`

เพราะเราอยู่กับแสงสว่างมาจนไม่ค่อยคุ้นชินกับความมืด พอรู้ว่าบ้านเรามีเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด เลยกลายเป็นความรู้ใหม่ว่า เรื่องฟ้ามืดเป็นเรื่องที่หลายประเทศให้ความสำคัญอยู่ไม่น้อย เพราะแสงสว่างที่มนุษย์สร้างและใช้จนเกินขีดจำกัด ทำให้เกิดมลภาวะทางแสงที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตสัตว์เล็ก ๆ และพืชที่ต้องอาศัยความมืดในการดำรงอยู่ โดยเฉพาะแมลงที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและความหลากหลายชีวภาพ กำลังลดน้อยถอยลงไปจากแสงไฟประดิษฐ์จนทำให้ไม่รู้กลางวันกลางคืน

มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิเคราะห์ผลการศึกษามากกว่า 150 ชิ้น พบข้อสรุปว่า แสงไฟประดิษฐ์ตอนกลางคืน เมื่อบวกรวมกับการรุกรานถิ่นที่อยู่ของแมลงของมนุษย์ การรุกรานจากสายพันธุ์ต่างถิ่น มลภาวะทางเคมี และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบชัดเจนมาแล้วในหลายปี ต่างก็เป็นปัจจัยที่ฉุดจำนวนแมลงให้ลดลง และอาจทำให้แมลงบางชนิดต้องสูญพันธุ์ไปในที่สุด

แสงทำงานกับการดำรงเผ่าพันธุ์ของแมลงยังไง ในประเทศอังกฤษมีการศึกษาเรื่องนี้ และพบว่า ในพื้นที่ที่มีแสงสว่างจากไฟประดิษฐ์มากกว่าความมืด ประชากรผีเสื้อกลางคืนจะลดจำนวนลง เพราะผีเสื้อกลางคืนคิดว่าหลอดไฟคือพระจันทร์ และ 1 ใน 3 ของมันก็หลงติดกับอยู่กับไฟจนตายจากการบินตอมไฟจนหมดแรง บ้างก็ถูกล่าจากสัตว์กินแมลงชนิดอื่น ๆ และแสงไฟจากหน้ารถก็หลอกล่อให้แมลงเข้ามาตกตายอยู่หน้ารถยนต์อีกไม่น้อย

หรือสำหรับหิ่งห้อยแล้ว แสงไฟเป็นอุปสรรคในการหาคู่และผสมพันธุ์ เพราะหิ่งห้อยต้องใช้แสงสว่างตามธรรมชาติเพื่อส่งสัญญาณในการจับคู่ ส่วนแมลงชีปะขาวก็เข้าใจผิดว่าแสงที่สะท้อนบนพื้นยางมะตอยคือแหล่งน้ำเพื่อวางไข่ และแน่นอนว่าไข่แมลงกับพื้นถนนไม่มีอะไรที่จะเอื้อให้เกิดการดำรงเผ่าพันธุ์ได้ ฯลฯ

หากจะมองว่า การแก้ปัญหาคือการย้อนกลับไปแก้ที่ต้นตอ การจะลดมลภาวะทางแสงไม่ให้กระทบต่อสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เหล่านี้ก็ทำได้ง่ายมาก เพียงแค่ปิดไฟซะ แต่ในทางปฏิบัตินั้นไม่ง่าย โดยเฉพาะแสงไฟในชุมชนหรือเมืองที่มนุษย์ต้องทำกิจกรรม

แม้เรื่องการลดแสงไฟฟ้าจะไม่ค่อยถูกให้ความสำคัญ แต่เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความร่วมมือเพื่อลดผลกระทบของมลภาวะทางแสงขึ้น เกิดเป็นองค์กรที่ชื่อว่า The International Dark-Sky Association (IDA) หรือสหพันธ์ท้องฟ้ามืดสากลขึ้นมา โดยให้มีพื้นที่อนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ไม่ว่าจะเป็นในอุทยานแห่งชาติ พื้นที่ชุมชน หรือพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งตัวอย่างของเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดที่ทำแล้วประสบความสำเร็จอย่างมากก็คือ เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดอาโอรากิ แมคเคนซี ในนิวซีแลนด์ ที่ใช้ประโยชน์จากท้องฟ้ามืด ๆ ในการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีกิจกรรมดูดาวและถ่ายภาพในกลางคืน มีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเสพบรรยากาศเงียบสงบอย่างแท้จริงเข้าไปใช้บริการ จนเกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนด้วย

ส่วนในประเทศไทย เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด เกิดขึ้นด้วยหน่วยงานรัฐอย่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่ผุดโครงการ Dark Sky in Thailand หรือเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยขึ้นมา ซึ่งสถานที่ที่จะเข้าข่ายนี้ ต้องเป็นสถานที่ที่สามารถเห็นดวงดาวในเวลากลางคืนได้อย่างชัดเจน และการจะได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ก็จะต้องมีคุณสมบัติดีพร้อมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เช่น คุณภาพท้องฟ้า การบริหารจัดการแสงสว่าง ความเหมาะสมของพื้นที่สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดขยายความสู่การรับรู้ของผู้คนผ่านการท่องเที่ยว ที่จะทำให้คนที่ได้เข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติยามกลางคืนที่แท้จริงได้เสพความวิเศษของฟ้าที่ไม่มีแสงไฟ และทำให้เข้าใจระบบนิเวศมากขึ้น ในขณะที่สถานที่ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ก็จะได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวไปด้วย

