ตื่นเช้ามาชิมน้ำผึ้งป่า สายๆ เดินทางไปสัมผัสธรรมชาติและพืชพันธุ์อันหลากหลายในป่าไร่หมุนเวียน ต่อด้วยการกินอาหารอาข่ารสมือคุณยายคุณย่า ตกดึกนอนพักในโฮมสเตย์ของชาวบ้าน สิ่งเหล่านี้คือหลากหลายกิจกรรมที่เราจะได้สัมผัสเมื่อเดินทางไปยังหมู่บ้านที่ทำงานร่วมกับ Seeds Journey กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในชุมชนชาวชาติพันธุ์ 

น้ำ-กัลยา เชอมื่อ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Seeds Journey ร่วมกับ ยุทธ-ยุทธภัณฑ์ พิพัฒน์มงคลกุล บอกกับเราว่าการท่องเที่ยวนอกจากจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้คนภายนอกเข้าใจเรื่องราวของคนในท้องถิ่นและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ชุมชนได้ ก็ยังช่วยให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องเมล็ดพันธ์ุและอาหารยั่งยืนในชุมชนอีกด้วย

เดินทางทั่วไทย เพื่อค้นพบความหมายของอาหารในชุมชน

ก่อนจะมาทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนในวันนี้ น้ำเองก็เป็นเด็กรุ่นใหม่ทั่วไปที่เข้ามาเรียนและทำงานในเมือง แต่งานของเธอได้บ่มเพาะแนวคิดความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารยั่งยืนเสมอมา

“ตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัยเราก็ทำงานเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารมาตลอด ตอนนั้นเราทำงานกับเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก ในโครงการที่ชื่อว่าเชฟน้อยกินเปลี่ยนโลก ทำงานสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องอาหารยั่งยืนกับเด็กๆ ในโรงเรียนที่จังหวัดเชียงใหม่”

“พอเราโครงการนี้มาสักพักก็เริ่มชวนเด็กๆ มาทำสื่อละครสั้นเพื่อสื่อเรื่องราวของอาหารในชุมชนใกล้ๆ โรงเรียนของตนเองเป็นทำคลิปลง YouTube แล้ว Thai PBS มาเจอเขาก็เลยชวนทำรายการเชฟน้อยกินเปลี่ยนโลก ซึ่งเราไม่ได้สื่อสารเรื่องอาหารของเชียงใหม่อย่างเดียว แต่เดินทางไปทั่วไทยเลย”

น้ำเล่าว่าด้วยรูปแบบของรายการที่อยากนำเสนอความหลากหลายของอาหารท้องถิ่นและอาหารตามฤดูกาลของแต่ละจังหวัดในไทย ทำให้เธอได้เดินทางไปเห็นวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาหารในหลากหลายพื้นที่ รวมถึงชุมชนชาติพันธุ์ของตนเอง

“ตอนแรกเราไม่เคยคิดว่าต้องกลับไปทำอะไรกับชุมชนตัวเองเลย แต่พอได้เดินทางลงพื้นที่ เห็นชุมชนในจังหวัดอื่นๆ ก็สังเกตเห็นว่าทุกชุมชนไม่มีวัยรุ่นเลย เห็นแต่ผู้ใหญ่หรือเด็กเล็กๆ ไปเลย”

“ใยหลายๆ พื้นที่ เราเริ่มไม่เห็นความหลากหลายของอาหารท้องถิ่นแล้วด้วย ชาวบ้านซื้ออาหารจากข้างนอก มีรถพุ่มพวงเข้าไปค่อนข้างเยอะ เหมือนองค์ความรู้เรื่องอาหารท้องถิ่นเริ่มหายไป เพราะไม่มีคนรับช่วงต่อ ตอนทำรายการเชฟน้อยกินเปลี่ยนโลก เราก็ได้ทำตอนที่เกี่ยวกับอาหารชาติพันธุ์ ไปชุมชนปกาเกอะญอที่หมู่บ้านหินลาดนอกกับไปดูอาหารอาข่าที่หมู่บ้านป่าเกี๊ยะ มันเหมือนทำให้เราได้กลับไปนึกถึงอาหารในช่วงวัยเด็ก แต่ชุมชนเหล่านี้ก็มีปัญหาที่เหมือนๆ กันคือไม่มีคนรุ่นใหม่ในพื้นที่แล้ว ไม่มีการส่งต่อองค์ความรู้แล้ว”

“อย่างเราไปหมู่บ้านป่าเกี๊ยะ ที่นี่มีคุณยายคนหนึ่งปลูกรากชูซึ่งเป็นผักพื้นบ้านที่อยู่ในแทบทุกเมนูของชาวอาข่า คนทั้งหมู่บ้านก็จะรู้กันเลยว่าคุณยายคนนี้แหละปลูกเป็น แต่ไม่มีใครคิดที่จะปลูกเลย”

“เราก็มาคิดว่าทำไมคนอื่นไม่ปลูก ยายก็แก่มากแล้ว ถ้าวันหนึ่งยายเขาไม่อยู่ใครจะสามารถปลูกสิ่งเหล่านี้ให้เรากิน มันไม่ใช่แค่ความอร่อยที่หายไป แต่ความหลากหลาย ความมั่นคงทางอาหารก็จะไม่มีแล้วเหมือนกัน”

ปั้นโมเดลสร้างธุรกิจที่อยากเปลี่ยนแนวคิดคนรุ่นใหม่

ปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารที่ได้เห็นตลอดระยะเวลาของการทำงานทำให้น้ำเริ่มตั้งคำถามกับตนเองว่าจะเป็นไปได้ไหมที่จะสร้างโครงการหรือธุรกิจช่วยให้คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับอาหารในท้องถิ่นตนเอง

“เราได้ไปเจอกับโครงการ Youth Co:lab 2018 ที่เขาให้คนรุ่นใหม่มาแข่งสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม ด้วยความที่ตอนนั้นเราว่างงานอยู่เพราะรายการเชฟน้อยกินเปลี่ยนโลกเพิ่งจบไป ก็เลยชวนยุทธเพื่อนที่ทำงานเรื่องอาหารยั่งยืนมาด้วยกันส่งโมเดลเป็นธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อชุมชนที่พาคนมาเรียนรู้เรื่องอาหารท้องถิ่น ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มารู้จักและรักษาเมล็ดพันธ์ุ เกิดเป็น Seeds Journey ขึ้นมา ไปแข่งแล้วชนะเลิศจึงได้เงินรางวัลมาพัฒนาให้เกิดขึ้นจริง”

พื้นที่แรกที่ Seeds Journey ไปทำงานด้วยคือหมู่บ้านป่าเกี๊ยะ ชุมชนชาวอาข่าที่อุดมไปด้วยวัฒนธรรมและองค์ความรู้เรื่องอาหารดี ทั้งยังมีผู้ใหญ่บ้านที่มีเป้าหมายในการดึงคนรุ่นใหม่กลับมาทำงานในหมู่บ้านเช่นกัน

ชุมชนป่าเกี๊ยะเป็นหมู่บ้านที่เคยทำงานร่วมกันตั้งแต่ตอนทำรายการเชฟน้อยกินเปลี่ยนโลก ตอนนั้นเราได้ไปเจอกับพ่อหลวง เขามีความคิดว่าอยากให้ลูกๆ เขาซึ่งมีอายุไล่เลี่ยกับเรากลับมาบ้านตัวเอง เพราะเขารู้สึกว่าในอนาคตถ้าชุมชนมีแต่คนแก่ ไม่ใช่แค่วัฒนธรรมหายไป แต่คนในชุมชนเองก็จะอยู่ไม่ได้” 

“เขาเองก็พยายามรวมตัวเยาวชนในหมู่บ้านสร้างเครือข่ายเยาวชน มีเด็กๆ ที่ออกไปเรียนในเมือง แต่ก็จะกลับมาทำกิจกรรมที่บ้านเป็นครั้งคราว เขามีโฮมสเตย์บ้านป่าเกี๊ยะอยู่แล้วด้วย เมื่อเราเข้าไปทำงานด้วยจึงทำงานกับเยาวชนเป็นหลัก โดยพยายามสนับสนุนให้เยาวชนมาเรียนรู้เรื่องอาหารจากคุณย่าคุณยายของตนเอง และพยายามสื่อสารให้คนนอกชุมชนได้รู้จักและเข้าใจผ่านสื่อที่ตนเองมี”

