อีส-สุภาวดี จุ้ยศุขะ คือผู้หญิงวัยสี่สิบนิดๆ ในผมซอยสั้น ลุคทะมัดทะแมง มีรอยยิ้มกว้างและแววตาขี้เล่นฉายออกมาอยู่เสมอ บางคนรู้จักเธอในฐานะนักอบขนมปังโฮมเมด เจ้าของร้าน ease bakery ที่ได้เจอะเจอกันในตลาด Greenery Market บางคนรู้จักเธอในฐานะอาจารย์สาขาวิชาออกแบบ ผู้มีตำแหน่งวิชาการนำหน้าว่าผู้ช่วยศาสตราจารย์ และบางคนรู้จักเธอในฐานะที่ปรึกษาด้านแบรนด์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชน   

แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเธอเป็นมะเร็งไทรอยด์ระยะที่ 4 และอยู่ร่วมกับโรคร้ายนี้มา 13 ปีแล้ว

“เวลาเตือนให้เพื่อนดูแลตัวเองหน่อย จะชอบท้ามันว่า “ไม่ต้องแข็งแรงมากก็ได้ เอาแค่ให้เท่าฉันที่คนเดาไม่ออกว่าเป็นมะเร็งน่ะ ทำได้ไหมล่ะ” อีสเล่าพร้อมหัวเราะร่า และทำให้เรามองเธออย่างเต็มตาว่าผู้หญิงคนนี้ไม่เหมือนกำลังเผชิญโรคร้ายอยู่อย่างที่เจ้าตัวว่าจริงๆ 

และบทสนทนาต่อจากนี้ ไม่เพียงบอกเล่าว่าเธอมี ‘ชีวิตร่วมโรค’ อย่างไร แต่ยังเล่าถึงวิธีใช้ชีวิตที่ได้ยินเสียงของร่างกาย ในแบบที่เรา-ไม่ว่าจะกำลังป่วยอยู่หรือยังสบายดี น่าจะหยิบเอาวิธีนี้ไปปรับใช้

เพราะเราทุกคนควรเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับตัวเองได้ โดยไม่ต้องรอให้โรคร้ายหรืออะไรมาบังคับให้เราเปลี่ยน 

มะเร็งไม่ได้เปลี่ยนชีวิต 

“มะเร็งไม่ได้เปลี่ยนชีวิตอะไรนะ ไม่ได้มีสเต็ปว่าต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองขนาดนั้น” อีสหลับตาคิดอยู่พักหนึ่งก่อนตอบ เพราะเธอบอกว่าตั้งแต่เป็นบัณฑิตด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ จบปริญญาโทเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากอังกฤษ กลับมาเป็นอาจารย์ด้านแฟชั่นที่มหาวิทยาลัยรังสิต ไปเรียนต่อด้าน Brand Identity ที่มิลานช่วงสั้นๆ แล้วกลับมาเป็นอาจารย์ด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ไปพร้อมๆ กับเป็นที่ปรึกษาให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือรูปแบบชีวิตที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรไป เธอคือนักเรียนที่สนุกกับการเรียนรู้ อาจารย์ที่สนุกกับการได้ให้คำแนะนำนักศึกษา และนักออกแบบที่สนุกกับการได้ร่วมพัฒนาสินค้าชุมชน

ชีวิตที่ออกจะบ้างานนิดๆ ทำงานหนักมากไปหน่อย ในแบบที่เธอบอกว่า ‘ใช้ชีวิตเท่าที่ควรจะทุ่มเท’ กินอยู่ปกติ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่ได้มีพฤติกรรมเสี่ยงอะไร เพียงแต่ว่าโดยกรรมพันธุ์ ญาติผู้หญิงฝั่งพ่อของเธอเป็นมะเร็งหลายคน นี่จึงน่าจะเป็นเหตุผลที่เธอได้รับมรดกนี้มาด้วย

หลังจากไปหาหมอด้วยอาการหวัด ผลลัพธ์กลับบอกว่าเธอเป็นมะเร็งไทรอยด์ระยะที่ 4 และต้องสั่งผ่าตัดด่วนเพราะเนื้อร้ายเริ่มมีขนาดใหญ่และเริ่มลามไปยังต่อมน้ำเหลือง-ทางด่วนของโรคมะเร็งที่พร้อมจะเดินทางไปทุกๆ ส่วนของร่างกาย

