ชูใจเป็นคนขายกาแฟที่เงียบๆ ค่อนไปทางเขินอาย พูดน้อยแต่ยิ้มเยอะ ขายกาแฟหาบไม้คานที่แขวนกระบุงไม้ไผ่ไว้ทั้งสองด้าน (ภาษาเหนือเรียกว่าเปี้ยด) อยู่ที่ตลาดนัดในจังหวัดเชียงใหม่มาหลายปีแล้ว และไม่เคยเรียกลูกค้าเลย

“ถ้าใครเป็นลูกค้าของเรา เขาก็จะนั่งลงเอง” ชูใจบอกเล่าด้วยรอยยิ้ม บนม้านั่งเล็กๆ หน้ากระบุงกาแฟ ข้างๆ มีเตาถ่านต้มน้ำกรุ่นไออบอุ่น ทุกแก้วคือการส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าผ่านแก้วดริปเรียบง่าย ด้วยเมล็ดกาแฟออร์แกนิกหอมกรุ่นที่ปลูกในผืนป่าร่มครึ้มที่หนาวเย็นตลอดทั้งปี เป็นกาแฟที่เขาบรรจงดูแลดั่งลูกรัก เก็บอย่างพิถีพิถันและคั่วเองอย่างเป็นสุข ในนาม choojai coffee กาแฟที่มุ่งหมายให้ชุบชูใจทุกคนที่ได้ดื่ม

กาแฟเปิดหมวก: ก่อร่างด้วยรักจากมวลมิตร

มันออกจะยากอยู่สักนิดที่ได้สนทนากับชายผู้สงวนท่าที เขามีความสุขและพึงพอใจกับชีวิตเรียบง่ายที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากกว่า “เราเป็นเหมือนคนหลงทางมาก่อน ไม่รู้จักตัวเอง ไม่มีเป้าหมายชีวิต และเคยทำผิดพลาด แต่ชีวิตเราเริ่มต้นได้จากมิตรรอบข้างที่มี” เขาเริ่มต้นบทสนทนาด้วยท่าทีถ่อมตน

ครอบครัวของชูใจมีสวนกาแฟอยู่บนดอยที่ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ผืนป่าที่สมบูรณ์และงดงามที่สุดแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ เป็นป่าในโอบล้อมของภูเขาและได้ยินเสียงน้ำไหลตลอดเวลา บนความสูงประมาณ 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล การเริ่มต้นใหม่จากต้นทุนที่มีจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด “เรามีเพื่อนที่ทำมังคุดอินทรีย์อยู่ที่ระยอง เลยคิดว่าน่าจะกลับมาทำที่ไร่ตัวเองเหมือนกัน

“การปลูกกาแฟอินทรีย์คือการเปลี่ยนแปลงจากตัวของเรา เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงที่คนอื่นได้ อย่างน้อยเราได้คืนสิ่งแวดล้อมที่ดีให้พ่อกับแม่ เพราะพวกท่านใช้ชีวิตที่ไร่มานาน ได้มีอากาศดีๆ ไว้หายใจ เราได้คืนธรรมชาติให้กลับคืนสู่ดิน น้ำ และจุลินทรีย์ตัวเล็กตัวน้อยที่เคยสูญหาย”

“ในภาพรวม กาแฟอินทรีย์จะเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัยสำหรับคนในโลกได้”

การทำสิ่งที่แตกต่างไปจากสิ่งที่คนรุ่นพ่อแม่ทำไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เขาก็พยายามทำจนสำเร็จไปขั้นหนึ่ง สวนกาแฟออร์แกนิกเป็นสิ่งที่ทำได้จริงและให้ผลผลิตน่าพึงใจ

“หลังจากนั้นเพื่อนคนหนึ่งหาชุดดริปกาแฟมาให้ เรามาลองคั่ว เริ่มชิมเอง เริ่มแจกจ่ายคนอื่นๆ ไม่มั่นใจเลยว่าจะขายได้ เพราะอยู่ในกรอบความคิดที่ว่าต้องทำงานเป็นลูกจ้างเท่านั้น พอมาเริ่มขายก็เลือกขายกาแฟเปิดหมวก อาจเพราะว่าไม่กล้าตั้งราคาขาย ไม่รู้จะคิดราคาเท่าไร มันทำให้เราอึดอัดด้วย เคยมีเหมือนกันที่ลองตั้งราคา 60-80 บาท แต่ก็รู้สึกแข็งๆ กับตัวเลขน่ะ เหมือนมันลวงเราอยู่ เลยกลับมาใช้วิธีเปิดหมวกเหมือนเดิม ได้เป็นการฝึกใจเราเองด้วยว่ากลัวไหม กล้าไหม ที่ใครให้มากให้น้อย แล้วเราจะยินดีหรือไม่ยินดี พอใจหรือไม่พอใจกับเขาไหม ตอนแรกๆ เป็นนะ คนนี้ให้มากก็ดีใจ คนนี้ให้น้อย (ทำท่าใจแฟบ) พอเราเริ่มรู้สึกถึงสองสิ่งนี้เลยคิดว่า

