อัปเดตเทคโนโลยีและนวัตกรรมจัดการขยะเพื่อโลกอนาคต

ในเมื่อการบริโภคนั้นเป็นเรื่องหยุดไม่ได้ การเกิดใหม่ของขยะก็ไม่มีวันสิ้นสุด แต่ท่ามกลางปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น สิ่งหนึ่งที่เพิ่มขึ้นไม่แพ้กันก็คือสารพัดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดใหม่ทุกวัน เพื่อตามแก้ปัญหาขยะที่เกิดจากการบริโภคของผู้คน

ในเรื่องนี้ StartUs Insights ได้ศึกษาเทรนด์การจัดการขยะด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีประจำปี 2022 โดยเก็บข้อมูลจากสตาร์ทอัพกว่า 2,927 รายทั่วโลก พบว่าทิศทางที่ได้รับความนิยมสูงสุดในอุตสาหกรรมและธุรกิจเกี่ยวกับการจัดการขยะ คือการนำข้อมูลมาใช้ในกระบวนการตัดสินใจเพื่อเลือกแนวทางในการจัดการขยะ

และ 8 เทรนด์นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้เพื่อการจัดการขยะ ที่บรรดาสตาร์ทอัพฉลาดคิดจากทั่วโลก ได้คิดค้นขึ้นมา ก็คือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หุ่นยนต์ (Robotic) อินเตอร์เนตในทุกสิ่ง (Internet of Things) ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เทคโนโลยีการรีไซเคิลขั้นสูง (Advanced Recycling) การวิเคราะห์ข้อมูลและ Big data (Big Data & Analytics) เทคโนโลยีที่ช่วยสร้างการย่อยสลาย (Decomposition Technologies) และ บล็อกเชน (Blockchain) นั่นเอง

นักจัดการขยะเพื่อโลกอนาคตในนามสตาร์ทอัพเหล่านี้ ได้หยิบเอาเทคโนโลยีดังกล่าวมาช่วยแก้ปัญหาขยะ ทั้งการนำระบบอัตโนมัติมาช่วยลดขั้นตอนและความซับซ้อนของกระบวนการคัดแยกขยะ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กล้องสแกนประเภทของขยะ การใช้หุ่นยนต์เพื่อคัดแยก การนำระบบอัตโนมัติมาคำนวณเส้นทางการเดินรถเก็บขยะ และระบบการเก็บขยะเพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการ ที่แต่เดิมดำเนินการด้วยคน

ว่าแต่สตาร์ทอัพแต่ละรายเขาออกแบบวิธีจัดการขยะเหล่านี้อย่างไรนั้น เราขอชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ 10 สตาร์ทอัพด้านการจัดการขยะจากทั่วโลก ที่หยิบเอาเทคโนโลยีล้ำๆ มาช่วยจัดการขยะ ทั้งการแยกขยะด้วยหุ่นยนต์ โดรนตรวจสอบปริมาณขยะในหลุมฝังกลบ ถังขยะอัจฉริยะ พัฒนาวัสดุทางเลือกที่ย่อยสบายได้ในธรรมชาติ ไปจนถึงบล็อกเชน ด้วยความหวังเดียวกันว่า เทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้โลกเราจัดการปัญหาขยะได้ดีขึ้นกว่าเดิม

FloVision แยกขยะอาหารด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์
แนวคิดนี้เกิดขึ้นโดยสตาร์ทอัพอเมริกัน ที่ใช้แมชชีนในการแคปเจอร์ภาพอาหาร และวิเคราะห์ แยกประเภท ราคา ของอาหารด้วยระบบ Machine Learning Algorithms เก็บเป็นคลังข้อมูล เพื่อประมวลผลเป็นคำแนะนำให้กับผู้ที่สนใจลดขยะ ทั้งระดับร้านอาหาร องค์กร หรือในระดับเมือง นอกจากนั้นยังสามารถใช้ข้อมูลมาพยากรณ์ความต้องการบริโภคในผลิตภัณฑ์นั้นๆ เพื่อป้องกันการผลิตที่เกินพอดี ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้ร้านอาหาร คาเฟ่ ได้มีข้อมูลและออกแบบให้กิจการของตัวเอง ในการลดการสร้างขยะอาหาร ที่นอกจากจะลดขยะอาหารแล้วยังช่วยลดต้นทุนได้ด้วย flovisionsolutions.com/food-service

Arcubed ถังขยะอัจฉริยะ แยกขยะได้อัตโนมัติ
หมดปัญหาการในการเถียงกันว่าขยะแบบไหนแยกอย่างไรดี แยกแบบนี้ผิดประเภทนะ เพราะ Arcubed สตาร์ทอัพจากนิวซีเเลนด์ได้พัฒนา OneBin ถังขยะอัจฉริยะที่มีระบบแยกขยะอัตโนมัติ สามารถตรวจจับสิ่งของที่ทิ้งลงไปด้วยปัญญาประดิษฐ์และระบบแมชชีนวิชั่น (Machine Vision)* เพื่อแยกประเภทตามที่กำหนด ทำให้มีการแยกขยะได้อย่างแม่นยำ จบ ครบ ลดขยะฝังกลบ ได้ในถังเดียว www.arcubed.com/products

