การจิบกาแฟเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์คนสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นการออกไปแฮงเอาต์กับเพื่อน พบปะคุยงาน ไปเที่ยวถ่ายรูป เช็กอินร้านกาแฟ จึงเป็นเรื่องดีที่ผู้ประกอบในธุรกิจกาแฟทั่วโลก ได้หันมาทำให้วงการกาแฟเป็นไปเพื่อความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและผู้บริโภค

ซึ่งทำได้ตั้งแต่ร้านกาแฟในเมืองทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟออร์แกนิกโดยตรง โรงคั่วกาแฟใช้วิธีการส่งเมล็ดกาแฟที่ช่วยลดก๊าซคาร์บอน การลดใช้พลังงานสิ้นเปลืองภายในร้านตั้งแต่การชงกาแฟ ลดขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ หรือการเลือกเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งร้านที่ช่วยลดโลกร้อน ไปจนถึงการลดราคาให้ลูกค้าเมื่อนำถ้วยมาใส่เครื่องดื่มกลับบ้านเอง หรือเวลาไปออกงานตลาดนัดก็ให้ลูกค้ายืมถ้วยจากที่ร้านไป พอลูกค้าเดินเล่นเสร็จก็นำถ้วยกาแฟกลับมาคืนได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ถ้วยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งจะเป็นไปในรูปแบบไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและวิถีของคนในของพื้นที่ และที่ตั้งของร้านกาแฟนั้นๆ ด้วย

เบื้องหลังโลกร้อนเพราะเทรนด์ฮิตจิบกาแฟ?

มองเผินๆ ใครจะไปนึกว่าคาเฟ่เก๋ๆ ที่เราชอบไปนั่งประจำ เบื้องหลังอาจเป็นสาเหตุของโลกร้อนโดยที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ นึกไม่ถึง มีผู้เชี่ยวชาญจาก Conservation International องค์กร NGO ด้านสิ่งแวดล้อมที่เน้นเรื่อง Climate Change กับความมั่นคงทางอาหารจากสหรัฐอเมริกาได้บอกไว้ว่า สภาพภูมิอากาศแปรปรวนเริ่มจะมีผลกระทบต่อการผลิตกาแฟแล้ว เพราะเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นและฤดูกาลเดิมเปลี่ยนไป พื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกกาแฟก็จะลดลงตาม อาจจะลดลงไปถึงครึ่งในอีก 30 ปีข้างหน้า

ถ้าไร่กาแฟต้องขึ้นไปบนภูเขาสูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหนีจากอากาศร้อน ก็จะเพิ่มการทำลายป่าไม้และเพิ่มปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องขึ้นไปอีก

เพราะอย่างนี้กาแฟจึงเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่สร้างก๊าซเรือนกระจกมหาศาล งานวิจัยหนึ่งในปี 2012 ที่ตามไปดูเส้นทางของกาแฟตั้งแต่ต้นสายการผลิตที่คอสตาริก้าจนมาถึงผู้บริโภคในยุโรป แสดงให้เห็นว่า 53% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกมาจากอุตสาหกรรมกาแฟในขั้นตอนที่โรงคั่ว ในคาเฟ่ที่ขาย เช่น จากการทำน้ำให้เดือด การใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก ไปจนถึงการทิ้งของเสียจากวัสดุใช้ครั้งเดียวในร้าน และ 53% ที่ว่านี้ยังไม่ได้รวมถึงเรื่องของการถางป่าเพื่อการเพาะปลูกกาแฟก่อนที่จะมาถึงคาเฟ่เลย

แต่ตอนนี้ กระแสเรื่องของการรักษ์โลกและความยั่งยืนเป็นที่สนใจมากขึ้น ทั้งฝั่งผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้บริโภค พวกเราจึงล้วนมีส่วนสำคัญในการทำให้เรื่องของกาแฟเป็นมิตรกับเราและโลกมากขึ้น

กาแฟเป็นมิตร เมื่อการจิบกาแฟเป็นเรื่องของความยั่งยืน

พวกเราอาจจะไม่นึกถึงเลยว่านอกจากต้นยาสูบแล้ว ต้นกาแฟเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีการใช้สารเคมีในการปลูกจำนวนมาก ดังนั้นการเลือกเมล็ดกาแฟที่มีที่มาแบบอีโค่ เฟรนลี่ (Eco-Friendly) คือสิ่งแรกที่ร้านกาแฟต่างๆ ควรทำ และเดี๋ยวนี้ก็มีเมล็ดกาแฟที่ปลูกแบบอินทรีย์ (Organic Coffee) ให้เลือกมากมาย เพียงแค่เรารู้ว่าการเลือกแหล่งและวิธีการที่มาของเมล็ดกาแฟก่อนที่เราจะดื่มนั้นสำคัญ ซึ่งกาแฟออร์แกนิกก็คือเมล็ดที่มาจากต้นกาแฟที่ไม่ถูกเลี้ยงโดยยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืช หรือปุ๋ยที่มีสารเคมีประกอบ โดยทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่จะมาถึงผู้บริโภคด้วยซ้ำ

