‘เปลี่ยนที่ตัวเรา’

เราเชื่อว่ากลุ่มคำทรงพลังนี้ ได้ทำให้ใครหลายคนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อหวังสร้างผลกระทบเชิงบวกจากสิ่งที่ได้ลงมือทำ ซึ่งอาจจะเริ่มต้นด้วยเรื่องเล็กๆ อย่างการปฏิเสธถุงพลาสติก อุดหนุนสินค้าเกษตรปลอดสารพิษ หรือกระทั่งปวารณาตัวเองเป็นมังสวิรัติเพราะตั้งใจจะไม่บริโภคเนื้อสัตว์จากระบบปศุสัตว์อุตสาหกรรม

แต่สำหรับ ชุมพล และ วรรณี พิพัฒน์เมฆินทร์ หรือที่เพื่อนพ้องกรีนยาณมิตรเรียกติดปากกันว่า ‘พ่อกุ๊ก’ และ ‘แม่เป้’ พวกเขาไม่เพียงแค่พกขวดน้ำ หิ้วปิ่นโต และทดลองปลูกผักสวนครัวเพื่อเข้าถึงวิถีสีเขียวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ทั้งคู่ยังเชื่อว่า คนหนึ่งคนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้กว้างขวางกว่านั้น จึงเริ่มต้นผลักดันโครงการ Farm To You ส่ง/ฟาร์ม/สด ซึ่งเชื่อมโยงอาหารดีมีคุณภาพตามฤดูกาล จากเกษตรกรรายย่อยที่ใส่ใจวิถีเกษตรธรรมชาติ ปลอดสารพิษ ให้ส่งไปถึงผู้บริโภคด้วยวิธีพรีออร์เดอร์ผ่านโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งอธิบายอย่างคร่าวได้ว่า กำไรที่ได้จากการขายผลผลิต จะนำไปอุดหนุนโครงการ Farm To School ที่ช่วยให้เด็กๆ ในโรงเรียนได้วัตถุดิบปลอดภัยจากฟาร์มในราคาต้นทุน

เราได้ยินโมเดลน่าสนับสนุนนี้มาพักใหญ่ แต่มาได้โอกาสคุยกันยาวๆ ถึงแนวคิดเบื้องหลังธุรกิจนี้ในวันเปิดร้าน Farm To You วันแรกเมื่อ 12 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญในการสร้างห่วงโซ่อาหารปลอดภัยให้เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ จากการเริ่มต้นของกลุ่มคนเล็กๆ ที่เข้มแข็ง

Small changes can make a big difference. คือสิ่งที่พวกเขาเชื่อ, และคือสิ่งที่พวกเขาทำ

แรกที่เริ่ม: จากมนุษย์เงินเดือนสู่ผู้ปกครองอาสาสมัคร
เมื่อถามถึงจุดเริ่มต้น พ่อกุ๊กแม่เป้บอกว่าคงต้องย้อนไปสมัยที่ยังเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีไลฟ์สไตล์เช่นหนุ่มสาวออฟฟิศทั่วไป จนกระทั่งทั้งคู่ได้สถานะใหม่ในฐานะ ‘ผู้ปกครอง’ ของลูกๆ ซึ่งเข้าเป็นนักเรียนโรงเรียนทอสี ที่ซึ่งไม่เพียงแต่สอนวิชาความรู้ให้กับเด็กๆ แต่ยังสอนผู้ปกครองผ่านการทำให้เห็น

“โรงเรียนสอนลูกแล้วสอนมาถึงพ่อแม่ด้วย สอนเรื่องการดูแลความเป็นอยู่ สอนว่าเรากับธรรมชาติต้องอยู่ร่วมกัน อย่างแรกเลยที่ผมเปลี่ยนก็คือกระบอกน้ำ ผมเข้าไปครั้งแรกก็เห็นคุณครูทุกคนพกกระบอกน้ำ แต่ก็ไม่ได้มาบอกให้เรามาพกด้วยหรอกนะ แต่เขาทำให้ดู อยู่ให้เห็น โรงเรียนสอนเรื่องคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม พอผมได้ปุ๊บ ก็ขยายต่อไปสู่เพื่อนๆ ในกลุ่มสวนผักคนเมือง”

