เมื่อวันที่ 20-24 กันยายน 2561 ผมและเหล่าพี่น้องชนเผ่าและขาวประมงจากประเทศไทย ได้ไปร่วมมหกรรมอาหารที่คิดมากกว่าแค่เรื่องอาหาร นั่นคือ Terra Madre, Salone del Gusto ครั้งที่ 12 ซึ่งงานรายสองปีนี้จัดขึ้นที่เมืองตูริน ประเทศอิตาลี โดยกลุ่ม Slow food International เป็นการรวมบุคคล ร้านค้า เกษตรกร ชาวประมง นักวิชาการ อาจารย์ นักศึกษา รวมไปถึงชนเผ่าและชนพื้นเมืองที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของอาหารการกินจากทั่วโลก โดยเนื้อหาของฟอรั่มพูดคุย และเวิร์กช็อปคือเรื่องความยั่งยืนทางอาหารในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องความยั่งยืนด้านเมล็ดพันธุ์ ความยั่งยืนทางทะเล ความยั่งยืนทางด้านปศุสัตว์ ความยั่งยืนด้านสุขภาพที่เกี่ยวกับอาหารการกิน ความยั่งยืนด้านวัตถุดิบพื้นถิ่น จริงๆ แค่ผมเล่าเรื่องในแต่ละกลุ่มนี้ผ่านไปสามวันก็ยังเล่าไม่หมดแน่ๆ เพราะรายละเอียดเยอะมากและดีมากๆ

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเจอในงานและน่าสนใจจนอยากจะแบ่งปันให้ทุกๆ คน คือเรื่องการจัดการขยะในงานและเมืองตูรินเอง

จาก  5 วันที่เดินในงานแบบทะลุปรุโปร่ง เราจะเห็นถังขยะตั้งเรียงรายอยู่จำนวน 5 ถัง พร้อมกับอาสาสมัครเอี๊ยมแดงที่ยืนประจำถังขยะในทุกๆ จุด ได้ไปสอบถามทีมผู้จัดงาน ทราบว่ามีจุดทิ้งขยะทั้งสิ้น 120 จุดทั่วงาน นั่นหมายความว่าจะมีคนที่ยืนประจำจุด อย่างน้อยๆ 120 คน เราถึงกับอ้าปากค้างว่าเขาให้ความสำคัญกับการทิ้งและแยกขยะให้ถูกที่ ถูกถังขนาดไหน โดยเด็กๆ ที่มาช่วยให้ความรู้ประจำจุดจะเป็นอาสาสมัครที่มาจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในตูรินนั่นเอง ได้คุยกับน้องๆ ที่รับหน้าที่อธิบายวิธีการทิ้งขยะให้ถูกถังก็ได้ความเพิ่มเติมว่า ก่อนเริ่มงาน ทุกๆ คนได้รับการสอนและทำความเข้าใจเรื่องการทิ้งขยะและสามารถถ่ายทอดให้กับผู้ร่วมงานได้ และเผื่อมีคนมาถามแบบคนอย่างผมก็สามารถอธิบายได้ว่า หลังจากทิ้งแล้ว ขยะเหล่านี้จะถูกส่งไปที่ไหน และจัดการอย่างไรต่อ ซึ่งผมจะเล่าให้ฟังต่อไปครับ

เรามาดูกันว่าขยะทั้ง 5 ถังเขามีแบบไหนกันบ้าง เริ่มจาก ซ้ายไปขวา ถังที่ 1 เป็นถังสำหรับทิ้งขยะจำพวกขยะอินทรีย์ คือสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เช่นพวกเศษอาหาร แก้ว ช้อนส้อม จาน นั่นเพราะภาชนะส่วนใหญ่ภายในงานเป็นภาชนะจากธรรมชาติ และ Biodegradable Plastic ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติหากอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม ขยะจากถังนี้จะถูกส่งไปยังโรงขยะทำปุ๋ยของเมือง ส่วนถังที่ 2 เป็นถังขยะสำหรับแก้ว กระป๋องต่าง ๆ ซึ่งขยะจากถังนี้จำพวกแก้วจะถูกส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลขวดแก้วหรือแก้วน้ำ ส่วนกระป๋องจะถูกส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลเพื่อทำโต๊ะ หรือเก้าอี้ หรือแม้แต่โรงงานที่ทำวัสดุทางการแพทย์ ถังที่ 3 สำหรับกระดาษ อันนี้ก็ถูกส่งไปยังโรงงานกระดาษรีไซเคิลต่อไป เพื่อทำกล่องหรือกระดาษอีกรอบ ถังที่ 4 ไว้สำหรับขยะพลาสติกทั้งหมดที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ก็จะถูกส่งไปทำเส้นใยของเสื้อเตาเผาในเมืองเพื่อนำไปแปลงเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกอื่นๆ

ใน 5 ถังนี้ ถึงแม้ว่าไม่มีคนมายืนก็สามารถยืนดูคำอธิบายที่ป้ายได้ว่า ควรจะทิ้งขยะในมือเราที่ถังไหน และถ้ามองให้ละเอียดจะเห็นสัญลักษณ์ รูปสามเหลี่ยมเป็นลูกศรวนๆ และมีตัวเลขหรือตัวหนังสือกำกับด้านใน เป็นการบ่งบอกว่าเราควรจะทิ้งขยะในถัง ยกตัวอย่าง ผมได้แก้วน้ำพลาสติกมาพร้อมจะทิ้ง ผมก็ยกดูก้นแก้ว จะเจอสัญลักษณ์ สามเหลี่ยมและเจอเลข 7 ด้านใน พร้อมตัวอักษร PLA นั่นหมายความว่าแก้วใบนั้นสามารถย่อยสลายตามธรรมชาติในสภาวะที่เหมาะสมได้ แต่หากเจอเครื่องหมายสามเหลี่ยมและมีเลข 1 จนถึง 7 แต่ไม่มี PLA คือจะเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ แต่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ตามประเภทที่บ่งบอก

จริงๆ แล้วภาชนะต่างๆ ที่ใช้ในงานและในเมือง หากพลิกดูจะมีสัญลักษณ์กำกับทั้งหมด ดังนั้นจึงทำให้การทิ้งขยะให้ถูกถึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวหรือยากจนเกินไป หากได้มีการให้ความรู้เบื้องต้นอย่างถูกต้อง หากเราสามารถทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องพื้นฐานที่เราทุกคนควรจะต้องทำ เพราะหากว่าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติก ขวดแก้ว หรืออะไรที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เราก็ควรจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งเหล่านั้นด้วยเช่นเดียวกัน

ที่ตั้งใจมาเดิน มาตามหาขยะ ตามหาว่าเขาทิ้งและจัดการกันยังไง ไม่ใช่แค่เพราะสงสัย แต่เป็นเพราะอยากเข้าใจและอยากให้สิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งในพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อสิ่งแวดล้อมของทุกๆ คนในประเทศไทย เลยอยากเอามาแบ่งปัน และถ้าใครพร้อมทำ ก็เริ่มทำกันได้เลย จะเริ่มจากตรงไหนก่อนก็ได้ จะเริ่มแยกทีละอย่างสองอย่างก็ได้ ลองดู เพราะแค่เริ่ม เราก็ได้รับผิดชอบแล้วล่ะครับ

ภาพถ่าย: เชฟแบล็ค