รู้ไหม อาหารที่เรากินก็มีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกถึง 24% หรือพูดให้เห็นภาพก็คือจำนวนหนึ่งส่วนสี่ของวงกลมเชียวล่ะ

สิ่งที่เคยคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างอาหารในจาน จึงกลายเป็นวาระระดับโลกที่ทุกคนต้องใส่ใจ ด้วยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไวกว่าที่ควร ทำให้เกิดทางเลือกในการกิน รวมถึงคำศัพท์บัญญัติใหม่เกิดขึ้นมากมายตลอดหลายปีที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นคือ Climatarian Diet ที่ขอนิยามง่าย ๆ ว่าเป็น ‘การกินที่เฟรนด์ลี่กับสภาพภูมิอากาศ’ แต่นี่ไม่ใช่ศัพท์ใหม่ล่าสุดอะไรและถูกเอ่ยมาเกินทศวรรษแล้ว แถมเป็นคำที่เราควรรู้ เพราะเกี่ยวข้องกับอาหารในจานของเราเต็ม ๆ

เพราะการกินไม่ใช่เรื่องส่วนตัว
เราอาจเคยคิดว่าการกินเป็นเรื่องส่วนตัว ใครชอบสิ่งใดก็กินสิ่งนั้น ในแง่รสนิยมก็อาจจะใช่ แต่ถ้าพูดในบริบทของปัญหาสิ่งแวดล้อม แนวคิดแบบนี้อาจจะพูดได้ไม่เต็มปากนักว่าถูกต้อง

จริง ๆ แล้วการกินของเราสร้างเรื่องกว่านั้น ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น การบริโภคเนื้อวัวจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนับตั้งแต่การใช้พื้นที่และทรัพยากรจำนวนมหาศาลเพื่อเลี้ยงดูและปลูกพืชอาหารสัตว์ การใช้สารเคมีที่นอกจากจะเร่งการเติบโต ยังเร่งทำลายระบบนิเวศทางอ้อม หรือต่อให้เราหันมากินปลาอย่างหนัก ก็อาจเท่ากับเรากำลังส่งเสริมให้ทำประมงเกินขนาด (Overfishing) เร่งจับสัตว์น้ำแบบไม่แคร์นิเวศทางทะเล นำมาซึ่งการสูญพันธุ์ในที่สุด

หรือแม้แต่การที่เราเลือกกินแต่ผักผลไม้ก็ตาม ถ้าเราไม่สนใจพืชท้องถิ่นหรือการกินตามฤดูกาลเลย แต่นิยมเฉพาะพืชผลนำเข้าที่นั่งเครื่องบินมาเท่านั้น คาร์บอนฟุตพรินต์จากการขนส่งที่สูงลิบลิ่ว กระทั่งการล้มหายตายจากของเมล็ดพันธุ์พื้นถิ่นที่ปลูกแล้วไม่มีคนกินจนค่อย ๆ สูญหายไป เลยพูดได้เต็มปากว่า อาหารที่เราเลือกกินทำให้เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ นั่นหมายความว่าหากเราแชร์สิ่งแวดล้อมร่วมกับคนทั้งโลกอยู่ การกินก็ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่งเสียทีเดียว

กินแบบใด ถึงเรียก Climatarian Diet
ว่ากันที่นิยามก่อน Climatarian Diet คือการกินที่เฟรนด์ลี่กับสภาพภูมิอากาศ หรือขยายความกว่านั้นอีกหน่อย คือความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงปัญหาสภาพภูมิอากาศ ผ่านการเลือกกินอย่างใส่ใจ หรือจะนิยามว่า คือการเลือกกินที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลักก็ยังได้

