ใครที่ต้องการมีร้านอาหาร หรือต้องการทำธุรกิจด้านอาหาร สิ่งที่ต้องคำนึงคงไม่พ้นเรื่องของการอยู่รอด คือทำยังไงให้คนรู้จัก ทำยังไงให้คุณภาพอาหารคงที่ จัดการทรัพยากรบุคคลในองค์กรอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด  ทั้งเรื่องรสชาติ ความสวยงาม การตลาด มีองค์ประกอบมากมายที่ต้องคำนึงก่อนที่จะทำ แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่คนมักจะละเลย และไม่ได้นึกถึงคืองานหลังบ้าน การจัดการขยะ หรือแม้แต่ของเหลือที่เกิดขึ้นจากการทำครัว ในครั้งนี้ ผมจึงอยากลองยกตัวอย่างการจัดการแบบง่ายๆ ที่เราทุกคนสามารถจัดการได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม หรือแม้แต่ในครัวเรือนเองก็ทำได้ไม่ยากเช่นเดียวกัน 

เริ่มจากการแยกขยะเปียกกันก่อน ขยะเปียกแบบแรก คือขยะอาหารที่เราใช้ประโยชน์สูงสุดแล้วเป็นกากจากการทำซอสหรือซุป หรือขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ ไปจนถึงขยะจากอาหารเหลือจากลูกค้า จะถูกแปรสภาพไปเป็นปุ๋ย เรามีกล่องปุ๋ยสำหรับช่วยย่อยขยะ โดยผสมกับดินและน้ำหมักเพื่อให้ย่อยสลายได้ไวขึ้น สามารถหาซื้อกล่องหมักปุ๋ยได้ที่ ผักDone หรือที่ Uncleree Farm โดยที่เหมาะสมกับครัวเรือนของเรา ซึ่งปุ๋ยที่ได้ เราสามารถนำไปขายหรือแลกกับวัตถุดิบการเกษตรกรในชุมชนได้ด้วย 

ส่วน ขยะเปียกแบบที่ 2 คือเศษผักผลไม้ที่เราใช้ไม่ทัน ก็สามารถนำไปเป็นอาหารของไส้เดือนที่เลี้ยงไว้ชั้นบนของร้านได้ ซึ่งไส้เดือนนับเป็นหน่วยย่อยเศษอาหารได้ดีเยี่ยม และมีพลังการทำลายล้างสูงมาก สามารถปรึกษาเรื่องการเลี้ยงไส้เดือนได้จากลุงรีย์ Uncleree Farm เช่นกัน

ขยะเปียกแบบสุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุดคือ เศษอาหารที่เหลือจากการตัดแต่งอาหาร พวกก้านผัก ราก กระดูก ก้าง เปลือก บางส่วนผมนำไปทำเครื่องปรุงต่างๆ เช่น น้ำส้มสายชูจากเปลือกสับปะรด ชาจากก้านโหระพา ซุปจากเศษผักและกระดูก ซอสจากหัวปลา น้ำปลาจากก้างปลาหรือหัวกุ้ง หรือนำเปลือกมะนาวมาเป็นส่วนประกอบการทำน้ำยาล้างจานหรือน้ำยาถูพื้นเพื่อลดการใช้เคมีในครัว หรือนำไปทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อเป็นหัวเชื้อของปุ๋ย หรือทำ SCOBY (Mother of Vinegar) ส่วนน้ำมันเก่าก็นำมาทำเป็นสบู่ล้างมือ หรือขายเพื่อนำไปทำไบโอดีเซลต่อไป (สามารถหาคนรับซื้อได้ในละแวกบ้านตามอินเทอร์เน็ต) 

การแยกขยะเป็นอีกงานที่สำคัญ เพราะการแยกขยะให้ถูกประเภท เราจะสามารถใช้ประโยชน์จากขยะได้อีก ขยะที่รีไซเคิลได้ในร้าน เช่น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง กระดาษลัง กล่องโฟม สามารถแยกและรวบรวมขายได้ แต่ละเดือน ผมใช้เงินในส่วนนี้จ่ายค่าน้ำที่ร้านได้ด้วยซ้ำ ส่วน ขยะอันตราย เช่นแก๊สกระป๋อง ก็แยกให้ชัดเจน ไม่รวมกับขยะอย่างอื่น สำหรับ ขยะพลาสติก อย่างถุงก็พับเก็บไว้ใช้ต่อ ถุงซิปล็อก ถุงสูญญากาศ (vacuum bag) หรือกล่องพลาสติก ก็นำไปล้างและตากเพื่อสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ส่วน ขยะพลาสติกที่เปื้อนเศษอาหาร จะถูกล้างและแยกเพื่อให้ง่ายต่อการแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิลต่อไปเช่นกัน

และยังมี ขยะบางส่วนที่เรานำไปบริจาคได้ เช่น กล่องนม กล่องน้ำผลไม้ นำมาตัดและล้างให้สะอาดส่งไปที่ ‘ศูนย์ประสานงานโครงการกล่องยูเอชทีรีไซเคิล’ เพื่อนำไปรีไซเคิลทำเป็นหลังคา แผ่นพื้นผนัง หรือกระดาษสำหรับอักษรเบรลล์ ส่วนหลอดพลาสติกซึ่งที่ร้านไม่ได้ใช้ แต่ถ้ามีติดมาจากข้างนอก ก็จะสะสมไว้นำไปบริจาคเพื่อไปทำไส้หมอนให้กับผู้ป่วยติดเตียง โดยส่งไปที่ ‘มูลนิธิพลังยั่งยืน’ ปตท. สำนักงานใหญ่

ที่ผมทำแบบนี้เพราะมันเป็นประโยชน์ในหลายๆ ทาง ทั้งกับตัวเรา ร้านเรา และผู้อื่น รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่คอยเก็บขยะให้เราทุกวันก็สามารถนำไปแยกขยะได้ง่ายขึ้น ส่วนขยะที่ขายได้ก็เป็นรายได้เสริมได้อีกด้วย ที่สำคัญ ให้คิดว่าจะใช้ทุกอย่างให้เกิดประโยชน์มากที่สุดก่อนลงถัง ก็สามารถลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบเหล่านั้นได้อีกทางหนึ่งด้วย

และสิ่งเหล่านี้สามารถส่งต่อจิตสำนึกให้กับคนรอบข้างได้นะ แค่ริ่มจากตัวเรา เพราะเราเองต้องเป็นส่วนหนึ่งของการรับผิดชอบต่อสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

การเริ่มต้นอาจจะยากสักหน่อย แต่พอทำให้เป็นกิจวัตรแล้วมันก็จะง่ายมากๆ เลยครับ

ภาพถ่าย: เชฟแบล็ค