารับบริจาคอะไรบ้าง? เรากำลังเอาขยะไปทิ้งที่เขารึเปล่า? วันนี้เราเลยหิ้วทั้งของและความสงสัย ไปหาคำตอบที่มูลนิธิกระจกเงา ย่านวิภาวดี

มูลนิธิกระจกเงา รับบริจาคอะไรบ้าง?

“เรารับหมดเลย รับได้ทุกอย่าง” 

พี่ทักษ์-สฤษดิ์ ถิรชาญชัย หัวหน้า โครงการแบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง ให้คำตอบเพื่อคลายความสงสัยข้อแรกของเรา พร้อมอธิบายเพิ่มว่า 70-80% ของสิ่งของที่คนบริจาคเข้ามาคือเสื้อผ้า ที่เหลือเป็นของใช้ทั่วไป คอมพิวเตอร์ หนังสือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ หรือของอย่างเศษไม้ เศษเหล็ก กล่อง ลัง รถยนต์ ที่ดิน ไส้กรองน้ำ ที่นี่ก็รับและจัดการได้มาหมดแล้ว 

โดยของที่บริจาคผ่านโครงการแบ่งปันฯ จะถูกจัดการให้เกิดประโยชน์ได้ถึง 4 ทาง คือ หนึ่ง ส่งให้คนที่ขาดแคลน สอง นำไประดมทุน สาม สร้างอาชีพ และสี่ ลดขยะและรักษาสิ่งแวดล้อม 

จุดเริ่มต้นของโครงการ มาจากการที่มูลนิธิกระจกเงาทำโครงการระดมทุนชุดนักเรียนมือสอง​ให้เด็กชาวเขา โดยส่งให้ตามโรงเรียนที่ส่งคำขอมา เมื่อดำเนินการมาสักพักพบว่ามีของบริจาคอย่าง​อื่นปนเข้ามา​ด้วยมาก จึงเกิดเป็นโครงการต่างๆ เพื่อจัดการสิ่งของ เช่น โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง​ โครงการอ่านสร้างชาติ​ จนนำมาสู่โครงการแบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งรับบริจาคทุกสิ่งและจัดการได้ทุกอย่าง

หลังจากเปิดรับของบริจาคมาหลายปี ทางโครงการพบว่าของบางอย่างไม่เหมาะกับการบริจาค เช่น ของแฟชั่น รองเท้ากระเป๋าที่มีแบรนด์ เครื่องใช้ไฟฟ้า จึงต่อยอดมาเป็นโครงการระดมทุน ผ่าน ร้านแบ่งปัน ซึ่งรายได้ส่วนนี้จะถูกนำกลับมาใช้ในการสนับสนุนโครงการอื่นๆ ในมูลนิธิกระจกเงา เช่น ศูนย์ข้อมูลคนหาย โครงการอาสามาเยี่ยม โครงการผู้ป่วยข้างถนน โครงการโรงพยาบาลมีสุข เป็นต้น และอีกส่วน นำมาเป็นงบประมาณในการบริหารจัดการโครงการแบ่งปัน เพื่อให้โครงการอยู่ได้ด้วยตัวเองในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)

80% ของสิ่งของที่นี่ได้รับบริจาค คือ เสื้อผ้า ซึ่งมีปริมาณหลายร้อยกระสอบทุกปี แต่ไม่ว่าจะสภาพใช้ได้หรือใช้ไม่ได้แล้ว ที่นี่สามารถจัดการได้เกลี้ยง 