“ในเมื่อตัดสินใจเลือกเปิดหมวกแบบนี้แล้ว จงให้อิสระกับเขาเถอะ คนซื้อจะให้เท่าไหร่ ก็เป็นเรื่องธรรมชาติที่จะมาเติมเต็มการทำกาแฟของเราทั้งนั้น จนตอนนี้ก็ไม่สั่นไหวแล้วล่ะ ใครจะให้เท่าไหร่ เรามีหน้าที่ทำกาแฟแก้วนี้ให้ดีที่สุดก็พอ”

ชูใจกล่าวเนิบๆ ยิ้มๆ ตามสไตล์ของเขา นี่เป็นที่มาของป้ายหน้าร้านที่มีตัวอักษรเขียนไว้ว่า “pay as you feel free” จ่ายเท่าที่คุณพึงใจ

ไม่รู้ทำไม ทุกครั้งที่ฉันได้นั่งลงในระดับที่อยู่ไม่ห่างจากพื้นดิน ใจมันสงบลงไปมาก การได้มองผู้คนในระดับสายตาที่เปลี่ยนไปทำให้ตัวตนของเราเบาบางลงไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ชูใจก็คิดเช่นนั้น เขาจึงมักพูดติดตลกอยู่บ่อยว่า “เราไม่เรียกลูกค้านะ ถ้าใครเป็นลูกค้าของเรา เขาจะนั่งลงเอง” พลางเล่าที่มาของกาแฟหาบไม้คานให้ฟัง

“วันแรกที่ขาย ไม่ได้มีเปี้ยดหรอกนะ มีแค่แท่นโต๊ะเรียบๆ วางบนเสื่อกับพื้น ในขณะที่คนอื่นๆ เขาวางของขายบนโต๊ะกันหมด แต่เราคิดว่าขายได้เท่าไรก็เท่านั้น ใครจะเดินเข้ามา เขาก็เป็นลูกค้าสำหรับเรา เราพร้อมจะชงให้ มันอาจจะดูเป็นมุมมองที่แข็งกระด้างว่าคนขายกาแฟคนนี้ไม่สนใจโลก ไม่สนใจใครเลย (หัวเราะ) วันหนึ่งลุงอากิซึ่งเป็นเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่เขาอินกับกาแฟของเรามาก ไปกินไปนอนในสวนด้วยกันบ่อยๆ เขาเอารูปคนหาบของขายแบบโบราณของญี่ปุ่นมาให้ดู อยากให้เราทำอย่างนั้นบ้าง ประจวบกับมีจังหวะที่คุณป้าที่ขายของด้วยกันเขาทำไม้หาบคอนให้ วันแรกที่ขาย โอ้โห…คนตื่นเต้นกันใหญ่ ทำไมเก๋อย่างนี้ พอเริ่มมีเปี้ยด ก็เริ่มมีงอบ มีเก้าอี้นั่งเล็กๆ มีร่ม มีแท่นขายเมล็ดกาแฟ ถ้าพูดตามข้อกำหนดในตลาดนี้ ความสูงที่ตั้งวางขายกาแฟของเรานี่ไม่ผ่านเกณฑ์นะ แต่เขาอะลุ้มอะล่วยให้เพราะเรามีส่วนที่ดึงคนมาตลาดด้วย เขาคงให้อภัยเรา จากนั้นคนก็เริ่มเยอะขึ้น บางครั้งเยอะจนโอเว่อร์น่ะ” ชูใจหัวเราะ

