ในยุคที่คนเมืองหันมาใส่ใจในการดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น ขณะที่พื้นที่หน้าเตาก็ไม่ใช่อาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกมองว่าสงวนไว้เฉพาะผู้หญิงอีกต่อไป จึงไม่น่าแปลกใจหากเราจะเห็นบรรดาหนุ่มโสด หรือพ่อบ้านยุคใหม่หันมาลงมือเข้าครัวด้วยตัวเองมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

โดยเฉพาะหนุ่มๆ ทั้ง 4 คนนี้ ที่แม้จะมีหน้าที่การงานรัดตัวแค่ไหน แต่พวกเขาก็ยังสามารถปันเวลามาปรุงอาหารกินเองได้อย่างสม่ำเสมอ แถมไม่ใช่แค่ทำอาหารได้ธรรมดา แต่ยังออกมาอร่อยและหน้าตาดีอีกด้วย ไปทำความรู้จัก และฟังเรื่องราวแรงบันดาลใจในการเข้าครัวของพวกเขาเหล่านี้กัน รับรองว่าไฟในการอยากทำอาหารกินเองของทุกคนจะต้องลุกโชนแน่


ครีเอทีฟหนุ่มนักปรุงอาหารจากความทรงจำ

ตะวัน-เทียบตะวัน ลิ้มจิตรกร คือครีเอทีฟหนุ่มใหญ่ไฟแรงแห่งเอเจนซี่ดังย่านบรรทัดทองอย่าง Rabbit’s Tale ผู้มีงานหลักคือคิดงานโฆษณาเจ๋งๆ ให้ตอบโจทย์ลูกค้า และปันเวลาบางส่วนไปให้กับงานรองอย่างการลงมือทำอาหารอร่อยๆ ที่ตอบโจทย์ความชอบของตัวเอง โดยเฉพาะรสชาติอาหารที่สร้างสรรค์จากความทรงจำวัยเด็กสมัยอยู่ในครอบครัวใหญ่ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเขาไม่เพียงนำมันกลับมาปรุงเป็นเมนูพิเศษในยามที่คิดถึงเท่านั้น แต่ยังบันทึกภาพสวยๆ เก็บไว้ และแบ่งปันในโลกออนไลน์ภายใต้แฮชแท็ก #demonpandakitchen รวมไปถึงในเพจ วิ่งแล้วกินอะไรก็ได้ (ที่เจ้าตัวหัวเราะเขินๆ ว่าไม่ได้แอคทีฟมานานร่วมปี) อีกด้วย

ทำไมถึงเริ่มต้นทำอาหารกินเอง
โดยส่วนตัวเราเป็นคนจุกจิกเรื่องกินนิดหน่อย แล้วเราก็รู้สึกว่าอาหารที่ขายข้างนอกบ้านมันไม่ค่อยอร่อย โดยเฉพาะอาหารในห้าง ซึ่งพอเทียบกับเงินที่จ่ายไปกับสิ่งที่ได้มา มันไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย สุดท้ายเราก็เลยแบบทำเองดิวะ เราวางแผนตั้งแต่ตอนเลือกคอนโดเลย ตอนเลือกที่อยู่เราเลือกจากทำเลที่มันมีตลาดที่ดี คอนโดเราอยู่ที่อ่อนนุช แล้วแถวนั้นมันมีตลาดอ่อนนุช ซึ่งเป็นตลาดที่ครบเครื่องแห่งนึงในกรุงเทพฯ คือมันไม่ได้ใหญ่มาก แต่มีของทุกอย่างครบ มีอาหารทะเล มีเนื้อ มีหมู มีไก่ มีผักไฮโซ ผักพื้นบ้าน มีผลไม้ มีเครื่องปรุง มีวัตถุดิบแทบจะทุกอย่างเท่าที่เราอยากจะได้ เชื่อไหม ช่วงแรกๆ ที่มาอยู่เราเห่อทำกับข้าวแทบจะวันเว้นวันเลย (หัวเราะ)

เรียนรู้การทำอาหารเหล่านี้มาจากไหน
ต้องเท้าความก่อนว่าโดยพื้นเพเราเป็นคนที่อยู่ในครัวแต่เด็ก เราโตมาในบ้านครอบครัวใหญ่ต่างจังหวัด (อุบลราชธานี) ซึ่งมีกันมากกว่าสิบชีวิต ทีนี้เวลาพี่ป้าน้าอาฝั่งผู้หญิงเขาจะทำกับข้าวกันทีนึงมันก็จะเป็นเหมือนงานใหญ่ กระบวนการเริ่มต้นคือไปตลาด ไปตกลงกันหน้างานว่าจะกินอะไรกัน เราก็เดินตามน้าไปช่วยเลือกนู่นเลือกนี่ตั้งแต่เด็ก ก็เลยซึมซับมาตั้งแต่ตอนนั้น เรียนรู้มาเรื่อยๆ รู้ว่าผัดผักต้องใส่อะไรก่อนหลัง ใส่น้ำมันก่อน บุบกระเทียมลงไป ใส่เนื้อสัตว์ แล้วค่อยเป็นผัก เรียกว่ามันอยู่ในสายตาเรามาตลอดแล้วก็ครูพักลักจำมาเรื่อยๆ โดยที่ตัวเราเองก็ไม่ได้ทำด้วย แค่วิ่งเล่นในครัวเฉยๆ พอเราโตขึ้นมาหน่อย บ้านเราย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ คนทำอาหารในบ้านเป็นคุณพ่อ เราก็จะมีไอดอลว่าพ่อเป็นคนทำอาหาร และการทำอาหารมันเป็นเรื่องน่าสนุก เล่นมีด เล่นไฟ ตามประสาเด็กผู้ชาย พอเขาเห็นว่าเราทำได้ เขาก็เลยเริ่มให้เราได้ช่วยทำ น่าจะตอนสักประถมสี่ประถมห้า ซึ่งก็ใช้วิธีครูพักลักจำเอาอีกเหมือนกัน