“คนกลัวเพราะรู้อะไรครึ่งๆ กลางๆ ถ้ารู้ชัดเจนแล้วก็จะไม่กลัว ส่วนเรา อารมณ์นั้นคือไม่รู้เลย อ้าวเหรอ มะเร็งแล้วไง พอกลับมาหาข้อมูล มะเร็งไทรอยด์เป็นมะเร็งที่เราหาข้อมูลได้ว่าถ้าอาการเป็นแบบนี้ ลามมาถึงนี่ ต้องรักษาแบบนี้ๆ ซึ่งมันไม่ได้เป๊ะตามที่เราอ่านหรอก แต่คาดเดาได้ว่ามันจะเป็นแบบนี้ เหมือนเราเข้าใจมัน” 

คนไทยอยู่กับความเชื่อว่ามะเร็งเท่ากับตาย มะเร็งห้ามกินนู่น กินนี่ กินนั่น แต่ไม่ได้เข้าใจว่ามะเร็งคือเซลล์เรานี่แหละ ที่เราดูแลเขาไม่ดี ให้เขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี แล้ววันหนึ่งเขาก็กลายเป็นเด็กเกเรขึ้นมา เราก็พยายามจะเฆี่ยนตี ฆ่าเขา ทั้งที่เขาก็เป็นเซลล์ของเรานี่แหละ แล้วมันก็กลายเป็นความรู้ครึ่งๆ กลางๆ อะไรว่าดีก็แห่กันไป แต่คุณไม่รู้เรื่องการกิน การอยู่ การใช้ชีวิตเลย”

เมื่อทำความเข้าใจกับโรค อีสจึงอยู่กับมะเร็งอย่างไม่ทุกข์ร้อน รักษาไปตามที่แพทย์แนะนำ เธอผ่านการกลืนแร่ กินยาตามหมอสั่งอย่างเคร่งครัด ไปพร้อมๆ กับการดูแลรักษาแพทย์ทางเลือกบ้าง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือเธอเริ่มฟังเสียงร่างกายตัวเอง

ไม่ต้องฟังเสียงใคร ฟังเสียงร่างกายตัวเอง 

“ถ้าเรามีสติพอ เราจะรู้ว่ากินอันนี้ไปแล้วไม่สบายตัว กินอันนี้ไปแล้วอึดอัด กินอันนี้ไปแล้วเพลียตลอดเวลา มีช่วงหนึ่งที่เราฟังคนมากมายบอกว่าคนเป็นมะเร็งไม่ควรกินเนื้อสัตว์ แต่ด้วยความที่ร่างเรายังไม่พร้อมตอนนั้น เราหยุดกินเนื้อสัตว์ประมาณหนึ่งปี แล้วไปทำงาน มันก็ไม่มีแรง หน้ามืด โหยตลอดเวลา เหนื่อยๆ เพลียๆ เราก็เลยกลับมากินเนื้อสัตว์ แต่ก็ไม่ได้กินแบบหักโหมนะ เราก็โอเคขึ้น คือถ้ามีสติในการฟังร่างตัวเอง เราจะรู้ว่าร่างตัวเองต้องการอะไร มากกว่าฟังเสียงคนอื่น”

“ร่างของแต่ละคนไม่เหมือนกัน กิจกรรมก็ไม่เหมือนกัน ระบบข้างในก็ไม่เหมือนกัน ไม่มีอะไรเหมือนกันเลย มันไม่มีทางเป็นไปได้ที่อาหารอย่างหนึ่งจะเหมาะกับทุกคน” 

แต่หลังจากไปเรียนโยคะที่อินเดียและไปอยู่อาศรมที่เป็นมังสวิรัติในเมืองริชชิเกช (Rishikesh) ที่เธอได้ทั้งนั่งสมาธิ ได้เรียนโยคะอย่างจริงจัง และช่วยงานในครัว เธอรู้สึกว่าร่างกายเริ่มพร้อมกับการไม่กินเนื้อสัตว์ จึงกลับมาเป็นมังสวิรัติอีกครั้งและกินต่อเนื่องมาได้สองปีแล้ว 

“เราแทบไม่กินเนื้อสัตว์แบบจริงจัง แต่ถ้าต้องออกไปข้างนอกแล้วคนอื่นเขาจะอึดอัดก็กินบ้าง เขี่ยบ้าง ไม่ได้เคร่งขนาดว่ากินไม่ได้เลย เพราะใช้ชีวิตยาก แค่เลี่ยงเนื้อสัตว์เพราะกินแล้วไม่ค่อยสบายตัว อยู่บ้านก็ทำกินเอง อยู่ข้างนอกก็แล้วแต่จะเลือกได้”

แต่การฟังเสียงร่างกาย ย่อมไม่ใช่การมั่นใจในร่างกายแบบผิดๆ เธอเคยคิดว่าร่างกายมนุษย์สามารถสร้างสิ่งทดแทนหรือเยียวยาตนเองได้ เธอจึงลองหยุดฮอร์โมนเสริมที่คุณหมอจ่ายมาหลังผ่าตัดไทรอยด์ แต่ปรากฎว่าค่าเซลล์มะเร็งขึ้น และส่งให้ผลเลือดสวิงมากจนน่าตกใจ เธอจึงชัดเจนว่าต้องสมดุลการดูแลและรักษาอย่างไรให้ไม่สุดโต่งเกิน 