กาแฟชูใจที่กินแล้วชุบชูใจ

โดยปกติชูใจจะขายกาแฟแค่สัปดาห์ละครั้งในวันอาทิตย์ที่ตลาดนัด Rustic บริเวณเจเจมาร์เก็ต ไม่ห่างจากตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ยอดนิยมของคนเชียงใหม่ ท่ามกลางลานกว้างใต้ร่มไม้แห่งนี้ มีร้านกาแฟมากมายหลายร้าน บางร้านถึงกับนั่งเอาหลังชนกันเลยก็มี แต่กาแฟของชูใจก็มีลูกค้าแวะเวียนมาใช้บริการไม่ขาด ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า การที่พ่อค้าขายกาแฟแต่งกายด้วยชุดม่อฮ่อม สวมหมวกงอบ นั่งขายกาแฟในกระบุงหาบวางกับพื้น ต้มน้ำร้อนด้วยเตาถ่าน ชงกาแฟผ่านแท่นดริปรอน้ำหยดอย่างช้าๆ รวมถึงให้ลูกค้าจ่ายเงินตามความพอใจ นับเป็นสิ่งแปลกใหม่ดึงดูดใจไม่น้อย นั่นอาจเป็นลูกค้าขาจร หากลูกค้าขาประจำส่วนใหญ่ที่เลือกมาจิบกาแฟของชูใจเพราะหลงรักในรสกาแฟ ชื่นชอบในอารมณ์ดื่มด่ำ การรอคอย และที่สำคัญคือการได้มีบทสนนาที่ชวนครุ่นคิดกับเขา บางทีชีวิตช้าๆ อาจเป็นของล้ำค่าที่มนุษย์เมืองใหญ่ต้องการ (แบบไม่รู้ตัว)

“ตอนแรกๆ ที่ขายกาแฟ เรามีหลายช้อยส์ให้เลือก คั่วอ่อน คั่วกลาง process นั้น process นี้ มันเยอะที่จะต้องอธิบาย พอตอนหลังมาเห็นพี่สว่าง (สว่าง ทองดี-นักเดินทางด้วยจักรยาน (เกือบ) รอบโลกที่ใช้จักรยานทำร้านกาแฟเคลื่อนที่เช่นกัน) เขาทำง่ายๆ มีแค่ร้อนกับเย็น เออ มันเรียบง่ายดีนะ มันดีต่อเรา เลยมาถามตัวเองว่า เราควรมีอะไร ทุกวันนี้เลยมีแค่กาแฟคั่วอ่อน กับคั่วกลางค่อนเข้มสำหรับคนที่ไม่ชอบเปรี้ยว มีแค่กาแฟร้อน ไม่มีนม ไม่มีน้ำตาลให้ ลูกค้ากินแล้วแฮปปี้ก็จบ

“ทำแบบนี้มันฝึกเรา ไม่ให้ใครเร่งเรา และเราไม่ต้องเร่งใจตัวเอง ทำไป มีความสุขทุกแก้ว บางวันไม่รู้สึกเหนื่อยเลย มีพลังที่จะทำอะไรต่อได้อีกไม่ใช่เอาพลังทั้งหมดมาลงกับการขายของหรือเอาสังขารมาแลกเงินตรา”

ชูใจเทน้ำร้อนวนรอบเมล็ดกาแฟบดแล้วยื่นเครื่องดื่มหอมกรุ่นให้

ก่อนหน้านี้ฉันไม่คุ้นเคยกับการกินกาแฟที่เพียวขนาดนี้ (ไม่ใส่อะไรเลยแม้แต่น้ำตาล) แต่เมื่อได้ไปนั่งสนทนากับชูใจบ่อยครั้ง รื่นรมย์กับผู้คนที่ชื่นชอบพลังการสนทนากับเขา (บางครั้งเราล้อมลงคุยกันด้วยการนั่งกับพื้นเพราะเก้าอี้ม้านั่งไม่พอ) กาแฟกลับออกรสออกชาติเสียยิ่งกว่าที่เคยรู้สึกเสียอีก มันทำให้ความหมายของกาแฟได้กลับคืนสู่วิถีเดิมแท้เรียบง่าย ‘กาแฟชูใจ’ ในนิยามของเขา จึงหมายถึงชั่วขณะของการดื่มด่ำที่ช่วยยกระดับความรู้สึกให้ผ่อนคลาย เบาสบาย เป็นสุข หรืออาจเรียกได้ว่า กาแฟที่กินแล้ว ‘ชุบชูใจ’ เหลือเกิน

