การรณรงค์ให้ตระหนักถึงปัญหาขยะอาจเห็นภาพของการตื่นตัวและกระแสน่าตื่นใจ แต่การจะส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม สถาบันและองค์กรใหญ่ๆ มีส่วนสำคัญอย่างมาก ทั้งในแง่ของการเป็นเจ้าภาพที่เปลี่ยนจากแนวคิดให้กลายเป็นวิธีปฏิบัติ และการสร้างผลลัพธ์ที่เห็นชัดถึงความเปลี่ยนแปลง

และเมื่อสถาบันการศึกษาใหญ่อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีนิสิตและบุคลากรกว่า 45,000 คน ลุกขึ้นมาจัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง ผลลัพธ์ที่จับต้องได้นี้ยังเป็นต้นแบบให้หลายๆ องค์กรทั้งสถาบันการศึกษาด้วยกันเอง หน่วยงานรัฐ หรือภาคเอกชน นำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของตนเองได้ โดยมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการลดขยะให้ได้มากที่สุด

วางเป้าหมายให้ชัด สร้างระบบให้ครอบคลุม

ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี ผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste หรือโครงการพัฒนาต้นแบบการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายในพื้นที่เมือง และแผนปฏิบัติการการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายอย่างยั่งยืนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบอกกับ Greenery ว่า “เราเห็นว่าปัญหาขยะมูลฝอยเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทย รัฐบาลก็กำหนดให้ขยะเป็นวาระแห่งชาติ แต่ยังไม่เห็นว่ามีองค์กรใดลุกขึ้นมาส่งเสริมให้คนอยากลดขยะหรือแยกขยะอย่างจริงจัง เราก็เสนอขึ้นมาว่าจะทำ Chula Zero Waste เพื่อให้จุฬาเป็นตัวอย่างให้สังคม ซึ่งการส่งเสริมให้คนปรับพฤติกรรมเป็นสิ่งที่ต้องใช้ระยะเวลา เราจึงขอระยะเวลาในการทำงาน 5 ปี เพื่อให้ได้เริ่มต้นตั้งแต่การจัดระบบใหม่ สร้างนโยบายที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่พฤติกรรม และปลูกฝังเป็นค่านิยมใหม่ให้เกิดขึ้น”

การวางนโยบายการจัดการขยะและแนวปฏิบัติเรื่องขยะเพื่อให้คณะและส่วนงานย่อยในมหาวิทยาลัยรับไปปฏิบัติในทิศทางเดียวกันของจุฬา เริ่มต้นตั้งแต่การพัฒนากลไกการทำงาน นโยบาย และข้อมูลพื้นฐาน จากนั้น ก็วางแนวปฏิบัติตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง นั่นคือ ลดการเกิดขยะ ณ แหล่งกำเนิด พัฒนาและปรับปรุงระบบการคัดแยกขยะ ณ แหล่งกำเนิดต้นทาง ส่วนกลางทางก็เป็นงานในเชิงปรับปรุงระบบเก็บรวบรวมขยะภายในมหาวิทยาลัย และการปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการจัดการขยะอินทรีย์ที่ปลายทาง โดยทั้งหมด ออกมาเป็นกิจกรรมรูปธรรมที่จับต้องและนำไปปรับใช้ได้จริง

นวัตกรรมบวกทำจริง

“การส่งเสริมให้คนลดขยะและแยกขยะได้ ถ้าเราจะส่งเสริมให้คนลดขยะที่ต้นทาง ก็ต้องมาสำรวจดูก่อนว่าปัญหาคืออะไร เราพบว่ามีขยะเป็นแก้วพลาสติกและขวดพลาสติกมากมาย เพราะเราดื่มกาแฟกันมากและซื้อน้ำดื่มแบบขวดกัน เลยทำโครงการ My Bottle ส่งเสริมให้ทุกคนพกขวดมาเอง โดยมีตู้กดน้ำ 45 ตู้ทั่วมหาวิทยาลัย และดูแลให้มีการเปลี่ยนไส้กรองและทำความสะอาดทุก 3 เดือน เพื่อให้คนเชื่อมั่นเรื่องความสะอาด มีแจกกระบอกน้ำฟรีภายใต้กิจกรรมต่างๆ เพื่อให้คนพกกระบอกน้ำมาแทนที่จะซื้อน้ำขวด ส่วนร้านกาแฟก็มีโครงการ My Cup ถ้านำแก้วหรือขวดส่วนตัวมาซื้อกาแฟ ก็จะได้ส่วนลดไป เรามีร้านกาแฟที่เข้าร่วมโครงการ 23 ร้าน ซึ่งทุกร้านเต็มใจให้ส่วนลดเองโดยที่เราไม่ได้สนับสนุนเงินทุน

“นอกจากนี้ เรายังมีการใช้นวัตกรรมทางสังคม คือใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ อย่างการเก็บเงินค่าถุงพลาสติก คือให้ร้านสะดวกซื้อในจุฬาฯ งดแจกถุงฟรี เปลี่ยนเป็นเก็บเงิน 2 บาทถ้าใครต้องการถุงใหม่ ก็จะเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมในทันใดเพราะไม่มีใครอยากจ่ายเงินค่าถุงพลาสติก ทำให้ปริมาณขยะถุงพลาสติกลดไปเกือบ 90%” ผู้จัดการโครงการบอกเล่าถึงนวัตกรรมเชิงสังคมเมื่อเราถามถึงการนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้ในโครงการ ก่อนจะเล่าถึงการเป็นผู้ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมอื่นๆ เช่น เครื่องแปลงขยะเศษอาหารให้กลายเป็นสารปรับปรุงดินซึ่งเป็นนวัตกรรมของคนไทย ทาง Chula Zero Waste เลือกนำมาใช้ในการจัดการขยะที่ปลายทาง และการทำงานกับหน่วยงานภายนอกเพื่อพัฒนาวิธีใหม่ๆ ไปด้วยกัน

“แก้ว Zero Waste Cup ไม่ใช่แค่การผลิตแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ เราดีไซน์ระบบจัดการแก้วอย่างครบวงจร เข้าไปทำงานกับผู้ผลิตตั้งแต่ต้นแบบของการดีไซน์ เพื่อลดต้นทุนของแก้ว ปกติแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพจะอยู่ที่ 3-4 บาท เราลดต้นทุนจนเหลือประมาณ 2 บาท เพื่อให้ใช้ในโรงอาหาร แล้วก็ใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ว่าต้นทุนค่าแก้ว เราให้ผู้บริโภคเป็นผู้รับผิดชอบ ถ้าใครไม่อยากจ่ายค่าแก้วที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ก็พกกระบอกน้ำมา เป็นการกระตุ้นให้คน Reduce ด้วย ไม่ใช่ Replace ด้วยแก้วพลาสติกชีวภาพอย่างเดียว และพลาสติกชีวภาพที่เราใช้เป็น PBS ซึ่งสามารถย่อยสลายในสภาวะการย่อยแบบครัวเรือน ในขณะที่แบบ PLA ได้มาตรฐานย่อยในโรงปุ๋ยหมักแบบอุตสาหกรรมซึ่งต้องใช้อุณหภูมิที่สูงกว่า เราจึงสามารถเก็บรวบรวมแก้วที่ใช้แล้วจากถังแยกขยะ แล้วนำไปโรงแยกขยะ ตัดย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วก็หมักย่อยกับขยะเศษอาหาร เป็นสารปรับปรุงดินในปลายทาง”

ผลลัพธ์ดี ผลักดันได้

หลังดำเนินโครงการมา 2 ปี นอกจากมาตรการงดแจกถุงพลาสติกที่ได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมากและสร้างผลลัพธ์น่าชื่นใจ สิ่งที่เป็นเป้าหมายต่อไปของโครงการคือการลงไปทำงานกับโรงเรียน ผ่านแผนพัฒนาเนื้อหาและสื่อการเรียนการสอนด้านการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ดร. สุจิตรา บอกว่าอยู่ในขั้นตอนประสานกับอาจารย์ของโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ทั้งฝ่ายประถมและมัธยมเพื่อนำโมเดลนี้ไปสานต่อกับเด็กๆ ที่นับเป็นวัยที่เหมาะสมกับการปลูกฝังค่านิยมที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อถามถึงการส่งต่อแนวคิดและวิธีนี้ออกไปนอกรั้วจุฬาฯ นอกจากการเข้ามาศึกษาดูงานจากโรงเรียน หน่วยงานรัฐ และบริษัทเอกชนที่มีเป็นจำนวนมาก จุฬาฯ ยังเป็นหนึ่งในเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน SUN Thailand (Sustainable University Network) ที่แต่ละมหาวิทยาลัยได้มานำเสนอและแลกเปลี่ยนกันเพื่อจับมือร่วมพัฒนากันแนวคิดนี้ให้เติบโตขึ้น เพื่อลดปัญหาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลงจากการลงมือทำ

เพราะขยะเป็นปัญหาใหญ่ ที่เราต้องร่วมด้วยช่วยกันทุกคน

ภาพถ่าย: Chula Zero Waste