ถ้ายังใช้ได้ เราจัดการได้หมดเลย ชุดนักเรียนเราแยกไซส์จัดส่งให้โรงเรียน เสื้อผ้าเด็กจะมีศูนย์เด็กเล็กหรือโรงพยาบาลมาขอรับ ชุดชั้นในและเสื้อผ้าแฟชั่นเราเปิดขายในราคาต่อตัว 20-50 บาท ถ้าไม่มีคนซื้อราคาจะลดลงเรื่อยๆ จนถึง 10 บาท จนไปจบที่เหมาเป็นกระสอบ สุดท้ายก็จะมีคนมาเอาไป มันมีตลาดให้ไปต่อได้ หรืออย่างเสื้อเชิ้ตสีขาวที่มีคราบเหลือง เรามีแม่ค้ามารับไปทำมัดย้อม เราเคยทำโครงการเอาเศษผ้าไปทำงานศิลปะ DIY ทำพรม จนสุดท้ายถ้าใช้ไม่ได้จริงๆ เราเอาไปเผาเป็น RDF หรือเชื้อเพลิง เสื้อผ้าเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าเราจัดการได้สุดทางที่สุด” พี่ทักษ์เล่าให้ฟังอย่างภูมิใจ

นอกจากเสื้อผ้าที่จัดการได้หมดแล้ว อีกสิ่งที่ที่นี่จัดการอย่างจริงจัง คือ หนังสือ

“หนังสือมีความต้องการมาก เพราะมันก็ยังเป็นของเเพงอยู่ในกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย อย่าง หนังสือเล่มละ 100-200 ในขณะที่ค่าแรงเขาวันละ 300 บาท เราก็เอาเข้าไปให้เขา ไปขายราคาเล่มละ 1 บาท ที่เราไม่ให้ฟรีเพื่อเขาจะได้รู้จักการเป็นเจ้าของ” พี่จรัญ มาลัยกุล หัวหน้าโครงการอ่านสร้างชาติ อธิบายงานส่วนนี้ให้เราฟัง

หนังสือทุกเล่มที่บริจาคมาที่นี่จะถูกจัดการผ่าน โครงการอ่านสร้างชาติ ซึ่งทำหน้าที่รับบริจาค คัดแยกประเภท แล้วส่งต่อให้กับหน่วยงานหรือโรงเรียนที่มีความต้องการ นอกจากนั้นยังมีเป้าหมายในการส่งเสริมให้คนเข้าถึงหนังสือผ่าน โครงการหนังสือเล่มละบาท โดยประสานงานกับองค์กรในชุมชนแล้วขนหนังสือไปทีละ 5,000 เล่ม เปิดขายในราคาเล่มละ 1 บาท ทั้งในพื้นที่ตลาด พื้นที่ชุมชน โรงงาน โดยมีปรัชญาว่า ‘ผู้อ่านมีสิทธิเลือก’ 

ส่วนโรงเรียนจะมีโควต้าให้โรงเรียนละ 5,000 บาท เป็นเครดิตในการขอหนังสือจากทางโครงการ ซึ่งสามารถเลือกประเภทของหนังสือมา แล้วทางโครงการจะจัดส่งให้ ส่วนหนังสือบางประเภทที่ไม่เหมาะแก่การบริจาค เช่น นิตยสาร แบบฝึกหัดที่ทำแล้ว จะถูกแยกย่อยเพื่อขายเป็นเศษกระดาษ โดยรายได้ส่วนนี้ก็จะหมุนกลับมาทำเป็นหนังสือภาพสำหรับเด็ก ในโครงการ หนังสือนิทานท้องถิ่น ซึ่งเป็นการรวบรวมเรื่องราวจากปราชญ์ชาวบ้าน นำตำนานที่เล่ากันในชุมชนที่มูลนิธิเข้าไปทำกิจกรรมมาทำเป็นเล่มนิทานเพื่อส่งต่อเรื่องเล่าท้องถิ่นอีกด้วย 

นอกจากนั้น หนังสือที่หายาก ที่นี่จัดทำห้องสมุดให้คนเดินเข้ามายืมอ่านได้ ตั้งอยู่ในในพื้นที่ของ Mirror Art ซอยแจ้งวัฒนะ 1 แยก 6 ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านแบ่งปันด้วย และในอนาคตทีมงานกำลังจัดทำระบบเพื่อให้ยืมออนไลน์ได้อีกด้วย

