ถ้าพูดถึง ‘ตะเกียบใช้แล้วทิ้ง’ อาจจะฟังดูไม่ใช่ปัญหาหนักอกหนักใจของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสักเท่าไหร่นัก เพราะตะเกียบใช้แล้วทิ้งมักทำมาจากไม้ไผ่ซึ่งเป็นพื้นโตเร็วและย่อยสลายได้ง่ายตามธรรมชาติ แถมตะเกียบยังเป็นวัฒนธรรมการกินที่ใช้กันมาอย่างเนินนานจนยากที่จะเปลี่ยน

แต่สมัยเรียน ฉันเคยทำโครงการเกี่ยวกับการรณรงค์เลิกใช้ตะเกียบใช้แล้วทิ้งในโรงอาหาร เพราะมันเป็นขยะจำนวนมากที่ถูกทิ้งปะปนลงไปกับเศษอาหาร ซึ่งทำให้การจัดการขยะเปียกมีปัญหา

ทำไมใช้แล้วไม่ควรทิ้ง

8,000,000,000
แปดพันล้านคู่ คือตะเกียบที่พี่จีนผลิตในแต่ละปี ซึ่งต้องใช้ต้นไม้อายุ 20 ปีกว่ายี่สิบล้านต้นเพื่อผลิตตะเกียบ ถ้ามองระดับประเทศและระดับโลกแล้วเราจะเห็นว่าการใช้ตะเกียบก็ไม่ใช่เรื่องเล็กอีกต่อไป เราต้องใช้ไม้จำนวนมหาศาล และระยะเวลาปลูกอีกหลายปีกว่าจะนำมาผลิตเป็นตะเกียบที่ใช้แล้วทิ้งในครั้งเดียว แม้ประเทศไทยจะไม่ได้ใช้ตะเกียบเยอะเท่ากับประเทศจีน แต่ตะเกียบในบ้านเราเกือบทั้งหมดก็ต้องเดินทางไกลมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ยังไม่นับรวมขยะพลาสติกอย่างซองห่อตะเกียบที่เป็นขยะชิ้นเล็กที่ง่ายต่อการปลิวและการจัดการ นับเป็นเรื่องยากมากหากจะนำกลับมารีไซเคิล

นอกจากไม้ไผ่ที่อาจจะไม่เพียงพอแล้ว ตะเกียบใช้แล้วทิ้งยังผลิตมาจากไม้โมกข์หรือไม้ฉำฉาอีกด้วย เนื่องจากมีเนื้อไม้สีขาวและไม่มีรสชาติ การผลิตที่เกิดขนาดทำให้พื้นที่ป่าของประเทศจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง รัฐจึงประกาศขึ้นภาษีตะเกียบอีก 5% เพราะถูกจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ทำลายธรรมชาติ แต่การเปลี่ยนแปลงความเชื่อและวัฒนธรรมที่ฝั่งรากลึกยาวนานนั้นอาจจะต้องใช้เวลา

ฉันทำแบบสำรวจความคิดเห็นของคนในโรงอาหารว่าอยากใช้ตะเกียบแบบไหนมากกว่ากัน ยินดีที่จะเปลี่ยนมาใช้ตะเกียบใช้ซ้ำหรือไม่ และมีประเด็นปัญหาอะไรที่สนใจเป็นพิเศษ เรื่องหลักที่คนใส่ใจอันดับแรกก็คือ ปัญหาด้านความสะอาด

น่าแปลกที่คนกลัวร้านค้าล้างตะเกียบไม่สะอาด แต่กลับไม่เคอะเขินหรือไม่มีปัญหากับช้อนส้อมสแตนเลสแบบใช้ซ้ำ

ตะเกียบใหม่ ไม่ได้แปลว่าสะอาด

ตะเกียบอนามัยในหีบห่อพลาสติก ซึ่งสงวนราคาอยู่ที่ร้อยละ 50 บาท คุณเชื่อไหมว่าความสะอาดราคา 50 สตางค์ มันปลอดภัยจริง?

ตะเกียบใช้แล้วทิ้งบางโรงงาน (ย้ำ!บางส่วน) ผ่านการทำความสะอาดด้วยการต้มในน้ำร้อนที่มีส่วนผสมของสารกำมะถัน ซึ่งสารกำมะถันเป็นสารฟอกขาวและช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา ยีสต์ และแบคทีเรีย มีการทดลองโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ของไทยเอาตะเกียบไปจุ่มน้ำร้อนเป็นเวลา 5 นาที จะเห็นว่าน้ำเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและมีความเป็นกรด ซึ่งตรวจพบสารกำมะถันเจือปนออกมาในน้ำด้วย (และนั้นก็อาจะเป็นเช่นเดียวกับน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวที่เรากินเข้าไป) อย่างไรก็ตามค่าความเข้มข้นยังไม่เกินมาตรฐานจึงปลอดภัยหายห่วง อาจจะมีผลมากกับคนที่เป็นโรคหอบหืดซึ่งจะอ่อนไหวต่อกำมะถันในปริมาณที่ต่ำกว่า

หลังจากเก็บข้อมูลโครงการ ฉันจึงขอเข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารที่ทำหน้าที่ดูแลโรงอาหารเพื่ออธิบายถึงแนวคิด ปัญหาสิ่งแวดล้อมและเรื่องความสะอาดที่คนให้ความสำคัญ ผู้ใหญ่ถามว่าจะให้เปลี่ยนมาใช้ตะเกียบไม้ก็อาจจะขึ้นราไม่สะอาด ตะเกียบพลาสติกก็กลายเป็นขยะอีก ตะเกียบโลหะก็หนักไม่เหมาะกับการใช้งาน ถ้าคนไหนที่เขาสนใจเดี๋ยวเขาก็ใช้ช้อมส้อมกินแทนเองนั้นแหละ…ก็ให้ไปรณรงค์เอาแล้วกัน

ช้อนก็มา ส้อมก็มี หลอดก็พร้อม

นอกจากตะเกียบใช้แล้วทิ้ง เรายังมีอีกปัญหาคือช้อนส้อมใช้แล้วทิ้งที่อาจจะมาพร้อมร้านอาหารแบบสะดวกอิ่ม ข้าวกล่อง หรือร้านขนมอร่อยเร็วๆ ซึ่งก็กลายเป็นอีกอุปกรณ์อายุสั้นที่มีหน้าที่ให้เราอิ่มได้แค่ครั้งเดียว แล้วจะดีกว่าไหม ถ้าเราจะใช้ช้อนพร้อมล้าง ส้อมที่นำกลับมาใช้ใหม่ซ้ำๆ

และด้วยความเคยชินกับหลอดที่ปักมาพร้อมการดื่มในทุกครั้ง จนเราชินกับการจิบจากหลอดโดยไม่ได้เอะใจว่า เราดื่มโดยไม่ต้องใช้หลอดก็ได้ แต่กับบางคนที่ชินกับหลอดไปแล้ว เราขอแนะนำให้พกหลอดส่วนตัว ซึ่งปัจจุบันก็มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบซิลิโคน แบบไม้ไผ่ แบบพลาสติก แบบโลหะ ไปจนถึงหลอดแก้ว! พร้อมทั้งแปรงล้างหลอดไซส์มินิ  คราวนี้ ถ้าคุณพ่อค้าแม่ค้าใจดีจะปักหลอดให้ อย่าลืมเตือนเขาว่า “ไม่รับหลอดนะ” หรือจะ “ไม่หลอดเนาะ” ก็ได้

#มาเป็นคู่ #ไม่หลอดเนาะ

การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายดูเป็นเรื่องยาก จะเปลี่ยนที่ร้านค้า เขาก็ต้องใส่ใจความต้องการของผู้บริโภคที่มีหลากหลาย Greenery Challenge #03 นี้ จึงอยากชวนทุกคนมาเริ่มต้นเล็กๆ ที่ตัวเราเอง ด้วยการพกตะเกียบใช้เอง ทำความสะอาดเอง…แต่ถ้าจะให้พกแค่ตะเกียบก็อาจจะง่ายไป เลยแถมพ่วงมาด้วยการปฎิเสธช้อนส้อม และหลอดใช้แล้วทิ้งไปด้วยเลย เข้าไปจอยกรุ๊ปได้ที่ www.facebook.com/groups/GreeneryChallenge แล้วมาเริ่มกัน

วิธีร่วมภารกิจ Greenery Challenge 03
1. ร่วมภารกิจด้วยการ Join Group www.facebook.com/groups/GreeneryChallenge

2. พกตะเกียบ พกช้อนส้อม ไม่หลอดเนาะ แล้วถ่ายรูปแชร์เรื่องราวที่พบเจอในแต่ละวัน ความเฟล หรือเทคนิคพิเศษเพื่อช่วยให้ทุกคนฝ่าฝันภารกิจ 21 วัน ไปด้วยกันเนอะๆ (ตั้งโพสต์เป็นสาธารณะด้วยนะ)

3. อย่าลืมติดแฮชแท็ก #GreeneryChallenge และ #มาเป็นคู่ #ไม่หลอดเนาะ

4. ใครแบ่งปันเรื่องราวได้น่าสนใจ ทีมงานจะมอบของรางวัลประจำเดือนน่ารักๆ ให้จำนวน 5 รางวัลเหมือนเดิม