ยังจำเรื่องราวในครัวสมัยเด็กได้อยู่ไหม
เราจำได้แต่ความสนุก ถ้าเอาเรื่องที่จำได้แม่น คงเป็นครั้งที่เราอยู่กับน้องๆ แล้ววันนั้นฝนดันตกหนัก เหมือนมีปลาคาร์ฟตายในบ่อบ้านคุณยาย จำได้เลยเป็นปลาคาร์ฟสีทองๆ ส้มๆ ตายหงายท้องอยู่ เราก็แบบ เฮ้ย ทำไงดีวะ เขี่ยไปเขี่ยมาเริ่มไม่สนุกละ ก็เลยช้อนขึ้นมา วิ่งเข้าครัว ชะตากรรมต่อมาของปลาคาร์ฟตัวนั้นก็คือไปอยู่ในกระทะที่ไฟร้อน น้ำมันท่วม โดนทอดอยู่ เสร็จแล้วก็เอาไปหลอกให้น้องเรากิน แต่สุดท้ายก็กินไม่ได้เพราะว่าก้างมันเยอะมาก เรียกว่าเป็นเมนูนึงตอนเข้าครัวแรกๆ ที่จำได้ในชีวิต (หัวเราะ) ส่วนถ้าเอาเรื่องดีๆ ก็คงจะเป็นเมนูนึงที่เราทำตอนอยู่บ้านคุณยายบ่อยมาก นั่นก็คือหมูกรอบผัดคะน้า ไม่รู้แน่ชัดว่าชอบทำเพราะอะไร คลับคล้ายว่าเหมือนทำแล้วคุณยายชมว่าอร่อย ก็เลยมั่นใจ ทำมันแต่เมนูนี้อยู่นั่นแหละ เป็นคนบ้ายอ

ความทรงจำเกี่ยวกับอาหารในวัยเด็กส่งผลต่อการเลือกกินและเลือกทำอาหารในปัจจุบันไหม
ส่งผลมากๆ เพราะว่าอุบลฯ ก็เป็นจังหวัดที่มีอาหารอีสานแข็งแรงที่หนึ่ง สิ่งที่เราทำบ่อยที่สุดก็คือลาบหมู เป็นรสชาติที่ทำให้คิดถึงบ้าน เวลาที่ได้กินลาบหมูข้างนอกเมื่อไหร่ก็จะมีการเปรียบเทียบเกิดขึ้น อีกอย่างหนึ่งที่บ้านอุบลฯ ทำบ่อยก็คือก๋วยจั๊บญวน คือต้องบอกก่อนว่าเราเป็นคนที่มีความพราวด์ในหมูยออุบลมาก (หัวเราะ) เวลากินหมูยอเราจะรู้เลยว่าสิ่งนี้คือหมูยอปลอม หมูยอเชียงใหม่ นี่คือหมูยอขอนแก่น ไม่ใช่หมูยอที่อุบลฯ เราสามารถแยกธาตุได้ขนาดนั้น แต่ว่าด้วยความที่วัตถุดิบมันไม่ได้หาง่าย ต้องรอคุณน้าลงมากรุงเทพฯ ก็จะซื้อมาฝากที เมนูนี้ก็เลยไม่ได้ทำบ่อย พอได้ทำก็จะเป็นมื้อที่พิเศษมาก เรียกว่าถ้ามีหมูยอในครัว ไม่มีทางที่เราจะหั่นมากินเล่นๆ ยังไงต้องเอามาทำก๋วยจั๊บญวนแน่ๆ

ส่วนอิทธิพลของอาหารวัยเด็กอีกอย่างที่นึกออกก็คือ คนอีสานแท้ๆ จะไม่กินแกงกะทิ สิ่งนี้ก็เลยจะไม่ค่อยมีในสารบบเราเท่าไหร่ เพราะพอไม่ค่อยได้เห็นว่าทำ ไม่ค่อยได้กิน เราก็เลยไม่ค่อยอยากทำไปด้วย ส่วนอาหารที่คุณพ่อทำก็อาจจะหลากหลายหน่อย คุณพ่อเน้นทำอาหารฝรั่งให้กิน เช่น พอร์คช็อป ซึ่งก็ส่งผลกับเราอีกเช่นกัน สุดท้ายเราก็เลยได้เรียนรู้ว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่เรากินเราทำตอนเด็กๆ มันก็ shape เราเหมือนกัน

แล้วแบบนี้มีสูตรอาหารประจำตระกูลไหม
ไม่มี เราว่ามันคือตำราอาหารที่อยู่ในหัวมากกว่า มันคือความทรงจำ ไม่ใช่ตำราหรือสูตร เวลาเรารู้สึกว่าถ้าเราอยากจะกินเมนูนั้น หรืออาหารแบบนั้นๆ เราจะนึกถึงรสชาติแล้วก็ลงมือปรุงตามมัน ชิมไปปรุงไปจนกว่าจะได้รสชาติที่ชอบหรือคุ้นเคย ไม่ได้เปิดสูตรแล้วทำตาม ยกเว้นว่าพวกเมนูยากๆ ที่จะเปิดเช็คนิดนึงว่าใช่เห็ดชนิดนี้นะ ต้องใส่วัตถุดิบตัวนี้นะ แล้วเวลาปรุงเราก็กะมั่วทุกอย่าง ชิมเอาตามอร่อยหมดเลย

เมนูที่ชอบทำหรือทำบ่อยๆ คืออะไร
เราชอบทำอาหารเช้า เพราะว่าเราชอบกินไข่ มันมีวิธีเล่นกับไข่เยอะ เรียกว่าเป็นการทดลองกับไข่ เรียกว่าเป็นพาร์ทหนึ่งที่สะท้อนความสนุกด้านการทำอาหารของเรา ด้วยความว่าเราโตมากับรายการทีวีของ เจมี โอลิเวอร์ แล้วอีตานี่อ่ะก็จะเป็นผู้ชายที่เอ็นจอยกับการทำอาหารมาก มันๆ สกปรกๆ หน่อย เทปที่เราจำได้คือตอนที่เขาทำอาหารอิตาลี ทำพวกซอสเนื้อ เราก็เลยทำซอสเนื้อตามเขา แล้วจินตนาการเอาเองว่าเป็นเจมี (หัวเราะ) ส่วนใหญ่คือเราชอบทำอาหารที่มันผ่านหูผ่านตาอ่ะครับ แต่ถ้าถามถึงประเภทอาหารที่ชอบทำมากที่สุด ก็คงเป็นอาหารไทย เพราะวิธีทำมันยากดี

ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนทำโฆษณาที่ในแต่ละวันค่อนข้างยุ่ง เอาเวลาที่ไหนไปทำอาหาร
เราว่ากระบวนการทำอาหารไม่ได้นานอย่างที่คนอื่นคิด ไข่เป็นอาหารที่ใช้เวลาไม่เกินสองนาทีก็สุก มะเขือเทศถ้าใช้เวลากริลล์มันไม่เกินห้านาทีก็ได้กินละ เราว่าเบ็ดเสร็จเราใช้เวลาตั้งแต่เริ่มทำจนถึงเก็บล้างประมาณครึ่งชั่วโมงเองตอนเช้า อาหารฝรั่งมันไม่ต้องใช้การปรุงอะไรมากมาย แค่ทำให้มันสุกเท่านั้นเอง อาหารเช้ามันเป็นอะไรที่ง่ายมาก ถ้าวางแผน คิดนิดนึง มันจะเร็ว ไม่ได้ช้าแบบที่คิด แล้วเรารู้สึกว่าการที่เราอ้างว่าไม่มีเวลาทำอาหารกินเองแล้วซื้อเอาข้างนอกมันไม่ใช่ คนเรามีเวลาเท่ากัน อยู่ที่ว่าเราให้เวลากับอะไรมากกว่า บางวันเราถึงกับห่อไปกินที่ออฟฟิศเป็นข้าวเที่ยงเลยนะ มันก็ดีกว่าการไปกินข้าวตามสั่งที่ใครทำก็ไม่รู้

การทำอาหารกินเองดีกับตัวเรายังไงบ้าง
ข้อดีของการทำอาหารกินเองอย่างแรกเลยคือเรารู้ว่าเราทำอะไร ใส่อะไรลงไป เราสามารถเลือกไม่ใส่ผงชูรส เราสามารถเลือกผัก เลือกเนื้อ เลือกทุกอย่างเองได้ อย่างน้อยๆ เราก็รู้ที่มาที่ไปของมันประมาณนึง ถึงเราจะไม่ได้สายลึกขนาดต้องซื้อวัตถุดิบออร์แกนิกของฟาร์มนี้ ต้องผักปลอดสารของไร่นู้น แต่การได้เลือกสิ่งที่กินเข้าไปในร่างกายเองมันก็ดีกว่า เอาจริงๆ เราไม่ได้รังเกียจอาหารข้างนอกนะ แค่รู้สึกว่าในชีวิตประจำวันซึ่งไม่ใช่โอกาสพิเศษที่จะต้องไปกินร้านอาหาร การทำเองก็ดีกว่า

นอกจากเรื่องของสุขภาพ ในแง่จิตใจการทำอาหารให้อะไรกับเราบ้าง
สิ่งที่เราชอบที่สุดในการทำอาหาคือตอนที่ทุกอย่างมันรันอยู่หน้างาน มันเหมือนว่าเรากำลังทำสมาธิอยู่ เราค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ว่าเราเอาอารมณ์บางอย่างไปอยู่ในการทำอาหารได้ เราเอาสมาธิไปเพ่งตรงนั้นได้ เหมือนว่าการทำอาหารมันช่วยให้เราสามารถตัดบางอย่างออกจากหัว เป็นเหมือนการเคลียร์ของที่คั่งค้างจากการทำอาชีพนี้ไปได้บ้าง คนอื่นเขาอาจจะนั่งสมาธิ วิปัสสนา วาดรูป

เราใช้การทำอาหารเพื่อเป็นการโฟกัสกับตัวเอง การได้เห็นกระบวนการมันเริ่มรัน ตั้งแต่ตั้งเตา น้ำมันเริ่มเดือด ใส่เส้น มันเหมือนการฝึกฝนตัวเอง เป็นทั้ง Therapy เป็นทั้ง Hobby เป็นทั้งการดำรงชีพในคราวเดียวกัน

สุดท้ายแล้วเราว่าการทำอาหารมันคือการจำลองการลองผิดลองถูกได้ดีที่สุดอย่างนึงเลยนะ เหมือนว่าทำออกมาแล้วไม่อร่อยก็ต้องกิน เพราะว่ามันทำมาแล้ว เราก็ต้องเรียนรู้ว่าสิ่งนี้มันพลาดเพราะอะไร แล้วก็ต้องปรับปรุง มันผิดแล้ว ครั้งต่อไปต้องถูก และต้องกินอร่อยขึ้น ถ้าคุณกินแล้วยังไม่อร่อยขึ้น นั่นแปลว่าคุณพลาดรอบที่สอง ถ้ามันอร่อยขึ้นแปลว่าคุณเรียนรู้มัน มันเป็นหนึ่งในการฝึกตนนิดนึง บำบัดนิดหน่อย กันตายนิดนึง ผสมๆ กัน เรียกว่าการทำอาหารเป็น Life Lesson ของเราอย่างหนึ่ง

