เมื่อ 5-6 ปีก่อน ช่วงที่ฉันเริ่มต้นปรับเปลี่ยนชีวิตมาแนวออร์แกนิกแล้วระยะหนึ่ง ฉันได้รับงานวาดภาพประกอบชิ้นใหญ่ชิ้นหนึ่งเป็นภาพประกอบสำหรับหนังสือแปลชื่อ Introduction to Permaculture ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยในชื่อว่า ‘ความรู้เบื้องต้นเพอร์มาคัลเชอร์’ ในตอนนั้นฉันได้เข้าไปคุยกันเพื่อรับงานกับคุณวิฑูรย์ ปัญญากุล ผู้แปลหนังสือเล่มนี้  ยังจำได้ว่าตัวเองพูดว่าฉันนี่แหละค่ะที่เหมาะกับการเป็นคนวาดภาพประกอบเล่มนี้ที่สุดในประเทศแล้ว เพราะฉันเป็นนักวาดภาพประกอบที่จบคณะสถาปัตย์มา และเป็นคนที่สนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง  …ก็พูดได้เนอะ ไม่มีอายเลย  เวลาที่ฉันมั่นใจในงานของตัวเองมากๆ มักจะพูดอะไรแบบนี้เสมอ ใครเจอฉันเวอร์ชั่นนี้ก็อย่าถือสากันเลยนะคะ  ตอนนั้นคิดอย่างนั้นจริงๆ เพราะนักวาดที่สนใจออร์แกนิกถึงขนาดหมกมุ่นในสมัยนั้นก็คงมีแค่ฉันนี่แหละค่ะ

กลับมาพูดเรื่องเพอร์มาคัลเชอร์ ถ้าจะให้อธิบายอย่างกระชับถึงความหมาย ก็คงจะพอพูดได้ว่าเป็นหลักการออกแบบพื้นที่เพื่อการทำเกษตรกรรม ปศุสัตว์ ที่อยู่อาศัย ชุมชน ฯลฯ ให้อยู่ร่วมกันอย่างประหยัดทรัพยากรและพลังงานให้มากที่สุดเพื่อความยั่งยืน  ดังนั้นเพอร์มาคัลเชอร์จะไม่ใช่หลักตายตัว มักจะเป็นการคิดออกแบบให้เข้ากับพื้นที่นั้นๆ มากกว่า  ตัวหลักการของเพอร์มาคัลเจอร์เองก็มีหลายสำนัก  แต่ในเล่มนี้แปลมาจากเล่มของ Bill Mollison และ Mia Slay จากออสเตรเลีย ที่เมืองไทยก็มี ‘ปัญญาโปรเจ็คต์’ ที่เชียงใหม่ ซึ่งจัดคอร์สให้ความรู้เรื่องเพอร์มาคัลเชอร์นี้มานานแล้ว  ตอนที่ฉันไปเรียนทำบ้านดินที่พันพรรณ  ฉันก็เคยต้องเดินไปขอใช้อินเทอร์เน็ตของปัญญาที่อยู่ติดกันนี่ด้วย (ฟังดูรู้เลยว่านานมากแล้ว)  นั่นคือครั้งแรกของฉันที่ได้ยินคำว่าเพอร์มาคัลเชอร์  และเมื่อฉันมีโอกาสได้มาวาดภาพประกอบเล่มนี้หัวใจก็พองโตมากค่ะ

และเมื่อปลายเดือนสค.ที่ผ่านมา ฉันได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือน ‘สวนบ้านใบไม้’ ที่ภูเก็ต หรือเรียกอีกชื่อว่า Phuket Food Forest ซึ่งเป็นสวนที่ใช้หลักการเพอร์มาคัลเชอร์ในการออกแบบ โดยหัวเรี่ยวหัวแรงหลักคือครูยุ ยุพยงค์ จันทร์ขำ ซึ่งมีประสบการณ์เพอร์มาคัลเจอร์มาหลายปีมาจัดและลงมือทำให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น  สวนนี้เป็นของวีระชัยและกนกพรรณ ปรานวีระไพบูลย์ ที่ตั้งใจอยากมีผลไม้และอาหารที่ดีเอาไว้กินเองในบ้าน  ความที่แต่ก่อนตอนเด็กๆ เคยได้กินผลไม้จากต้นซึ่งหอมหวานอร่อย แต่พอโตมาถึงตอนนี้ผักและผลไม้ที่ซื้อมากินกลับหารสชาติแบบที่เด็ดมาจากในสวนไม่ได้อีกแล้ว  ทั้ง 2 คนก็เลยทำสวนบ้านใบไม้ด้วยความตั้งใจอยากมีอาหารดีๆ ไว้กินเอง ประจวบเหมาะกับที่ได้เจอคุณครูยุ ก็เหมือนทุกอย่างลงตัวที่ครูยุจะมาช่วยสร้างพื้นที่สวนเล็กๆ ประมาณ 2 ไร่บนเขาที่ลาดชันบริเวณสามกองให้กลายเป็นแหล่งอาหารดีๆ ของครอบครัวนี้ จากวันนั้นมาแค่ประมาณ 1 ปีกว่าๆ สวนแห่งนี้ก็ได้ทำหน้าที่ผลิตอาหารให้ได้เกินกว่าที่ครอบครัวจะกินเสียอีก  วีระชัยซึ่งเป็น CEO คนเก่งของหลายๆ บริษัทจึงคิดแบ่งปันอาหารและประสบการณ์ดีๆ นี้แก่คนอื่นด้วย

เมื่อฉันได้ไปถึงสวนบ้านใบไม้วันแรก ก็ได้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์แบบที่ไม่น่าเชื่อว่าแค่เพียงปีกว่าๆ ถ้าเราปลูกพืชผัก ดูแล รวมถึงออกแบบดีๆ เราจะมีอาหารการกินมากขนาดนี้  ช่วงที่ฉันไปเสาวรสออกเยอะเลยค่ะ  ครูยุจัดการต้อนรับผู้คนด้วยปอเปี๊ยะสดที่เอาผักและดอกไม้ต่างๆ ในสวนมาเป็นไส้ แป้งเปาะเปี๊ยะก็จุ่มให้นิ่มในน้ำอัญชันทำให้แป้งมีสีฟ้าอ่อนๆ สวยเชียว ที่เด็ดคือน้ำจิ้มเปาะเปี๊ยะ ทำโดยการหั่นเสาวรสผ่าครึ่ง เอาไส้มันมาผสมกับถั่วลิสงและพริก ได้ออกมารสชาติคล้ายน้ำจิ้มแหนมเนือง อร่อยหอมเสาวรส มีรสชาติของความสดมากๆ ใส่กลับมาเสิร์ฟในลูกเสาวรสผ่าครึ่งสวยๆ เลย  และฉันยังได้ลองทำพิซซ่าจากเตาดิน (Cob Oven) ไฮไลต์ของสวนเลยค่ะ  แป้งพิซซ่านวดเองทาซอสมะเขือเทศโฮมเมดแล้วโรยหน้าตามใจชอบพร้อมใส่ผักนานาชนิดในสวน  ใส่เตาไปไม่นานก็ได้กินพิซซ่าสุดอร่อยแล้ว
เตาดินแบบนี้ทำได้หลายอย่าง จะอบขนมปังก็ได้ แค่เอาฝามาปิดหน้าเตาหน่อยเท่านั้น

ที่สวนเพาะต้นกล้าผักต่างๆ เอาไว้เยอะ  ครูยุก็เด็ดต้นกล้าพวกนี้ ยอดผัก ดอกไม้ ฝักและลูกของผักผลไม้ในสวนมาทำอาหาร  มันอร่อยจริงๆ ที่เราได้กินผักแบบเบบี้ๆ ฝักอ่อนๆ ของต้นไม้ แบบที่เราจะหาซื้อไม่ได้ ต้องปลูกเองเท่านั้นถึงจะได้กิน เพราะที่ขายเขาจะเก็บแบบมาตรฐานที่โตพอขายแล้วเท่านั้น  ฉันสนุกสนานตลอดเวลาที่อยู่ในสวนนี้ค่ะ  และคิดว่านี่คือความร่ำรวยที่แท้จริงของคนเรานะคะ  ที่มีอาหารดีๆ ที่เงินซื้อไม่ได้กินอย่างอุดมสมบูรณ์และยังได้แบ่งปันไปสู่คนอื่นๆ อีก

ใครมีโอกาสไปภูเก็ตและอยากเที่ยวแบบออร์แกนิกบ้าง ซึ่งที่นั่นอาจจะหาที่แบบนี้ยากหน่อยไม่เหมือนเวลาไปทางเชียงใหม่ก็สามารถเข้าเยี่ยมชมได้นะคะ  ที่นี่มีกิจกรรมสำหรับต้อนรับคนภายนอกอยู่เรื่อยๆ ลองติดตามจากเฟซบุ๊คเพจก็ได้แค่เสิร์ชชื่อก็จะเจอค่ะ  ส่วนหนังสือความรู้เบื้องต้นเพอร์มาคัลเชอร์มีขายตามร้านหนังสือใหญ่ๆ หรือติดต่อไปที่มูลนิธิสายใยแผ่นดินได้ค่ะ