พกขวดน้ำ ถือถุงผ้า ไม่รับหลอด แยกขยะ เราเชื่อว่าใครหลายคนที่รักสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะชาวกรีนเนอรี่ต้องทำทุกอย่างที่กล่าวมาอย่างแน่นอน

แล้วโทรศัพท์เครื่องเก่า สายชาร์จขาด หูฟังที่พังแล้ว คุณเอาไปทิ้งที่ไหนกัน?

ในขณะที่เรากำลังตื่นตัวกันเรื่องการลดใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง 

แม้มติยังไม่เป็นเอกฉันท์ และยังมีเสียงถกเถียงกันเรื่องความเหมาะสมในการใช้ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนี้หากพูดถึงขยะที่จะได้ตำแหน่งหัวหน้าพรรคนักทำลายสิ่งแวดล้อม ก็คงหนีไม่พ้นพลาสติก

แต่ในความเป็นจริงแล้ว นอกจากพลาสติก ยังมีอีกหนึ่งสิ่งใกล้ตัวที่เป็นขยะตัวฉกาจที่กำลังแอบซุ่มเพิ่มจำนวนอยู่เงียบๆ เจ้าสิ่งนี้แอบซ่อนอยู่ในกระเป๋าของคุณ คุณใช้เวลาอยู่ด้วยวันละหลายชั่วโมง หรืออาจเป็นสิ่งที่คุณกำลังถือเพื่ออ่านบทความนี้อยู่ก็ได้

ใช่ เรากำลังพูดถึง โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริม

จากผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 89.6 ของคนไทยใช้โทรศัพท์มือถือ ลองคิดคร่าวๆ จากจำนวนประชากร 70 ล้านคน ก็จะมีโทรศัพท์หมุนเวียนในระบบประมาณ 62 ล้านเครื่อง และปัจจุบันมีเบอร์โทรศัพท์ที่เปิดใช้บริการอยู่ถึง 91.6 ล้านเลขหมาย (ปี 2561) นี่ยังไม่นับรวมกับอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ทั้งสายชาร์จ หูฟัง และพาวเวอร์แบงก์ โดยอายุการใช้งานเฉลี่ยของโทรศัพท์มือถืออยู่ที่ 2 ปี แถมยังมีการเปลี่ยนรุ่น ตกรุ่น อัปเกรดกล้องและฟังก์ชั่น ที่ออกมาล่อใจกันแทบตลอดทั้งปี ทำให้ปริมาณผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

โทรศัพท์มือถือเก่า = ขยะอิเล็กทรอนิกส์

โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่ใช้งานไม่ได้แล้ว จะกลายมาเป็นขยะที่จัดอยู่ในประเภท E-Waste หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ และจัดเป็นวัตถุอันตราย (hazardous waste) เพราะมีส่วนประกอบของโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม คลอรีน โบรมีน หากไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสม สารเคมีอาจปนเปื้อนลงสู่น้ำและดิน สะสมในร่างกายมนุษย์ เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง 

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์” (Waste from Electrical and Electronic Equipments หรือ WEEE) หมายถึง เครื่องใช้หรืออุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าหรือสนามแม่เหล็กในการทำงานที่ไม่ได้มาตรฐาน (Off-spec) หรือหมดอายุการใช้งาน ล้าสมัย หรือที่ผู้บริโภคไม่ต้องการใช้งานแล้ว ขยะในตระกูลนี้ประกอบไปด้วย เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ วิทยุ โทรทัศน์ กล้อง อุปกรณ์ให้แสงสว่าง เครื่องมือวัดอุณหภูมิ ของเล่นที่ใช้ไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่ เป็นต้น 

ขยะอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มสูงขึ้นทั่วโลก คาดการณ์กันว่าในปี 2564 จะมีมากถึง 52.2 ล้านเมตริกตันต่อปี โดยจากสถิติของประเทศไทยในปี 2560 ของเสียอันตรายจากชุมชน มีปริมาณมากขึ้น 638,000 ตัน โดยร้อยละ 65 เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์กว่า 414,600 ตัน ซึ่งหากไม่รับการจัดการอย่างถูกวิธี ขยะประเภทนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นสู่ขั้นวิกฤต ทั้งปริมาณในประเทศและจากการนำเข้าจากต่างประเทศ

หากคุณรู้สึกว่าพลาสติกนั้นเป็นพิษต่อโลกแล้ว ลองนึกภาพว่ามีแก้วน้ำสองใบ ใบหนึ่งมีแบตเตอรี่หนึ่งก้อนแช่อยู่ กับอีกใบมีถุงพลาสติกแช่อยู่ แน่นอนว่าน้ำทั้งสองแก้วนั้นอันตรายต่อร่างกาย แต่ถ้าจำเป็นต้องดื่มน้ำ น้ำแก้วไหนดูอันตรายกว่ากัน

ถุงพลาสติกต้องใช้เวลาเป็นหลายร้อยปีหรือแสงแดดในการย่อยสลายกลายเป็นไมโครพลาสติกสะสมในร่างกาย แต่แบตเตอรี่นั้นเทียบได้กับการเทสารพิษลงน้ำทันที 

