ประวัติศาสตร์อ่านอร่อยของอาหารไทย ที่ไม่เห็นเหมือนที่เคยได้ยินมา
กฤช เหลือลมัยเป็นเหมือนพ่อครัวร้านเก๋าที่ทำเมนูอะไรมาเสิร์ฟเราก็อยากชิมอยากอ่านไปหมด เพราะในฐานะนักกิน นักปรุง และนักโบราณคดี เรื่องเล่าเกี่ยวกับอาหารจากเขาจึงมีมิติของวัตถุดิบพื้นถิ่น ความอร่อยเอกลักษณ์ที่ต่างไปในแต่ละย่าน ความหลากหลายของอาหารในแง่ความมั่นคงยั่งยืน เลยรวมไปจนถึงเรื่องประวัติศาสตร์ ที่ไปที่มา และ ‘ความเลื่อนไหล’ ของอาหาร ที่มีความเป็นไปได้ไม่รู้จบ
และ ‘ต้นสายปลายจวัก’ คือหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของเขาที่บอกเล่าความหลากหลายของวัฒนธรรมอาหารที่ไม่ควรถูกแช่แข็งในฐานะประวัติศาสตร์ที่แตะต้องไม่ได้ (แบบที่บ้านเราถนัดนักแหละ!) เพราะอาหารก็เหมือนวัฒนธรรมอื่นๆ บนโลกใบนี้ ที่เปลี่ยนแปลงและเลื่อนไหลไปกับวิถีชีวิต ผู้คน และช่วงเวลา คำพูดที่ว่าอาหารไทยแท้ สูตรดั้งเดิม หรือ ‘ต้องอย่างนี้เท่านั้น’ จึงเป็นคำที่เอามาใช้กับอาหารไม่ได้
‘…ก่อนจะเอ่ยปากว่าชอบอะไรโบราณๆ หรืออะไรแท้ๆ ควรแน่ใจเสียก่อนว่าเรารู้จักความโบราณของมันมากพอ และความ ‘แท้’ นั้นมีอยู่จริงหรือไม่…”
และหนังสือเล่มนี้ คือเรื่องราวของวัฒนธรรมอาหารผ่านเมนูที่เราคุ้นเคยและสำรับชื่อประหลาด ไม่ว่าจะเป็นต้มยำกุ้งหรือแกงนอกหม้อที่อาจไม่ใช่อาหารไทยแท้ที่เราใช้อวดนักท่องเที่ยว เพราะแต่เดิมตำราอาหารโบราณเรียกว่า ‘แกงเขมร’ ผัดไทยอาจไม่ใช่สูตรของจอมพล ป. หรือต้มจิ๋วอาจไม่ได้หมายถึงความเล็กจิ๋ว แต่คือภาษาจีนแต้จิ๋วที่หมายถึงการต้ม!
ตามไปหาต้นสายของอาหาร ผ่านปลายจวัก ที่แถมวิธีปรุงมาให้พร้อมสรรพในเล่มเดียวกัน
ต้นสาย ปลายจวัก โดย กฤช เหลือลมัย
สำนักพิมพ์มติชน ราคา 350 บาท
ผู้คนรุ่นใหม่ ที่ขยับขับเคลื่อนวัฒนธรรมการกินสู่นวัตกรรมใหม่ๆ
“อาหารไม่เคยถูกบรรจุลงในการศึกษา และไม่เคยถูกมองในมิติอื่น เช่น มานุษยวิทยาอาหาร ประวัติศาสตร์อาหาร ประเทศไทยให้ค่าเรื่องอาหารศึกษาน้อยมาก ส่วนใหญ่ถ้าคิดเรื่องอาหารคือการไปเรียนคหกรรมหรือเป็นเชฟเท่านั้น” คือสารตั้งต้นของการออกรวบรวมนวัตกรรมใหม่ๆ ของคนรุ่นใหม่ที่กำลังขับเคลื่อนวงการอาหารดีในหลากหลายมิติของอนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียนที่ผันตัวมาสนใจเรื่องอาหารอย่างจริงจัง
บทสนนทนาในหนังสือเล่มนี้จึงชวนให้เรามอง ‘การกิน’ มากไปกว่าที่เคย อนุสรณ์ชวนผู้คนหลากหลายในวงการนี้ ทั้งเชฟ เกษตรกร นักกำหนดอาหาร นักขับเคลื่อนเรื่องอาหาร แพลตฟอร์มใหม่ๆ เล่าเรื่องอาหาร ที่ขยับขับเคลื่อนวัฒนธรรมการกินสู่นวัตกรรมใหม่ๆ ที่น่าสนใจ
‘…เพราะนวัตกรรมคือความเป็นไปได้ ความเข้าใจในอาหารแต่ละภูมิภาค วัตถุดิบในแต่ละฤดูกาล ก็อาจดัดแปลงเป็นอะไรได้สารพัด…’
หนังสือแบ่งการเล่าเรื่องผ่านคำสำคัญอย่าง รสชาติ สุขภาวะ ชุมชน ระบบนิเวศ การเคลื่อนไหว สุนทรียะและความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และแพลตฟอร์มใหม่ ที่ครอบครบจักรวาลอาหารไทยยุคใหม่ และทำให้เราเห็นความเป็นไปได้อย่างที่อนุสรณ์ว่าไว้จริงๆ
Food Design จากวัฒนธรรมสู่นวัตกรรม โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์
สำนักพิมพ์ INI Books ราคา 290 บาท
แรงบันดาลใจผักนำที่ทำให้อยากกิน อยากปรุง อยากปัน ไปจนถึงอยากปลูก
ถ้าไม่กินผักจะแย่แค่ไหน ลูกไม่ชอบกินผักจะแก้ได้ไหม หากจะกินผักผลไม้ให้ได้ถึง 400 กรัม ตามคำแนะนำจะทำอย่างไร อยากทำอาหารจานผักกินเองจะหาไอเดียที่ไหน อยู่คอนโดจะปลูกผักกินเองได้หรือ
คำถามเหล่านี้ (และมากกว่านี้) มีคำตอบมัดรวมมาให้ครบอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ว่าด้วยจุดเริ่มต้นว่าทำไมคนที่เกลียดผัก สู่บทต่อไปว่าทำไมเราต้องกินผักให้เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กๆ หรือแม้แต่เราเอง รวมถึงการปรับใช้ว่าเราจะทำให้ทุกมื้อให้ผักนำได้ยังไงบ้าง ตัวอย่างเมนูอาหารจานผักและผลไม้ 400 กรัมที่ทำได้จริง และข้อมูลน่าสนใจและสร้างแรงบันดาลใจให้อยากกิน อยากปรุง อยากปัน ไปจนถึงอยากปลูก
ทั้งหมดนี้เพื่อล้อไปกับความตั้งใจ ‘ทุกมื้อให้ผักนำ เราทำได้’ บนความมั่นใจว่าเราทุกคนเปลี่ยนพฤติกรรมได้ถ้ามุ่งมั่นพอ
หนังสือกินดีต้องมีผัก โดย SOOK Publishing
ราคา 160 บาท
ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง