ถ้าถามว่าเมนูสัตว์น้ำชนิดไหนกำลังป๊อปสุดๆ อยู่ตอนนี้ เราสามารถตอบเต็มเสียงได้เลยว่า ‘เครย์ฟิช’ (Crayfish)​ หรือกุ้งก้ามแดงที่ชาวประมงไทยรู้จักกันในฐานะกุ้งที่มีราคาสูงลิบลิ่วสวนทางกับน้ำหนักตัว และได้รับความนิยมจากทั้งร้านอาหารรวมทั้งเหล่าแม่บ้านอย่างล้นหลาม เพราะมีรสอร่อยให้สัมผัสหนึบหนับเหมือนเนื้อกั้งผสมเนื้อปู แถมไม่ใช่แค่เมืองไทย แต่เครย์ฟิชยังได้รับความนิยมอย่างถล่มทลายในประเทศจีนด้วย นิยมกันถึงขนาดมีโรงเรียนสอนเลี้ยงและปรุงเครย์ฟิชโดยเฉพาะขึ้นมารองรับร้านอาหารกว่า 17,000 ร้านทั่วประเทศจีน ซึ่งเลือกใช้เจ้ากุ้งสีแดงสดนี้ทดแทนกุ้งชนิดอื่นมาสักพักใหญ่

​ส่วนในไทย กุ้งเครย์ฟิชก็โกแมสมาได้ราว 2-3 ปีแล้ว พร้อมๆ กับกระแสเมนู ‘กุ้งถัง’ หรือกุ้งผัดซอสที่เสิร์ฟมาบนกระดาษไข ให้เราใช้มือหยิบจับกันหนุบหนับจนกลายเป็นอาหารไวรัลในโลกออนไลน์อยู่ช่วงหนึ่ง ล่าสุดความนิยมในตัวเครย์ฟิชก็ยังไม่จางลงแต่อย่างใด ยืนยันได้จากบุฟเฟต์เครย์ฟิชที่กำลังแพร่หลายอยู่ทุกมุมเมือง ไม่เว้นแม้แต่แบรนด์เฟอร์นิเจอร์อย่างอิเกียเองก็ออกโปรโมชั่นบุฟเฟต์เครย์ฟิชติดต่อกันมา 3 ปีแล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารแบบสวีเดนสู่ตลาด สร้างความรู้สึกใกล้ชิดผ่านกุ้งเปลือกแข็งสีแดงสด ที่เสิร์ฟคู่กับชีสและเนยแข็งอันเป็นอาหารประจำฤดูร้อนที่ชาวสวีดิชโปรดปราน

​ด้วยความป๊อปข้างต้น ทำให้เราอยากรู้จักเจ้ากุ้งก้ามใหญ่นี้ให้ดีขึ้นอีกหน่อย ประจวบเหมาะกับนิตยสารบ้านและสวนเปิดเวิร์กช็อป Redclaw Crayfish เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เราเลยได้โอกาสเข้าไปเรียนรู้และตีสนิทกับเจ้าเครย์ฟิชอยู่นานสองนาน ก่อนจะค้นพบเรื่องราวน่าสนใจจนอยากหยิบมาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้

​1. เครย์ฟิชคืออะไรกันแน่

​แนะนำตัวอย่างรวบรัด เครย์ฟิชคือกุ้งน้ำจืดสายพันธุ์ใกล้เคียงกับล็อบสเตอร์ แถมยังมีเลือดสีฟ้าเหมือนกันจนได้ฉายาว่า ‘ล็อบสเตอร์น้ำจืด’ และเป็นชนิดกุ้งที่ชาวยุโรปโดยเฉพาะแถบสแกนดิเนเวียนิยมกินกันมานานหลายร้อยปี ส่วนในประเทศไทย เครย์ฟิชเป็นที่รู้จักครั้งแรกเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดให้โครงการหลวงวิจัยการเลี้ยงพวกมันเมื่อราวปี 2540 เพื่อสนับสนุนให้ชาวนาเลี้ยงกุ้งแซมในนาข้าวเพิ่มรายได้ ถัดจากนั้นหลายปี วงการเกษตรและอาหารก็ฮือฮากันยกใหญ่ เมื่อเครย์ฟิชไปปรากฎอยู่บนโต๊ะอาหารรับรองพระราชอาคันตุกะ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อปี 2549

