Byhaven 2200 เป็นสวนผักชุมชน (community garden) สร้างอยู่ในสวนสาธารณะของชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก สวนผักแห่งนี้เกิดขึ้นจากกลุ่มอาสาสมัครกลุ่มหนึ่ง ที่ต้องการเห็นพื้นที่สีเขียวของชุมชน เป็นมากกว่าสวนสาธารณะที่มีแต่พื้นหญ้าโล่ง ๆ
เราได้มีโอกาสได้ไปร่วมเป็นอาสาสมัคร 1 วันกับ Byhaven 2200 และร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด พูดคุยกับทีมงานอาสาของสวนผักชุมชนแห่งนี้ด้วย หนึ่งในทีมงานเล่าให้ฟังว่า พวกเขารู้สึกว่า สวนสาธารณะแบบทั่ว ๆ ไปนั้นค่อนข้างน่าเบื่อและไม่เกิดประโยชน์เท่าไหร่นัก กลุ่มอาสาสมัครจึงได้เข้าไปติดต่อกับทางเทศบาล เพื่อขออนุญาตและทำข้อตกลงสร้างสวนผักขึ้นในบริเวณสวนสาธารธณะของชุมชน
หลังจากเจรจากับทางเทศบาลผ่านพ้นไป กลุ่มอาสาสมัครได้รับอนุญาตให้ทำสวนผักภายในสวนสาธารณะแห่งนี้ได้ แต่มีข้อกำหนดว่า
“ห้ามตัดต้นไม้บริเวณสวนสาธารณะ ห้ามปลูกผักหรือต้นไม้ลงดินในสวนสาธารณะโดยตรง และสวนผักแห่งนี้จะเป็นแค่โครงการชั่วคราวเท่านั้น”
ดังนั้นทางกลุ่มอาสาสมัครจะต้องจัดการให้แปลงผักต่าง ๆ สามารถเคลื่อนย้ายและรื้อถอนได้ง่าย หากต้องทำการย้ายออกจากพื้นที่
หลังจากนั้น พวกเขาก็เริ่มวางแผนการดำเนินการโครงการสวนผักชุมชนขึ้น โดยเริ่มจากการสำรวจบริเวณพื้นที่ภายในชุมชนและพูดคุยกับประชาชนในชุมชนและชุมชนข้างเคียง ทีมอาสาสมัครพบว่าบริเวณพื้นที่มีความหลากหลายของผู้คน บริเวณโดยรอบมีทั้งโรงเรียน อนุบาล หอพัก สตูดิโอและแกลเลอรีศิลปะ ร้านกาแฟ แหล่งรวมตัวของวัยรุ่น ร้านค้า ร้านอาหารอยู่ในย่านนี้มากมาย อีกทั้งบริเวณที่ตั้งของสวนสาธารณะแห่งนี้ ยังเป็นจุดเชื่อมต่อของชุมชนหลาย ๆ ชุมชนเข้าด้วยกัน มีเส้นทางจักรยานและผู้คนสัญจรไปมาประมาณวันละ 3,000 ราย ดังนั้นถือว่าสวนสาธารณะแห่งนี้มีศักยภาพของพื้นที่ และมีความเหมาะสมที่สุดสำหรับสวนผักชุมชน
วัตถุประสงค์หลักของสวนผักชุมชนแห่งนี้ไม่ได้เน้นเรื่องปลูกผักขาย หรือ จะต้องผลิตผักให้เพียงสำหรับคนในชุมชน จริง ๆ แล้ว
กลุ่มอาสาสมัครต้องการที่จะส่งเสริมเรื่องเกษตรเมืองให้กับประชาชน และต้องการให้สวนผักแห่งนี้เป็นศูนย์รวมของคนในชุมชนและคนที่ใช้ทางสัญจรไปมา
สวนผักชุมชนแห่งนี้เปิดกว้างสำหรับทุกคน การดำเนินการสวนผักชุมชน ทางกลุ่มได้รับความร่วมมือและไอเดียอย่างล้นหลามจากเครือข่ายและบุคคลต่าง ๆ จากหลายสาขาวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร สถาปนิก นักออกแบบ และ ประชาชนทั่วไป ผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมล้วนมีความกระตือรือร้นอย่างมาก โดยกลุ่มอาสาสมัครเริ่มทำการสำรวจพื้นที่ สำรวจความต้องการของคนในชุมชน หลังจากนั้นเริ่มหาข้อมูลหลักการและวิธีการ การปลูกผักที่จะนำมาใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยการปลูกผักในสวนผักชุมชนแห่งนี้ใช้หลักการแบบเพอร์มาคัลเจอร์ (Permaculture) เน้นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ผสมผสานทั้งเรื่องของระบบนิเวศ ภูมิอากาศ วัฒนธรรม และงานดีไซน์ ร่วมกับการออกแบบแปลงผักในสวนผักชุมชน
เมื่อได้เดินเข้าไปเยี่ยมชมสวนผักชุมชนแห่งนี้ พบว่าแปลงผักมีรูปร่างหน้าตาแปลก ๆ ไม่ได้เป็นสี่เหลี่ยมธรรมดาอย่างที่เคยเห็นโดยทั่วไป ลักษณะของแปลงผักเป็นรูปร่างเป็นห้าเหลี่ยมบ้าง หกเหลี่ยมบ้าง มีทั้งที่เป็นขั้นบันได เป็นเก้าอี้นั่งผสมผสานไปกับแปลงผัก แปลงผักส่วนใหญ่ทำมาจากท่อนไม้ผสมกับก้อนหิน มองแล้วดูสวยงามและแปลกตาดี
วิธีการปลูกผักของที่นี่ อาสาสมัครต้องขนดินมาจากที่อื่นเพื่อใช้เป็นวัสดุปลูก และใช้เศษไม้ (wood chip) เป็นวัสดุรองปลูกในอัตราส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของแปลงปลูก เพื่อลดความร้อนให้แปลงปลูก นอกจากนั้นก็จะใส่เศษที่เหลือจากถุงเพาะเห็ด ซึ่งไปรับมาจากฟาร์มเห็ด ช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้กับพืช สำหรับชนิดของพืชที่ปลูกนั้น เท่าที่ผู้เขียนได้ลองสังเกตพบว่ามีความหลากหลายของพืชผักเป็นอย่างมาก มีทั้งผักกินใบ กินผล สมุนไพร และดอกไม้กินได้ ปลูกปะปนกัน บางแปลงดูค่อนข้างรกด้วยซ้ำไป เมื่อได้สอบถามกับทางอาสาสมัครก็ได้คำตอบว่า การที่ปลูกปะปนกันเช่นนี้
เป็นหลักการหนึ่งของเกษตรแบบเพอร์มาคัลเจอร์ ซึ่งพืชแต่ละชนิดก็จะช่วยเกื้อกูลกันทั้งเรื่องของธาตุอาหาร โรคพืช และเรื่องแมลง และเนื่องจากในแปลง ๆ หนึ่งมีการปลูกพืชปะปนกัน
ดังนั้นอาสาสมัครจึงทำป้ายแผนผังแสดงตำแหน่งและชื่อของผักที่ปลูกไว้ เพื่อเป็นความรู้แก่ประชาชนอีกด้วย ซึ่งผู้เขียนชอบไอเดียตรงนี้มาก
ส่วนเรื่องปุ๋ยนั้น ทางกลุ่มก็ทำปุ๋ยหมักเองบ้าง โดยหมักจากเศษใบไม้ เศษพืชที่เหลือจากสวนผัก แต่ไม่สามารถหมักจากเศษอาหารจากครัวเรือนได้ เพราะบริเวณพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่สาธารณะ ต้องควบคุมดูแลเรื่องสุขลักษณะ นอกจากนั้นกฎหมายของเทศบาลที่นี้ คือแต่ละบ้านสามารถหมักปุ๋ยจากเศษอาหารได้แต่ต้องใช้ภายในบริเวณอาณาเขตบ้านของตนเอง ไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกนอกบริเวณบ้านของตนเองได้ เนื่องจากเรื่องสุขอนามัยที่เคร่งครัดของบ้านเมืองเค้า ก็ถือว่าเป็นกฎหมายแปลก แตกต่างจากเมืองไทยและผู้เขียนเองก็ไม่เคยทราบมาก่อนเลย