ศาสตร์และศิลป์แห่งอาหารของฟู้ดสไตล์ลิสต์แฟมิลี่แมน

ชิต-ชิตพล พิริยะทรัพย์ อาจเป็นอีกหนึ่งหนุ่มที่ชีวิตเกี่ยวพันกับอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้มาตั้งแต่ต้น ด้วยอาชีพฟู้ดสไตล์ลิสต์ควบเจ้าของกิจการ ซึ่งต้องคอยดูแลการจัดอาหารในการถ่ายภาพเพื่อการโฆษณา รวมถึงคิดเมนูใหม่ๆ ให้กับลูกค้าที่เป็นร้านอาหาร ส่วนเวลาว่างนอกจากการเข้าป่าไปตั้งแคมป์ชมธรรมชาติแล้ว เขาก็ยังมีความสุขกับอีกบทบาทในการปรุงอาหาร ที่ไม่ใช่หวังผลแค่ความสวยงาม แต่รวมไปถึงรสชาติความสุข และสุขภาพที่ดีของคนในครอบครัวด้วย

สนใจทำอาหารกินเองตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วทำไมถึงชอบทำ
ชอบทำอาหารตั้งแต่ม.ปลายครับ แม่เป็นคนทำอาหารเก่ง เลยอยากเก่งเหมือนแม่บ้าง พยายามเข้าไปดูเข้าไปช่วยเยอะๆ ถามโน่นถามนี่ แต่ส่วนใหญ่จะโดนไล่ออกมา (หัวเราะ) จนวันนึงเราลองทำกับข้าวง่ายๆ ให้ที่บ้านกิน ซึ่งกลายเป็นว่าทุกคนชอบ หลังจากนั้นก็เลยอยากเรียนรู้ สนใจในเรื่องการทำอาหารมากขึ้น เอาจริงๆ แล้วการทำอาหารก็เหมือนกับงานศิลปะที่รวมหลายๆ ศาสตร์เข้ามาในจานแล้วกินได้ ถ้าคนชอบในสิ่งที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาเราก็ดีใจ หลังจากนั้นก็เลยทำมาตลอด

อาหารที่ทำส่วนใหญ่เป็นประเภทไหน
ถ้าตอนนี้ที่ทำส่วนใหญ่ก็เป็นอาหารที่กินกันที่บ้านธรรมดาๆ เป็นกับข้าวที่กินกันได้หลายๆ คน ซึ่งอันนี้คือเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าแม่ไม่ว่างก็ต้องเป็นเราที่ทำให้คนในบ้านกิน (หัวราะ) ก็ใช้วิธีเอาวัตถุดิบในตู้มาดัดๆ เปลี่ยนๆ นิดหน่อย สนุกดี นอกเหนือจากนี้เราก็ทำไปเรื่อย สเต๊ก ก๋วยเตี๋ยว ซูชิ สปาเก็ตตี้

เรียนรู้การปรุงอาหารเหล่านี้มาจากไหน
ช่วงที่สนใจมากๆ เคยขอแม่ไปเรียนจริงๆ จังๆ เลย ไปเข้าหลักสูตรระยะสั้นที่วิทยาลัยดุสิตธานี แล้วก็ฝึกงานที่โรงแรมต่อไปเรื่อยๆ มีเพื่อนชวนไปเปิดร้านบ้าง มีเพื่อนแนะนำให้ไปเป็นเชฟที่ร้านย่านทองหล่อบ้าง จนมีโอกาสได้ไปร่วมงานกับเชฟเจ้าของร้านอาหารอิตาเลี่ยนสไตล์ญี่ปุ่นที่ชิสุโอกะระยะนึง ก็เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาเรื่อยๆครับ ทุกวันนี้ก็ยังคงเก็บต่อไป

การทำอาหารกินเองกับตอนทำงานฟู้ดสไตล์ลิสต์ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง
การทำอาหารกินเองส่วนใหญ่เราจะติดจากแม่มา คือเวลาทำให้ครอบครัวกินจะคำนึงถึงสุขภาพมากกว่า อย่างน้ำมันจะใช้น้อยๆ เบาเค็มลงหน่อย หมู ไก่จะกินน้อย เน้นปลาทะเล กุ้งทะเล ไม่ใส่ผงชูรสเลยประมาณนี้ อ้อ และติดความงกมาจากแม่เล็กน้อยด้วย (หัวเราะ) คือถ้าออกไปกินข้างนอกกัน เมนูไหนเราทำได้ เรารู้ราคาวัตถุดิบ ก็จะแอบรู้สึกเสียดายเงินเล็กน้อย เลยคิดว่าเอาเฉพาะโอกาสพิเศษละกัน ส่วนตอนทำสไตล์ลิสต์เราเน้นที่ภาพอย่างเดียวเลย คือองค์ประกอบอาหารในจานต้องดูดีน่ากิน สีสวย และของด้านนอกต้องช่วยสร้างเรื่องราวให้อาหารดูน่าสนใจ ซึ่งมันก็ส่งผลกระทบกับการทำอาหารของเรานิดหน่อยคือ พอเรากลับมาทำที่บ้าน อาหารในจานนึงๆ เราก็จะพยายามใส่สีให้ครบเหมือนกัน แต่งหน้าให้ดูสวยน่ากินตั้งแต่เห็น

ทำอาหารกินเองดีตรงที่เรารู้ว่าอะไรที่จะใส่มาในจานให้เรากิน ตั้งแต่วัตถุดิบ ราคา ความสะอาด รสชาติ เราควบคุมได้หมดเลย ถ้าเราไปกินข้างนอกเขาปรุงมายังไง ใส่อะไรมา เราก็ต้องกินไปตามนั้น และถ้าเรามีเวลาได้ทดลองทำอาหารใหม่ๆ มันก็เป็นความสนุกของตัวเราเองด้วย

นอกจากความอร่อยและหน้าตา คิดว่าอาหารทำเองที่ดีควรมีองค์ประกอบอะไรอีกบ้าง
ส่วนตัวคิดว่าควรจะนึกถึงสุขภาพกับความสะอาดก่อนครับ คือไม่ใส่ผงชูรสเลย ล้างผักให้สะอาด น้ำมันน้อยๆ ทำอาหารที่มีประโยชน์จริงๆ อะไรแบบนี้