“คนชอบถามว่าฟังเสียงร่างกายยังไง เราสังเกตได้แค่ระดับเบื้องต้นว่าเรากินอันนี้แล้วไม่สบายตัว เราอยู่ในที่อากาศแบบนี้แล้วไม่โอเค เพลีย เหนื่อย หรือรู้สึกว่าช่วงนี้ผิวเราแห้ง เล็บเราแห้ง เพราะว่าฮอร์โมนไทรอยด์เราไม่มี”

“มันต้องมีสติประมาณหนึ่ง เห็นภาพว่าข้างในมันเป็นยังไง ถ้าเรากินเข้าไปมันผ่านอะไร อวัยวะต่างๆ ทำงานยังไงบ้าง ถ้าช่วงนี้รู้สึกว่าเราเป็นแบบนี้ เราควรต้องทำอะไรกับมัน”

“ถ้าเหนื่อยก็พัก ง่วง เพลียก็นอน หิวก็กิน ฟังมัน ถ้าอยากกินขนมก็กินไป กินเท่าที่พอประมาณ ทุกอย่างมันอยู่ที่ความสมดุล ถ้าอยากกินน้ำอัดลมก็กินเท่าที่รู้สึกว่าพอ เพราะก็รู้ว่ามันไม่ดี แต่ไม่เห็นด้วยกับการที่เอาอย่างอื่นกลบเกลื่อน ไม่กินของหวานแต่กินสารที่ให้ความหวานทดแทน อันตรายเบิ้ลกว่า กินขนมก็ให้รู้ว่าเป็นขนม มีเนย นม น้ำตาล กินเท่าที่หายอยากแล้วก็หยุด เพราะรู้ว่ามีอะไรบ้าง ถ้ากินของที่ไม่มีแป้ง ไม่มีนู่นนี่นั่น เราก็จะกินด้วยความเชื่อว่ามันไม่ผิด ซึ่งก็ไม่ได้ดีกว่าของที่กินแบบรู้ลิมิตหรอก”

สวนข้างบ้านที่ไม่ต้องไปจ่ายตลาด

อีสและลูกสมุนประจำบ้าน เดินนำหน้ากระโดดข้ามท้องร่องเล็กๆ ไปในสวนขนาดสิบไร่ที่อยู่ติดกับพื้นที่บ้าน เป็นสวนตามใจปลูกที่คุณพ่อของเธอลงมือทำเองทั้งหมด ล้อมรอบด้วยทิวไผ่หลากสายพันธุ์ และต้นไม้กินได้มากมาย ไม่ว่าจะมะม่วง มะนาว มะพร้าว ส้มโอ (ตามนั้นจริงๆ ) เลยรวมไปถึงกล้วย พริก สมุนไพรไทยๆ ผักกูด ผักหนาม และอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นเหมือนตลาด ‘สด’ ส่วนตัว

“อาหารการกินของเราก็แล้วแต่ว่าช่วงนั้นสวนมีอะไร ช่วงที่ปลูกเคลก็จะเอาไปปั่น เอาไปต้มจืด คุณลุงแถวนี้มีผักกระเฉดที่อยู่ตรงธารน้ำไหล ก็จะเก็บมาให้เราผัดเส้นหมี่ ใส่เต้าหู้ ไม่ได้มีเมนูหรือสูตรประจำ มีอะไรก็ทำเอา ไม่คลีนเลย เพราะถ้าต้องคลีนจริงๆ ไอ้นู่นไม่ได้ ซอสต้องอย่างนู้น น้ำตาลต้องอย่างนี้ สำหรับเรามันใช้ชีวิตยาก ถ้าต้องซื้อ เราก็เลือกเท่าที่เลือกได้แหละ ไม่ต้องฝืนกินผักสลัดทั้งที่รู้ว่ามียาเต็มเปี่ยม หรือกินผักไฮโดรโปนิกส์ที่ก็เป็นสารเคมี”

เธอย้ำหลายครั้งว่าทุกอย่างควรเข้าจังหวะกับชีวิต รูปแบบชีวิตจึงไม่ได้ยากเย็นเกินการอยู่อาศัยในบ้านใกล้สวนห่างจากเมืองพอสมควร แต่เมื่อทำเป็นกิจวัตร วงจรและสิ่งแวดล้อมรอบตัวจะค่อยๆ ลงตัวเอง

