น้ำในการรับรู้ของเราอาจมีนิยามความหมายแค่ ‘สสารที่เป็นของเหลว มีส่วนประกอบของไฮโดรเจนและออกซิเจน’ และเราล้วนรู้ว่าน้ำมีความสำคัญ เราต้องช่วยกันประหยัดน้ำ เราไม่ควรทิ้งขยะลงแม่น้ำเพราะจะทำให้น้ำเน่าเสีย ฯลฯ แต่ความรู้เชิงเหตุผลนี้ไม่เคยทำให้เรารักน้ำอย่างแท้จริงได้ The Cloud จึงจัดกิจกรรมตามน้ำ ชวนคนในเมืองไปช่วยค้นหาคำตอบว่าน้ำเดินทางอย่างไร และทำไมเราต้องรัก (ษ์) น้ำ บนยอดดอยอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับนักแสดง 3 คนคือพิพัฒน์-ศิรพันธ์ อภิรักษ์ธนากร และกมลเนตร เรืองศรี เป็นการเรียนรู้ในมุมใหม่ที่ใช้หัวใจเป็นตัวนำ

เยี่ยมบ้านของน้ำ

เชียงใหม่มีชื่อเรียกที่ไพเราะเพราะพริ้งอีกชื่อหนึ่งว่า ‘นครพิงค์’ ซึ่งเพี้ยนเสียงมาจากคำว่า ‘นครปิง’ หรือเมืองที่มีสายน้ำปิงไหลผ่าน แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าแม่น้ำปิงมีจุดเริ่มต้นมาจากที่ใด ครูอ้วน-นิคม พุทธา นักกิจกรรมและอนุรักษ์ธรรมชาติ พาพวกเราเดินย้อนขึ้นไปในป่าต้นน้ำท่ามกลางลำธารรินใสในโอบล้อมของต้นไม้ร่มครึ้มชุ่มเย็น การปล่อยร่างกายและจิตใจให้เชื่อมโยงกับธรรมชาติผ่านสายน้ำ ทำให้เราได้กลับมาเชื่อมต่อกับความสัมพันธ์ที่เราได้ทำหล่นหายไป

“ที่เราได้ยินเสียงน้ำไหลหรือกระทบก้อนหิน นี่คือเสียงหายใจของแม่น้ำ การกระแทกตัวนี้พาออกซิเจนลงไปในน้ำ ลงไปหล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในน้ำให้เจริญเติบโต เป็นแม่น้ำที่มีชีวิต ก้อนหินที่คดโค้งเป็นกระดูกสันหลังของแม่น้ำ หากเรายกก้อนหินเล็กในน้ำสักก้อนขึ้นมาดู จะพบว่ารอบก้อนหินนั้นเต็มไปด้วยชีวิต”

ครูอ้วนเปิดบทเรียนแรกให้พวกเราได้ฟัง และชวนให้พื้นที่ในหัวใจของหลายคนเปิดกว้างยิ่งกว่าเดิม ครูบอกต่อว่า ป่าในพื้นที่อำเภอเชียงดาวเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญเรียกว่าป่าเมฆ (Hill Evergreen) กล่าวคือ อยู่ในระดับความสูงเกิน 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีเมฆปกคลุม เขียวครึ้มตลอดทั้งปี โดยเรือนยอดของต้นไม้สูงใหญ่จะเปลี่ยนแปลงความรุนแรงของเม็ดฝนให้เบาบางลง หยาดหยดไหลรินไปตามเปลือกไม้ มีมอส เฟิน ไลเคน-สิ่งมีชีวิตอิงอาศัยเล็กๆ ช่วยเก็บซับน้ำ ลดแรงกระแทกบนผิวดิน เก็บซับอีกส่วนหนึ่งไว้ในพรมใบไม้ที่ร่วงหล่นในผืนป่า ก่อนจะย่อยสลายเป็นธาตุอาหารคืนสู่ผืนดิน

