ข่าวกิจการร้านอาหารที่ทยอยปิดตัวกันไป เพราะสู้กับวิกฤตโควิดไม่ไหว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่สายป่านยาวไม่พอ หรือต้องการตัดสินใจขั้นเด็ดขาด หยุดธุรกิจวันนี้ เพื่อเก็บแรงไว้สู้ใหม่วันหน้า หรืออะไรก็ตามที ล้วนแต่เป็นข่าวที่น่าเศร้า แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นเหตุผลที่เข้าใจได้สำหรับทุกฝ่าย เพราะวิกฤตโควิดครั้งนี้ ไม่ง่ายเลยที่จะผ่านไปได้ด้วยดี

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ามนุษย์เราก็ช่างเป็นเผ่าพันธุ์ที่ดิ้นรนต่อสู้ด้วยสมองและสองมือกันทุกวิถีทางจริงๆ เราจึงยังเห็นข่าวของคนที่พยายามปรับตัว สู้วิกฤต เอาตัวรอดได้แม้จะเหนื่อยแบบหนักหนาสาหัส ยิ่งไปกว่านั้น เรายังเห็นคนอีกประเภทที่ มองเห็นโอกาสในวิกฤตเสมอ หรือพูดง่ายๆ ว่า ในวันที่คนอื่นปิดกิจการ ฉันจะลุกขึ้นมาเปิด และฉันจะทำให้แตกต่างด้วย

ล่าสุดที่ประเทศอังกฤษ ท่ามกลางร้านอาหาร ผับบาร์ ที่ปิดตัวกันไปไม่น้อย สถิติจาก HMRC (ทำหน้าที่คล้ายกรมสรรพากร) ชี้ให้เห็นว่า จำนวนกิจการที่เปิดใหม่ในปี 2020 มีเพิ่มขึ้นกว่า 124 ร้าน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 28% เมื่อเทียบกับปี 2019

ส่วนใหญ่กิจการใหม่ๆ ที่เปิดตัวกันในตอนนี้ก็มองเห็นว่า นี่คือช่วงเวลาที่ดีสำหรับพวกเขา เพราะคนสนใจเรื่องสุขภาพและสุขอนามัยที่ดีเพิ่มมากขึ้น

จึงนำมาสู่รายงานพิเศษว่าด้วย กิจการเปิดใหม่ สู้ภัยโควิด (ขออนุญาตตั้งชื่อเล่นๆ) ที่ผู้เขียนอ่านเจอใน The Grocer สื่อเก่าแก่กว่า 150 ปีของอังกฤษ ที่รายงานเรื่องราวในแวดวงธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ FMCG (Fast-moving consumer goods) ซึ่งร้านเปิดใหม่แต่ละร้านก็ล้วนมีไอเดียเด็ดๆ ที่น่าสนใจ และถ้าใครไปต่อไหว ก็น่านำไอเดียเหล่านี้มาลองปรับใช้ดู ในที่นี้ เราจะเลือกร้านมาแนะนำพอประมาณก็แล้วกัน

Oops Food Clearance

คอนเซ็ปต์ของร้านนี้ก็ง่ายๆ เลยคือ เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตขายอาหารในราคาถูกสุดๆ หรือราคาโรงงานตามสโลแกนของเขาที่ว่า Food Clearance at Factory Prices คุณจะพบสารพัดอาหารราคาถูกที่นี่ ทั้งอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง นม หรือ ผัก ผลไม้ ทั่วไป แต่ที่ขายได้ในราคาถูกมากๆ เพราะเขาไปกว้านมาจากโรงงานที่ผลิตมาเกินจำนวน ทำแพ็กเกจผิดพลาด หรือเป็นอาหารที่สภาพภายนอกอาจจะไม่เป๊ะปังมากพอที่จะผ่านการตรวจคุณภาพไปขายได้ เหตุผลที่เกิดธุรกิจนี้ขึ้นมา ก็เพราะต้องการลดอาหารเหลือทิ้งเป็นตันๆ โดยไม่จำเป็น ร้าน Oops เปิดสองสาขาแรกที่โบลตันและเพรสตัน เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่มีประกาศล็อคดาวน์และส่งผลให้เกิดอาหารส่วนเกินจนล้น ลูกค้าที่แวะมาที่นี่นอกจากจะประหยัดเงินแล้ว ยังได้ช่วยแก้ปัญหาอาหารส่วนเกินอีกต่างหาก

Weezy

ไอเดียเกิดขึ้นจาก อเล็ค เดนท์ และ คริสตอฟ แวน เบเวอเรน สองหนุ่มผู้ร่วมก่อตั้ง ที่ต้องการทำแอปพลิเคชั่นแบบ on-demand grocery services หรือแอปสั่งซื้อของจากร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาเก็ตแถวบ้าน ซึ่งตอนที่พวกเขาเริ่มกิจการนี้ในปี 2019 ถือว่าเป็นเจ้าแรก และตลาดสั่งซื้อของเดลิเวอรี่ยังไม่ดุเดือดมากนัก (ตอนนี้เฉพาะในลอนดอนก็มีแอพแบบเดียวกันนี้หลายเจ้าแล้ว)

ไอเดียของพวกเขาก็คือ Weezy จะให้บริการโดยพนักงานที่จะขี่จักรยานหรือสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าไปซื้อของตามที่คุณสั่งมาส่งให้ถึงบ้าน (เหมือนฝากลูกหลานซื้อของยังไงยังงั้น)

โดยมีค่าบริการ 2.95 ปอนด์ สั่งซื้อของได้ไม่มีขั้นต่ำ แต่ช่วงแรกๆ พวกเขาเปิดให้บริการในย่านฟูลแลมและเชลซีก่อน เพราะพนักงานสามารถให้บริการส่งถึงบ้านได้ในระยะใกล้ๆ ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีเท่านั้น โดยมีสินค้าให้เลือกกว่า 1200 รายการ ทั้งของใช้จุกจิก ขนมปัง เนื้อสัตว์จากร้านค้าในท้องถิ่น หรือผักผลไม้ต่างๆ ซึ่งพนักงานจะไปหาซื้อมาให้จากตลาดโคเวนต์การ์เดนนั่นเอง สองผู้ก่อตั้งคาดว่า ต่อไปจะเพิ่มรายการสินค้าให้มากถึง 2000 รายการ และขยายพื้นที่ให้บริการเพิ่มอีก 40 แห่ง

INN

ธุรกิจนี้เริ่มต้นจากแนวคิดที่อยากลดจำนวนขยะ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่คนสั่งของกันอย่างบ้าคลั่งในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน ผู้ก่อตั้งก็เลยเปิดตัวธุรกิจร้านขายโกรเซอรี่ออนไลน์ หรือร้านของชำทั่วไปนั่นแหละ แต่ร้านนี้มาแปลกตรงที่จะขายสินค้าแบบรีฟิล (ถ้าบ้านเราก็น่าจะใกล้เคียงกับรีฟิล สเตชั่น) เช่น ใส่เม็ดกาแฟมาในถุงกระสอบเล็กๆ แล้วเราก็เอากาแฟไปใส่โหลเอง หรือถ้าสั่งเป็นพวก น้ำยาล้างจานอะไรต่างๆ เขาก็จะใส่ภาชนะที่พร้อมให้เรานำมาเติมใส่ขวดของเราได้ พอเติมหมดแล้ว เขาก็จะมาเก็บภาชนะหรือแพ็กเกจต่างๆ กลับไปทำความสะอาด ฆ่าเชื้อแล้วก็เอามาใช้ซ้ำอีก

Nourished Minds Cookery

กิจการนี้ไอเดียเก๋มาก เพราะพวกเขาคือคลาสสอนทำอาหารออนไลน์เพื่อสุขภาพจิตที่ดี เป็นคลาสที่ริเริ่มโดยลอร่า มาร์ช กับเฮนรี่ รัสเซลล์ สามีผู้เป็นเชฟ

จุดประสงค์ของพวกเขาก็คือ สอนให้คนทำอาหารเพื่อช่วยเสริมสร้างสมาธิและบำบัดความเครียดนั่นเอง