และเมื่อได้ยกมือเป็นอาสาสมัครในฐานะผู้ปกครอง พ่อกุ๊กก็ริเริ่มด้วยการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างข้างโรงเรียนให้การเป็นสวนผักแปลงทดลองในชื่อสวนผักเบิกบาน เขายอมรับว่าตั้งใจที่สร้างพื้นที่นั้นให้กลายเป็นชุมชนของผู้ปกครอง ที่จะช่วยกันเรียนรู้เรื่องเกษตรปลอดสารพิษและส่งผลผลิตเข้าโรงเรียนให้เด็กๆ ได้กินผักปลอดสารพิษอย่างครบวงจร แต่ในความเป็นจริง ด้วยพื้นที่ที่ไม่ใหญ่โตนักและความเป็นมือใหม่ที่อาศัยใจเป็นที่ตั้ง จึงไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ในระดับจับต้องได้

“เราเป็นมือใหม่ ต่อให้ปลูกได้เต็มแปลงเลย อาจจะได้ผลผลิตเข้าโรงเรียนได้แค่สองวันจบ มันไม่มีความต่อเนื่อง แปลงผักจึงกลายเป็นที่เรียนรู้ของเด็กๆ ไป ส่วนผมก็ถอยออกมา แต่ความสนใจเรื่องอาหารเข้าโรงเรียนยังอยู่ เพราะเวลามีเวทีเสวนา ระดมความคิด เราได้เห็นไอเดียต่างๆ ทั้งโครงการ organic to the city หรือเวทีเสวนาที่มีชาวญี่ปุ่นมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับ organic to school ได้พบเจอเครือข่ายหลายๆ ที่ ได้เห็นความเป็นไปได้ แต่พอคุยกันจบแล้วก็จบ แล้วก็เชิญมาคุยกันใหม่ ไม่เกิดอะไรขึ้น ผมก็เลยคิดว่า

“ลองคิดโมเดลดูไหม ถ้าไม่มีใครทำ อาจจะต้องทำเองแล้วล่ะ แต่ผมมีแค่คนเดียว งั้นเริ่มทำเล็กๆ ที่โรงเรียนทอสีก่อนแล้วกัน”

ตลาดของกัลยาณมิตร สู่เครือข่ายกรีนยาณมิตร
เพราะอยู่ในเครือข่ายสวนผักคนเมือง และได้ยินได้ฟังอยู่เสมอว่าไม่มีพื้นที่แลกเปลี่ยนมากเท่าที่ควร พ่อกุ๊กจึงคิดเรื่องตลาดชุมชนขึ้นมา และเริ่มต้นจัด ‘ตลาดทอสีเบิกบาน’ แล้วชักชวนกัลยาณมิตรและเครือข่ายสีเขียวมาร่วมกันเปิดร้าน โดยเน้นความเป็นชุมชนและต่อยอดไปสู่ตลาด Zero-waste ในครั้งที่ 3 เพื่อลดขยะที่เกิดจากการจัดตลาดให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นด้วย

และจากชุมชนเล็กๆ จากการจัดตลาด ทำให้พ่อกุ๊ก แม่เป้ ได้รู้จักผู้ผลิตและเครือข่ายหลากหลาย โมเดลที่มองหาในการสานต่อแนวคิด Farm To School จึงเริ่มต้นขึ้น ผ่านรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ในชื่อ Farm To You โดยเปิดรับสั่งจองผลผลิตปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู ไก่ ไข่ รวมถึงอาหารทะเลจากประมงพื้นบ้าน และผักผลไม้ตามฤดูกาล ที่ผลิตแบบอินทรีย์ตามวิถีธรรมชาติ แล้วมีจุดฟาร์มดรอปรับส่งของกันทุกสัปดาห์ ซึ่งกำไรจากการขาย จะนำไปอุดหนุนส่วนต่างในการส่งอาหารที่ดีมีคุณภาพเข้าครัวโรงเรียน นั่นแปลว่า เด็กๆ จะได้รับประทานอาหารดีด้วยงบประมาณเดิมที่โรงเรียนจัดหาได้