ป่าเมฆจึงเป็นป่าชั้นดีที่เก็บน้ำฝนได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำฝนทั้งหมด เหลือเก็บในดินเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ป่าเมฆจึงมีบทบาทอย่างสูงที่ช่วยเก็บน้ำให้คงอยู่หมุนเวียนเกิดเป็นวงจรของน้ำได้ตลอดทั้งปี แม้ในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูฝน ไอน้ำที่อวลอยู่ในป่ากลายเป็นความชื้นใต้ต้นไม้ ที่เราสัมผัสได้ถึงความฉ่ำเย็นเมื่อเดินลึกเข้าไป สังคมพืชเล็กๆ น้อยริมน้ำเป็นแหล่งพักพิงอาศัยเป็นแหล่งขยายพันธุ์ของสัตว์น้าน้อยใหญ่  เช่น ตัวอ่อนแมลงปอ ปลา ฯลฯ  แม่น้ำจึงเป็นเสมือนสะพานเชื่อมโยงของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เหล่านี้ให้เคลื่อนย้ายเดินทางได้ในแต่ละฤดูกาล เราอาจมองไม่เห็นอะไรในสายน้ำ แต่น้ำคือบ้านหลังใหญ่ของสรรพชีวิต การสร้างสิ่งกีดขวางแม่น้ำจึงทำให้ระบบนิเวศนถูกตัดตอน จิตวิญญาณของแม่น้ำถูกทำลาย และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตหมดสิ้น

ตลอดการเดินท่องสายน้ำ ครูอ้วนชี้ชวนให้เราดูสิ่งมีชีวิตน้อยๆ ที่ดำรงอยู่และทำหน้าที่ของตัวเองอย่างแข็งขัน อาทิ เห็ดรา ปลวกช่วยย่อยสลายเศษซากไม้ให้กลับคืนผืนดิน กล้วยป่าริมน้ำช่วยเก็บน้ำไว้ในดิน รักษาความชื้น ช่วยป้องกันไฟป่า ทั้งยังเป็นอาหารของชะมด นางเห็น ส่วนรากหน่อกล้วยใต้ผิวน้ำก็เป็นบ้านของปลารากกล้วย เถาวัลย์รอบต้นไม้ใหญ่เป็นเหมือนเข็มขัดช่วยพยุงไว้ไม่ให้ล้มหากถูกพายุโหมกระหน่ำ ใบไม้ร่วงหล่นเป็นพรมรักษาความชุ่มชื้น เป็นบ้านอบอุ่นของมดแมลงน้อยๆ ในยามแล้ง ลานกรวดหินของแม่น้ำได้กลายเป็นแปลงเพาะชำกล้าไม้ขนาดใหญ่ ให้เมล็ดไม้หลากหลายพันธุ์ได้แทงรากเติบโตขึ้น เป็นอีกเรี่ยวแรงแข็งขันที่จะช่วยกันทำงานในผืนป่าต่อไป

ป่าจึงเป็นสัญลักษณ์ของการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลแม้แตกต่าง แม่น้ำทุกสายในโลกใบนี้เกิดขึ้นมาจากป่า จนอาจเรียกได้ว่าพ่อแม่ของน้ำคือภูเขา  เหมือนที่ครูอ้วนชวนเราคิดก่อนก้าวออกจากป่าว่า “น้ำสักหยดที่เราใช้ อาจมาจากที่นี่”

พ่อแม่ของน้ำในนามว่าภูเขา
สายน้ำยิ่งใหญ่เกิดจากหยดน้ำเล็กๆ ในป่า แต่เมื่อเราไม่เคยรู้ เราจึงไม่เคยมองเห็นว่าสิ่งต่างๆเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร  ครูอ้วนพาเราทุกคนเดินทางขึ้นภูเขาไปดูห้องคลอดของน้ำและดูว่าเด็กทารกน้อยๆ ที่เพิ่งกำเนิดขึ้นมานี้ได้รับการปฏิบัติอย่างไร

เราเดินทางไปจนถึงชายแดนเมืองนะ อำเภอเชียงดาวที่เป็นรอยต่อระหว่างไทยกับพม่า ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนคือด้านหนึ่งมีป่าร่มเขียวครึ้มแน่นทึบ แน่ล่ะ..เขตนั้นไม่ใช่ประเทศไทย  เรากำลังใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าต้นน้ำที่มีความสำคัญระดับสูงสุดไปเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชเกษตร เช่น ขิง หอม กระเทียม เต็มไปด้วยการฉีดพ่นสารเคมี เป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์อย่างข้าวโพดจนภูเขาเตียนโล่งไปหมด การใช้สารเคมีอย่างหนักในพื้นที่ต้นน้ำทำให้สายน้ำปนเปื้อน และพัดพาเอาอันตรายไปสู่สรรพสิ่งไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์น้อยใหญ่กันถ้วนทั่วตลอดการเดินทางของแม่น้ำจากต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงทะเล

จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าเมื่อมีการตรวจสอบสารตกค้างในน้ำ สารเคมีอันตรายที่ใช้ในการเกษตรคือสิ่งที่ตรวจพบสูงสุดเสมอมา

ครูอ้วนชี้ชวนให้เราดูทิวเขาสองลูกซ้อนเคียงเหลื่อมกัน จุดที่ภูเขาสองลูกบรรจบกันนั้นตามความเชื่อดั้งเดิมแล้วถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นเหมือนโยนีที่ให้กำเนิดสายน้ำน้อยๆ สองสายคือลำน้ำแม่ปิงและลำน้ำแม่เกี๋ยง แม่น้ำปิงจึงเป็นพลังที่ธรรมชาติได้บรรจบกัน เป็นสายน้ำแห่งพลัง เป็นสายน้ำแห่งการพึ่งพิง (ปิง) เราลองเก็บน้ำจากป่าต้นน้ำใส่ขวดน้อยๆ น้ำปิงที่เห็นนั้นใสแจ๋ว ต่างจากน้ำปิงที่กลางเมืองมากมายนัก “น้ำที่ไหลออกมาจากภูเขา เปรียบเสมือนเด็กทารกที่เพิ่งคลอดจากท้องแม่ ยังบอบบางมาก แต่ดูเราทำกับเด็กตัวน้อยๆ สิครับ เราใช้สารเคมีอย่างหนัก เราทำร้ายแม่น้ำ แล้วสารเคมีพวกนั้นก็ไม่ได้ไปไหน มันเดินทางไปหาพวกเราทุกคน ทางใดทางหนึ่งเสมอ

“คนสมัยก่อนจะรู้ดีว่าภูมิประเทศที่เป็นป่าแบบนี้ ห้ามใครเข้ามาทำลายเด็ดขาด ภาษาเหนือเรียกว่า “ขึด” (หมายถึงเป็นอัปมงคล อาจทำให้เกิดความฉิบหายถึงชีวิตได้)  ความเชื่อเรื่องผีที่เราเคยมีช่วยให้ควบคุมความประพฤติของเราให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสงบสุข  แต่ถ้าอธิบายแบบมุมมองสมัยใหม่ก็คือว่า ชาวบ้านรู้ว่าภูเขาต้นน้ำ ป่าต้นน้ำเป็นแหล่งกำเนิดของสายน้ำ ถ้ารักษาป่าก็คือรักษาน้ำ แต่พอคนในเมืองที่ตัดขาดจากธรรมชาติ เราไม่เคยรู้เรื่องนี้ เรารู้ว่าเงินซื้อน้ำได้ แต่ไม่มีป่า ไม่มีน้ำ ต่อไปเงินของเราจะมีความหมายอยู่ไหม”

อาหารจากสายน้ำ

ช่วงค่ำคืนหนึ่ง เรามีดินเนอร์มื้อพิเศษจากฝีมือของเชฟแบล็ค-ภาณุภน บุลสุวรรณ แห่ง Blackitch Artisan Kitchen ที่ปรุงอาหารจากสายน้ำให้ทุกคนได้ลิ้มลอง โดยออกแบบอาหารบนฐานคิดของการใช้วัตถุดิบตามฤดูกาลและไม่ให้มีการเหลือทิ้งเลยหรือเหลือให้น้อยที่สุด อาหารจากสายน้ำประกอบไปด้วย ขนมปัง/ข้าวแต๋นกับดิปสามอย่าง  ขนมปังทำจากข้าวสาลีออร์แกนิกผสมเมือกกระเจี๊ยบเขียวที่ใช้แทนไข่ขาว ทำให้ไม่ต้องใส่ยีสต์มากเกินไป พร้อมเครื่องจิ้มสามรสชาติคือ อ่องปูนา จากปูที่ใกล้วางไข่ทำให้ได้รสชาติความมันตามธรรมชาติ ปาเตตับไก่ และเครื่องจิ้มรสหวานนำเหมือน น้ำจิ้มสะเต๊ะ จากเซียนท้อและถั่วลิสง เห็ดย่าง ทำจากเห็ดสามชนิดคือเห็นโคนน้อย เห็ดหล่ม และเห็ดก่อ เสริมกลิ่นด้วยผิวส้มเสิร์ฟพร้อมสาหร่ายพื้นบ้านอย่างไกและเตา

เมนูน่าสนใจลำดับถัดมาคือ สลัดดอกไม้ ทำจากดอกไม้และยอดผักพื้นบ้านหลากชนิดโรยไก่ป่าฉีกที่ปรุงรสด้วยกาแฟและมะแขว่น ปลาแห้งครัมเบิลจากหัวปลาสลิดบดผง ราดน้ำสลัดงาขี้ม้อน  ซี่โครงหมูในซุปผักหวาน ทำจากหมูหลุมที่เลี้ยงบ้านๆ เสิร์ฟเคียงซุปรสสดชื่นปรุงจากผักหวานและผักกาดแห้งของปกากญอ ช่วงดึงรสชาติอุมามิออกมาให้โดดเด่น จานหลักคือ ข้าวดอย รสชาติหนึบหนับเหนียวนุ่มเหมือนข้าวโพดสาลี กินกับ ปิ้งงบ ที่ได้จากปลาแม่น้ำ กุ้งฝอยและหอยโข่งห่อตองย่างให้สุก เสิร์ฟพร้อม น้ำพริก แสนอร่อยที่ใช้ตัวอ่อนต่อและเขียดแห้งร่วมปรุงรส ก่อนตื่นตากับของหวานสุดประทับใจ ได้แก่ ไอศกรีมมะตูม ราดคาราเมลตัวอ่อนผึ้ง พร้อมวุ้นข้าวเหนียวที่ทำจากแป้งสาโทโรยบะมื่น (อัลมอนด์ดอย) เป็นมื้ออาหารที่จบท้ายแบบฟินาเล่และอิ่มพุงกางไปตามๆ กัน

ทำไมถึงทำกับน้ำได้
ในฐานะที่เป็นหนุ่มลุ่มน้ำแม่ปิงโดยกำเนิด ครูอ้วนแบ่งปันประสบการณ์ว่า ตอนเด็กๆ เคยมองสายน้ำเล็กๆ แถวบ้านแล้วคิดว่า “น้ำนี้จะไปสิ้นสุดที่ไหนกันนะ” วันหนึ่งเมื่อได้มีโอกาสเดินทางด้วยเท้าจากอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ตามน้ำเรื่อยไปจนถึงเจ้าพระยาและอ่าวไทย เป็นระยะทางกว่า1,200 กิโลเมตรด้วยเวลากว่า 3 เดือนจึงได้พบคำตอบ

“บางทีคนก็ใจร้าย  ไม่เคยนึกถึงแม่น้ำเลย”  ครูอ้วนพูดประโยคหนึ่งขึ้นมาด้วยเสียงเครือ ชวนให้พวกเราน้ำตารื้น ก่อนจะเล่าต่อว่า “จุดที่แม่น้ำทุกสายมารวมกัน เป็นพื้นที่ธรรมชาติที่ทรงพลังมาก แต่สิ่งที่พวกเราทำกับแม่น้ำคือการเอาของเสียทิ้งลงไป  ผมไปยืนอยู่ริมน้ำบางจุด คนเอาท่อดูดน้ำขึ้นไป ดูดทรายขึ้นไป ดูดจนพื้นสั่น ผมยืนอยู่ตรงนั้นแล้วร้องไห้ แม่น้ำสื่อสารถึงผู้คนว่า เขากำลังล้มป่วย แต่ไม่เคยมีใครได้ยิน ทุกๆ วันลอยกระทง เราไปอธิษฐานขอพรจากแม่น้ำ วันรุ่งขึ้นคำอธิษฐานอยู่ไหนไม่รู้ แต่ขยะอยู่เต็มแม่น้ำ” หลายคนจุกในใจขึ้นมา  เราเป็นคนหนึ่งใช่ไหมที่เคยทำร้ายแม่น้ำอย่างไม่เคยรู้ตัว

ประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อนชื้นมีปริมาณน้ำฝนประมาณ 1,500-2,000 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้ตลอดทั้งปี หากสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ เรามีฝนเท่าเดิมแต่ป่าซึ่งเป็นพื้นที่เก็บน้ำตามธรรมชาติลดน้อยลง น้ำ 80 เปอร์เซ็นต์ที่เคยเก็บไว้ในป่า ไหลทิ้งไปโดยไร้ประโยชน์จนหมด เพราะเมื่อน้ำท่วมแล้วมักจะแล้งเสมอ ป่าจึงเป็นที่เก็บน้ำตามธรรมชาติ  ความชื้นในป่าเมื่อกระทบกับเมฆหมอกกลั่นตัวกลายเป็นหยดน้ำ รักษาวงจรของน้ำไม่สิ้นสุด ป่าจึงสร้างน้ำพอๆ กับที่น้ำสร้างป่าด้วยเช่นกัน  หากเราอยากมีน้ำไว้ใช้นานๆ ‘ป่า’ จึงคือคำตอบที่ยั่งยืนที่สุด

ภาพถ่าย: วิรตี ทะพิงค์แก