“เวลาไปจัดค่าย เด็กวิ่งมาเลือกหนังสือ เราเคยคิดว่าเด็กติดมือถือ ภาพนั้นทำให้คิดว่าจริงๆ เราไม่มีหนังสือให้เขารึเปล่า เรายื่นมือถือให้เขาเองรึเปล่า” 

เมื่อขยะของเรา ไม่ใช่ขยะของเขา

“ของที่สภาพดีเลยมีประมาณ 30% อีก 70% เป็นของใช้แล้วกับเป็นขยะ” พี่ทักษ์อธิบายเรื่องของบริจาคต่อ ราวกับรู้ว่าเราจะเอ่ยปากถามอะไร 

แม้ว่าจะพยายามจัดการของบริจาคให้ใช้งานต่อได้มากที่สุดแล้ว แต่ของที่ได้รับมา ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมใช้งาน อีกทั้งยังมีขยะจากหีบห่อต่างๆ พี่ทักษ์เล่าย้อนให้ฟังว่าแต่ก่อนที่ยังไม่รู้วิธีจัดการ ที่นี่เองสร้างขยะวันละกว่า 20-30 ถุงดำ นั่นจึงเป็นจุดที่ทำให้เขากลับมาทบทวนในฐานะที่ทำงานเรื่องการจัดสรรทรัพยากรว่าต้องเข้ามาจัดการเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน 

“เราให้ความสำคัญกับทรัพยากรของผู้บริจาค คุณอาจจะมองว่ามันเป็นขยะ แต่มันคือของที่เคยมีคุณค่ามาก่อน จนเมื่อมันผ่านการใช้งาน ผ่านเวลาเลยแปรสภาพเป็นอีกอย่าง พอเราทำงานมาสักระยะหนึ่ง เราเห็นแล้วว่ามันไม่ใช่เรื่องที่จะไปมองด้านลบของการจัดการเรื่องนี้ที่เป็นขยะอย่างเดียว แต่เราค้นพบว่าในตัวขยะเอง มันมีทั้งคุณค่าและมูลค่า หนึ่ง มันทำให้เกิดรายได้ รายได้ทำให้เราทำงานช่วยเหลือคนในหลายครอบครัวต่อได้ สอง เราช่วยจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณขยะด้วย”

ทางโครงการจึงเริ่มหาทางออกให้กับของแต่ละประเภท ดังนี้

ถุงพลาสติก จะถูกแยกตามสีและประเภท เช่น ถุงปุ๋ย ถุงดำ ถุงสีขาว ถุงสีต่างๆ ถุงแบบหนาแบบบาง เมื่อแยกประเภทแล้วทำให้สามารถนำไปขายต่อได้ พลาสติกกรอบ พลาสติกหนา ซีดี ส่งให้โรงงานรีไซเคิล เฟอร์นิเจอร์ ลามิเนต เสื้อผ้าที่ใช้ไม่ได้แล้ว พลาสติกบางชนิด ส่วนนี้เอาไปทำ RDF พวก กระดาษ นำมาแยกประเภท เป็นกระดาษขาวดำ กระดาษสี กระดาษลัง จะทำให้ขายได้ราคาดีขึ้น ส่วนนี้ทำความร่วมมือกับบริษัท SCG มาเป็นผู้รับซื้อ ซึ่งรายได้ส่วนนี้จะถูกนำไปทำหนังสือนิทานท้องถิ่น คอมพิวเตอร์ ซ่อมแล้วส่งให้โรงเรียนหรือหน่วยงานที่ติดต่อเข้ามาขอรับ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซ่อมแล้วเอาไปขายระดมทุน เศษเหล็ก มีซาเล้งมารับซื้อ ตุ๊กตาเก่า จะถูกนำมาคัดแยก ซัก ส่งต่อให้เด็กๆ ตามโรงพยาบาล หรือทำกิจกรรมที่ศูนย์เด็กเล็ก 