ทุกอาทิตย์ สมาชิกจะนัดมาทำงานด้วยกันทุกวันพุธและวันศุกร์ สำหรับใครที่ปลูกผัก หรือทำไม่เป็นก็จะมีอาสาสมัครช่วยกันสอน หรือมีหน้าที่อื่น ๆ ที่เหมาะสมให้ เช่น เด็ก ๆ หรือผู้สูงอายุ มักจะขอเข้ามาช่วยรดน้ำ ถอนหญ้า และกวาดใบไม้ เป็นต้น สมาชิกของสวนผักชุมชนเริ่มขยายวงกว้างขึ้นไปเรื่อย ๆ จากการบอกปากต่อปาก และประชาสัมพันธ์ทางสื่อโซเชียลมีเดีย สวนผักแห่งนี้เปิดกว้างสำหรับทุกคน แต่มีข้อกำหนดเล็กน้อยสำหรับคนที่จะเข้ามาเยี่ยมชมสวนแห่งนี้คือ เรื่องการรักษาความสะอาดทั้งเรื่องอาหารที่นำมากิน และเรื่องสุนัขที่พามาเดินเล่น เพราะประชาชนมักจะคุ้นชินกับรูปแบบของสวนสาธารณะแบบเดิม ที่มานั่งกินอาหาร สังสรรค์ และพาสุนัขมาเดินเล่นได้ และอาจจะไม่รักษาความสะอาดเพราะบางคนคิดว่าทางเทศบาลจะมีพนักงานมาเก็บกวาดให้ นอกจากนั้นบางคนคิดว่าขี้หมาสามารถเป็นปุ๋ยให้กับแปลงผักได้ จึงทิ้งไว้ส่งกลิ่นเหม็นและสร้างความลำบากต่อการทำสวน ซึ่งทางกลุ่มต้องพยายามทำความเข้าใจกับประชาชนที่เข้ามาใช้พื้นที่
สวนผักแห่งนี้ได้รับเงินบริจาคมาก้อนหนึ่งจากองค์กรเอกชนเพื่อใช้ในการดำเนินงานต่าง ๆ นอกจากนั้นเทศบาลได้ให้การสนับสนุนสวนผักแห่งนี้ ให้เป็นสวนผักตัวอย่างให้แก่ชุมชนอื่น ๆ และกำลังวางแผนที่จะให้อาสาสมัครกลุ่มนี้ขยายพื้นที่ไปบริเวณพื้นที่รกร้างอื่น ๆ ภายในชุมชนอีกด้วย อาสาสมัครคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เขาค่อนข้างภูมิใจที่เห็นสวนผักแห่งนี้ประสบความสำเร็จและกำลังเติบโตไปเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่า ในช่วงแรกจะมีปัญหาทั้งกับเทศบาลและกับประชาชนในชุมชน แต่ถือว่าเป็นการเรียนรู้ร่วมกันของหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน และถ้าโครงการนี้สามารถเติบโตไปได้ด้วยดี และยังสามารถดำเนินการต่อไปได้โดยยังไม่ถูกยกเลิกจากเทศบาล ทางกลุ่มอาสาสมัครก็วางแผนไว้ว่าจะมีโครงการเลี้ยงผึ้ง เลี้ยงไก่ แปลงปลูกไม้ผลในเมือง และสุดท้ายต้องการให้สวนผักแห่งนี้เป็นศูนย์เรียนรู้และพื้นที่สร้างสรรค์ของชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป