ช่วงนี้ ผมมีความผูกพันกับจังหวัดชุมพรมาก เพราะมีโครงการที่ต้องมาทุกเดือน และมีโอกาสได้ใช้วัตถุดิบจากที่ชุมพรมากมาย ทั้งพืชผัก ผลไม้ และที่สำคัญคืออาหารทะเลที่สดใหม่ ใช้เวลาหลายเดือนอยู่กว่าจะหาชาวประมงที่พร้อมหาและส่งของให้ที่ Blackitch โดยปราศจากฟอร์มาลีน และส่งไปให้ถึงเชียงใหม่แบบยังคงสภาพความสดอยู่ได้ เลยจะมาเล่าวิถีของชาวประมงที่ชุมพรให้ทุกคนฟังว่าเขามีวิธีอยู่กับธรรมชาติอย่างไรให้ยั่งยืน

เริ่มต้นด้วยการพาไปเยี่ยมศูนย์วิจัยชุมชน มัจฉาสตรีท ที่ อำเภอประทิว จังหวัดชุมพร ที่นี่มีธนาคารปู และธนาคารอนุบาลสัตว์น้ำอื่นๆ ด้วย หลายๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินเรื่องธนาคารปูกันมาบ้างแล้ว คุณลุงเช็คเล่าให้เราฟังว่า เมื่อก่อนทะเลแถวนี้มีปลา ปู กุ้ง ชุกชุมมาก มีเยอะจนกินไม่หมด แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับเริ่มหายาก เนื่องจากเราจับอย่างเดียว ขายอย่างเดียว มันเลยทำให้สัตว์น้ำต่างๆ โตไม่ทันการบริโภคของเรา

คุณลุงและกลุ่มในชุมชนจึงเริ่มตั้งธนาคารปูและธนาคารปลาขึ้นมา อนุรักษ์ไม่จับสัตว์น้ำหายาก ไม่ใช้อวนลาก ทำประมงเรือเล็กแบบพื้นบ้าน เพราะคุณลุงบอกว่า หลังจากที่ทำโครงการนี้ ผ่านไปสองสามปี สัตว์น้ำกลับอุดมสมบูรณ์ขึ้นอย่างทันตา โดยเฉพาะปู ที่นี่ห้ามขายปูที่มีไข่อยู่นอกกระดอง ถ้าใครหาได้จะนำมาฝากไว้ที่ธนาคารปู เพื่อเลี้ยงให้ปูฟักเป็นตัวก่อน แล้วค่อยปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ เพราะจากงานวิจัย ปูไข่นอกกระดอง 1 ตัว มีไข่ราวๆ 700,000 ฟอง แต่จะมีโอกาสรอดจากธรรมชาติจนโตเต็มวัย ประมาณ 150 ตัว ธนาคารปูจึงเป็นการขยายโอกาสรอดชีวิตให้ปูไปเติบโตตามธรรมชาติได้มากขึ้น ทำให้ทะเลชุมพรตอนนี้ มีปูที่ตัวใหญ่มากขึ้นหลายเท่าตัวจากการทำธนาคารปู ส่วนปลาอื่นๆ ก็ทำในทำนองเดียวกันเพื่อเพิ่มประชากรสัตว์น้ำตามธรรมชาติ และทำให้มีสัตว์ทะเลให้เราได้กินได้ใช้ต่อไป และการมาที่นี่ เราสามารถเดินไปดูปู ดูวิถีชีวิตการทำประมง และไปเลือกปูมาทำกินได้เลย

จากการที่ได้เข้าไปในชุมชน ดูการทำประมงริมชายฝั่ง ผมได้เห็นสัตว์น้ำแปลกๆ มากมาย ทั้งม้าน้ำ ปลาสวยงามแปลกตา ปูหลากหลายสายพันธุ์ ปลิงทะเล กุ้งตัวใหญ่ๆ และหอยที่มีอยู่อย่างกลาดเกลื่อน เป็นความสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่ยังมีอยู่ในประเทศไทย

คุณลุงสอนให้เรากินและรู้จักปลาหลายๆ อย่าง แกว่าเดี๋ยวนี้คนไม่รู้จักกินกันแล้ว รู้จักปลาแค่ไม่กี่อย่าง คนทำประมงที่อื่น พอจับปลาที่ขายไม่ได้มากก็ทิ้งลงทะเลหมด ไม่เคยคิดเก็บ หรือรักษาพันธุ์ไว้ มันเลยค่อยๆ หมดไป เพราะไม่เป็นที่ต้องการของตลาด แต่จริงๆ สัตว์น้ำเหล่านี้มีประโยชน์เอื้อต่อกันและทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ อย่างปัญหาของอวนลากที่ลากทุกๆ อย่างไปหมด ทำลายหน้าทราย ปะการัง เต่า บางที่กวาดเอาหอยกาบ หรือสัตว์น้ำอื่นๆ โดยที่ได้มาก็ทิ้งเป็นขยะไปเลยก็มี เป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างยิ่ง

ต่อจากประทิว ผมได้เดินทางต่อไปยังเกาะพิทักษ์ เป็นเกาะที่อยู่ใกล้แผ่นดินที่สุด ในเดือนกรกฎาคมของทุกปี จะสามารถเดินตามสันทราย หรือที่เขาเรียกกระดูกมังกรจากฝั่งไปยังเกาะได้อีกด้วย ชุมชนที่เกาะพิทักษ์ เป็นชุมชนประมงแทบทั้งหมด ที่น่าสนใจคือชุมชนนี้เก่งเรื่องการถนอมอาหาร ทั้งของตากแห้ง กะปิ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากทะเลมากมาย และที่ผมสนใจมากๆ คือ การทำปลาเค็มโดยวิธีการฝังทราย สามารถทำได้กับปลาทุกประเภท แต่ระยะเวลาการฝังก็ขึ้นอยู่กับขนาดของปลาด้วย ซึ่งการได้ไปเรียนรู้การทำและไปกินปลาเค็มฝังทรายที่เกาะพิทักษ์ก็โชคดีมากๆ แล้ว แต่ผมก็ยังได้เดินไปเก็บหอยแม่เถ ที่สามารถเดินไปขุดในทรายทั่วไปได้อย่างง่ายดาย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างยังถูกรักษาไว้อย่างดี ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้นำชุมชนและความร่วมมือกันของคนในชุมชน ทำให้ธรรมชาติและระบบนิเวศยังคงสมบูรณ์อยู่

สิ่งที่อยากจะบอกคือ การที่ได้ไปเห็นชุมชน เห็นการใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติที่เราต้องใช้ประโยชน์กับสิ่งเหล่านี้อยู่ มันทำให้เราตระหนักได้ว่า หากเราคิดแต่จะกอบโกย มันก็จะไม่เหลืออะไร เหมือนหลายๆ ที่ในประเทศไทยหรือโลกนี้ที่เริ่มส่งสัญญาณว่าใกล้พัง และไม่ใช่แค่ชาวประมงที่จับปลามาให้เราต้องดูแล เราเองก็ต้องบริโภคอย่างถูกต้อง ไม่กินสัตว์น้ำนอกฤดู หรือในฤดูผสมพันธุ์ ไม่สนับสนุนการจับปลาอย่างผิดวิธี และเรียนรู้ ทความรู้จักกับของที่เรากินอยู่ทุกวันนี้ให้มากขึ้น

นอกจากจะคิดเรื่องการกินยังไงให้เราไม่ป่วยแล้ว ก็ต้องคิดว่าจะกินยังไงไม่ให้โลกที่เราอยู่ป่วยด้วยเช่นกัน

ภาพถ่าย: เชฟแบล็ค