ฉะนั้น จึงไม่ต้องกังวลว่าของที่คุณบริจาคมาจะเป็นการเอาขยะมาทิ้งที่นี่หรือเปล่า เพราะไม่ว่าของนั้นจะไปตกในกอง 30% หรือ 70% ที่นี่สามารถจัดการได้ทั้งหมด จากของที่ได้รับมาวันละไม่ต่ำกว่า 30 ลัง ปัจจุบันเหลือกลายเป็นขยะเพียง 1-2 ถุงเท่านั้น 

“ที่มันยาก เพราะของที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวันมันมีหลายประเภทมาก เราอาจจะมองเป็นก้อนใหญ่ๆ เป็นเสื้อผ้า กระดาษ พลาสติก กระเป๋าหนัง แต่พอเรามองให้มันละเอียดขึ้น เป็นหนังแท้ หนังเทียม พลาสติกแบบบาง แบบหนา แบบขวด แบบกล่อง ถ้าจัดจริงๆ มันมีเป็นร้อยๆ แบบแหละ โจทย์ของเราเลยเป็นการพยายามจัดการให้มันละเอียดที่สุด แต่พอเรายิ่งจัดการได้ละเอียดเท่าไหร่ มันจะทำให้เราจัดการได้ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อถูกที่ถูกทาง ก็นำไปต่อยอดได้ง่ายกว่า”

ส่งเสริมอาชีพ สร้างระบบนิเวศในการจัดการขยะอย่างยั่งยืน

ความพิเศษของโครงการแบ่งปัน คือการต่อยอดบนฐานการทำงานด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตของมูลนิธิกระจกเงาที่ทำให้เห็นปัญหาและความต้องการ นี่จึงเป็นการจัดการทรัพยากรผ่านเลนส์ของคนที่ทำงานกับคนมาอย่างเข้าใจ ทำให้ของทุกชิ้นเกิดประโยชน์และสร้างอิมแพคต่อสังคมด้วย

ที่นี่จึงไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับการจัดการของบริจาคให้ถึงมือผู้ที่ขาดแคลน แต่ยังมองไกลถึงการสร้างอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และส่งเสริมอาชีพในอุตสหกรรมการจัดการขยะเพื่อสร้างระบบนิเวศในการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืนอีกด้วย

พ่อค้าแม่ค้าของมือสอง ซาเล้ง ผู้บริจาค มูลนิธิที่รับบริจาค โรงรับซื้อของเก่า เอกชน ผู้ผลิต รัฐ ครัวเรือนและภาคประชาชน ทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศนี้

การระดมทุน = ธุรกิจเพื่อคนยากไร้

สินค้าคุณภาพดีที่อาจจะไม่เหมาะกับการบริจาค ทางโครงการนำมาเปิดระดมทุน ผ่านร้านแบ่งปัน โดยเปิดให้คนที่ต้องการประกอบธุรกิจแต่มีต้นทุนต่ำ เข้ามาซื้อของไปขายต่อในราคาถูก โดยทางโครงการจะขายของในราคาเพียง 20-30% จากราคาสินค้า นอกจากนั้นยังทำเป็นระบบสมาชิก ที่มีการปันผลให้ 5% ปีละสองครั้ง จากยอดซื้อสะสมทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกในระบบกว่า 1,200 คน

“ตลาดของมือสองมันยังไปได้ จากที่เราทำวิจัยและเก็บข้อมูลมา พบว่าคนที่มาซื้อของกับเรา ร้อยละ 80 เป็นพ่อค้าแม่ค้าตลาดของมือสองในตลาดนัด เช่น ตลาดรถไฟ ตลาดปัฐวิกรณ์ ตลาดนัดรามอินทรา บางคนมีรายได้น้อยแต่เขาอยากได้ของที่มีคุณภาพดี เลยเข้ามาขอซื้อกับเรา เราเป็นตัวกลางที่แปรสภาพจากของบริจาค คัดแยก แล้วส่งต่อเพื่อสร้างอาชีพ ทำให้เขาเข้าถึงทรัพยากรในต้นทุนที่ต่ำที่สุดเพื่อให้เขานำไปต่อยอดทางธุรกิจได้ 