แล้วการทำอาหารกินเอง ทำให้เพื่อนกิน และทำให้ครอบครัวกิน ต่างกันไหม
ต่างครับ ถ้าทำกินเองก็จะเน้นทำอะไรง่ายๆ เลย อย่างข้าวผัด หรืออะไรที่กินคนเดียวได้ง่ายๆ น้ำพริกกะปิคลุกข้าวกับผักสดก็กินได้แล้ว แต่ถ้าทำให้ครอบครัวกินก็จะเน้นเรื่องสุขภาพหน่อยเพราะว่าพ่อแม่อายุเยอะแล้ว ส่วนถ้าทำให้ภรรยาไปกินที่ทำงานจะเลือกทำเป็นอาหารคลีนไปเลย ขณะที่ถ้าทำให้เพื่อนกิน นี่ส่วนใหญ่จะเน้นเอามันเอาสนุก อย่างอาหารประเภท เนื้อ สเต๊ก ซูชิ หรืออาหารเชิงทดลองที่แปลกแหวกแนว เน้นที่รสชาติกับความครีเอทีฟ อ้อ แต่ไม่ใส่ผงชูรสนะครับ

นอกจากทำกินเองแล้ว ยังถ่ายภาพอาหารขายใน Stock Photo ด้วย
ใช่ครับ จริงๆ แล้วอันนี้ต่อยอดมาจากงานฟู้ดสไตลิสต์ ทำร่วมกับรุ่นพี่อีกสองคน คือก็ทำไปเรื่อยๆ ถ่ายแล้วเอาลงไปเรื่อยๆ ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก ทำสนุกๆ เผื่อฟลุ๊คก็ได้เงินใช้ วันไหนทำอาหารกินที่บ้านแล้วแสงสวยๆ ก็จะถ่ายเก็บไปลงขายใน Stock Photo ถ้าขายได้ก็ถือว่ากำไรครับ

โปรเจกต์แมเนเจอร์หนุ่มรักสุขภาพผู้หลงใหลในวัฒนธรรมท้องถิ่น

เบสท์-ทศพล หาญเจริญกุล แนะนำตัวเองกับเราว่าเป็น Project Manager  ของ Warehouse 30 Community Complex แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง เขาคือชายหนุ่มรักสุขภาพ ผู้เลือกจะดูแลตัวเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่การลงมือปรุงอาหาร ไปจนถึงการออกกำลังกาย แถมยังแบ่งเวลาอีกด้านของชีวิตให้กับความสนใจทางด้านวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่น ซึ่งรวมไปถึงศิลปะการทำขนมไทยด้วย

ทำไมถึงเริ่มต้นทำอาหารกินเอง
เราสนใจทำอาหารกินเอง ตั้งแต่ช่วงประมาณปี 3 เนื่องจากเริ่มออกกำลังกายและดูแลรูปร่างตัวเอง ซึ่งการทำด้วยตัวเองเนี่ย มันทำให้เรามั่นใจได้ว่าอาหารที่กินเข้าไป ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อเราจริงๆ เพราะเราเป็นคนควบคุมกระบวนการปรุงด้วยตัวเอง หาวัตถุดิบเอง ล้างเอง ประกอบเอง ในทุกขั้นตอน ขณะที่อาหารที่ซื้อกินข้างนอกมันเสี่ยงต่อการสะสมไขมันและแป้งมากกว่า เราก็เลยอาศัยการเรียนรู้เอาจากหนังสือบ้าง ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตบ้าง  แล้วนำมาวิเคราะห์ ดัดแปลงให้เหมาะกับตัวเรา

อาหารที่ดีกับการดูแลตัวเองของเราเป็นแบบไหน
เราไม่ได้เน้นว่าต้องเป็นอาหารคลีนแบบเป๊ะๆ ต้องอกไก่ทุกมื้ออะไรแบบนั้น การเคร่งมากไปมันก็ทำให้เกิดความเครียดสะสม ประกอบกับความที่เราเป็นคนกินง่าย ขอให้เป็นอาหารที่ทำเอง เลือกซื้อวัตถุดิบเอง ปรุงเอง หลีกเลี่ยงไขมันส่วนเกิน เช่น สลัดไข่ ผัดกะเพราไก่ แบบใช้น้ำแทนน้ำมัน เราก็คิดว่าโอเคแล้ว

นอกจากอาหารแล้วเห็นว่ายังทำขนมไทยด้วย ทำไมถึงสนใจทำขนมไทย
เราสนใจอะไรไทยๆ  เราจึงให้ความสำคัญมากกับอะไรที่เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะขนมไทย ที่เรารู้สึกว่ามันสวยเหลือเกิน เป็นเสน่ห์แบบที่ชวนให้คนกินหลงใหลได้ไม่ยาก ขนาดว่าหลายครั้งก็ไม่อยากกินเพราะเสียดายความสวย (หัวเราะ) รวมถึงทุกวันนี้เรารู้สึกว่าขนมไทยแทบจะล้มหายตายจากไปจากสังคมแล้ว โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นใหม่ที่รู้จักขนมไทยเพียงแค่ชื่อ เราเลยสนใจศึกษาเรียนรู้เรื่องขนมไทยอย่างจริงจัง เพราะมีเป้าหมายอยากเผยแพร่ศิลปะการทำขนมไทยให้คนได้รู้จักมากขึ้น เรามักจะมีสโลแกนที่พูดติดปากคือ อยากให้คนไทยทำขนมไทยหรืออาหารไทยได้ เหมือนที่คนไทยร้องเพลงชาติไทยเป็น