ร่วมด้วยช่วยกันหนุน
นอกจากพลังของพ่อกุ๊ก แม่เป้ ที่รับหน้าที่พ่อค้าแม่ค้าคนกลาง โครงการนี้ยังได้รับทุนสนันสนุนจากโครงการคิดเปลี่ยนเมือง สวนผักคนเมือง: ปลูกเมือง ปลูกชีวิต ปี 2559 และเครือข่ายต่างๆ ที่มาร่วมไม้ร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนทอสีเอง ที่เอาด้วยกับความพยายามในการเปลี่ยนแปลงนี้ โครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์ โดยมูลนิธิสายใยแผ่นดินที่จัดส่งอาหารทะเลปลอดฟอร์มาลีนให้สมาชิกอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง วังรีคลีนที่ส่งผักกรอบๆ สดๆ ปลอดสารพิษมาให้อร่อยอย่างสม่ำเสมอ Green Pork ที่ส่งเนื้อหมูเลี้ยงปล่อยในวิถีเกษตรอินทรีย์ได้อย่างต่อเนื่อง เลยรวมไปถึงปศุสัตว์ปลอดภัยจากแทนคุณออแกนิคฟาร์ม

“เราค่อยๆ ทำจากชุมชนเล็กๆ ค่อยๆ ขยายตามกำลัง ค่อยๆ เรียนรู้ร่วมกัน เราเป็นผู้บริโภคกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่เพียงแค่ซื้อขาย เพื่อบริโภค แต่เราเรียนรู้สู่การเป็นผู้บริโภคเชิงคุณภาพ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย เพื่อส่งผลผลิตคุณภาพตามฤดูกาล จากฟาร์มสู่ครัวโรงเรียน และสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน”

ผลลัพธ์ขวบแรก
ในระยะเวลา 1 ภาคการศึกษาที่ผ่านมา Farm To School เป็นเหมือนโรงเรียนของพ่อกุ๊กแม่เป้ที่ได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ทั้งความชื่นใจ ความกดดัน ความผิดพลาด และอุปสรรคต่างๆ ที่เข้ามาให้แก้ไขอยู่ตลอด 

“เงื่อนไขหลักของโรงเรียนคือความต่อเน่ื่อง เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เกษตรกรส่งผลผลิตให้ไม่ได้เพราะผลผลิตเสียหาย มันยากกับการจัดการของโรงเรียนเหมือนกัน มันจึงทำให้ผมเข้าใจเลยว่ายังไงตลาดสดก็ยังมีความสำคัญ เมื่อคืนฝนตก เกษตรกรมาส่งไม่ได้ โรงเรียนยังกริ๊งไปให้ตลาดสดมาส่งของให้ แต่ในฝั่งเราเอง ก็ต้องทำให้ได้มากที่สุด ในสิ่งที่เราทำได้ เราจึงเลือกที่จะเพิ่มความต่อเนื่อง ถ้าเรารู้ว่าจะเกิดปัญหาล่วงหน้า เรายังสามารถเปลี่ยนไปรับผลผลิตจากอีกกลุ่มหนึ่งได้ แต่การมีเครือข่ายที่มากขึ้น ก็ต้องมีส่วนผู้บริโภคมาบาลานซ์ คือต้องมีปริมาณเพียงพอที่จะอุดหนุนกันได้” พ่อกุ๊กแชร์เงื่อนไขและสิ่งที่ Farm To You พยายามทำต่อไป แม้จะไม่ใช่โจทย์ที่ง่ายนัก 

“ผมว่าบางอย่าง มันเป็นเรื่องของการปรับที่ทัศนคติของเรามากกว่าไปปรับที่งาน ผมกลับมาย้อนคิดว่า โครงการ Farm To School ของอเมริกา รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณมหาศาล แต่เขายังทำได้แค่ 30% ผมก็ต้องถามตัวเองว่าแล้วเราเป็นใคร เราต้องยอมรับว่าถ้าเราทำได้ 20% มันก็โอเคนะ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะหยุดอยู่แค่นี้ เราก็ต้องทำต่อไป ทำเท่าที่ไปได้”

เริ่มร้าน เริ่มรู้
นอกไปจากบริการพรีออร์เดอร์ที่มีสมาชิกเหนียวแน่น Farm To You Depot ก็ได้ฤกษ์เปิดหน้าร้านอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 12 มกราคมที่ผ่านมาในย่านนาคนิวาส เพื่อเป็นอีกช่องทางให้คนเมืองเข้าถึงอาหารปลอดภัยและผลิตภัณฑ์ที่ดีกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และขณะเดียวกัน ก็เป็นอีกกำลังสำคัญที่จะอุดหนุนให้โมเดลที่ตั้งใจไว้ เติบโตต่อไปอย่างยั่งยืนแม้จะไม่มีทุนมาสนับสนุน