ดังนั้นการที่เราทิ้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยไม่แยกก่อนทิ้ง และไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ก็ไม่ต่างจากการหย่อนแบตเตอรี่หรือโลหะหนักนับล้านตันลงทะเล เป็นการเทสารพิษลงสู่สิ่งแวดล้อมและย้อนกลับมาทำร้ายเราโดยตรง

มือถือเครื่องเก่าไปไหนดี เมื่อเครื่องใหม่กำลังมา

แม้จะรู้แล้วว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นอันตรายขนาดไหน แต่มือถือ แท็บแล็ตรุ่นใหม่พร้อมกล้องชัดแจ๋วก็ช่างยั่วใจเหลือเกิน แล้วเราจะทำยังไงดีกับมือถือ แท็บแล็ตเครื่องเก่า 

”เก่าไป ใหม่มา” เป็นสัจธรรม แต่ถ้าเป็นเรื่องของมือถือ “(เครื่อง) เก่าไปรีไซเคิล (เครื่อง) ใหม่มา” เป็นสิ่งที่อยากชวนทุกคนมาทำกัน

เพราะในมือถือ แท็บแล็ต พาวเวอร์แบงก์ หรือสายชาร์จแบตเตอรี่มือถือต่างๆ มีส่วนประกอบของทั้งโลหะมีค่า โดยเฉพาะแผงวงจร เช่น ทอง เงิน พัลลาเดียม และพลาสติก ซึ่งสามารถนำไปแยกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ แล้วนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลด้วยการเข้าเตาหลอมตามชนิดของวัสดุ เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ลดการฝังกลบ ลดการปนเปื้อนของสารพิษ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ซึ่งจากผลกระทบที่ร้ายแรงและวิธีการจัดการที่เฉพาะทาง ทำให้ทั่วโลกเริ่มตื่นตัวต่อขยะประเภทนี้ หนึ่งในธุรกิจให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมของไทยที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้และลุกขึ้นมารณรงค์ คือ AIS ซึ่งตอนนี้ รับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยอาสาเป็นคนกลางช่วยให้คนทิ้งอุ่นใจและสะดวกสบาย ด้วยจุดรับทิ้งกว่า 1,800 จุดทั่วประเทศ และจับมือกับ บริษัท เทส จำกัด ผู้นำด้านการจัดการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก มาช่วยจัดการอย่างเหมาะสมปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมด้วย 

วิธีทิ้งอย่างอุ่นใจ ปลอดภัยต่อเราและต่อโลก

ชวนมาทิ้ง E-Waste กับ AIS โดยอุปกรณ์ที่รับทิ้ง ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต แบตเตอรี่ (เฉพาะมือถือ และเเบตเตอรี่คอมพิวเตอร์เท่านั้น) สายชาร์จ พาวเวอร์แบงก์ และหูฟัง โดยมีขั้นตอนง่ายๆ ที่ช่วยให้ทั้งข้อมูลส่วนตัวของเราและสารเคมีไม่รั่วไหล

  1. โทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต ควรทำการลบข้อมูลด้วยการ Factory Reset และ Erase All Data เพื่อให้ข้อมูลทั้งหมดถูกลบจากเครื่อง
  2. อย่าลืมถอดเมมโมรีการ์ดออกจากเครื่องก่อนทิ้ง เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลจะไม่รั่วไหล
  3. รวบรวม E-Waste แล้วนำไปทิ้งได้ที่จุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ AIS Shop ทั่วประเทศ AIS Telewiz ที่ทำการไปรษณีย์ ศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัล อาคารชุด และคอนโดต่างๆ รวมจุดรับทิ้งกว่า 1,800 จุดทั่วประเทศ เช็กพิกัดและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ewastethailand.com
  4. สแกน QR Code ที่จุดรับทิ้ง พร้อมระบุประเภทและจำนวนที่ต้องการทิ้ง เพื่อรับ Point ที่สามารถนำไปแลกของรางวัลในแอปฯ ECOLIFE แล้วทิ้ง E-Waste ได้เลย (ถ้าหากขยะอิเล็กทรอกนิกส์มีการรั่วไหลของสารเคมี แนะนำให้แยกใส่ถุงก่อนทิ้ง)

*กรณีนำ E-Waste มาทิ้งปริมาณมาก สามารถทยอยทิ้งใส่จุดรับทิ้งได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องรวบรวมใส่กล่อง (เนื่องจากคำนึงถึงความปลอดภัย)

สุดท้ายชวนมาเก็บ E-Waste ที่หลงลืมอยู่รอบตัว แล้วมาร่วมภารกิจ Greenery Challenge #คนไทยไร้Ewaste ชวนรวบรวมขยะ E-Waste แล้วนำมาทิ้งกับ AIS เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ยิ่งเก็บ E-Waste มาก ยิ่งลุ้นรับของรางวัลพิเศษจาก Greenery  

ติดตามความสนุกและเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ Facebook Group: Greenery Challenge 

ข้อมูลอ้างอิง