ตอนนี้พื้นที่เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย มีอยู่หลายแห่งทั่วทุกภาคมากน้อยต่างกันไป โดยแบ่งประเภทพื้นที่ไว้ 4 ประเภท คืออุทยานท้องฟ้ามืด ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง แอบดีใจอยู่นิด ๆ ตรงนี้ ว่าพื้นที่ส่วนบุคคลและพื้นที่ชานเมืองก็สามารถขอการรับรองเป็นพื้นที่อนุรักษ์ฟ้ามืดได้ด้วย เพราะดูจะขยับเข้ามาเป็นเรื่องใกล้ตัวให้ผู้ประกอบการหรือใครก็ตามที่มีพื้นที่เหมาะ ๆ ก็มีโอกาสสร้างพื้นที่อนุรักษ์ของตัวเองได้ด้วยเหมือนกัน

แต่แต่ละเขตอนุรักษ์ก็จะมีหลักเกณฑ์ที่ต่างกันอยู่นิดหน่อย อย่างเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จะต้องรักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม ต้องใช้แสงสว่างอย่างระมัดระวัง ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน ไม่ก่อมลภาวะทางแสงที่ส่งผล แต่ก็ต้องมีความปลอดภัย และสามารถเป็นที่ดูดาวและเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงดาราศาสตร์ ซึ่งค่าความมืดของท้องฟ้าจะอยู่ในระดับที่เห็นวัตถุท้องฟ้า เช่น ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ กลุ่มดาว หรือทางช้างเผือกได้ด้วยตาเปล่า ตอนนี้มีอยู่ 5 อุทยานที่ได้การรับรองเป็นพื้นที่อุทยานท้องฟ้ามืด คือ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อุทยานแห่งชาติภูแลนคา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และอุทยานอีกหลายแห่งยังอยู่ระหว่างดำเนินการ

ถ้าเป็นชุมชนท้องฟ้ามืด ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชน หมู่บ้าน เทศบาล ตำบล ที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสมและอื่น ๆ เช่นเดียวกับพื้นที่อุทยาน สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือความปลอดภัยบนท้องถนน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงดาราศาสตร์ที่ช่วยเผยแพร่และสร้างความเข้าใจถึงผลกระทบของมลภาวะทางแสงให้แก่ประชาชนด้วยในพื้นที่สาธารณะ เช่น บริเวณอ่างเก็บน้ำ เขื่อน หรือสวนสาธารณะ ซึ่งตอนนี้ยังมีชุมชนท้องฟ้ามืดอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย คือบ้านออนใต้ ที่สันกำแพง เชียงใหม่ ที่มีจุดดูดาวอยู่ที่อ่างเก็บน้ำ และอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองนัก

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล จะมีลักษณะเป็นรีสอร์ต โรงแรม ฟาร์ม ศูนย์การเรียนรู้ที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม ใช้แสงสว่างอย่างระมัดระวังและเหมาะสมต่อการใช้งาน ไม่ก่อมลภาวะทางแสง มีความปลอดภัยและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้สนใจ และมีค่าความมืดท้องฟ้าที่สามารถเห็นวัตถุท้องฟ้าได้ โดยที่ได้รับการรับรองแล้วมี 6 แห่ง คือ เดอะ เปียโน รีสอร์ต โรงแรมเรนทรี เรซิเดนซ์ ไร่องุ่นไวน์กราน-มอนเต้ ไร่องุ่นไวน์อัลซิดีนี่ ในเขาใหญ่ และบ้านไร่ยายชะพลู สนามมวกเหล็กเอทีวี ในสระบุรี ส่วนอีก 10 แห่งอยู่ระหว่างดำเนินการ

และถ้าเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในเขตชานเมือง จะต้องเป็นพื้นที่ที่เป็นลานโล่ง สามารถจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ท้องฟ้าได้โดยรอบ ใช้แสงสว่างอย่างระมัดระวังและเหมาะสม มีความปลอดภัยและสิ่งอำนวยสะดวกต่อผู้มาใช้บริการ และเช่นเดียวกับเขตอนุรักษ์ทั้งหมดคือต้องมีค่าความมืดท้องฟ้าระดับที่สังเกตเห็นวัตถุท้องฟ้าได้ด้วยตาเปล่า แต่ไม่เท่ากับที่อื่นตรงที่อาจจะไม่ต้องเห็นทางช้างเผือกก็ได้ โดยที่ได้รับการรับรองแล้วตอนนี้คือ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ในนครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา

ถ้าอยากมองท้องฟ้ามืด ๆ แบบเห็นดวงดาว สถานที่ที่ว่ามาทั้งหมดน่าจะเป็นปลายทางที่ถูกใจและไปกันได้ไม่ยาก แต่ถ้าอยากมีเขตท้องฟ้ามืดเป็นของตัวเอง เราเริ่มกันได้จากพื้นที่ส่วนตัวที่แม้จะไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้การรับรอง แต่การใช้แสงสว่างแค่พอเหมาะ ลดแสงไฟส่วนเกินให้ไม่รบกวนสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ก็ช่วยยกระดับระบบนิเวศใกล้ตัวให้ดีขึ้นได้เหมือนกัน

ที่มาข้อมูล:
www.nature.com/articles/s41467-021-22011-8
www.theguardian.com/environment/2019/nov/22/light-pollution-insect-apocalypse
https://darksky.narit.or.th/darkskyreserve

ภาพ:
– อุทยานแห่งชาติผาแต้ม
– อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม
– NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
darksky.narit.or.th