ก่อนที่จะเป็นมะเร็งก็เคยคิดว่า
กลัว
จะเป็นมะเร็งนะ แต่ตอนนี้ ถ้าชีวิต

มันจะให้เป็นอีก ก็เป็น เราคิดว่าเรารับมือได้

หรือถ้าจะต้องตายก็ตาย

เพราะเราได้ใช้ชีวิตที่แท้จริงแล้ว

เราได้ใช้อย่างที่ควรจะเป็น นั่นคือมีความมุ่งมั่น

ที่เรารู้ว่าเราควรจะทำอะไร

ต้องการ-วลัยกร สมรรถกร คือนักวาดการ์ตูนสาวเจ้าของประโยคข้างต้น สำหรับใครที่ไม่รู้จักเธอมาก่อน คงพอจะเดาได้ว่าเธอเคยเป็นมะเร็งและหายจากโรคนี้ได้ แต่การได้ใช้ชีวิตที่แท้จริงคืออะไร และเธอมีความมุ่งมั่นที่จะทำอะไร คงเป็นเรื่องที่เกินจะนึกเดา

ในฐานะแฟนการ์ตูนยุคบุกเบิก เราติดตามลายเส้นน่ารักของเธอในนิตยสาร a day มาตั้งแต่สิบกว่าปีก่อน ค่อยๆ เห็นความเปลี่ยนแปลงของลายเส้นไปพร้อมๆ กับชีวิตที่เปลี่ยนไป เราได้ข่าวว่าเธอเป็นมะเร็งผิวหนังทั้งที่อายุยังน้อยและต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วนเพื่อตัดคว้านเจ้าเนื้อร้ายเหล่านี้ทิ้งไปให้มากที่สุด เสียต่อมน้ำเหลืองไปหนึ่งข้าง มีแผลเป็นชัดตาที่ข้อมือ แต่อย่างน้อยก็โชคดีที่มันไม่ลามไปที่ไหน หลังจากนั้น เราได้ข่าวว่าเธอไปเข้าคอร์สธรรมชาติบำบัดและกินแต่ผลไม้เพื่อล้างพิษนานถึง 9 เดือนเต็ม!

หลังจากเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ ต้องการกลับมาในโลกของการ์ตูนด้วยหนังสือภาพสีน้ำสวยสดอย่าง Organic 101 บอกเล่าเรื่องการใช้ชีวิตในวิธีออร์แกนิกที่ไม่ยากเย็นและเคร่งครัดอย่างที่คิดผ่านประสบการณ์ของตัวเอง ขณะเดียวกันเธอก็ไม่หยุดที่จะพัฒนาลายเส้นและเทคนิค หญิงสาวค้นพบว่าสีที่ละลายจากดอกไม้ใบไม้รอบบ้านไม่ต่างอะไรจากสีน้ำหลอดสำเร็จที่เธอเคยใช้ หลังจากทดลองอยู่นาน เธอคว้าจับธรรมชาติมาใส่ในเส้นสายและสีสันของตัวเองจนกลายเป็นสไตล์ที่ได้รับการยอมรับและพูดได้เต็มปากว่าเธอคือนักวาดการ์ตูนสายออร์แกนิกคนแรกของโลก!]

แต่นอกจากจะใช้การ์ตูนสื่อสารประเด็นออร์แกนิกให้เป็นมิตรและเข้าใจง่าย ต้องการยังร่วมมือกับเพื่อนๆ ที่บ้านใหม่เมืองปากช่อง สร้างชุมชนกินดีอยู่เป็นขนาดน่ารักในชื่อ ตลาดนิดนิด นอกจากจะเป็นเจ้าแรกๆ ที่ริเริ่มทำตลาดทำนองนี้อย่างจริงจังตั้งแต่หลายปีก่อน แต่พวกเธอก็ยังมีอะไรสนุกๆ ชวนยิ้มอยู่ทุกที เลยรวมไปถึงเวิร์กช็อปน่ารัก และสินค้าออร์แกนิกคัดสรรในนาม ปากช่อง slow life

