หลายคนอยากปลูกผักไว้กินเอง แต่ยังมีเงื่อนไขสารพัน ที่ว่างมีน้อย ขี้เกียจรดน้ำ ไม่มีเวลาดูแลฯลฯ วันนี้ Greenery มีเทคนิคดีๆ มาแนะนำ สวนครัวแบบนี้ลงทุนเหนื่อยแค่ครั้งเดียว ไม่ต้องดูแลมาก ใช้พื้นที่เล็กจิ๋ว แต่ให้ผลผลิตได้ยาวนาน หากดูแลดีๆ สามารถทำให้เรามีผลผลิตกินได้ทั้งปีเลยเชียวล่ะ

อันที่จริง Bio-intensive Gardening นั้นเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดเรื่องการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน หรือ Permaculture (มาจากคำว่า permanent+culture) แนวคิดแบบนี้เน้นไปที่การออกแบบให้เกิดความยั่งยืน ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดขยะน้อยที่สุดหรือไม่เกิดขยะเลย สามารถใช้ในการออกแบบเมือง สำนักงาน บ้าน สวนต่างๆ ได้ตั้งแต่ระดับเล็กแบบครัวเรือนจนถึงชุมชนขนาดใหญ่ได้เลย

Bio-intensive Gardening จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างแหล่งอาหารของตัวเองแบบง่ายๆในครัวเรือน เน้นการใช้พื้นที่น้อย ใช้พลังงานต่ำ แต่มีความหลากหลายของพืช เน้นพืชสายพันธุ์ท้องถิ่นเพื่อให้สอดคล้องกับภูมิประเทศและภูมิอากาศเพื่อให้เกิดการพึ่งพาตัวเองได้จริงๆ เทคนิคยอดนิยมอย่างหนึ่งของการทำ Bio-intensive Gardening และเหมาะกับคนขี้เกียจแบบคนสมัยใหม่ก็คือสวนแบบไม่ต้องขุด (No dig bed) คือทำแปลงผักโดยก่อขึ้นมาจากพื้นเดิม โดยไม่มีข้อจำกัดว่าพื้นนั้นจะเป็นพื้นดิน ซีเมนต์ หรือพื้นผิวอื่นๆ แต่เป็นการสร้างแปลงขึ้นมาใหม่ให้มีความหนามากเพียงพอที่จะปลูกพืชได้ และรักษาความชื้นในดินเอาไว้โดยให้ธรรมชาติดูแลตัวเองเพื่อลดการจัดการจากคน (ถ้าเป็นพื้นซีเมนต์อาจต้องหมั่นเติมดินเข้าไปบ้างเพราะพื้นดินอาจยุบตัวลงไป)

หัวใจสำคัญของการทำสวนผักแบบคนขี้เกียจคือ ปลูกพืชหลายอย่างรวมกัน (companion) ปลูกพืชแบบหมุนเวียนเพื่อสลับการใช้ธาตุอาหารในดิน (crop rotation) การปล่อยให้ธรรมชาติจัดการตัวเอง เช่น ปล่อยให้ไส้เดือนทำหน้าที่พรวนดิน ใช้แมลงที่ประเป็นประโยชน์ควบคุมแมลงศัตรูพืช เป็นต้น

สวนผักแบบคนขี้เกียจจะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับขั้นตอนการเตรียมแปลงปลูกเป็นสำคัญ คือดินที่เป็นพื้นที่ปลูกพืชต้องหนาเพียงพอ มีอินทรียวัตถุมากพอที่จะเก็บรักษาความชื้นไว้ได้ตลอดโดยไม่จำเป็นต้องรดน้ำบ่อยๆ พื้นที่สำหรับทำแปลงปลูกจะมีขนาดเท่าไรก็ได้ตามแต่ความสะดวกของแต่ละคน ขั้นตอนการเตรียมแปลงปลูกทำได้ดังนี้

ก่อแปลงปลูกจากวัสดุเหลือใช้ที่มีในบ้าน เช่น ก้อนอิฐ กิ่งไม้ ก่อเป็นแปลงรูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง 1 เมตร ส่วนความยาวทำได้ตามชอบ โรยยิปซัม โดโลไมท์  (หาซื้อได้จากร้านวัสดุก่อสร้าง) ขี้ไก่ ทีละชั้นจนทั่วแปลงเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดิน  โรยปุ๋ยหมักหรือเศษอาหารในบ้านอีกชั้นเพื่อให้เป็นอาหารสำหรับไส้เดือน (เพื่อย่อยสลายอินทรียวัตถุอื่นๆ ในแปลงปลูก)

จากนั้นนำวัสดุเหลือใช้ที่ย่อยสลายได้ เช่น กล่องกระดาษลัง หนังสือพิมพ์ เศษผ้าหรือพรมเก่า มาปูรองพื้นล่างสุด พื้นที่ส่วนนี้ทำหน้าที่เก็บความชื้นไว้ในแปลงปลูกและป้องกันไม่ให้หญ้าหรือวัชพืชแทงขึ้นมาแย่งอาหารพืชผัก โรยใบไม้แห้ง แกลบหรือฟางข้าว (เลือกที่มี) ทับหนาๆ ใส่มูลสัตว์ลงไปอีกชั้น แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ชั้นนี้ควรทำให้หนาสักหน่อยประมาณ 8 เซนติเมตร (กะเอาได้)  ตามด้วยฟางข้าวหรือเปลือกถั่วหนา 15 เซนติเมตร อินทรียวัตถุเหล่านี้จะค่อยๆย่อยสลายกลายเป็นดินและธาตุอาหารเลี้ยงพืชผักในอนาคตโดยที่ไม่ต้องเติมปุ๋ย รดน้ำแต่ละชั้นให้ชุ่ม และกลบทับชั้นสุดท้ายด้วยดิน คลุมแปลงด้วยฟางข้าวหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ รดน้ำให้ชุ่ม ฟางหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ชั้นนอกสุดนี้ทำหน้านี้ที่เก็บรักษาความชื้นในดินเอาไว้ทำให้ไม่ต้องรดน้ำบ่อยๆ หากยังไม่ลงกล้าไม้ให้ใช้พลาสติกคลุมแปลงไว้ก่อนเพื่อรักษาความชื้น

นำกล้าผักสวนครัวลงแปลงปลูก กรณีนี้ เราจะซื้อผักสวนครัวสำเร็จรูปมาเลยก็ได้ แต่หากใครอยากเพาะเมล็ดให้เพาะในตะกร้าและค่อยแยกกล้ามาลงแปลงปลูก ปลูกพืชตามแนวขวางแปลงด้วยพืชต่างชนิดกัน คือ ไม้หัว ไม้ผล ไม้พุ่ม (เรียงลำดับอย่างไรก็ได้ แต่ให้สับหว่างกัน) ตัวอย่างเช่น แถวแนวขวางแรกปลูกมะเขือม่วง มะเขือเทศ (กินผล) แถวขวางที่สองปลูกคะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง (กินใบ) แถวขวางที่สองปลูกมันฝรั่ง (กินหัว) ปลูกริมขอบแปลงด้วยพุ่ม เช่น กะเพรา โหระพา เพื่อให้พืชแต่ละชนิดเจริญเติบโตได้โดยไม่แย่งธาตุอาหารกัน (พืชแต่ชนิดกินธาตุอาหารคนละชนิดกัน)

พืชบางชนิดให้อาหารได้ยาวนาน บางชนิดให้ผลผลิตได้3-5 เดือน เมื่อหมดรุ่นแล้วก็ลงปลูกพืชชนิดใหม่ โดยเลือกชนิดที่ไม่ซ้ำกับชนิดก่อนในจุดปลูกเดิม (เช่น จุดที่เคยปลูกพืชใบให้เปลี่ยนเป็นพืชผล) เลือกปลูกพืชมีดอกไว้สักนิดหน่อยเพื่อช่วยล่อแมลงมากินน้ำหวาน เช่น ดาวเรือง (ไล่แมลงได้ด้วย) หรือปล่อยผักกวางตุ้งดอกบางต้นไว้จนแก่ เพียงเท่านี้แปลงปลูกเล็กๆในบ้านก็จะให้อาหารหมุนเวียนได้เกือบตลอดทั้งปี

ข้อแนะนำสำหรับการทำสวนผักคนขี้เกียจ คือ ควรเลือกปลูกผักที่กินเป็นประจำ  เป็นผักที่เก็บกินได้บ่อยๆ (ตัดยอดไปกินแต่เหลือกิ่งไว้แตกยอดได้อีก)  พื้นที่ปลูกใกล้ห้องครัว จะได้เดินเข้าออกเก็บผลผลิตได้ง่าย พื้นที่น้ำทิ้งจากครัวสามารถเก็บเป็นน้ำสำหรับรดแปลงผักได้  หากมีเศษอาหารจากในบ้านให้ขุดหลุมบนแปลงทิ้งเศษอาหารลงไปแล้วคลุมทับด้วยฟางหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ (ป้องกันแมลงวันมาไข่) เศษอาหารจะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยให้ต้นพืชต่อไป

แปลงปลูกเล็กๆเช่นนี้ให้พืชอาหารได้เกือบตลอดทั้งปี มีแมลงรบกวนน้อยเพราะการปลูกหลากหลายทำให้ไม่มีศัตรูพืช วัสดุที่คลุมดินไว้จนชื้นตลอดเวลาจะทำให้ไม่ต้องรดน้ำบ่อยๆ เมื่อธรรมชาติของดินดี จะมีไส้เดือน แมลง กบ และนกเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะช่วยทำงานเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และควบคุมจำนวนกันเองในที่สุด

เรียกว่าเป็นการลงทุนที่ดีต่อกายและดีต่อโลกใบนี้ไปพร้อมกันเลยทีเดียว

ผู้ที่สนใจเรียนรู้เรื่อง permaculture ในประเทศไทย สามารถติดตามได้ที่ www.panyaproject.org

อ้างอิง: workshop Bio-Intensive Gardening และหนังสือเรื่องความรู้เบื้องต้นเพอร์มาคัลเชอร์ โดย Bill Molllison และ Mia Slay แปลโดยวิฑูรย์ ปัญญากุล และรวิมาศ ปรมศิริ จัดพิมพ์โดยมูลนิธิสายใยแผ่นดิน