เหตุผลเพราะสังเกตเห็นคนรอบตัวมีปัญหาสุขภาพจิตกันมากและยังไม่ค่อยมีใครเข้าไปช่วยเหลือมากนัก เขาเลยตัดสินใจเปิดคลาสสอนทำอาหารออนไลน์ให้กับผู้สนใจทั่วไป และเปิดสอนให้ฟรีให้กับองค์กรการกุศลบางแห่ง ที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งถ้าเป็นคลาสที่ต้องสอนให้กับองค์กรเหล่านี้ ก็ต้องออกแบบการสอนให้เหมาะสมกับความต้องการของคนเรียนด้วย เช่น บางคนมีที่พักอาศัยแค่ชั่วคราว อาหารที่ทำก็ต้องปรับมาเป็นแบบที่ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทำความร้อนมากนัก เป็นต้น

FiveDinners

นี่คือบริการออนไลน์ที่จะช่วยให้สมาชิกสามารถจัดการอาหารแต่ละมื้อให้มีประสิทธิภาพ เป้าหมายของบริการนี้มีหลักๆ อยู่สามเรื่อง นั่นคือการลดอาหารเหลือทิ้ง ประหยัดเงิน และลดความเครียดที่ต้องหัวปั่นกับการเตรียมอาหารในแต่ละมื้อนั่นเอง โปรเจ็กต์นี้เกิดขึ้นจากความคิดของเธโอกับแอนนา ไมเคิล ทั้งคู่เริ่มเปิดกิจการนี้เมื่อปลายปีที่แล้ว หลังจากที่เธโอต้องหยุดการทำงานเป็นเชฟให้กับธุรกิจจัดเลี้ยงในงานอีเวนต์ โดยธุรกิจใหม่ของเขาที่ชื่อ FiveDinners มีหลักการง่ายๆ คือทุกสัปดาห์ (วันพฤหัส) พวกเขาจะช่วยสร้างสรรค์เมนูการทำอาหารสำหรับครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คน แล้วส่งเมนูนี้ตรงไปยังสมาชิกที่ลงทะเบียนไว้เพื่อให้ทันสำหรับทำอาหารในสัปดาห์ต่อไป หรือในวันจันทร์นั่นเอง

เมนูที่พวกเขาคิด จะแนบรายการวัตถุดิบหรือเครื่องปรุงต่างๆ ไว้ให้เสร็จสรรพ ซึ่งวัตถุดิบเหล่านี้จะเน้นของสดใหม่ ราคาไม่แพง และหาได้ง่าย

เธโอยืนยันว่า ถ้าซื้อของตามลิสต์ที่ให้ไป จะช่วยคุณประหยัดได้มากถึงเดือนละ 60 ปอนด์เลยทีเดียว ใครอยากเป็นสมาชิกของ FiveDinners ก็จ่ายแค่ 4.99 ปอนด์ต่อเดือน แล้วเชฟจะเนรมิตรายการอาหารทั้งหมดให้เลย แต่เดี๋ยวก่อน บริการนี้มีข้อตกลงว่า ทุกวันจันทร์อาหารจะเป็นแบบไม่มีเนื้อสัตว์ ส่วนทุกวันศุกร์จะเป็นอาหารที่ทำจากปลาเท่านั้น หรือจะดัดแปลงเมนูสำหรับคนไม่รับประทานเนื้อสัตว์เลยก็แล้วแต่คุณ ที่สำคัญทุกเมนู จะทำง่าย เตรียมของไม่เกิน 20 นาทีก็เข้าครัวได้แล้ว

นี่แค่ส่วนหนึ่งของไอเดียที่ทำได้จริงแถมยังมีแนวคิดดีๆ ที่น่าสนับสนุนด้วย ไปตามอ่านกันต่อได้ที่ The Grocer หรือลิงก์ด้านล่างบทความนี้ได้เลย

ที่มาข้อมูล:
www.thegrocer.co.uk
www.sthelensstar.co.uk
www.bbc.com/news/business-56720044

เครดิตภาพ: Oops Food Clearance, Weezy, INN, Nourished Minds Cookery, FiveDinners