เมล็ดกาแฟที่ควรเลือกคือ Shade Grown Coffee ที่เป็นเมล็ดกาแฟซึ่งโตภายใต้ร่มเงาของต้นไม้อื่นๆ ในป่า ไม่ได้มาจากการถางป่าเพื่อทำไร่กาแฟและใช้สารเคมีดูแลให้เติบโต

เพราะโดยธรรมชาติต้นกาแฟคือไม้ป่า เติบโตโดยระบบนิเวศธรรมชาติ แต่ละพันธุ์ต้องการปริมาณของแสงส่องถึงไม่เท่ากัน ไม้ใหญ่ในป่าจึงช่วยกรองแสง ความชุ่มชื้นให้พอดีกับการเติบโตได้ ซึ่งต้นกาแฟก็จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของป่าไม้ไปด้วย เกษตรกรในพื้นที่ป่าบนภูเขาสามารถปลูกกาแฟทำกินได้ แซมไปกับการมีอยู่แล้วของต้นไม้ การปลูกกาแฟก็จะเป็นการส่งเสริมวิถีทำกินที่ยั่งยืนของชุมชนไปด้วย

เดี๋ยวนี้ผู้ประกอบการร้านกาแฟหลายแห่งทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้เข้ามาทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟอินทรีย์โดยตรง ในการแชร์ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ การดูแลพันธุ์ต้นกาแฟ การคั่วกาแฟที่มีคุณภาพในชุมชน และการรับซื้อเมล็ดกาแฟจากแหล่งปลูกของชุมชนอย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนการบริโภคกาแฟที่ดีต่อใจและดีต่อโลก อีกทั้งได้เริ่มตั้งคำถามและหาวิธีการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ของธุรกิจตัวเอง มีคาเฟ่หลายแห่งที่ไม่ได้คิดแค่ขายกาแฟถ้วยเดียวแล้วจบ แต่ล้ำหน้าไปอีกในการทำงานร่วมกับองค์กร NGO เพื่อช่วยกันโปรโมตเรื่องของความยั่งยืนในพื้นที่ ผ่านการผลิตกาแฟออร์แกนิกและแฟร์เทรด (Fairtrade Coffee) พร้อมให้ความรู้แก่ลูกค้าไปด้วย

อย่างในประเทศญี่ปุ่น คาเฟ่ออร์แกนิกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีจำนวนเพิ่มขึ้นและมาแรงเลยทีเดียว ซึ่งคาเฟ่เหล่านี้ได้ช่วยเพิ่มการรับรู้เรื่องความยั่งยืน วิธีการค้าที่เป็นธรรม ความสำคัญของการใช้ผลิตภัณฑ์ และวัตถุดิบท้องถิ่นที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมให้ผู้บริโภคคนเมืองรุ่นใหม่ได้เข้าใจ หรือที่นอร์เวย์ มีร้านกาแฟที่ออกแบบเก้าอี้นั่งในร้านจากพลาสติกรีไซเคิลที่ได้มาจากอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาทางตอนเหนือของประเทศ ทางร้านยังจัดตั้งทีม Green Coffee โดยเฉพาะ ซึ่งจะเดินทางไปทั่วโลกเพื่อเยี่ยมเยียนฟาร์มออร์แกนิกของเกษตรกรพันธมิตรคู่ค้า สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาวและแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องอาหารการกินด้วยกัน

ร้านกาแฟสามารถมารวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อสรรหาผลิตภัณฑ์ และวัตถุดิบออร์แกนิกจากแหล่งผลิตในราคาที่เหมาะสม อย่างคาเฟ่ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาก็มีการก่อตั้งกลุ่มสมาชิก Cooperative Coffees มีสมาชิกรวม 23 ร้านด้วยกัน เพื่อให้ทุกร้านสามารถจัดหาและสั่งซื้อเมล็ดกาแฟและวัตถุดิบออร์แกนิกอื่นๆ มาใช้ จากหลากหลายแหล่งปลูกในราคาที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย โดยไม่ต้องผ่านผู้ค้ารายใหญ่และไม่ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในตลาดทั่วไป