และในตลาดนิด นิด ครั้งที่ 4 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เราได้โอกาสแวะไปอุดหนุนนักปลูก นักปรุง นักทำ สินค้าออร์แกนิกที่ปากช่อง และชวนต้องการคุยว่าความเป็นชุมชนจำเป็นต่อวิถีชีวิตยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งคำตอบที่ได้ ชวนให้คิดอะไรได้หลายอย่าง

และชวนให้เราตั้งคำถาม ว่าเราควรใช้ชีวิตที่แท้จริงอย่างไร

พอจะพูดได้ไหมว่า มะเร็งคือจุดเปลี่ยนชีวิตครั้งสำคัญ
การเป็นมะเร็งของเรามันเร็วมาก ไม่ได้ทุกข์ทรมานอะไรเลย แต่ว่ามันช็อก เหมือนถูกตบหน้า ว่าที่ผ่านมาเธอทำอะไรกับชีวิต และจะทำอย่างไรต่อไปกับชีวิตมากกว่า คือเราไม่อยากเป็นอีก แต่เราไม่รู้ว่าเราทำอะไรผิดไปตรงไหน เราไม่รู้ว่าจะไปต่อยังไง ก่อนหน้านี้เราเป็น interior designer มันเป็นงานที่ค่อนข้างเครียดเพราะต้องทะเลาะกับทุกๆ ฝ่าย ตั้งแต่ลูกค้ายันเซลส์ พอได้วาดการ์ตูน ได้ทำภาพประกอบ ก็เหมือนกับชีวิตดีนะ แต่เราเป็นคนที่ไม่มีระเบียบกับชีวิตตัวเอง มันเหมือนอยู่ไปวันๆ น่ะ แล้ววันนึงชีวิตก็ส่งมะเร็งมาให้ มาตบหน้าเพื่อบอกว่าเธอมุ่งมั่นกว่านี้ได้ เธอมีทางที่ชัดเจนกว่านี้ได้ เธอไม่ใช่คนที่ควรจะอยู่เฉยๆ ลอยไปลอยมา

คุณทำอะไรหลังจากถูกตบหน้าฉาดใหญ่
หลังจากพักฟื้นจากการผ่าตัด ออกมาเดินได้ ก็เข้าคอร์สธรรมชาติบำบัดเลย ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร ไป 7 วัน ปรากฏว่าก็พลิกชีวิตจากตรงนั้นเลย คือเพิ่งรู้ว่าเรามีทางเลือกหลายทางในชีวิต เรารู้ว่าสารเคมีที่เรารับอยู่ทุกวันมันเยอะมาก และเขาก็พูดเรื่องออร์แกนิกด้วย พูดเรื่องอาหาร ก็สนใจและออกมาค้นคว้าเอง ก็รู้สึกว่าอินกับเรื่องออร์แกนิกมากๆ เฮ้ย! มันเป็นทางรอดของโลกมนุษย์ คือการไม่ใช้สารเคมีทำให้เกษตรกรปลอดภัย คนกินก็ปลอดภัย สิ่งแวดล้อมก็ปลอดภัย มันยั่งยืน เลยคิดว่าเกษตรอินทรีย์นี่แหละทางรอดของมนุษย์โลก ต่อไปฉันจะรณรงค์เรื่องนี้ด้วยการ์ตูนมุ้งมิ้งของฉัน วางตัวเองไว้ว่าเป็น activist ที่พูดเรื่องออร์แกนิกที่มุ้งมิ้งที่สุดละกัน (ยิ้ม)

ความมุ้งมิ้งตอบโจทย์อะไร
คือก่อนหน้านี้ เวลาพูดถึงออร์แกนิกมันจะค่อนข้างซีเรียส เราก็เห็นช่องว่างว่าเรามีการ์ตูนเป็นสื่อ เราอยากให้คนดูแลสุขภาพตั้งแต่อายุยังน้อยเพราะแฟนๆ เราก็ยังอายุน้อย ก็คิดว่าการ์ตูนน่าจะเป็นเครื่องมือที่ดี

เอาความมุ่งมั่นนี้มาจากไหน
ตอนเข้าคอร์ส คุณหมอจะดูให้ว่าแต่ละคนควรจะปฏิบัติตัวยังไง สำหรับเรา การล้างพิษก็คือการกินอาหารที่ไม่ผ่านกระบวนการอะไรทั้งสิ้น มันก็เหลือแค่ผักสดกับผลไม้ กับน้ำผลไม้เท่านั้น เกลือ น้ำตาล ห้ามมี ร้อนเย็นห้ามผ่าน เราล้างพิษอยู่ 9 เดือน ระหว่างนั้นจะเป็นช่วงที่พิษออก บางคนอาจจะฉี่ออกมาเหม็นกลิ่นยาที่กินเข้าไปทั้งหมดในชีวิต แต่ของเราเป็นลมพิษ เหมือนโดนมดต่อยมาทั้งรัง เป็นทุกวัน แรกๆ ก็เหวอ แต่เราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตัวเองที่มันเกี่ยวข้องกับอาหารการกิน นอกจากผอมลงมาก เราก็จะไม่ง่วงหรือต้องนอนกลางวันเหมือนก่อน หรือประจำเดือนจะขาดไปช่วงที่ล้างพิษเพราะร่างกายเราได้รับสารอาหารไม่เต็มที่ ซึ่งก็ต้องอยู่ในการควบคุมของคุณหมอด้วยนะ

ระหว่างนั้น เราได้สังเกตตัวเองอย่างจริงจัง ก็เลยทำให้เรารู้ว่าเราเป็นคนเข้มแข็งเด็ดขาด มีระเบียบ เราไม่ใช่คนเอ้อระเหยลอยชายแบบที่เราคิดอยู่ตลอด คือถ้าเราจะทำเราทำได้ ก็คิดเลยว่า ไม่ว่าต่อจากนี้ชีวิตจะเป็นยังไง ฉันทำได้ทุกอย่าง เพราะว่าฉันไม่กินข้าวมา 9 เดือน ฉันทำได้นี่ก็สุดยอดมากแล้ว ตอนนั้นน่ะ คิดถึงแต่อาหาร แต่คิดถึงชีวิตมากกว่าไง คนที่ไม่กินข้าว 9 เดือน จะทำอะไรก็ได้แล้ว อะไรจะทรมานกว่านี้

คนที่ไม่ได้กินข้าวมา 9 เดือนคนนั้น อยากทำอะไรให้สำเร็จที่สุดในตอนนี้
อยากให้คนเข้าใจออร์แกนิกและเปิดใจมากขึ้น  คือพอจะกินออร์แกนิก คุณถามละเอียดยิบเลย 70 คำถาม พอคุณซื้อผักเคมี คุณไม่ถามเลย ทำไมมันเป็นอย่างนั้น คุณควรจะเกิดคำถามว่าทำไมต้องใส่เคมี ทำไมต้องกินสิ่งที่มีเคมีต่างหาก และเมื่อเข้าใจแล้ว ความเป็นชุมชนก็จำเป็นมากๆ กับเกษตรกรเอง การมีชุมชนออร์แกนิกมันตอบข้อจำกัดหลายอย่าง เพราะวิถีออร์แกนิกมันทำใหญ่ไม่ได้ มันต้องการการสนับสนุนจากผู้ซื้อหรือจากชุมชนที่ปลูกออร์แกนิกด้วยกัน รวมทั้งการสนับสนุนจากรัฐบาล ต้องมีการแบ่งปันความรู้และช่วยกันดูแล

ในแง่ของผู้บริโภคไม่ต่างกัน เพราะแค่เรื่องข้อมูลก็เยอะแล้วว่าอะไรเป็นยังไง เราควรจะกิน certified organic มั้ย ไฮโดรโปนิกใช่ไหม อควาโปนิกใช่หรือเปล่า ซึ่งจริงๆ แล้วออร์แกนิกเป็นอาหารที่เชื่อใจกันซะมากกว่า เพราะไม่ว่าคุณจะได้ certified organic หรือไม่ มันก็มีข่าวมาเรื่อยๆ ว่ามันยัดไส้ แต่ถ้าเรารู้ว่าบ้านนี้ปลูก เขาไม่ใช้เคมีเลยเพราะเขาก็กินเองด้วย แค่นั้นก็พอแล้วสำหรับเรา เราไม่ต้องการให้เกษตรกรที่อยากเริ่มต้นทำเกษตรอินทรีย์ต้องพักดิน 4-5 ปีตามกฎ คือในระยะปรับเปลี่ยน เราก็ต้องให้กำลังใจ ช่วยอุดหนุนเพื่อให้เขายังมีความตั้งใจทำต่อไปด้วย