การทำงานกับคนรุ่นใหม่ของ Seeds Journey เริ่มตั้งแต่สร้างกระบวนการเรียนรู้ ชวนเยาวชนมาทำความรู้จักเมล็ดพันธุ์ในท้องถิ่นในบ้านของตนเอง ศึกษาคุณสมบัติทางอาหารทางยาเพื่อให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของเมล็ดพันธุ์ อยากศึกษาจากผู้รู้ และสามารถส่งต่อองค์ความรู้ให้คนนอกเข้าใจได้

“มีครั้งหนึ่งที่เราไปทำกิจกรรมแล้วคุณยายอายุ 80 กว่า เขาร้องไห้ มากอดพวกเราทุกคน แล้วบอกว่ายายตายตาหลับแล้วนะ ที่เด็กๆ ให้ความสนใจ นำวัฒนธรรม วิถีดั้งเดิมต่างๆ กลับมาได้ นี่คือความสำเร็จแล้วเป็นความรู้สึกที่ทำให้เราอยากนำ Seeds Journey ไปใช้กับชุมชนชาติพันธุ์อื่นๆ ด้วย”

สร้างความมั่นใจ ให้ชุมชนเห็นคุณค่าของอาหารที่ยั่งยืน

น้ำบอกว่าเป้าหมายหลักของ Seeds Journey ไม่เพียงแค่สนับสนุนให้เยาวชนได้เรียนรู้และเข้าใจอาหารในชุมชน แต่ยังทำให้ชาวบ้านและคนทุกคนในชุมชนเห็นความสำคัญของการรักษาเมล็ดพันธ์ุ ความหลากหลายของอาหารในหมู่บ้านตนเองด้วย

“ช่วงแรกๆ ที่เราทำงาน ชุมชนเขาก็ไม่เห็นความสำคัญของความหลากหลายทางอาหารหรือเรื่องเมล็ดพันธ์ุเลยนะคะ คนที่เก็บก็มีไม่กี่คน เก็บไว้กับตนเองไม่มีการแบ่งปัน เพราะเขาก็เห็นเป็นของธรรมดา”

“คนส่วนใหญ่คิดว่าเด็กสมัยใหม่ไม่มีใครสนใจแล้ว ฝั่งร้านอาหาร โรงแรม หรือร้านกาแฟในรอบๆ ชุมชนเองก็ไม่มีใครสนใจที่จะนำวัตถุดิบหรือเมนูท้องถิ่นมาเป็นส่วนหนึ่งของอาหาร สิ่งที่เราทำจึงเป็นการจุดประกายไอเดียให้ชาวบ้านเห็นว่ามีคนที่สนใจอาหารของเขานะ เราทำทริปที่เป็นการเที่ยวเพื่อการเรียนรู้อาหารตามฤดูกาล ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่มาก็จะสนใจเรื่องอาหารยั่งยืนอยู่แล้ว เช่น เชฟ นักสิ่งแวดล้อม หรือบล็อกเกอร์ เราจะบอกให้คนในชุมชนเขาทำเมนูท้องถิ่น ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเลย พอเขาเห็นว่าคนมาเที่ยวเขาชอบนะ เขากินได้ ก็จะเริ่มเห็นความสำคัญของอาหารตนเอง”

นอกจากจะส่งเสริมให้ชุมชนเห็นคุณค่าของอาหารแล้ว Seeds Journey ยังอยากส่งเสริมให้เกิดธุรกิจที่ยั่งยืน เพื่อช่วยให้คนในชุมชนเข้มแข็งจากภายในได้อีกด้วย 

“การสร้างเศรษฐกิจในชุมชนมันไม่ใช่แค่ให้คนนอกมาซื้อเท่านั้น แต่เราอยากให้เกิดวิธีคิดแบบชุมชนปลูก ชุมชนก็ซื้อกินด้วย”

“คือบางชุมชนเป็นชุมชนท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวมาตลอด แต่ชาวบ้านในหมู่บ้านยังต้องเอาผลผลิตที่ได้ไปขายในเมือง ส่วนร้านกาแฟ ร้านอาหาร ก็ไม่รับซื้อผลไม้หรือซื้อผักในหมู่บ้านตัวเอง ถ้าเราทำให้เขาเห็นคุณค่าของอาหารท้องถิ่น เห็นว่ามันมีเสน่ห์ที่ทำให้คนนอกอยากมาเที่ยวนะ เขาก็จะซื้อของจากคนในหมู่บ้าน แล้วก็จะทำให้เกิดการปลูกพืชพันธ์ุท้องถิ่นมากขึ้น” 

จากชุมชนที่ไม่เห็นความพิเศษของอาหารท้องถิ่น ในเวลานี้หมู่บ้านป่าเกี๊ยะได้เริ่มแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ในชุมชน

“เรากลับไปที่ชุมชนปาเกี๊ยะครั้งล่าสุด ก็เห็นว่ารากชูไม่ได้ปลูกแค่บ้านเดียวแล้ว เริ่มมีบ้านอื่นมาร่วมปลูกด้วย สิ่งเหล่านี้คือเรื่องความยั่งยืนอาหารที่ตามมาจากการสร้างทริปการท่องเที่ยวในชุมชน” 

ใช้ประสบการณ์กินเที่ยวตัวกลาง เพื่อสื่อสารเรื่องอาหารที่ยั่งยืน

Seeds Journey นอกจากจะสร้างงาน สร้างรายได้ ช่วยให้เยาวชนในชุมชนเห็นช่องทางการทำงานในหมู่บ้านได้ น้ำยังเชื่อว่าการท่องเที่ยวเชิงชุมชนเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสื่อสารวิถีชีวิตของชาวชาติพันธ์ุที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและอาหารที่ยั่งยืน

“ที่ผ่านมาเราทำงานในฐานะนักสื่อสารด้านอาหาร เรารู้สึกมาเสมอว่าการสื่อสารไปให้ถึงผู้บริโภคมันยากเหมือนกันนะคะ แต่การท่องเที่ยวมันเป็นเหมือนสื่อกลางที่ทำให้เขาอยากมาเรียนรู้ มาทำเข้าใจเรื่องอาหารมากขึ้น”

“แต่เราก็รู้ว่าทุกคนมาทริปไม่ได้ ชุมชนเองก็รับคนไม่ไหว เราจึงต่อยอด นำวัตถุดิบแปรรูปต่างๆ ที่ปกติชุมชนก็ทำอยู่แล้วเพื่อถนอมอาหารเช่น ห่อ-วอ เซ่อะ-ลู-ซ่า พริกรมควัน มาขายให้กับเชฟหรือคนทำอาหารที่สนใจ เพื่อให้เขาเอาไปเล่าต่อผ่านการทำอาหารของเขาได้”

“แน่นอนว่ามันไม่ใช่สินค้าหลัก เราไม่ได้ทำวัตถุดิบมาขายให้ร้านอาหาร แต่เราเน้นเหลือจากชุมชนที่เรานำมาแบ่งปันให้คนอื่นได้กินของดี เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจ ว่าวัตถุดิบเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องอาหาร แต่มันหมายถึงวัฒนธรรมของเรา วิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติของเรา”

ไม่เพียงแค่สร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนชาวชาติพันธ์ุ แต่น้ำยังหวังว่า Seeds Journey จะสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับอาหารให้กับผู้บริโภคคนเมืองได้ด้วย

“ไม่ว่าจะเป็นการมาทริปกับเรา หรือได้รู้จักพืชพันธ์ุท้องถิ่นผ่านวัตถุดิบต่างๆ ที่เชฟเอาไปใช้ เราก็อยากให้เขาเห็นว่าอาหารทั้งหมดมันมีที่มาที่ไป มีความหมายว่ากินทำไม”

“เราก็หวังว่า Seeds Journey จะเป็นส่วนเล็กๆ ที่ทำให้ผู้บริโภคกลับไปตั้งคำถามกับอาหารของตัวเอง อย่างน้อยก็หาว่าฤดูนี้ใช่ฤดูของผลไม้ชนิดนี้จริงไหมนะ ปลอดภัยหรือไม่ เป็นการกินที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ต่อชุมชนหรือเปล่า”

ภาพถ่าย: ปฎิพล รัชตอาภา