ชีวิตที่มีรอยเท้าเป็นของตัวเอง

“ทุกวันนี้พอใจในชีวิตที่ไม่ต้องหนักหนากับการทำมาหาเงินนะ คืออาทิตย์หนึ่งเรามาขายของหนึ่งครั้ง วันไหนเรามาหาเงินเราก็ยอมรับ แต่วงรอบชีวิตที่เหลือเรายังได้ทำอย่างอื่น เราหาเงินเดือนละประมาณ 4 วัน ซึ่งมันต่างกันนะกับคนที่ทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ เราตัดสินใจเลือกชีวิตแบบนี้แล้วมั่นใจในทางแบบนี้ รู้สึกดีที่ได้มี ‘รอยเท้าเป็นของตัวเอง’ ชีวิตเป็นของเรา เรื่องราวก็ต้องเป็นของเราไม่ต้องไปเลียนแบบหรือทำให้เหมือนคนอื่น เราถามตัวเองว่าความงามของชีวิตคืออะไร ถ้าเงินไม่ใช่เป้าหมายของชีวิต อะไรคือสาระของชีวิตกันแน่ เป็นคำถามสำคัญมากที่เราถามตัวเองอยู่ อาจยังไม่มีคำตอบชัดเจนนัก แต่เราพยายามถามและตอบ สังเกตว่าสังคมทุกวันนี้เขาทำอะไรกัน อะไรคือเป้าหมายของเขา แล้วเราจะต้องตามเขาไหม เราจะเอาชีวิตของเราที่เป็นหนึ่งชีวิตบนโลกไปเดินเส้นทางไหนดี”

ชูใจเป็นนักสังเกตธรรมชาติ เรียนรู้โลกภายนอกเพื่อทำความเข้าใจโลกภายในของตัวเอง เขามักครุ่นคิด ตั้งคำถามและทดลอง ส่วนหนึ่งการทำไร่กาแฟออร์แกนิกแล้วมีผลตอบรับที่ดีก็เป็นเหมือนสัญญาณที่บ่งบอกว่าเขามาถูกทาง ในมุมหนึ่งชูใจมีความเป็นกวีสูง ถ้อยคำที่เป็นตัวอักษรอาจลื่นไหลได้ดีกว่าถ้อยสนทนาเสียอีก เขาชอบอยู่เงียบๆ ใกล้ชิดธรรมชาติ ทำงานของตัวเองอย่างช้าๆ แต่เปี่ยมสุข ในวันที่ไม่ได้ขายของเขาอาจง่วนปลูกผักสวนครัวอยู่รอบบ้าน เก็บเมล็ดกาแฟ คั่วกาแฟ วางแผนการทำงานเพื่อทำให้กาแฟทุกเมล็ดมีคุณภาพดีมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นความอิ่มเอมจนหลายคนเรียกกาแฟของเขาว่า ‘กาแฟของความรัก’

“การได้อยู่ในสวนที่เป็นสิ่งที่ชอบมาก ได้นอนฟังเสียงน้ำไหล บางครั้งเวลาต้องเข้ามาในเมืองก็ไม่ค่อยพอใจนักนะ เพราะการมีแสงไฟมันทำให้เราไม่หลับไม่นอน ต้องทำงานต่อเนื่องไปอีกทั้งที่แสงสว่างมันหมดวันไปแล้ว แต่ถ้าอยู่ในสวนกาแฟ สองสามทุ่มเราเข้านอนแล้ว ไปรับพลังงานจากธรรมชาติอย่างเต็มที่ ไม่มีโทรทัศน์ ไม่เป็นทุกข์อะไร เรารู้สึกได้รับการเยียวยาจากธรรมชาติที่ช่วยชาร์จพลังให้เรา เวลาไปเก็บกาแฟ บางคนแข่งกันว่าหนึ่งวันฉันต้องเก็บได้ 60-100 กิโลกรัม แต่การทำงานแบบนั้นมันใช้พลังงานขนาดไหน

“เราเลยฝึกตัวเองว่า จะเก็บกาแฟโดยมีความสุขไปด้วยได้ยังไง ไม่ได้เน้นปริมาณเหมือนเมื่อก่อน อาจเป็นกาแฟแค่ 10 กก. แต่เป็น 10 กก. ที่มีคุณภาพ”