“พอจะกินออร์แกนิก

คุณถามละเอียดยิบเลย 70 คำถาม

พอคุณซื้อผักเคมี คุณไม่ถามเลย

ทำไมมันเป็นอย่างนั้น

คุณควรจะเกิดคำถามว่าทำไมต้องใส่เคมี

ทำไมต้องกินสิ่งที่มีเคมีต่างหาก”

นั่นเป็นเหตุผลที่เริ่มทำตลาดนิดนิดด้วยหรือเปล่า? การสร้างชุมชนสำหรับคนปลูก คนกิน
ตอนมาอยู่ที่ปากช่องเมื่อ 7 ปีก่อน เราไม่รู้จักใครเลย ไม่ออกจากบ้าน ไม่กินข้าวนอกบ้าน ทำงานของตัวเองไป จนกระทั่ง 3 ปีก่อนได้รู้จักหอม (คำหอม ศรีนอก) เจอกันที่งานเสวนาในกรุงเทพฯ ก็เลยรู้ว่าอยู่ปากช่องด้วยกัน ทำฟาร์มผักออร์แกนิกชื่อไร่ผักหอม พอดีเป็นช่วงที่เหมียว (รสริน ติยะชาติ) เจ้าของซานโตฌา เฮลท์ แอนด์ ไลฟ์สไตล์ รีสอร์ท เขาก็สนใจเรื่องออร์แกนิกเหมือนกัน เลยรวมกันเป็นกลุ่ม ปากช่อง สโลว์ ไลฟ์ แล้วก็คุยกันว่าคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ว่าที่นี่มีฟาร์มผักออร์แกนิกอยู่นะ เราอยากจะโปรโมตปากช่องให้เป็นเมืองออร์แกนิก เหมือนเป็นแหล่งอาหารออร์แกนิกของคนกรุงเทพฯ มันอยู่ในระยะที่นิยามว่าเป็น local food อยู่แล้ว คืออยากจะเจือจางความเป็นอิตาเลียน คาวบอยของปากช่องลงไปบ้าง ก็เลยลองทำตลาดเล็กๆ ดู ซึ่งประสบความสำเร็จดีพอสมควรในการจัดครั้งแรก และก็มีอีกหลายครั้ง รวมถึงไปจัดที่กรุงเทพฯ ด้วย

คือในฐานะคนจัด มันก็แฮปปี้ตรงที่เรามีอะไรก้าวหน้าขึ้น มีอะไรให้เล่นมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าช่วงที่เราจัดนิดนิดครั้งที่ 1 คนจัดตลาดยังไม่เยอะ พอครั้งต่อๆ มาก็กังวลว่ามันจะเฝือหรือเปล่า แต่ปรากฏว่ามันก็มีทางไปของมันนะ มันก็มีความตื่นเต้นใหม่ๆ ที่เราทำได้

ความตื่นเต้นของตลาดนิดนิดครั้งที่ 4 นี้คืออะไร
เมื่อปีที่แล้วเราได้ไป organic trip ที่จังหวัดยามานาชิ ประเทศญี่ปุ่น เราไปอยู่ฟาร์มสเตย์ชื่อพิทาร่า ฟาร์ม และได้ไปทำเวิร์กช็อปสีน้ำจากดอกไม้ที่นั่นด้วย ก็ได้คุยกับไซจัง (ไซกะ อาโอกิ หนึ่งในผู้ก่อตั้งฟาร์ม) ว่าเราจัดตลาดอย่างนี้นะ เขาก็ชอบมาก และอยากหนีหนาวจากที่นั่นก็เลยมาแจมกับเรา ชวนนักดนตรีมาเล่น ขนกิโมโนมาสอนให้คนเดินตลาดใส่ มาปูเสื่อทำพิธีชงชา มีสินค้าออร์แกนิกจากพิทาร่าฟาร์มมาขาย มุ้งมิ้งญี่ปุ่นมากๆ แล้วเราก็มีกิจกรรมกับส่วนอื่นๆ ด้วย มีกลุ่มปกาเกอะญอบ้านหินลาด จากเชียงราย มาดริปกาแฟ และทำเทสต์ติ้งน้ำผึ้งป่าในงาน มีเวทีคุยกันเรื่องข้าวทุ่งสำริด ซึ่งเป็นข้าวพื้นถิ่นของโคราช ซึ่งก็มีการหุงให้ชิม คือได้ให้ความรู้เรื่องออร์แกนิกไปด้วยในบรรยากาศที่สบายๆ ง่ายๆ

