ทุกวันนี้เวลาดูข่าวปัญหาส่ิงแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหามลพิษจากขยะหรืออนุภาคพลาสติกปนเปื้อนเต็มทะเล เรามักรู้สึกอยากจะเบือนหน้าหนี ทั้งที่ก็รู้ว่าปัญหาขยะเป็นส่ิงที่เราทุกคนต้องรับผิดชอบและร่วมกันแก้ไข แต่แค่คิดจะเร่ิมต้น เราส่วนใหญ่ก็รู้สึกว่ามันช่างลำบากเหลือเกิน

แต่คนกลุ่มเล็กๆ บางกลุ่มกลับไม่คิดแบบนั้น พวกเขาเชื่อว่าทางออกนั้นอาจไม่จำเป็นต้องยากและซีเรียสเสมอไป เพียงแค่เร่ิมต้นจากการจับจ่ายของใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน

ร้านน่ารักที่มีชื่อว่า ‘Bulk Market’ ในย่านแฮกนีย์กลางกรุงลอนดอนก็เป็นอีกหนึ่งร้านที่เกิดขึ้นจากแนวคิดนี้ พวกเขาคือกิจการเพื่อสังคมที่ต้องการแก้ปัญหาเรื่องขยะจากอาหารและบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะพลาสติกที่ส่วนใหญ่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ชั่วคราว แต่กลับเป็นปัญหาที่ (แทบจะ) อยู่ไปตลอดกาล

ร้าน zero-waste โดยทั่วไปมีวิธีคล้ายๆ กันคือการพยายามลดขยะที่เกิดจากการซื้อขายสิ้นค้าให้ได้มากที่สุด เช่น การไม่ขายสินค้าพลาสติกและของที่รีไซเคิลไม่ได้ และไม่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก ลูกค้าต้องพกบรรจุภัณฑ์มาเองหรือซื้อขวดแก้วกับทางร้าน แต่ความพิเศษที่ทำให้ Bulk Market ไม่เหมือนใครคือการเป็นร้านที่รวบรวมสินค้าที่เป็นมิตรต่อโลกไว้ได้หลากหลายและครบถ้วนที่สุดในลอนดอน ในร้านมีทั้งของกินอย่างเส้นพาสต้าแห้ง สมุนไพร เครื่องเทศ ถั่ว ชา กาแฟ ผักผลไม้ ซีเรียล เบเกอรี่อบใหม่หอมฉุย ไวน์และเบียร์ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น สบู่ น้ำยาล้างจาน ทิชชู่ แปรงสีฟันไม้ไผ่ ไปจนถึงเครื่องสำอางมากมายสำหรับสาวๆ มีแม้กระทั่งอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง เรียกได้ว่าแค่มาที่นี่ที่เดียวก็แทบไม่ต้องแวะไปซูเปอร์มาร์เก็ตที่ไหนแล้ว

Bulk Market เกิดขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงหลักๆ ของ 2 สาว Ingrid Caldironi และ Bruna Martins วันที่แวะไปที่ร้าน ฉันได้พบกับอิงกริด เจ้าของร้านสาวผู้ยืนยันกับฉันว่าเธอไม่ใช่ฮิปปี้หรือคนรักธรรมชาติตัวแม่ เป็นเพียงแค่คนธรรมดาที่เร่ิมต้นสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมจากการอ่านบันทึกของผู้หญิงที่ลองใช้ชีวิตแบบ zero-waste หลังอ่านจบเธอก็อยากลองใช้ชีวิตโดยพยายามสร้างขยะน้อยที่สุดดูบ้าง แต่ก็พบว่ามันแทบเป็นไปไม่ได้เพราะไม่มีร้านค้าร้านไหนสนับสนุนวิถีชีวิตแบบนี้เลย อิงกริดและเพื่อนซี้จึงใช้เวลา 1 ปีในการศึกษาข้อมูล สร้างเครือข่ายเพื่อนในแวดวงและระดมทุนเพื่อเปิดร้านนี้ขึ้น

ชุมชนคือหัวใจ

อิงกริดบอกเราว่าเหตุผลที่เธอเลือกที่ตั้งของร้านในย่านแฮกนีย์ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นเพราะเธอพบว่าย่านนี้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่หลากหลายและมีคุณภาพ ที่นี่มีทั้งโรงคั่วกาแฟและร้านเบเกอรี่แฮนด์เมด แถมยังอยู่ไม่ไกลจากฟาร์มผักออร์แกนิกและผู้ผลิตรายอื่นๆในลอนดอน เธอบอกว่าทำเลที่ดีไม่ได้แค่ช่วยประหยัดค่าขนส่งและทำให้สินค้าสดใหม่อยู่เสมอเท่านั้น