ClearBot หุ่นยนต์นักเก็บกวาดขยะในทะเล
ClearBot คือหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเก็บขยะพลาสติกในทะเล โดยสตาร์ทอัพชาวจีนได้ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบแมชชีนวิชั่น (Machine Vision) รวมทั้งยังใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการทำงานและมีระบบการหาทิศทางของตัวเอง นอกจากนั้นยังให้ปัญญาประดิษฐ์เรียนรู้หน้าตาของขยะในทะเล จากขยะที่พบบนชายหาด หากอ่านถึงตรงนี้แล้วยังนึกหน้าตาไม่ออก ให้นึกภาพถึงเครื่องดูดฝุ่นอัจฉริยะที่วิ่งชนโซฟาไปมาในบ้านเรา เจ้าเครื่องนี้ก็คล้ายแบบนั้น อาจจะเหนือกว่าหน่อยก็ตรงเป็นเครื่องดูดขยะที่วิ่งบนน้ำได้ www.clearbot.dev

IoTank ระบบจัดการน้ำเสียที่เชื่อมข้อมูลจากถังบำบัดขึ้นระบบคลาวด์
นวัตกรรมตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสีย สำหรับการบำรุงรักษาถังบำบัดน้ำเสีย เป็นไอเดียของสตาร์ทอัพจากสหรัฐอเมริกา ที่ออกแบบให้มีเซ็นเซอร์ช่วยวัดระดับของตะกอน ขยะ น้ำทิ้ง และของแข็งในน้ำเสีย สามารถบอกระดับน้ำเสียในถังแบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ IoTank ยังมีแพลตฟอร์มบนคลาวด์ สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแสดงความเสี่ยงของถัง และป้องกันความล้มเหลวในการบำบัดน้ำเสีย ที่ชอบใจอีกหนึ่งคือ วิธีนี้ช่วยให้เราสามารถบำรุงรักษาถังเก็บน้ำเสียได้ล่วงหน้า และป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้ด้วย iotank.io

switcH2 เปลี่ยนของเสียจากโรงเบีย์ให้กลายเป็นพลังงานสะอาด
สตาร์ทอัพจากแดนจิงโจ้ พัฒนาเทคโนโลยีอิเล็กโทรไลซ์ (electrolyzer) ที่ช่วยเปลี่ยนของเสียเป็นพลังงาน (waste-to-energy) ระบบอิเล็กโทรไลซ์ของ switcH2 ประกอบด้วยตัวเร่งปฏิกิริยาที่ย่อยสลายของเสียอินทรีย์จากโรงเบียร์เพื่อผลิตเป็นไฮโดรเจน ซึ่งไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า รถบรรทุก และเครื่องจักร นับว่าเป็นการจัดการขยะอินทรีย์ที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนในห่วงโซ่อุปทานของขยะอินทรีย์ได้อย่างครบวงจรเลย www.switch2engineering.com/#technology

Urbeno จัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง
Urbeno คือสตาร์ทอัพจากอินเดีย ที่ตั้งใจช่วยนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้แล้วมาจัดการอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันการสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาระบบทำลายและบดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็น e-scarp เพื่อให้นำไปรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น การจัดการนี้ช่วยให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุน และช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถควบคุมการย้อนกลับของห่วงโซอุปทานของอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก urbeno.in/e-recycle.php#

เก็บขยะกับ GEPP เพื่อนำข้อมูลไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะ
สตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่สร้างแพลตฟอร์มเก็บข้อมูลดิจิตัลบนคลาวด์ ซึ่งเป็นการสร้างคลังข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อช่วยให้คนไทยสามารถแยกขยะได้อย่างถูกต้องและสะดวกสบายมากขึ้น นอกจากนั้นยังนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์เพื่อหาแนวทางในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกต่อหนึ่งด้วย gepp.me/en

จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายขวดน้ำพลาสติก
Envirobe สตาร์ทอัพชาวอเมริกันที่สนใจปัญหาขยะพลาสติก สร้างจุลินทรีย์ที่ย่อยสลายพลาสติก PET ได้ ซึ่งพลาสติก PET ก็คือพลาสติกที่เราพบได้บ่อยจากบรรจุภัณฑ์ เช่น ขวดน้ำ แก้ว ฯลฯ แล้วของเสียจาก PET ที่ถูกย่อยด้วยจุลินทรีย์จะสลายตัวเป็นโมโนเมอร์ (monomer) ที่ประกอบด้วยสารสองตัวคือ เอทิลีนไกลคอล (ethylene glycol) และกรดเทเรฟทาลิก (terephthalic) จากนั้นสารสองตัวนี้จะถูกส่งต่อไปยังโรงงานพลาสติก เพื่อเอาไปที่ผลิตพลาสติกซ้ำอีกต่อหนึ่ง envirobe.com/index.php/our-solution

ตามรอยบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้ว เพื่อเปลี่ยนให้เป็นพลาสติกที่ใส่อาหารได้อีกครั้ง
Greenback Recycling Technologies โดยสตาร์ทอัพจากเกาะอังกฤษ ที่รีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วให้กลายมาเป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร ผ่านแพลตฟอร์ม eco2Veritas โดยใช้บล็อกเชนเพื่อติดตามที่มาของขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติก หลักการทำงานของแพลตฟอร์มคือ ค้นหาหลักฐานจากภาพถ่าย การวิเคราะห์ของเสีย smart contracts ฯลฯ เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจถึงที่มาและองค์ประกอบของพลาสติกและรองรับ จากนั้นใช้สารเคมีเพื่อการรีไซเคิลที่เป็นคลื่นไมโครเวฟ เปลี่ยนขยะพลาสติกที่ผ่านการรับรองให้เป็นพลาสติก Food Grade ที่สัมผัสอาหารได้ นอกจากแล้วพวกเขายังรับรองว่า ทุกกระบวนการมีความความโปร่งใสและมีการตรวจสอบคุณภาพ www.greenback.earth/our-solutions

เปลี่ยนขยะเป็นเหรียญดิจิทัล ใช้ลดค่าน้ำ ค่าไฟ และซื้อของได้จริง
Recereum คืออีกหนึ่งสตาร์ทอัพจากสหราชอาณาจักร ที่พัฒนาแพลตฟอร์มบนบล็อกเชน เปลี่ยนขยะให้เป็นเหรียญดิจิทัล เพื่อใช้เป็นส่วนลด โดยผู้ใช้จะได้รับเหรียญ Recereum สำหรับการกำจัดแก้ว พลาสติก ขวดอะลูมิเนียม หรือแบตเตอรี่เก่า และการคัดแยกขยะ จากนั้นสามารถนำเหรียญเหล่านี้ไปใช้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้า ก๊าซ และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น ซึ่งระบบนี้สนับสนุนให้คนคัดแยกขยะมากขึ้น และสามารถตรวจสอบได้ว่ามีขยะได้รับการรีไซเคิลมากขึ้นกว่าเดิมแค่ไหน recereum.com

จริงอยู่ที่ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพื่อช่วยจัดการขยะที่ปลายทาง แต่ต้นทางสร้างขยะคือมนุษย์อย่างเราๆ ดังนั้นการลดขยะที่ดีที่สุดคือการลดจากต้นทางนั้น ก็ต้องอาศัยมนุษย์ทุกคนในการลดการใช้ ใช้ซ้ำ ใช้อย่างคุ้มค่าให้มากที่สุด

รู้จักคำศัพท์ไปพร้อมกับนวัตกรรมใหม่ ๆ ตามที่เล่ามา
*ระบบแมชชีนวิชั่น (Machine Vision) ระบบที่ใช้ตรวจสอบกายภาพของผลิตภัณฑ์ นิยมใช้งานในภาคอุตสาหกรรม มีความแม่นยำ จึงถูกนำมาใช้แทนการตรวจสอบสินค้าด้วยสายตาคน

*อินเตอร์เนตในทุกสิ่ง (Internet of Things) หมายถึง เครือข่ายรวมของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อถึงกัน และเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์กับระบบคลาวด์ ตลอดจนระหว่างอุปกรณ์ด้วยกันเอง หรือการบูรณาการ ‘สิ่งของ’ ต่างๆ ในชีวิตประจำวันเข้ากับอินเทอร์เน็ต* ระบบดิจิตัล – นิยามความหมายโดย Amazon

*การวิเคราะห์ข้อมูลและ Big data (Big Data & Analytics) คือการนำข้อมูลที่มีขนาดใหญ่มาทำการวิเคราะห์เชิงสถิติ และเชิงพฤติกรรมของผู้ใช้งาน

* บล็อกเชน (Blockchain) ระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งมีลักษณะเป็นเครือข่ายใยแมงมุมที่เก็บสถิติการทำธุรกรรมทางการเงินและสินทรัพย์ชนิดอื่นๆ ในอนาคต โดยไม่มีตัวกลางคือสถาบันการเงินหรือสำนักชำระบัญชี- นิยามความหมายโดย Depa

อ้างอิงข้อมูล:
– www.startus-insights.com/innovators-guide/waste-management-trends-innovation

Send Us a Message