เว็บไซต์ Climatarian ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ชื่อว่า Climates Network CIC แนะนำให้เข้าใจการกินวิถี Climatarian แบบง่าย ๆ ผ่านการเปรียบเทียบเมนูที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำกว่าอีกเมนู เช่น ควรกินสัตว์ปีกแทนสัตว์เนื้อแดง ควรกินปลาจากการทำประมงอย่างยั่งยืนแทนปลาจากการประมงเกินขนาด กระทั่งควรเลือกซื้อของที่มีรูปแบบบรรจุภัณฑ์น้อยชิ้น ลดซื้อสินค้าที่มีหีบห่อยิบย่อย เป็นต้น

การกินวีแกน มังสวิรัติ หรือมังสวิรัติแบบอะลุ่มอล่วย เช่น การกินแบบ Pescetarian (กินนม ไข่ ปลา/สัตว์น้ำ) หรือการกินแบบ Lacto-Ovo-Vegetarian (กินนมและไข่) ก็เป็นส่วนหนึ่งของการกินที่เฟรนด์ลี่กับสภาพภูมิอากาศด้วยเหมือนกัน เพียงแต่ Climatarian Diet ทำได้ง่ายกว่านั้น เพราะหลักสำคัญของ Climatarian Diet คือ ‘การรู้ที่มาที่ไป’ แค่เราใส่ใจในการรับรู้ที่มาที่ไปของวัตถุดิบอาหารนั้น ๆ ตั้งแต่ต้นทางการผลิต ตรวจสอบแหล่งที่มาย้อนกลับได้ รวมถึงการอุดหนุนอาหารในท้องถิ่นชุมชน หรือทำอย่างไรไม่ให้มีอาหารเหลือทิ้งในแต่ละมื้อ หากคุณมีพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่ว่ามา ก็สามารถนับรวมตัวเองเป็นนักกิน Climatarian กับเขาได้เหมือนกัน

ช็อปปิงลิสต์ของชาว Climatarian Diet
ยังอยากลิ้มรสเนื้อย่างอยู่ ยังหักดิบเป็นนักมังสวิรัติไม่ได้ ไม่เป็นไร ในเมื่อการปรับตัวให้เป็นชาว Climatarian Diet นั้นทำได้ง่ายกว่าที่คิด เริ่มจากการเลือกกินสิ่งต่อไปนี้

