“ทุกลมหายใจที่เราสูดเข้าไป อาหารทุกคำที่เรากิน สุดท้ายแล้วก็มาจากธรรมชาติ ถ้าเราทำลายธรรมชาติลง ก็เท่ากับเราทำลายตัวเราเอง”

เซอร์เดวิด แอตเทนเบอเรอห์

ผู้เขียนตั้งใจเริ่มต้นบทความนี้ ด้วยคำพูดของ เซอร์เดวิด แอตเทนเบอเรอห์ ชายชาวอังกฤษวัย 93 ที่สำหรับผู้เขียนแล้ว เขาเป็นในหลากหลายบทบาทเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นนักทำสารคดี นักธรรมชาติวิทยา นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ที่หลายคนรู้จักกันดีจากสารคดีที่โด่งดังระดับโลกอย่าง Planet Earth และล่าสุดก็คือ David Attenborough : A Life on Our Planet ที่เพิ่งฉายใน Netflix เมื่อเร็วๆ นี้

แต่ก็นั่นแหละ ทุกบทบาทที่เขาทำ สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งเดียวที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงหรืออ่อนแรงลง นั่นคือ ความรักในธรรมชาติและโลกใบนี้ ไม่ว่าเซอร์เดวิดจะไปพูดบนเวทีระดับนานาชาติที่ไหนก็ตาม ทุกคนต้องตั้งใจฟัง เพราะนี่คือมนุษย์ที่เป็นประจักษ์พยานการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้มาอย่างน้อยก็ 93 ปี เขาเคยเห็นความสวยงามของโลกในแบบที่เราเกิดมาก็ไม่ได้เห็นแล้ว และแน่นอน สิ่งที่เขาเห็นพร้อมๆ กับเราในวันนี้ เช่น ธรรมชาติที่ถูกทำลายลงต่อหน้าต่อตา เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบไม่แคร์โลก ก็เป็นสิ่งที่เขาไม่เคยพบเคยเห็นในอัตราเร่งระดับนี้เช่นกัน

ถ้าใครดูสารคดีเรื่องนี้แล้ว น่าจะรู้สึกอึ้ง (ไม่ต่างจากผู้เขียน) เมื่อเห็นข้อมูลสำคัญบางเรื่องที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอ

ปี 1937
ประชากรทั่วโลก 2.3 พันล้านคน
คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ 280 ppm (parts per million)
ป่าไม้ที่ยังคงเหลืออยู่ 66%

เรื่องหนึ่งที่อยากให้สังเกตคือข้อ 2 ที่ว่าด้วยเรื่องคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ที่เป็นตัวการสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่ส่งผลกับภาวะโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศแปรปรวนทั้งหลายที่เรากำลังเผชิญอยู่

และมันก็นำมาสู่เรื่องของ วันสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมอีกวันหนึ่ง นั่นก็คือ วันที่ 24 ตุลาคม หรือวัน International Day of Climate Action (วันปฎิบัติการด้านภูมิอากาศสากล) ซึ่งเป็นวันที่ประเทศสมาชิกในองค์การสหประชาชาติ ได้มีข้อตกลงร่วมกันให้วันนี้เป็นวันปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศสากลอย่างเป็นทางการ และมีองค์กร 350.org องค์กรไม่แสวงผลกำไร ที่ก่อตั้งโดย บิล แมคคิบเบน (Bill McKibben) เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนแคมเปญนี้มาตั้งแต่ปี 2009 และบิลนี่เองที่เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The End of Nature อันโด่งดังและได้รับการยอมรับในแวดวงนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมว่า เป็นหนังสือสำคัญเล่มหนึ่งที่ทำให้เรื่องภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่คนทั่วโลกต้องฟัง

โดยในวันนี้ ผู้คนใน 180 ประเทศทั่วโลก ก็จะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเรียกร้องข้อตกลงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำเสนอในที่ประชุมสหประชาชาติที่โคเปนเฮเกนในเดือนธันวาคมของทุกปี กิจกรรมเหล่านั้นจะถูกบันทึกภาพและวิดีโอสั้นๆ เพื่อลงในเว็บ 350.org ด้วย

เจ้าตัวเลข 350 นี่แหละที่น่าสนใจ เพราะนอกจากมันจะเป็นชื่อองค์กรแล้ว มันยังเป็นตัวเลขสำคัญของพวกเราทั้งหลายที่ใช้ชีวิตร่วมกันในโลกนี้อีกด้วย

เหตุผลเพราะว่า มันเป็นตัวเลขเป้าหมายของโลกในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศนั่นเอง

ว่าแต่…ยังจำเรื่องของเซอร์เดวิด ในสารคดี A Life on Our Planet ที่อ้างไปตอนต้นได้มั้ย? คิดดูก็แล้วกันว่า ในปี 1937 หรือ 83 ปีที่แล้วโลกเรามีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศอยู่ที่ 280 ppm เท่านั้น แต่ไม่น่าเชื่อว่า เมื่อโลกเข้าสู่ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือ ปี 1800 เป็นต้นมาเท่านั้นแหละ ปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็เพิ่มขึ้นถึง 390 ppm และมีการคำนวณว่ามันจะเพิ่มขึ้นแบบนี้ทุกปีไปเรื่อยๆ ประมาณ 2 ppm ต่อปี คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ก็เลยประกาศตัวเลขเป้าหมายของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โลกที่ควรจะเป็นไว้ที่ 350 ppm ซึ่งก็น่าเศร้าไม่น้อย เพราะวันนี้ เรายังห่างไกลจากตัวเลขเป้าหมายที่ว่านั้นเหลือเกิน เพราะในสารคดีเรื่องเดียวกัน บอกไว้ว่า

ปี 2020
ประชากรทั่วโลก 7.8 พันล้านคน
คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ 415 ppm
ป่าไม้ที่ยังคงเหลืออยู่ 35%

ต้องบอกว่าเป็นตัวเลขที่โหดมากในทุกอย่าง โลกนี้มีคนมากขึ้น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงปรี๊ด เนื่องจากต้นไม้ลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย ทุกอย่างสัมพันธ์กันไปหมด และถ้าพูดกันตรงๆ แบบโลกไม่สวย ใช่! โลกนี้ก็ไม่ได้สวยจริงๆ นั่นแหละ แถมเรายังต้องคิดให้มากขึ้นอีกด้วยว่า ถ้าเรายังสามารถทำอะไรได้สักอย่าง เราอยากทำอะไร และโลกแบบไหนที่เราอยากอยู่?

ทุกวันนี้จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่เราจะเห็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ เยาวชน หรือแม้แต่เด็กๆ ทั่วโลก ออกมาเรียกร้อง เดินขบวน สร้างแคมเปญ เพื่อรณรงค์ให้เราลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อให้โลกดีขึ้นกว่านี้ เช่น เกรต้า ธุนเบิร์ก ที่ทำให้เกิดแคมเปญ Fridays For Future เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาเป็นกลุ่มที่ต้องอยู่ในโลกนี้ต่อไปอีกนานและต้องรับผลจากสิ่งที่เราทำกับโลกในวันนี้ด้วย แต่ที่สำคัญอีกเรื่อง พวกเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลและความรู้มากมายที่ว่าด้วยเรื่องสภาพภูมิอากาศของโลกและความเปลี่ยนแปลงอีกมากมายที่ยากจะหวนกลับ พวกเขาจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากลุกขึ้นมาส่งเสียงเรียกร้องและลงมือทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้โลกดีกว่าที่เป็นอยู่

เซอร์เดวิดบอกไว้ตอนหนึ่งในสารคดีที่ผู้เขียนนั่งดูในค่ำคืนที่ฝนพรำว่า ภาพที่ทำให้คนทั้งโลกมองโลกเปลี่ยนไปจากเดิมและเปลี่ยนมุมมองอีกหลายอย่างไปโดยสิ้นเชิงก็คือ ภาพโลกของเรา หรือ Blue Marble ที่มองเห็นจากนอกโลก ภาพนั้นถ่ายโดยนักบินอวกาศในยานอพอลโล 17 ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ดวงจันทร์ ภารกิจที่ครั้งหนึ่งเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์จะทำได้

แม้ว่าวันนี้โลกจะไม่ค่อยสวย แต่เราอยากอยู่ในโลกที่สวยงามแบบไหนต่อไปในอนาคต คำตอบน่าจะอยู่ที่การกระทำของพวกเราในวันนี้ เพราะนั่นแหละคือภารกิจที่มนุษย์อย่างเราทำได้ และทำได้เลยตั้งแต่วันนี้

ที่มาข้อมูล
www.bbc.co.uk
www.350.org
www.nsm.or.th

เครดิตภาพ: Shutter Stock, NASA