ถามย้อนตอนไปฟาร์มสเตย์ที่ยามานาชิหน่อย อะไรคือสิ่งที่น่าสนใจที่สัมผัสได้จากที่นั่น
ยามานาชิคล้ายเขาใหญ่เหมือนกันนะ มันเป็นเมืองภูเขาซึ่งห่างจากโตเกียวประมาณ 2-3 ชั่วโมง และมีคนหนุ่มสาวที่ย้ายมาทำฟาร์มอินทรีย์กันเยอะ แล้วก็ขายกันจริงๆ จังๆ มีมิโสะทำเอง ข้าวก็ปลูกเอง ตอนเกี่ยวข้าวก็เหมือนจัดเวิร์กช็อปให้คนเมืองมาลองเกี่ยวข้าวกัน ซึ่งเราก็รู้สึกว่ามันคล้ายเขาใหญ่บ้านเรา มีคนเริ่มย้ายเข้ามาเพื่อหาชีวิตที่ช้าลง อยากทำเกษตรอินทรีย์กันจริงจังมากขึ้น

คุณคิดว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงหันมาสนใจเรื่องนี้กันมากขึ้น
เพราะจริงๆ มันเป็นเรื่องจำเป็น ในความคิดของเรานะ เราคิดว่ามีคนเปลี่ยนชีวิตเพราะเรื่องสุขภาพเยอะเหมือนกัน คือไม่ใช่ว่าจะเป็นมะเร็งเหมือนเราทุกคนนะ แต่ว่าคงจะมีคนใกล้ตัว ความเจ็บป่วย ภูมิแพ้ รวมทั้งความกดดัน ของการงานทำให้เขาอยากใช้ชีวิตที่ช้าลงบ้าง และเห็นว่ามันดี ทีนี้ชีวิตสโลว์มันจะมีอะไรบ้าง คุณต้องพึ่งพาตัวเอง คุณไม่ควรจะพึ่งพาภายนอกมากนัก และพื้นฐานของการพึ่งพาตัวเองเลยคือมีอาหาร

และถึงจะไม่ได้ออกมาใช้ชีวิตนอกเมือง เราก็เชียร์ตลอดให้คนปลูกผักกินเอง เพราะมันไม่ได้ยากอย่างที่คิด แต่ว่าเราต้องลงมือ ครั้งแรกๆ แน่นอนมันอาจจะต้องถามผู้รู้ ถามคนที่เคยทำ มันก็กลับมาที่เรื่องชุมชน อย่างกลุ่ม hardcore organic เขาก็ช่วยได้เยอะ อย่างเราไม่รู้อิโหน่อิเหน่เลย อยากปลูกอะไรกินเองสักอย่าง ถามอะไรเข้าไปในกลุ่มทุกคนก็ตอบได้ ให้คำแนะนำได้เยอะแยะ ต้นไม้อะไรพิสดารขนาดไหน ถามสิ เดี๋ยวมีคนตอบได้แน่ แต่เสิร์ชกูเกิลอาจจะใช้เวลา 3 ชั่วโมง มันมีชุมชนทั้งออนไลน์ทั้งออฟไลน์อยู่ ซึ่งช่วยให้การใช้ชีวิตแบบนี้ง่ายขึ้นมาก และต่อยอดไปได้อีกมาก

บัตรผ่านเข้าสู่วิถีชีวิตนี้คืออะไร
ความมุ่งมั่นตั้งใจ จากนั้น เราว่ามันเป็นกฎของแรงดึงดูด (ยิ้ม)

เครดิตภาพถ่าย : มณีนุช บุญเรือง