สู่ความหมายใหม่ในชีวิต

ภาพสะท้อนของความรักและละเมียดละไมในการงานทำให้กาแฟออร์แกนิกของชูใจเป็นที่ต้องการของตลาดญี่ปุ่นอย่างมาก คนญี่ปุ่นมักใส่ใจในรายละเอียด ผู้ซื้อชาวญี่ปุ่นบางรายถึงกับมาอยู่ในสวนกาแฟด้วยกันเพื่อซึบซับกระบวนการผลิตด้วยตัวเองทุกขั้นตอนเลยทีเดียว “เราเคยถามลูกค้าเหมือนกันนะว่า กาแฟมีตั้งเยอะ ทำไมต้องมาเลือกกาแฟของเรา เราไม่มีใบเอกสาร organic thailand หรืออะไรสักอย่าง เคยพาเขาไปตระเวนดูที่สวนอื่นด้วยซ้ำ อยากจะซื้อมากกว่าที่ซื้อจากเราก็ยังได้ เขาตอบว่าเราน่ะเป็นธรรมชาติมากที่สุดแล้วในความรู้สึกของเขา ใช้ความเชื่อใจกัน ทุกอย่างก็สัญญาใจ หลายอย่างเราผิดพลาดก็เรียนรู้ไป ฝึกใจไป อะไรที่ผ่านไปแล้วแก้ไม่ได้ก็มาเริ่มต้นใหม่” ชูใจเล่าพลางครุ่นคิด เพราะก้าวต่อไปเขาอยากออกเดินทางไปหาความหมายใหม่ในชีวิตมากกว่า

“เราขายกาแฟเพราะอยากช่วยที่บ้าน อยากให้แม่ภูมิใจว่าเราไม่ได้ทำงานมีเงินเดือน แต่เราดึงดูดให้คนมาซื้อกาแฟของที่บ้านได้นะ จากการเริ่มต้นทำกาแฟอินทรีย์ที่ไม่ต้องเหมือนคนอื่น แล้ววันนี้มันส่งผลยังไง ได้ราคาสูงกว่าคนอื่นไหม”

“ตอนนี้พยายามส่งมอบให้น้องช่วยเรียนรู้ มารับช่วงต่อ ทั้งเก็บกาแฟ คั่วกาแฟ ส่งของ เพราะหลายอย่างเริ่มอิ่มตัวแล้ว อยากถอดตัวเองออกไปหาความหมายใหม่ๆ อยากไปช่วยเหลือเยาวชนที่ไม่มีโอกาส ที่ต้องไปทำงานแลกค่าจ้างรายวัน อยากให้เขามาทำตรงนี้ เราจะถ่ายทอดให้ มาเรียนลัดตรงนี้เลย หรือไปช่วยเหลือชุมชนอื่นๆ ที่เขามีกาแฟแต่ขายไม่ได้ ไม่รู้จะขายยังไง อยากช่วยให้เขาลุกขึ้นมาได้ด้วยตัวเองจากกาแฟของตัวเอง แต่สุดท้ายเราต้องช่วยบ้านเราก่อนแหละ จากรอบบ้าน เป็นชุมชน อย่างน้อยทำให้เขาฉงนได้ว่า การทำกาแฟอินทรีย์มันดียังไง เราไม่ได้ชวนใคร แต่ถ้าใครอยากเดินกับเราก็ให้เขาเดินมา

“คนในสวนรอบๆ ข้างมาถามเหมือนกันนะ เราบอกว่าเราทำแบบนี้และได้ราคาสูงกว่า ป้าจะเอาด้วยไหม อยากให้เขาภูมิใจที่มีรายได้เพิ่มขึ้น”

“ส่วนตัวเองอยากทำอะไรสักอย่าง การปั่นจักรยานเพื่อเดินทางท่องเที่ยวก็ท้าทายนะ แต่ยังไม่กล้า มีความกลัวอะไรสักอย่าง ใจอยากไปประเทศลาว คิดว่าคงต้องมีความงามอะไรบางอย่างรอเราอยู่ที่นั่นแน่ๆ”

ในวันข้างหน้า เส้นทางของนักเดินทางกับการเป็นผู้สร้างสรรค์กาแฟอาจมาบรรจบกันได้ในวันใดในหนึ่ง แต่สำหรับตอนนี้ เขามีแค่ปัจจุบันขณะ “แค่ลูกค้าได้กินกาแฟ ได้สนทนา แล้วเรารู้ว่าเขาจิตใจดีขึ้น แค่นี้ก็มีความสุขแล้วนะ”

และนี่คือความสุขแสนเรียบง่ายแบบชูใจ ที่ชุบชูใจทุกครั้งที่ได้ดื่มด่ำท่ามกลางบนสนทนาอันงดงาม

หมายเหตุ: กาแฟชูใจขายสัปดาห์ละครั้งทุกวันอาทิตย์ที่ตลาด Rustic Market ใกล้จริงใจมาร์เก็ต (ตลาดนัดอินทรีย์) จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 08:00-12:00 น. มีบริการเฉพาะกาแฟดริปร้อน และจำหน่ายเมล็ดกาแฟจาก ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

ภาพถ่าย: สโรชา อินอิ่ม