  • ผักผลไม้ตามฤดูกาล
    ที่ทั้งกรอบ อร่อย สดใหม่ แถมเซฟทรัพยากรที่ใช้ในการเพาะปลูกมากกว่าพืชผลนอกฤดูกาลหลายเท่า การกินตามฤดูกาลช่วยลดการใช้สารเคมีในมือเกษตรกร ไม่ต้องเร่งปลูกเอาใจตลาด และยังเป็นการอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์อีกทางหนึ่ง
  • วัตถุดิบปลอดภัยใกล้บ้าน
    เลือกวัตถุดิบที่ปลอดภัย สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาย้อนกลับได้ และควรจะ ‘ใกล้บ้าน’ ทั้งในแง่ของการซื้อหาได้ตามตลาดชุมชนใกล้ละแวกที่อยู่อาศัย และในแง่ของการปลูกได้ในประเทศ ลดคาร์บอนฟุตพรินต์จากอาหารเดินทางไกลที่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากโขกว่าจะถึงมือเรา
  • ซีฟู้ดประมงพื้นบ้าน
    เพื่อบอกลาการทำประมงเกินขนาด ที่มีเท่าไหร่จับหมดแบบไม่สนลูกใคร ไม่ปล่อยระยะเวลาให้สัตว์ได้ผสมพันธุ์ใหม่หรือเติบโตไปด้วยซ้ำ ทำให้สัตว์น้ำสูญพันธุ์อย่างรวดเร็ว และการสนับสนุนกลุ่มประมงพื้นบ้านให้มากขึ้นก็ช่วยลดการสนับสนุนการทำประมงเกินขนาดที่ว่า ซึ่งปัจจุบัน โซเชียลมีเดียทำให้เราสามารถเข้าถึงกลุ่มประมงพื้นบ้านได้มากกว่าแต่ก่อน เราขอแนะนำ กลุ่มแมวกินปลา ประมงพื้นบ้าน ชาวมอแกลน ที่รับซื้อวัตถุดิบจากชาวประมงพื้นบ้าน 40 ราย แถมจัดการชิ้นส่วนของเหลือจากการตัดแต่งปลา ส่งต่อไปเปลี่ยนเป็นน้ำหมักปุ๋ยปลาที่ใช้ในสวนปาล์มของชาวบ้าน
  • กินเนื้อสัตว์น้อย ๆ จากฟาร์มเล็ก ๆ
    กินเนื้อสัตว์น้อยลง หรือปรับมาอุดหนุนเนื้อสัตว์จากฟาร์มขนาดเล็ก เลี้ยงสัตว์แบบไม่ใช้สารเคมี รู้ที่มาที่ไป ตรวจสอบแหล่งที่มาย้อนกลับได้ เช่น หมูหลุมอินทรีย์ ที่มีหลายฟาร์มให้เลือกตามใจชอบ ขณะเดียวกันก็ควรเลี่ยงวัตถุดิบจากโรงงาน หรือสัตว์ที่มาจากระบบอุตสาหกรรมปศุสัตว์ขนาดใหญ่
  • เลือกไข่จากไก่อิสระ (Free-range)
    ส่วนจะ Free-range แบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับมาตรฐานที่แต่ละแห่งกำหนด เช่น กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Agriculture หรือ USDA ) ระบุว่า Free-range คือการเลี้ยงที่ให้แม่ไก่ออกไปนอกโรงเรือนได้ แต่ยังมีการจำกัดบริเวณ ส่วน Humane Farm Animal Care (HFAC) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร มีพันธกิจยกระดับคุณภาพชีวิตของสัตว์ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ระบุว่า Free-range คือไข่ที่มาจากฟาร์มที่มีพื้นที่สองตารางฟุตต่อแม่ไก่หนึ่งตัว และไก่นั้นต้องอยู่กลางแจ้งในสภาพอากาศที่อำนวยอย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่คำว่า Cage-free หรือไก่ที่เลี้ยงแบบปล่อยในโรงเรือน ยังมีช่องโหว่เล็ก ๆ ของลักษณะการปล่อยในโรงเรือนว่าปล่อยแบบใด แออัดหรือไม่ อย่างไรก็ตาม สวัสดิภาพของไก่ที่ออกไข่ให้เรากินก็ยังเป็นสิ่งที่ควรหยิบมาพิจารณาให้ดีก่อนเลือกซื้อ
  • ซื้อเท่าที่กิน ไม่เหลือทิ้ง
    เรื่องกิน รวมถึงการเลือกซื้อวัตถุดิบเข้าบ้านแต่ละทีก็เป็นสิ่งที่ต้องวางแผน กินกี่คน ทำได้กี่เมนู กี่มื้อ ถ้าประเมินได้ วางแผนมาดี ซื้อเท่าที่กินก็จะไม่เหลือทิ้งเป็นขยะอาหาร (Food Waste) ที่กลายเป็นภาระที่ปลายทาง

หากอ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว พบว่าพฤติกรรมตัวเรายังไม่เข้าเกณฑ์ Climatarian Diet เลยสักข้อ ลองเริ่มอย่างง่ายจากการฝึกนึกถึงที่มาที่ไปของวัตถุดิบนั้น ๆ ก่อนหยิบใส่ตะกร้า หรือก่อนตักอาหารเข้าปากสักคำก่อนก็ได้ จากนั้นค่อย ๆ อัปเลเวลตัวเองให้ใส่ใจมากขึ้นอีกทีละนิด ในวงเล็บว่า เท่าที่เป็นไปได้ และในรูปแบบของเรา

ที่มาข้อมูล:
climatarian.com
littlebiggreen.co
www.nytimes.com
guide.michelin.com