“เมื่อตุลาปีที่แล้ว ผมไปดูงานด้านระบบอาหารของเมืองที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้รับทุนจาก Japan Foundation และ JVC: Japan International Volunteer Center โดยการประสานงานของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ไปดูเรื่องสหกรณ์ผู้บริโภค เพราะว่าในเมืองไทยมีแต่สหกรณ์ผู้ผลิต แต่ผู้บริโภคไม่เกินการรวมตัวกันเลย ที่นั่น เขารวมตัวกันซื้อขายสินค้า เขาไม่ต้องสนว่าอันนี้มีใบเซอร์ฯ มั้ย อันนี้ได้รับการตรวจยังไง เพราะว่าเค้าเชื่อในพลังของการรวมกลุ่ม ซึ่งผมก็เคยได้รับเมสเสจนี้เหมือนกันว่า ต่อให้ได้ใบเซอร์ ถ้าคนนั้นไม่ซื่อสัตย์ เขาคงปล่อยปละละเลย หรือไม่ใส่ใจ แต่กับกลุ่มเกษตรกรที่รู้จักกัน ไปเยี่ยมฟาร์มกัน เป็นความผูกพันกัน ยังไงก็ไปต่อได้ ที่ญี่ปุ่นเขาเน้นเรื่องความซื่อสัตย์ การเปิดเผยข้อมูล ไม่จำเป็นต้องเป็นออร์แกนิกร้อยเปอร์เซ็นต์ สมมุติบอกว่าผมปลูกฟักทอง ผมไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง แต่ในช่วงติดดอกพวกนี้ผมยังต้องใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราเท่านี้ ซึ่งยังเป็นอัตราที่ปลอดภัย อย่างเช่น Seikatsu Club (สมพันธ์สหกรณ์ผู้บริโภคเซเคียว) หากรัฐกำหนดว่าให้ใช้ได้ 3% Seikatsu Club จะให้เกษตรกรใช้ไม่เกิน 0.3% คือให้ต่ำกว่า เราได้ไปเรียนรู้ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จึงมีไอเดียที่อยากกลับมาทำตรงนี้ให้เกิดขึ้นในเมืองไทย”

”เมื่อเกษตรกรเปิดเผยข้อมูล ผู้บริโภครับทราบแล้วก็ตัดสินใจเอง เท่ากับว่าผู้บริโภคมีสิทธิ์เลือก”

ทำไมสังคมต้องการสหกรณ์ผู้บริโภค? เราโยนคำถามไปยังผู้จุดประกาย “เพื่อให้เกิดความสมดุล ผมเชื่อเรื่องความสมดุล ถ้าฝั่งเกษตรกร คุณบอกให้เขาทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ แต่ทำมาแล้วเขาจะขายใคร อย่างชาวนาหนึ่งครอบครัวปลูกข้าวได้ปีละ 15 ตัน แล้วต้องใช้กี่ครอบครัวกินข้าวของหนึ่งครอบครัวนี้ มันไม่บาลานซ์กัน แล้วถ้าสมมุติว่าชาวนาหันมาปลูกข้าวออร์แกนิกทั่วประเทศ แต่คนกินไม่พอ ก็ไม่สามารถจะไปอุดหนุน ไปซัพพอร์ตเขาได้ การมีสหกรณ์ผู้บริโภคก็ช่วยรองรับได้ระดับหนึ่งนะ แน่นอน มันรองรับไม่ได้ทั้งหมดหรอก แต่ถ้าเราพยายามสร้างสมดุลได้ ช่วยกันจุดประเด็น แล้วใครอยากทำต่อก็ขยายกันไป”

พ่อกุ๊กบอกว่า Farm To You Depot เป็นเหมือนห้องทดลองระบบไว้เพื่อเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ และหากเป็นไปได้ เขาก็อยากจะขยายสาขาต่อไปเพื่ออุดหนุนโรงเรียนอื่นๆ ในชุมชนนั้นๆ เลยรวมไปถึงการสร้างโมเดลสหกรณ์ผู้บริโภคให้เกิดขึ้นจริงในบ้านเรา

 