“บางครอบครัวมีปัญหาเรื่องรายได้ หลายครอบครัวมีปัญหาเรื่องการกู้นอกระบบ พอเราดำเนินการมาสักระยะหนึ่งกับคนกลุ่มนี้ เราเลยทำระบบเงินปันผล เพื่อช่วยเขาออมเงิน ถึงเวลาคุณมาเบิกเงินก้อนไปได้เลย ส่วนนี้ช่วยเขาในระหว่างเปิดเทอม เป็นค่าเทอมลูก เอาไปใช้หลังเทศกาลหลังกลับบ้านมาไม่มีเงิน ไปต่อยอดธุรกิจ หรืออะไรที่เขาต้องใช้เงินก้อน” 

พี่ทักษ์เล่าเสริมอีกว่าในทุกเช้าจะมีพ่อค้าแม่ค้ามาเข้าแถวกันเต็มลานจอดรถเพื่อรอซื้อของ ฟังดูเหมือนเป็นสนามรบเลย แล้วเขาแย่งกันไหมคะ? เราเอ่ยถาม

“ช่วงแรกนี่ตะลุมบอนกันเลยแหละ แต่พอเราทำมาหลายๆ ปี เราเรียนรู้และพัฒนาระบบโควต้าขึ้นมา คือคุณมาถึงคุณลงทะเบียนก่อนแล้วคุณจะได้เสื้อผ้า 6 ลัง ให้คุณได้ไปเลือกก่อน พอเลือกจนพอใจแล้วก็เอาเสื้อที่เหลือมากองรวมตรงกลางเพื่อให้คนอื่นมาเลือกต่อได้ สิทธิ 6 ลังเป็นของคุณ ทุกคนมีเท่ากัน พอทำแบบนี้เขาเข้าถึงทรัพยากรได้แบบไม่ทะเลาะกัน” 

นอกจากนั้นของเก่าบางรายการ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ซ่อมไม่ได้ พลาสติกชิ้นใหญ่ๆ มอเตอร์ที่ใช้งานไม่ได้ ที่นี่ให้ ซาเล้ง เข้ามารับซื้อ ซึ่งอยู่ในระบบสมาชิกเช่นกัน

“เราเชื่อว่าเราต้องสนับสนุนซาเล้งด้วย เพราะเขาคือหนึ่งในกลไกของระบบนิเวศในการจัดการของเก่า ถ้าเราเป็นเหมือนหัวใจในการจัดการของ ซาเล้งเป็นเหมือนเลือด ทำหน้าที่เชื่อมของจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ไปโรงงานขายของเก่าในที่ต่างๆ เขามีศิลปะ มีความรู้ในการแยกของที่ละเอียดกว่าเรา และแม้ว่าเขาจะไม่ได้รับจากเราโดยตรงทั้งหมด การที่เขาไปรับไปหาตามถังขยะเอง ตามหมู่บ้านที่มีการจัดการที่ไม่ดี เขาคือคนที่เปลี่ยนขยะกองใหญ่ให้เป็นมูลค่า”

“แต่ก่อนเราเคยมองว่าเป็นขยะ แต่พอเรารู้จักมัน อยู่กับมันมานานจนวิธีคิดเราเปลี่ยน เราเห็นแล้วว่ามันเอาไปช่วยคนอื่นต่อได้อีก เรารู้แล้วว่ามันมีคุณค่า เราเล่นกับมันจนเห็นว่ามันมีอิมแพค เราก็ต่อยอดมาจากมูลนิธิ พอจัดการได้ดีมากขึ้นมันก็ทำให้เราทำงานได้ดีมากขึ้น” 

แต่สุดท้ายแล้ว การจัดการขยะที่ดีที่สุดคือการเริ่มต้นจากตัวเองและจากครัวเรือน คืออีกสิ่งที่โครงการแบ่งปันพยายามสื่อสาร 