​นอกจากจุดเด่นเรื่องรสชาติ เปลือกสีแดงจัดจ้าน และหน้าตาคล้ายกุ้งน้ำเค็มอย่างล็อบสเตอร์ เครย์ฟิชยังโดดเด่นด้วยราคาขายที่สูงถึง 700-900 บาทต่อกิโลกรัม เป็นความหวังใหม่ของเกษตรกรอินทรีย์ไทยผู้อยากหารายได้เสริมอย่างยิ่ง

2. ​ทุกฟาร์มเกษตรอินทรีย์สามารถเลี้ยงเครย์ฟิชได้

​จุดอ่อนของเครย์ฟิชอย่างหนึ่งคือมันเป็นกุ้งที่แพ้สารเคมีอย่างรุนแรง แค่กลิ่นน้ำหอมหรือละอองยาสระผมก็อาจระคายเคืองจนทำให้พวกมันตายได้ง่ายๆ แต่มันก็มีจุดแข็งตรงสามารถเติบโตได้แม้ในที่รกร้าง ขอแค่มีน้ำไร้สารเคมีลึกระดับเกินหนึ่งฝ่ามือ พวกมันก็สามารถเอาชีวิตรอดปลอดภัยได้แล้ว เพราะโดยธรรมชาติเครย์ฟิชเป็นสัตว์ดุร้าย สามารถใช้ก้ามปกป้องตัวเองจากสัตว์อื่นได้อย่างเก่งกาจ ฉะนั้น สถานที่ที่เหมาะกับการเลี้ยงพวกมันจึงไม่ใช่ที่ไหนเลย นอกจากในนาข้าวและท้องร่องสวนเกษตรอินทรีย์

3. รูปสวย รวยรส

นอกจากความอร่อยในระดับเหล่าเชฟต้องจองเครย์ฟิชจากฟาร์มกันล่วงหน้าหลายเดือน รูปลักษณ์ของพวกมันยังดึงดูดนักเลี้ยงสัตว์สวยงามเข้าอย่างจัง ด้วยอายุขัยราว 4 ปี ซึ่งมากกว่ากุ้งปกติ รวมถึงสีสันที่เปลี่ยนผันไปตามอายุและสายพันธุ์นั้นทำให้เหล่านักเล่นกุ้งหันมาให้ความสนใจ จนเครย์ฟิชครองตลาดสัตว์น้ำสวยงามไม่ต่างจากที่มันครองใจนักชิมอย่างไรอย่างนั้น

​แถมการเลี้ยงเครย์ฟิชในฐานะสัตว์เลี้ยงยังง่ายแสนง่ายราวกับเลี้ยงปลาทอง ขอแค่มีตู้กระจกใส่น้ำสะอาดขนาดพอเหมาะ มีสาหร่ายหรือหญ้าน้ำพอให้หลบนอน (บางคนใช้ใบหูกวางใส่ลงไปในน้ำ เป็นทริกทำให้น้ำมีค่าความเป็นกรดระดับพอดี) และมีอาหารให้วันละสองมื้อ อาหารที่ว่าก็นับรวมผักผลไม้ทุกชนิด (ยกเว้นผักที่มีกลิ่นฉุนอย่างขึ้นฉ่ายหรือใบมะม่วง)​ รวมถึงไส้เดือน เพรียงทะเล หรือกุ้งฝอย ก็สามารถเป็นอาหารของพวกมันได้ทั้งหมด และหลังจากแรกเกิด นับไปอีก 5-6 เดือนมันก็พร้อมผสมพันธุ์จากนั้นก็วางไข่ เป็นระยะการขยายพันธุ์ที่สั้นพอจะทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปี จึงไม่แปลกที่ทำไมกรมประมงถึงสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงกุ้งก้ามใหญ่นี้กันให้มากๆ

4. โลกยิ่งร้อน เครย์ฟิชยิ่งผงาด

​ผลวิจัยล่าสุดจาก University of Bath ประเทศอังกฤษ พบว่าภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิทั่วโลกเพิ่มขึ้นทุกๆ ปีนั้นส่งผลดีกับเครย์ฟิชและสัตว์น้ำบางประเภทโดยตรง ด้วยพวกมันเติบโตได้ดีในอากาศอบอุ่นราวๆ 15 องศาเซลเซียสขึ้นไป ฉะนั้นอย่าแปลกใจหากในอนาคตเราจะเห็นกุ้งเครย์ฟิชนอนเรียงรายอยู่ในตลาดสดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตในราคาน่ารัก แต่ก็ขอให้รู้ไว้ว่านั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนภัยด้วยเหมือนกัน!

ภาพถ่าย: ชินวุฒิ ปิดทองคำ