เล่าถึงขนมไทยที่ชอบทำหรืออยู่ในความทรงจำให้ฟังหน่อย
ขนมที่เราชอบทำที่สุดคือ ลูกชุบ เพราะมันเป็นขนมที่มีส่วนผสมกันระหว่าง ความสวยงาม ความคิดสร้างสรรค์ และความอร่อย ต้องใช้กระบวนการที่ซับซ้อนแบบที่ไม่มีชาติไหนทำ และใช้เวลาพอสมควรในการที่จะรังสรรค์ออกมา เชื่อไหม เคยถึงขนาดมีคนไม่กล้ากินเพราะบอกว่ามันสวยเกินไป แต่พอได้กินแล้วกลับกินไม่หยุด ซึ่งมันเป็นอะไรที่มีคุณค่าทางจิตใจกับเรามาก

บทบาทของนักถ่ายทอดความรู้เรื่องขนมไทยมาจากไหน
นอกจากทำกินเอง และฝากคนรู้จักเป็นครั้งคราวแล้ว คนก็ชอบถามว่าเราทำขายที่ไหน แต่เปล่าเลยเราไม่ได้ทำขาย เราทำเพราะอยากทำ ทำเพราะมีความสุข จนสุดท้ายมีคนถามมากเข้าเราเลยเกิดแนวคิดว่าถ้าอย่างนั้นก็สอนเขาให้มีความรู้เลยจะดีกว่า เขาจะได้มีวิชาติดตัวเอาไปสร้างความสุขให้กับคนอื่นๆ ได้ด้วย ประกอบกับมีพี่ที่รู้จักเปิดสตูดิโอชื่อ Joyful studio  และชอบในความประณีตของขนมไทยที่เราทำ ก็เลยเกิดเป็นเวิร์กช็อปสอนทำขนมไทยเกิดขึ้น แต่เป็นการสอนในแบบที่เน้นให้ทำออกมาสวยและดี สำหรับกินเองภายในครอบครัว ไม่ใช่หลักสูตรขนมไทยสำหรับเปิดร้านขาย

การทำอาหารเปลี่ยนชีวิตเราได้ ถ้าคนเรารักตัวเอง เราจะไม่ยอมกินอะไรที่เป็นโทษต่อร่างกายของเราเข้าไปหรอก เพราะสุดท้ายแล้วใครๆ ก็อยากสุขภาพดี ดูดี ดูไม่แก่ ด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันสร้างกันได้ด้วยการเริ่มต้นที่อาหาร

หนุ่มนักแปลหนังสือผู้สนใจรากแห่งอาหารและอินกับวิถีเรียบง่าย


เมน-ฐณฐ จินดานนท์ อดีตบก.หนุ่มสายเศรษฐกิจและการเมืองแห่งสำนักพิมพ์ openworlds ผู้ผันตัวเองมาเป็นนักแปลหนังสือฟรีแลนซ์อย่างเต็มตัวไม่นานมานี้ และกำลังจะมีผลงานแปลหนังสือเรื่อง ‘Your Money or Your Life’ (ว่าด้วยการประหยัดเงินโดยการใช้ชีวิตแบบอะไรที่ทำเองได้ก็ทำ) ด้วยความที่คร่ำหวอดกับวงการหนังสือมาอย่างยาวนาน และสนใจในการใช้ชีวิตวิถีเรียบง่าย ทำให้อาหารแต่ละจานที่เขาปรุงเองไม่เพียงแต่อุดมไปด้วยความอร่อย แต่ยังสะท้อนถึงหลักปรัชญาของอาหารที่เขาสนใจมากพอๆ กับการลงมือทำอีกด้วย

หน้าที่การงานที่เอื้อให้ดีไซน์เวลาชีวิตเองได้ ทำให้เราเลือกทำอาหารกินเองทุกมื้อไหม
ไม่ทุกมื้อ มื้อเช้าเราจะทำเอง ปกติจะทำแบบง่ายๆ อย่างก่อนหน้านี้ก็จะซื้อพวกข้าวโอ๊ต แล้วก็ดริปกาแฟกินเอง ส่วนกลางวันแม่จะเป็นคนทำ พอตอนเย็นก็สลับกลับมาเป็นเรา แต่ช่วงนี้ตอนเช้าเราจะกินพวกขนมปังปิ้ง ออมเล็ต กับแยมเป็นส่วนใหญ่ คือเราจะเป็นพวกชอบกินของอย่างเดียวซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ กินได้จนเราเบื่อแล้วเราก็จะเปลี่ยนมากินอย่างอื่นซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ อีก

แล้วสนใจทำอาหารกินเองมาตั้งแต่เมื่อไหร่
จริงๆ เราสนใจการทำอาหารมาตั้งแต่เด็ก ดูรายการทำอาหารตั้งแต่ประถม รายการที่ดังมากๆ ตอนนั้นเลยคือหมึกแดง พอช่วงมัธยมฯ ที่เราพอทำอาหารได้ เวลาต้องอยู่กับน้องสองคนเราก็ต้องเป็นคนทำอาหารให้น้องกิน ทำๆ ไปก็เริ่มเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เราว่าการได้กินอาหารอร่อยมันมีความสุขนะ ยิ่งถ้าเราทำแล้วคนที่เราแคร์เขารู้สึกอร่อย เราก็ยิ่งรู้สึกดี อย่างน้องเราเป็นคนไม่กินแกงกะหรี่เลย จะแบรนด์ดังบนห้างเจ้าไหนก็ตาม แต่แกงกะหรี่ที่เราทำเขากลับชอบกิน นอกจากนี้มันก็มีเรื่องที่น่าสนใจมากมายเกี่ยวกับอาหาร เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา อาหารเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมต่างๆ ยังไง ทำไมอาหารแต่ละชาติไม่เหมือนกัน วัตถุดิบมันเอามาพลิกแพลงอะไรได้บ้าง เป็นต้น