“ส่ิงที่เราทำคือการสร้างโอกาสที่ทั้งร้านค้าอย่างเราและผู้บริโภคได้ช่วยผู้ผลิตในท้องถิ่นไห้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ทั้งในแง่เศรษฐกิจและส่ิงแวดล้อม ฉันจะทำให้ลูกค้ารู้ว่าสินค้าแต่ละชิ้นมากจากไหน มีที่มาการผลิตอย่างไร และรู้ว่าเงินที่พวกเขาจ่ายมาได้มาสนับสนุนบริษัทที่ดี โดยรบกวนส่ิงแวดล้อมน้อยที่สุด” เธอกล่าว

ทั้งๆ ที่เพิ่งเปิดกิจการมาได้เพียง 5 เดือน แต่อิงกริดบอกเราว่าร้านของเธอเป็นที่รู้จักและเป็นที่รักของลูกค้าทั่วลอนดอนทันทีตั้งแต่เปิดร้านวันแรก

เราไม่ได้สู้ด้วยราคา

หลังจากที่ลองเดินสำรวจทั่วร้าน คนที่จ่ายตลาดด้วยตัวเองเป็นประจำอย่างฉันพบว่าสินค้าบางชนิดในร้านแอบแพงกว่าในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปเล็กน้อย อิงกริดยิ้มรับ พร้อมบอกว่าถ้าเธอคิดจะสู้กับซูเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์ใหญ่ ร้านเล็กๆ ของเธอคงแพ้ยับ เพราะแบรนด์เหล่านั้นมีอำนาจต่อรองราคามากกว่า แถมบางครั้งสิ่งนี้ก็เป็นการเอาเปรียบผู้ผลิตด้วย

“สิ่งที่เราอยากบอกลูกค้าก็คือจริงๆ แล้วต้นทุนอาหารไม่ได้ราคาถูกอย่างที่คุณเข้าใจ มันมีต้นทุนแรงงานและทรัพยากรที่ต้องจ่าย มันเลยสำคัญมากที่เราจะใช้มันอย่างรู้คุณค่าและไม่ทิ้งมันถ้าไม่จำเป็น เพราะมันใช้เวลานานมากกว่าจะทำออกมาสำเร็จ ไม่ใช่แค่ซื้อส่ิงที่ถูกและง่าย แต่ทำให้การซื้อแต่ละครั้งมีคุณค่าและความหมาย ทำให้โลกเป็นที่ดีน่าอยู่มากขึ้นในเวลาเดียวกัน”

อิงกริดบอกว่าแม้จะเอาชนะคู่แข่งยักษ์ใหญ่ด้านราคาไม่ได้ แต่ทางร้านก็มีโปรโมชั่นอย่างการลดราคาให้ลูกค้าที่นำบรรจุภัณฑ์มาเองจากบ้าน และถ้าพวกเขาร่วมลงชื่อรีไซเคิลขยะในชุมชนเขาก็จะได้รับส่วนลดจากร้านด้วย

อิงกริดเสริมว่าอังกฤษถือว่าเป็นประเทศที่ล้าหลังประเทศอื่นในยุโรปในแง่การจัดการปัญหาส่ิงแวดล้อม แต่ตอนนี้ชาวอังกฤษเร่ิมหันมาใส่ใจปัญหาแวดล้อมมากขึ้น และเริ่มมีองค์กรรณรงค์ต่างๆ เกิดขึ้นในลอนดอน อย่าง Recycle for London และ Love Food Hate Waste ที่ทำงานวิจัยเรื่องขยะและของเหลือในอังกฤษ ร้าน Bulk Market ก็เป็นอีกหนึ่งแรงที่ช่วยสนับสนุนแคมเปญขององค์กรเหล่านี้

ทำให้เห็นว่าเราทุกคนมีทางเลือก

อิงกริดบอกว่าร้านที่เปิดอยู่ปัจจุบันเป็นเพียงร้านชั่วคราวเท่านั้น พวกเธอมีแผนที่จะย้ายไปตั้งร้านที่ถาวรและใหญ่ขึ้นในปลายเดือนมกรานี้ และตั้งใจจะจัดพื้นที่สำหรับจัดเวิร์กชอป เพื่อให้คนได้มาเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตแบบ zero-waste เช่น การลดขยะ การรีไซเคิล การทำของใช้ประจำวันง่ายๆ ด้วยตัวเองอย่างยาสีฟัน โลชั่น สบู่ หรือเทียน

“เราไม่อยากเป็นเพียงพื้นที่ขายสินค้า แต่อยากให้ร้านนี้เป็นพื้นที่ที่ให้คนได้เข้ามาเรียนรู้และสนุกกัน ฉันคิดว่าสิ่งสำคัญของร้าน zero-waste คือการให้ความรู้กับผู้คนว่าเรามีทางเลือกอื่นๆ ในชีวิตที่ดีกับทั้งตัวเราและโลก มันคือการแบ่งปันความรู้เพื่อให้ทั้งเรา ชุมชน และโลกพัฒนาไปพร้อมกัน”

อิงกริดตอบพร้อมยิ้มกว้างถ้าใครได้ไปเที่ยวลอนดอน อย่าลืมแวะไปเยี่ยมร้าน Bulk Market สาขาใหม่นะ ติดตามพวกเขาได้ที่ www.bulkmarket.uk