หรือโรงคั่วกาแฟในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน ได้เปลี่ยนมาใช้จักรยานในการส่งเมล็ดกาแฟให้กับคาเฟ่และร้านอาหารที่อยู่ในระยะใกล้ ส่วนร้านที่อยู่ไกลออกไปถ้าต้องใช้รถบรรทุกขนส่งก็จะมีการคำนวนปริมาณก๊าซคาร์บอนที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะได้ซื้อคาร์บอนเครดิตให้ทางองค์กร Trees For The Future นำต้นไม้ไปปลูกในพื้นที่แห้งแล้งในทวีปแอฟริกา และยังมีคาเฟ่หลายร้านทั่วประเทศที่สามารถเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนภายในร้าน และใช้ในกระบวนการทำกาแฟได้  ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศและสถานที่ตั้งว่า แต่ละแห่งจะสามารถใช้พลังงานลมหรือพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้เท่าไหร่ และนโยบายเรื่องพลังงานสะอาดทดแทนของแต่ละท้องถิ่นในแต่ละรัฐนั้นเป็นอย่างไร

คาเฟ่ที่เป็น Farm To Table ซึ่งวัตถุดิบอาหารและเครื่องดื่มสดใหม่จะส่งตรงจากฟาร์มขนาดเล็กถึงร้าน มีจำนวนเพิ่มขึ้นในประเทศอังกฤษ และร้านแบบนี้ก็เป็นตัวเลือกที่ผู้บริโภคในลอนดอนชื่นชอบด้วย มีร้านที่แอดวานซ์ขนาดว่าเปลี่ยนมาใช้กระบวนการทำ decaf coffee กาแฟแบบไม่มีคาเฟอีนโดยวิธีธรรมชาติ ซึ่งปกติวิธีการเอาคาเฟอีนออกจากเมล็ดกาแฟหรือใบชาจะใช้สารเคมีใส่เข้าไป แต่วิธีสกัดออกโดยธรรมชาตินี้ จะทำโดยการการแช่เมล็ดกาแฟลงในน้ำที่มีแรงดันสูงและใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มีอยู่ในอากาศปกติที่เราหายใจ ไปดึงคาเฟอีนออกจากเมล็ด จากนั้นคาเฟอีนที่ได้ออกมาจะถือเป็นของเสีย เข้าสู่ขั้นตอนนำไปให้ภาคธุรกิจอื่นๆ ใช้ประโยชน์ต่อ ส่วนกากกาแฟก็นำส่งไปให้สวนผักในชุมชนใช้เป็นปุ๋ยผสมดินได้อีก

หรือการเลือกเครื่องเอสเพรสโซที่มีโหมดประหยัดพลังงานและระบบทำน้ำให้เดือดแบบมัลติฟังชั่น จะทำให้ในการทำกาแฟแต่ละครั้งใช้พลังงานคุ้มค่ามากขึ้น เลยไปถึงเรื่องแสงไฟในร้าน ที่ก็สามารถเปลี่ยนมาใช้ไฟตกแต่งร้านแบบ energy-saving ได้เช่นกัน

คาเฟ่ที่ดำเนินกิจการด้วยการแคร์รอบด้านแบบนี้ นอกจากจะช่วยลดโลกร้อนแล้ว ก็ยังขยายฐานลูกค้าได้เพิ่มอีก

เพราะนอกจากเป็นร้านกาแฟ คาเฟ่แบบนี้ยังเป็นพื้นที่พบปะพูดคุย จัดกิจกรรม สร้างคอมมูนิตี้ของกลุ่มผู้บริโภคอีโค่ เฟรนลี่ได้ด้วย

สุดท้ายนี้ สำหรับสายคาเฟ่ ทั้งคนขายและคนดื่ม ก็สามารถช่วยกันดูแลโลกไปพร้อมกับเอ็นจอยกาแฟในแก้ว (ที่ย่อยสลายหรือใช้ซ้ำได้) และไม่จำเป็นว่าต้องเฉพาะกับเรื่องกาแฟเท่านั้น เพียงแค่ลองถามคำถามนี้กับตัวเองทุกครั้ง ก่อนที่จะตัดสินใจซื้ออะไรว่า สิ่งที่เราจะบริโภคนี้จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยังไงบ้างตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ขั้นตอนนี้อาจต้องใช้เวลาหาข้อมูลบ้าง แต่เมื่อไหร่ที่เราหาแหล่งที่มาและวิธีการที่ถูกใจเราถูกใจโลกได้แล้ว ทุกๆ อย่างก็จะง่ายขึ้น และมันก็จะเป็นผลดีต่อการใช้ชีวิตของเราในทุกๆ วันไปด้วย

ที่มาข้อมูล
www.coffee-education.com
www.coffeeshopexpo.co.uk
www.countryandtownhouse.co.uk
www.greenbiz.com
www.mobiletransaction.org
www.zenbird.media

เครดิตภาพ: ภูษนิศา กมลนรเทพ, Portland Coffee Roasters, Shutter Stock