มาสร้างวัฒนธรรมในการจัดการขยะในครัวเรือนไปด้วยกัน

“การจัดการและการรณรงค์เพื่อการจัดการขยะ มันต้องมีช่วงบ่มเพาะ ช่วงให้ความรู้ มีระยะให้คนได้ทำความเข้าใจและปรับตัวก่อน และใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะครัวเรือน เริ่มจากการแยกขยะแห้ง ขยะเปียกก่อน ของมันก็จะไม่เสียหาย สามารถเอาไปจัดการต่อได้ หรือเอาของมาบริจาคที่เรา ต่อไปถ้าแต่ละครัวเรือนสามารถแบ่งแยกให้มีระบบมีระเบียบมากขึ้น มันจะเป็นนิสัย สร้างวัฒนธรรม แล้วทำให้การจัดการง่ายหมดเลย แต่ในระหว่างนี้ที่เราเรียนรู้ร่วมกัน เรายินดีเป็นสเตชั่นให้ก่อน ค่อยๆ สื่อสารกับผู้บริจาค”

”เราอยากให้คุณคิดถึงเรา เราจะจัดการเรื่องนี้ให้จนกว่าคุณจะรู้สึกว่าเมื่อคุณบริจาคของให้กับเราแล้วเราเอามันไปสร้างประโยชน์ได้ หวังว่าตอนนั้นคุณจะเปลี่ยนวิธีคิดจากมันคือขยะมาเป็นของที่มีประโยชน์ต่อคนอื่นเมื่อคุณได้แบ่งปัน” 

ผู้ที่สนใจบริจาคของกับโครงการแบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลงได้ 3 ช่องทาง คือ
1. นำมาบริจาคด้วยตัวเองที่ มูลนิธิกระจกเงา วิภาวดีรังสิต ซอย 62
2. ส่งผ่านพาร์ทเนอร์ เช่น ไปรษณีย์ไทย Kerry และ NIM Express ที่มีโปรโมชั่นลดราคาหรือส่งฟรีอยู่เสมอ
3. ติดต่อให้มูลนิธินำรถออกไปรับ รายละเอียดที่ www.charity.mirror.or.th

ของแบบไหน ที่เหมาะแก่การบริจาค

  • หนังสือเด็กภาษาอังกฤษ หนังสือภาษาไทยง่ายๆ ส่งให้เด็กชาติพันธุ์
  • หนังสือติว หนังสือแบบเรียนนอกระบบ เป็นสิ่งที่โรงเรียนอยากได้มากๆ เขียนไฮไลต์มาแล้วก็ได้ ขอแค่ไม่เลอะเทอะมาก แต่แบบฝึกหัดที่ทำไปแล้วจะใช้ต่อไม่ได้ ส่วนหนังสือเรียนจากกระทรวงฯ ส่งมาได้แต่จะถูกนำไปย่อย เพราะรัฐจัดส่งไปให้แล้ว
  • ซีดี จะเก็บไว้เฉพาะที่เป็นสื่อการสอน ส่วนแผ่นหนัง แผ่นเพลง การ์ตูน ที่ผิดลิขสิทธิ์จะย่อยขาย เพื่อให้ไม่เดือดร้อนทั้งคนมาซื้อของไปขายต่อและคนรับ 
  • เสื้อผ้าเด็ก จะแยกส่งให้ศูนย์เด็กเล็กหรือโรงพยาบาล มีความต้องการขอเข้ามาตลอด

ร้านแบ่งปัน เปิดทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.30 – 11.30 น. โดยช่วงบ่ายจะเปลี่ยนของทุกวัน เสื้อผ้าส่วนนี้จะถูกนำไปขายแบบกระสอบซึ่งมีราคาถูกลง และเป็นการหมุนเวียนของในสต็อก เพื่อให้คนที่เข้ามาซื้อได้ของใหม่เสมอ

ภาพถ่าย: Parppim Pim