ประวัติศาสตร์ที่ศึกษามีผลต่อการเลือกทำอาหารไหม
ก็มีผล อย่างช่วงนี้เราชอบเรื่องอาหารจีนก็จะพยายามทำอาหารออกแนวจีนๆ ผัดๆ หน่อย อินขนาดว่าซื้อกระทะเหล็กไว้ที่บ้าน ช่วงไหนศึกษาเรื่องอาหารญี่ปุ่นก็จะเน้นทำอาหารญี่ปุ่นบ่อย ซึ่งอาหารประเทศนี้เป็นวัฒนธรรมอาหารที่เราศึกษาแล้วชอบที่สุด ปกติเนี่ยถ้าเรานึกภาพอาหารญี่ปุ่นเราก็จะนึกถึงปลาดิบ ปลาแซลมอน ปลาโอ นึกถึงอะไรที่เป็นซีอิ๊วรสชาติหวานๆ วัตถุดิบหลักๆ อย่าง โชยุ มิริน สาเก มิโสะ แล้วก็ดาชิที่เป็นน้ำสต็อกปลากับคมบุ แต่ว่าพอศึกษาลึกลงไปถึงปรัชญาของอาหารญี่ปุ่น จะรู้ว่าหลักการที่แท้จริงของมันคือการเลือกใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นต่างหาก

หลายคนอาจคิดว่าอาหารญี่ปุ่นคืออาหารที่ต้องราคาแพง แต่หัวใจสำคัญของมันจริงๆ แล้วมีที่มาจากความขาดแคลน ทำให้คนแต่ละท้องถิ่นต้องใช้ของที่มีในฤดูกาลมาปรุงเป็นอาหาร เพราะของที่มีในฤดูกาลมันราคาถูก แล้วก็เป็นของที่มีคุณภาพดี จากของที่มีน้อยก็ต้องเอามาทำให้มันเกิดคุณค่ามากที่สุด ซึ่งยิ่งเราสนใจและศึกษาเรื่องนี้ ก็ยิ่งทำให้เราไม่ยึดติดว่าอาหารแต่ละจานจะต้องใส่วัตถุดิบนั้นนี้เป๊ะๆ เราแค่ดัดแปลงให้รสชาติมันพอคล้ายคลึง ของที่เรามีในประเทศก็สามารถหยิบเอามาดัดแปลงได้ อย่างลูกชิ้นปลา หรือผัก เราก็ดูละว่ามันเอาไปใช้ได้ไหม ไม่ต้องไปซื้อของที่อิมพอร์ตมาจากญี่ปุ่น ซึ่งก็ตรงกับหลักปรัชญาของมันคือการใช้ของที่มีอยู่

เมนูที่ชอบทำเป็นพิเศษ
มีอาหารหลักๆ ที่เราทำบ่อยอยู่สองอย่าง อย่างมื้อเย็นที่ทำประจำเนี่ยมักจะเป็นอาหารที่ทำได้เร็ว เช่น พาสต้า ผัดผัก อาหารจานไก่ ไก่ผัดเปรี้ยวๆ หวานๆ ใส่ถั่วแบบจีนเสฉวน (ลักษณะจะคล้ายไก่ผัดเม็ดมะม่วง แต่ใส่ถั่วลิสงแทน) หรือบางวันถ้าอยากกินเนื้อก็จะทำสเต๊กเนื้อวัว แล้วก็จะมีวันเสาร์ที่เรามักจะทำอาหารแนวต้มนานๆ เตรียมนานๆ หน่อย อย่างแกงกะหรี่ หรือบางทีก็เป็นแกงอินเดีย Tikka Masala อะไรแบบนี้ เพราะรู้สึกว่าวันเสาร์อาทิตย์มันไม่ต้องทำงานเยอะ ก็จะพยายามหาอย่างอื่นทำมากขึ้น แต่บางทีก็มีแอบเปลี่ยนมาทำวันธรรมดาบ้างนะ เอาจริงๆ ด้วยความว่าเราทำงานแปลหนังสือ มันก็จะค่อนข้างกำหนดเวลาของตัวเองได้พอสมควร

ช่วงเวลาไหนในชีวิตที่มีผลต่อพัฒนาการด้านการทำอาหารของเรามากที่สุด
ตอนไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนอยู่ที่สวีเดน ตอนนั้นเนี่ยเรียกว่าแทบจะไม่สามารถกินอาหารนอกบ้านได้เลยเพราะว่าราคามันแพงมาก ส้มตำจานนึงสี่ร้อยบาท กะเพราเป็ดจานนึงก็สี่ร้อยบาท แล้วจะให้กินอาหารฟาสฟู๊ดทุกมื้อมันก็ไม่ไหว นอกจากกินก็ไม่อิ่ม ราคาก็ยังไม่ใช่ถูกๆ แซนด์วิชสองร้อยห้าสิบบาทอะไรแบบนี้ มันก็เลยดีกว่าที่จะทำข้าวกล่องไปกินตอนกลางวัน เพราะนอกจากอาหารจะถูกปากเรามากกว่า ยังประหยัดกว่าด้วย เรียกว่านักเรียนที่โน่นแทบจะทุกคนห่อข้าวไปกินเองหมดเลย แต่ว่าจะให้ตื่นมาทำตอนเช้าทุกวันก็ไม่ไหว เราก็เลยต้องทำอะไรที่มันเป็นหม้อใหญ่ๆ ต้มนานๆ ประเภทแกงเขียวหวาน จับฉ่าย มัสมั่น ใส่กล่องแพ็คไว้ แล้วค่อยๆ ทยอยเอาออกมาอุ่นกิน

ประสบการณ์อย่างหนึ่งที่ตื่นเต้นมากๆ นอกจากการทำอาหารคือการไปเลือกซื้อวัตถุดิบในซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะบางอย่างเราไม่รู้ว่าคืออะไรเลย เนื่องจากมันติดป้ายเป็นภาษาสวีเดน บางอันมันไม่มีในเมืองไทยเราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารสชาติมันเป็นยังไง อย่างปลาดองมัสตาร์ดงี้ แต่ว่าเราเป็นคนชอบลอง ก็เลยลองซื้อมาแล้วเอามาเสิร์ชดูว่าคืออะไร ส่วนความสนุกอีกเลเวลหนึ่งก็คือเวลาเราอยากกินอาหารไทย ด้วยความที่วัตถุดิบที่มีที่โน่นมันไม่ได้ครบเครื่องแบบบ้านเรา ก็ต้องรู้จักพลิกแพลงหาอะไรอย่างอื่นที่พอจะทดแทนกันได้ อย่างแกงเขียวหวานใส่มะเขือม่วงแทนมะเขือเปราะ ซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็นสกิลการดัดแปลงที่ติดตัวเรากลับมา

ทำอาหารกินเองดียังไง
อย่างแรกเลยประหยัดค่าใช้จ่าย อย่างที่สองคือเราสามารถควบคุมส่วนผสมเองได้ กับข้าวในเมืองไทยมันมักจะมันๆ ซึ่งบางทีเราก็อยากกินอะไรที่มันดีกับสุขภาพมากกว่า นอกจากนี้เรายังสามารถเลือกใส่อะไรที่มันเป็นประโยชน์กับตัวเราได้ อย่างมิโสะเนี่ย จริงๆ แล้วมันมีประโยชน์มากนะ ช่วยเสริมสร้างแบคทีเรียในลำไส้ ช่วยป้องกันมะเร็ง แล้วก็ทำให้ร่างกายทำงานได้ดีขึ้น แต่ว่าถ้าเราไปกินร้านทั่วๆ ไปมันก็ไม่มีให้เรากินถูกไหม

เราเป็นคนชอบกินเครื่องเทศ พอเราไม่สบาย ถ้าเรารู้ว่าสมุนไพรตัวไหนมันช่วยเราก็จะใส่มันลงไป

เอาจริงเราไม่ได้เคร่งเรื่องสุขภาพมากนะ ไม่ได้กินคลีน แต่โอเค เราเน้นเรื่องการปรุงให้ไม่จัดมาก ไม่ใช้ผงชูรส ควบคุมการใช้น้ำมัน อย่างอาหารผัดก็จะพยายามไม่ใช้เยอะมาก จะได้ไม่ออกมามันเยิ้ม แล้วก็จะควบคุมพวกปริมาณไก่ ปริมาณโปรตีน แต่ก็ไม่ถึงขนาดว่าต้องชั่งน้ำหนักไก่ก่อนกิน

มีหนังสือเกี่ยวกับอาหารที่ชอบอ่านแนะนำบ้างไหม
มีหนังสือเล่มนึงเกี่ยวกับอาหารญี่ปุ่นที่เราชอบมาก แล้วมันดีมากเลย ชื่อว่า Japanese Cooking: A Simple Art คือปกติเวลาเราคิดถึงหนังสือทำอาหาร เราจะนึกถึงหนังสือที่มีรูปเยอะๆ มีส่วนผสม วัตถุดิบ วิธีทำ แต่เล่มนี้ไม่ใช่ มันสอนลึกถึงแนวคิดเกี่ยวกับอาหารญี่ปุ่นเลย ตั้งแต่การเสิร์ฟ ทำไมต้องเสิร์ฟเป็นแบบ 14 คอร์ส แต่ละเทคนิควิธีอธิบายอย่างละเอียดว่ามันกำเนิดมาจากอะไร เวลาเสิร์ฟทำไมต้องเรียงแบบนี้ อาหารญี่ปุ่นเวลาเสิร์ฟเขาจะเสิร์ฟเรียงตามเทคนิคที่ใช้ ซาซิมิ ซุปใส ซุปข้น อาหารจานย่าง อาหารจานทอด อะไรแบบนี้ เหมือนหนังสือเล่มนี้มันทำให้เราเข้าใจความเป็นอาหารญี่ปุ่นมากขึ้น คือจริงๆ ในเล่มก็มีสูตรอาหารบ้างนะ แต่สิ่งที่ทำให้เล่มนี้มันเจ๋งก็คือมันสอนเกี่ยวกับวิถีของอาหาร สอนตั้งแต่ วิธีลับมีด วิธีแล่ปลาตัวกลม วิธีแล่ปลาตัวแบน วิธีเตรียมเนื้อ ส่วนผสมแต่ละอย่างควรใช้ยังไง เก็บรักษายังไง เรียกว่าละเอียดมาก

นอกจากทำอาหารแล้ว ยังมีโปรเจ็กต์อะไรเกี่ยวกับอาหารที่ทำอีกบ้าง
เราเปิดเพจ ชื่อว่า Made in Myland จริงๆ มันเกิดมาจากความรู้สึกที่ว่า เราเป็นคนทำหนังสือแบบ Non-Fiction ในเฟซบุ๊กเราก็จะมีแต่เรื่องหนักๆ เรื่องการเมือง แต่เรารู้สึกว่ามันยังมีอีกด้านมุมนึงของเราอยากเขียนถึง การใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย รีวิวหนังสือ การทำอาหาร สูตรอาหาร แต่พอจะเอาเรื่องอาหารอะไรแบบนี้ไปโพสต์ในหน้าเฟซบุ๊กที่ดูจริงจัง เราก็รู้สึกเขินๆ นิดนึง ความตั้งใจตอนแรกของเราตอนเปิดเพจก็คืออยากเอาไว้พูดอะไรก็ได้ที่เราอยากพูด ซึ่งหลักๆ แล้วก็กลายเป็นว่าเป็นเรื่องอาหารซะเยอะ และตอนนี้เรากำลังขอทุนจะไปเรียนต่อที่เยอรมันอยู่ สมมติถ้าได้ไป เราก็มีแพลนในอนาคตว่าอยากจะเขียนเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นู่น ซึ่งรวมถึงเรื่องอาหารด้วย