องค์กรอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ในปี 2562 มีผู้เสียชีวิตจากการดื้อยาต้านจุลชีพแล้วประมาณ 1.27 ล้านคนทั่วโลก และคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตโดยตรงจากสาเหตุดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกปีละประมาณ 10 ล้านคน ภายในปี 2593 ปัญหาการดื้อยาของเชื้อโรคตัวจิ๋วจึงกลายเป็นภัยคุกคามสุขภาพคนทั่วโลกที่ไม่ใช่เรื่องจิ๋ว ๆ อีกต่อไป 

Antimicrobial resistance (AMR) คือการดื้อยาของเชื้อจุลชีพที่มีต่อยาปฏิชีวนะ โดยเชื้อจุลชีพที่ดื้อยาถูกให้ชื่อว่า Superbug สมัยก่อนการรักษาโรคด้วยยาปฏิชีวนะอาจได้ผลดีทั้งในคน สัตว์ และพืช ทว่าในปัจจุบันพวกเชื้อจุลชีพได้พัฒนาความสามารถในการต้านทานยา ส่งผลให้ยาแผนปัจจุบันอาจจะไม่สามารถรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดิม แม้จะใช้รักษาผู้ป่วยที่เจ็บป่วยแบบธรรมดาก็ตาม 

แล้วทำไมหนอเชื้อจุลชีพจึงดื้อยา หากอธิบายง่าย ๆ ก็คือ เชื้อจุลชีพเหล่านั้นพัฒนาตัวเองเพื่อให้สามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้นั่นเอง โดยเป็นผลจากสิ่งเร้าที่ทำให้พวกมันอัปเลเวลขึ้นมาได้ การปรับตัวของพวกมันอาจเร็วเกินกว่าที่จะใช้เวลาพัฒนายาใหม่ ๆ เพื่อมาใช้จัดการกับพวกมัน และต่อให้คิดค้นขึ้นมาทัน นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกมันจะไม่สามารถดื้อต่อยาใหม่ ๆ ที่คิดค้นขึ้นมาได้อีก

สำหรับการดื้อยาของเชื้อจุลชีพในผู้ป่วยที่ต้องใช้ยารักษา อาจเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผล ไม่ว่าจะเป็น การใช้ยาต่ำกว่าขนาดการรักษา การหยุดยาเมื่ออาการดีขึ้นโดยไม่กินยาจนครบโดส หรือการใช้ยาโดยไม่จำเป็น แต่สำหรับคนที่ไม่ได้เจ็บป่วยล่ะ ทำไมจึงเกิดปัญหาเรื่องเชื้อจุลชีพยังดื้อยา

เชื้อดื้อยา เมื่ออาหารปนเปื้อน
สาเหตุแรกก็คือ ปัจจุบันพบการปนเปื้อนของยาและเภสัชภัณฑ์ในภาคการเกษตร ทั้งยากำจัดศัตรูพืช ยาที่ป้องกันและฆ่าเชื้อโรคเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคมาสู่คน ทั้งที่ใช้ในสัตว์และพืช ทำให้ยาและสารเคมีเหล่านั้นตกค้างอยู่ในเนื้อสัตว์หรือพืชอาหารที่เราบริโภคเข้าไป เช่นนี้ก็เหมือนกับว่าเรากได้กินยาที่ปนเปื้อนเหล่านี้เข้าไปสู่ร่างกายเรื่อย ๆ ทีละน้อย ๆ ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการดื้อยาของเชื้อจุลชีพได้

ซ้ำร้าย บางครั้งเชื้อจุลชีพอย่างแบคทีเรียตัวดีที่ให้คุณต่อร่างกายมนุษย์ อาจกลายร่างเป็นเชื้อดื้อยาได้ หากลูกหลานของพวกมันถูกทำลายหมดจากยาปฏิชีวนะที่เราได้รับเข้าไป จากเชื้อดีทีนี้กลายเป็นให้โทษแทน เพราะในสภาวะที่ร่างกายเราสมดุล แบคทีเรียตัวดีเหล่านี้จะช่วยสร้างวิตามินเคให้กับกร่างกาย หรือช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง แต่เมื่อมันกลายเป็นเชื้อดื้อยา พอร่างกายเราเริ่มเสียสมดุลจากพฤติกรรมก็จะทำให้เราเจ็บป่วยได้ โดยเฉพาะในกลุ่มของคนที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแออยู่แล้วยิ่งได้รับผลกระทบง่าย

การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะนั้นอันตรายกว่าที่คิด หลาย ๆ คนอาจจะนึกแค่ว่าปรุงอาหารให้สุกแล้วรับประทานก็ปลอดภัยเพราะแบคทีเรียน่าจะตายหมดแล้ว แต่อาจไม่จริงทั้งหมดหากอาหารเหล่านั้นปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ เพราะเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาซึ่งอยู่ในอาหารที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ เมื่อผ่านความร้อนและตายลง จะมีซากหลงเหลือไว้ในรูปแบบสารพันธุกรรม (DNA) ซึ่งสามารถส่งต่อไปยังแบคทีเรียในร่างกายแบบข้ามสายพันธุ์กันไปเลย

ธรรมชาติวิกฤติ เชื้อโรคต้องเอาชีวิตรอด แล้วทางรอดของพวกเราคืออะไร
สาเหตุถัดมา ก็คือ สภาวะโลกร้อน และวิกฤติทางธรรมชาติ ที่เป็นตัวเร่งเร้าให้เชื้อจุลชีพต้องพัฒนาตัวเองเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้  ดร. สก็อตต์ โรเบิร์ตส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจาก Yale School of Medicine ได้กล่าวว่า

“สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง มลพิษ การเปลี่ยนแปงรูปแบบสภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้น เมืองที่แออัดหนาแน่นมากขึ้น และพื้นที่เขตเมือง ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนเอื้อต่อการแพร่ระบาดของเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะทั้งสิ้น ”

จากข้อมูลที่เล่ามาเชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านคงพอจะเห็นว่าต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหานี้ ล้วนมาจากพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งสิ้น หากเราตระหนักถึงปัญหานี้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะส่งเสริมให้พวก superbugs นี้ดื้อยา ก็ถือเป็นทางที่จะช่วยลดทอนให้ปัญหาเรื่องเชื้อดื้อยาลงได้ 

ไม่ว่าจะเป็นการที่ภาคการเกษตรหันมาปลูกพืชอาหารรวมไปถึงการเลี้ยงปศุสัตว์ในรูปแบบออร์แกนิกที่ใส่ใจทั้งเรื่องคุณภาพของวัตถุดิบและสิ่งแวดล้อม ก็จะช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีลงได้ เมื่อคนบริโภคอาหารที่ปลอดภัยไร้ยาปฏิชีวนะเจือปน ก็ไม่มีสิ่งเร้าที่จะกระตุ้นให้เหล่าจุลชีพเกิดการดื้อยาได้ แถมการทำการเกษตรในรูปแบบออร์แกนิกที่ยังใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็จะช่วยลดมลพิษในสิ่งแวดล้อมลงได้

ในส่วนของผู้บริโภค ก็ควรหันมาเลือกกินอาหารที่ปลอดภัยปราศจากสารเคมีและสารพิษต่าง ๆ และยังต้องใส่ใจการกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันในทุกวิถีทาง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ทุก ๆ กิจกรรมในชีวิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นี้คงจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้อย่างยั่งยืน

เอกสารอ้างอิง
– หัวข้อข่าว เรื่อง “มหันตภัยร้ายที่คุกคามสุขภาพ ‘เชื้อดื้อยา’ อาจทำให้ผู้คนมากกว่า 10 ล้านคน เสียชีวิตได้ภายในปี 2593 ” https://www.sdgmove.com/2023/02/21/amr-superbugs-environmental
– หัวข้อข่าว เรื่อง “Climate change is contributing to the rise of superbugs, new UN report says” https://edition.cnn.com/2023/02/07/health/superbugs-climate-change-scn/index.html
– บทความวิชาการ เรื่อง “ยาปฏิชีวนะและการดื้อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรีย” โดย อารยา ข้อค้า สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต, J Med Health Sci Vol.27 No.2 August 2020
– บทความ “เชื้อดื้อยา เพชฌฆาตเงียบที่อาจมากับอาหาร” โดย ฉันท์ชนก หิรัญ https://www.greenpeace.org/thailand/story/8108/amr-the-silent-killer

ภาพ : Paperis