วัตถุดิบที่วางใจ
ในขณะที่พ่อกุ๊กแชร์แนวคิดเชิงโครงสร้างภาพใหญ่ แม่เป้ก็ยิ้มหวานชวนเราดูสินค้าต่างๆ ในร้านที่จัดเรียงไว้อย่างสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นผักสดๆ ฟักเขียวไซส์ยักษ์ ไข่ไก่สดๆ จากฟาร์มเลี้ยงปล่อย น้ำตาลแบ่งขายจากเพียรหยดตาลที่ทดลองวางขายแบบ packaging-free น้ำปลาปลาสร้อยเด็ดดวง เลยรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจากกรีนดอยหล่อ กาแฟธรรมชาติจากกลุ่มปกาเกอะญอ Lapato หรือชาดอกเก็กฮวยจุ๋มจิ๋ม ฯลฯ ที่นอกจากแนะนำคุณสมบัติของสินค้า ทั้งคู่ยังเล่าเรื่องราวของเจ้าของแบรนด์ได้เป็นฉากๆ เพราะทุกสินค้าที่คัดสรรมา เลือกจากการเข้าไปทำความรู้จัก พูดคุย จนมั่นใจว่าสินค้าเหล่ามีคุณภาพและไว้วางใจได้แน่นอน

“การเลือกของเรา ส่วนหนึ่งคือเราต้องบริโภคเอง และถ้าเราไปเจอผู้ผลิตเองได้เราจะไป เข้าไปฟังเรื่องราวที่เขาบอกเล่า ตรงนั้นมันใช่ยิ่งกว่าที่เราไปตรวจใบเซอร์ฯ อีก ได้ฟังน้ำเสียง ได้เห็นหน้ากัน ได้เห็นความพยายาม ได้เห็นปัญหาของเขา อย่างกวิ ผู้ผลิตกาแฟ Lapato กาแฟรักษาป่าชุมชนที่เราขายอยู่ เขาเป็นปกาเกอะญอรุ่นใหม่ ที่อยากจะให้เด็กๆ ในชุมชน ที่เคยเข้าเมืองแล้วไม่เลือกกลับมาท้องถิ่น เพราะไม่ได้อยากกลับมาดูแลไร่ ดูแลสวน คนรุ่นพ่อก็ปลูกกาแฟแต่ก็เก็บขายเป็นแค่เบอร์รี่ แต่กวิเลือกกลับมาทำโรงคั่วเอง เปิดร้าน พัฒนาไปเรื่อยๆ ทำให้เด็กรุ่นใหม่คนอื่นๆ เริ่มกลับมา เพราะรู้สึกว่าอยู่บ้านก็เติบโตได้ เราได้ฟังก็ประทับใจในความคิดของเขา”

บนเหตุและผลของการอุดหนุนโรงเรียน สร้างชุมชน ประสานเครือข่าย สนับสนุนเกษตรกรรายย่อย เลยรวมไปถึงการใส่ใจในสิ่งแวดล้อม แก่นแกนสำคัญที่พ่อกุ๊กพูดอยู่ที่คำคำเดียว คือ ความสมดุล ไล่ไปตั้งแต่สเกลเล็กๆ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ระบบเศรษฐกิจ ไปจนถึงโลกใบนี้

“ผมเชื่อว่าสุขภาพที่ดีมาจากการกินและการดูแลรักษาร่างกาย เราไปออกกำลังกายทุกวันแต่เรายังกิน junk food ยังไงก็ไม่บาลานซ์ ผมเชื่อว่าร่างกายมันปรับสมดุลของมันเอง ถ้าร่างกายได้รับสารอาหารที่ดี มันก็ปรับสมดุลให้ร่างกายแข็งแรงเอง”

และแน่นอน ในฐานะมนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่งก็สามารถ ‘เปลี่ยนที่ตัวเรา’ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสมดุลในทุกมิติเช่นเดียวกัน

Farm To You Depot ตั้งอยู่ในภายในบริเวณสนามเทนนิสปัญจบุตร
ถนนนาคนิวาส (ซอยลาดพร้าว 71)
เปิดบริการ:
วันพฤหัสบดีถึงจันทร์ 09:30 ปิด 19:00 น.
หยุดวันอังคารและวันพุธ
FB: www.facebook.comfarmtoyoubkk
Website: www.farmtoyoubkk.com
LINE@: @farmtoyou

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง