“เชฟๆ ลงใต้กัน” ….สิ้นเสียงชวนจากพี่เก๋ นายใหญ่จากทีม ‘กินเปลี่ยนโลก’ ผมก็ตอบตกลงทันที โดยไม่ต้องการคำอธิบายเพิ่มว่าไปทำไม หรือที่ไหน??? ซึ่งในการเดินทางครั้งนี้ ผมได้เดินทางร่วมไปกับทีมเชฟ ‘ฅนฅรัวพวกนั้น’ ด้วย โดยจริงๆ แล้วจุดประสงค์ของการเดินทางคือ ไปเยี่ยมชุมชนต่างๆ ในพัทลุง ที่ยังคงมีวิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ทำเกษตร ประมง สวน ไร่ แบบดั้งเดิมที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ รวมถึงตลาด ร้านค้า หรือแม้แต่ร้านอาหารท้องถิ่น โดยเริ่มจากการไปให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เป็นการพบปะกันของผู้ผลิต และผู้บริโภค แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ให้แก่กัน

จริงๆ แล้วเราได้เดินทางไปหลายจังหวัด หลายอำเภอ และหลากหลายหมู่บ้านมากๆ แต่ในวันนี้ผมจะเล่าเรื่องราวที่ที่เราไปที่พัทลุงกัน เพราะที่นี่เองที่ทำให้ผมได้เห็นสิ่งที่รู้จักมาตลอดชีวิตตั้งแต่เด็ก จนโต จนมาเป็นคนทำอาหาร แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าสิ่งที่กินอยู่ทุกครั้ง ทุกทีมันไม่ใช่สาคู! 

ใช่ครับ!!!! สาคูเม็ดขาวๆ กลมๆ ที่เราคุ้นเคย อยู่ในขนมและของว่างแบบไทย ๆ แม้แต่คนต่างชาติเองก็รู้จักสาคูกันในนามว่า Tapioca ซึ่งต่างจากที่ผมเห็นกับตาที่พัทลุงอย่างสิ้นเชิง เพราะสาคูที่แท้จริง ไม่ใช้แป้งมัน หรือ Tapioca powder แต่เป็นสาคูแท้ๆ จากต้นสาคู หรือ Sago Palm Tree ที่เป็นพืชตระกูลปาล์ม ที่เรากินแป้งในต้นสาคูนั่นเอง และที่พัทลุงนี้น่าจะเป็นแหล่งป่าสาคูแหล่งท้ายๆ ของประเทศไทยที่ยังคงเหลืออยู่ และผมได้กินสาคูแท้ๆ 100% จากที่นี่เป็นครั้งแรก สาคูจากต้นสาคูธรรมชาติจะออกสีชมพู อมน้ำตาล ไม่ใช่สีขาวแบบที่เราเคยกิน

เราได้เข้าไปเดินชมป่าสาคูในพื้นที่ 80 ไร่ ที่บ้านหัวพลุ ควนขนุน พัทลุง เราได้เห็นสาคูที่มีทุกแบบ ตั้งแต่ต้นเล็กยันต้นแก่พร้อมตัด โดยที่นี่ยังคงมีการทำแป้งสาคูกับแบบดั้งเดิมคือ ใช้แรงคนทั้งหมดอยู่กัน 3 ครอบครัว เค้าบอกว่าเดี๋ยวนี้คนทำน้อยลงมากเพราะใช้เวลา คนก็ล้มสาคูแล้วไปทำอย่างอื่นแทน ที่ได้เงินง่ายกว่า เร็วกว่ากันเยอะ แต่ที่บ้านยายฉุยแกบอกว่า ทำเหนื่อยอยู่ แต่ก็อยู่ได้แต่ส่งต่อองค์ความรู้นี้ถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน เพราะในป่าสาคูถึงแม้จะต้องรอต้นที่โตเต็มที่ใช้เวลาประมาณ  8-10 ปี ถึงจะตัดได้ แต่ระบบนิเวศในป่าสาคูนั้นสำคัญมาก เพราะเราสามารถใช้ประโยชน์ได้ ทั้งก้าน ทั้งใบ ทั้งต้น หรือแม้ช่วงน้ำขึ้นในป่าก็สามารถหาปลาได้ด้วย หรือแม้แต่เดี๋ยวนี้ ก็แบ่งบางต้นเลี้ยงตัวด้วงสาคู เพื่อขายเป็นอีกหนึ่งอาชีพได้ด้วย และความง่ายของสาคูคือ ไม่ต้องดูแล ไม่ต้องปลูก ไม่ต้องรดน้ำ ไม่ต้องใส่ยา ให้โตแบบธรรมชาติเป็นป่าสาคู ธรรมชาติจะดูแลกันเอง ต้นไหนมีหนอนด้วง เราก็เก็บกิน เก็บขาย ต้นไหนทำสาคูได้ เราก็ตัดมาทำ ซึ่งอย่างที่บอกต้นนึงอายุ 10 ปี สูงประมาณ 10 เมตร เปลี่ยนเป็นสาคูได้ ราว ๆ  100 กิโลกรัม ถ้าใช้แรงคน 1 คน สามารถทำสาคูได้วันละ 10 กิโลกรัม โดยขั้นตอนคือต้องขูดต้น นำไปกรองผ่านน้ำจนได้ผงแป้งสาคู นำไปผึ่งพอหมาด และนำมากลิ้ง ๆ ในกระจาดจนกลมเป็นเม็ด แล้วจึงตากให้แห้ง แพ็คขายได้ กิโลกรัมละ 100 บาท ก็มีรายได้วันละ 1,000 บาท ก็อยู่ได้แล้ว

หลังจากที่เราได้ไปเยี่ยมชมป่าสาคูที่ควนขนุน เราก็ได้ไปร่วมกิจกรรมที่ ตลาดนัด ‘ป่าไผ่สร้างสุข’ ที่ควนขนุนนี่แหละ โดยวันนั้นเราได้ให้เชฟร่วมกันทำอาหาร และเสิร์ฟอาหารแบบ Tasting Menu ให้คนพัทลุงได้ชิมกัน และแน่นอนที่เราจะไม่พลาดนำสาคูมาประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีและน่าประทับใจมากๆ เพราะมันไม่ใช่แค่สาคู แต่เราได้ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นในแถบนั้น 100% เพื่อปรุงอาหารตามแบบฉบับของพวกเรา ในมุมมองใหม่ ๆ ในสิ่งที่เค้าคุ้นเคยมาตลอด เพราะพวกเราที่ทำครัวเชื่อเสมอว่า อาหารมันมีการพัฒนาไปตลอด มันเดินทางได้ มันอยู่ที่ไหนก็ได้ และเราสามารถปรุงอาหารอะไรก็ได้ เพียงแค่เราเปิดใจ เปิดใจที่จะรับและเปิดใจที่จะให้อาหารและวัตถุดิบนั้นๆ ก็จะอยู่รอดปลอดภัยและอยู่กับเราอย่างยั่งยืน

และหลังจากได้กลับมาที่ร้าน สิ่งที่พลาดไม่ได้นั้นคือ เอาสาคูกลับมาด้วย เลยขอแนะนำวิธีทำขนมเปียกสาคูอย่างง่ายๆ ให้ทุกคนได้ลองไปทำกัน โดยอัตราส่วน สาคู 300 กรัม ต่อ น้ำ 1 ลิตร ต้มน้ำให้เดือดจัด แล้วค่อยๆ โรยสาคูไปจนหมด เติมน้ำตาลทรายเล็กน้อยหวานตามชอบ กวนพอน้ำตาลละลายและสาคูไม่สุกเกิน จนไม่เหลือไตตรงกลาง ขั้นตอนนี้สำคัญ ถ้านานเกินไป สาคูจะไม่เป็นเม็ดและเป็นก้อนๆ พอน้ำตาลละลายก็ปิดไฟ ทานคู่กับกะทิคั้นสด เติมเกลือเล็กน้อย เป็นของว่างทานเล่นได้ แต่โดยส่วนตัวผมจะไม่ใส่น้ำตาลเยอะ แต่จะใส่พวกลำไย หรือผลไม้หวานๆ ตามฤดูกาลไปแทน แต่ถ้าใครทำแล้วจับตัวเป็นก้อน ไม่ต้องตกใจ แบบนั้นก็ยังกินได้ สามารถนำมาปั้นเป็นก้อนๆ ทานได้อีก ผมเคยเห็นชนเผ่าที่ปาปัวนิวกินีนึ่งเป็นก้อนๆ กินเป็นคาร์โบไฮเดรตแทนข้าวหรือมันเลย

อยากทำกันแล้วใช่ไหมครับ คงมีคำถามว่าจะหาซื้อได้ที่ไหน สามารถติดต่อได้ที่ LINE ID: 0876876070 แป้งสาคูต้นยายฉุน ส่งได้ทั่วไทยจ้า… ไม่ได้ค่าโฆษณาแต่อยากให้ทุกคนได้กินจริงๆ

ภาพถ่าย: เชฟแบล็ค