“เหมือนเราไม่ได้ตั้งเป้าตั้งแต่แรกว่าไม่อยากทำร้ายสัตว์ ช่วยโลกร้อนอะไรหรอก แต่พอไม่กินเนื้อสัตว์ไปสักพัก เราก็เริ่มไม่อยากใช้เครื่องหนังเอง ทั้งที่เคยเป็นคนทำแบรนด์เครื่องหนังก็ไม่ใช้เครื่องหนัง เหมือนเมื่อเราค่อยๆ ทำ สิ่งแวดล้อมรอบตัวก็จะตามมาเอง”

ขนมปังที่ไม่ต้องกังวล

ease เป็นคำง่ายๆ ที่แปลว่า ความสบายใจ ไม่มีอะไรให้กังวล ขนมปังของเธอจึงเป็นขนมปังที่สบายใจ ไม่มีอะไรให้กังวลตามแบรนด์ดิ้งที่เธอวางไว้

“ชีวิตประจำวันตอนนี้คืออบขนมปัง” เธอเล่าพร้อมรอยยิ้ม “วันไหนมีออเดอร์ก็จะเคลียร์ให้เสร็จ ประมาณบ่ายโมงก็จะมีรถมารับไปส่ง หลังจากนั้นก็ทำกับข้าว เก็บกวาดอุปกรณ์เบเกอรี่ ล้างต่างๆ พักแป๊บนึง หาข้าวให้พ่อกิน เข้ามานั่งเคลียร์งานออกแบบ หรือถ้าบางวันตลาด Greenery Market ก็จะทำขนมปังทั้งคืน แล้วก็ไปขายทั้งวัน แล้วก็กลับมาทำกลางคืน เพราะอยากให้คนกินขนมปังอบใหม่ๆ ทุกวัน”

แต่กว่าจะมาเป็นนักอบขนมปังอย่างทุกวันนี้ เธอก็เริ่มต้นจากคนทั่วไปที่ชอบกินขนมปังและรู้สึกสงสัยว่าทำไมขนมปังที่วางขายทั่วไปถึงอยู่ได้นานเหลือเกิน เธอจึงลองผิดลองถูกทำเองจนบ่อพักขยะของที่บ้านบำบัดน้ำเสียไม่ทัน เพราะทำทิ้ง ทำทิ้งอยู่อย่างนั้น จนเมื่อเริ่มต้นเข้าใจหลักการและวิทยาศาสตร์ในขนมปัง เธอจึงเริ่มต้นนวดขนมปังทุกก้อนด้วยมือของตัวเอง

“อ๋อ พอเราเข้าใจแล้วว่าแป้งแบบนี้ ใส่แบบนี้ พอนวดมือ มันต่างหมดเลย ส่วนประกอบที่อยู่ในสูตรเราไม่ได้ใช้เท่ากันทุกครั้ง ด้วยความชื้น ผลไม้แห้งหรืออะไรก็ตาม ทำให้ใช้น้ำไม่เท่ากัน นวดมือมันได้สัมผัสว่า เฮ้ย เนื้อนี้โอเคแล้ว แล้วค่อยอบ เราค่อยๆ เรียนรู้การเติบโตของยีสต์ ใส่ในน้ำอุ่น ผสมน้ำผึ้งให้ยีสต์แอ็กทีฟก่อน ค่อยๆ นวดไปจนได้ที่แล้วใส่เนยแล้วนวด มันก็นุ่มกว่าตอนแรกๆ ที่ทำ เรียนรู้จากความผิดพลาด เพราะมีล็อตนึงลืมใส่เนย นวดเสร็จแล้วจะเอาเข้าเตา เอ๊ะ ลืมใส่เนยก็มาใส่ทีหลัง เฮ้ย มันนิ่ม เหมือนได้ค่อยๆ เรียนรู้ไป” เธอเล่าด้วยเสียงและแววตาร่าเริงเหมือนเด็กๆ ที่ค้นพบความสนุกไม่รู้จบ จนเมื่อเราถามว่ามันต่างจากงานนักออกแบบหรืองานอาจารย์ที่ทำมาสิบกว่าปีอย่างไร เธอนิ่งแล้วตอบด้วยสีหน้าจริงจัง

“งานออกแบบที่เราทำกันในเมืองไทยมันยังอยู่ที่รูปลักษณ์ ความเท่ ไม่ว่าจะเป็นสไตล์ต่างๆ แล้วเราก็รู้สึกว่าถ้างานออกแบบที่มันอยู่นอกตัว เรายังใส่ใจขนาดนั้น แล้วของที่เรากินเข้าไป เราจะไม่ใส่ใจเลยเหรอ มันก็ใช้กระบวนการเดียวกับการออกแบบเลย ทั้งวัสดุ กรรมวิธีการผลิต มาร์เก็ตติ้ง อะไรก็ตามแต่ มันคือกระบวนการเดียวกัน เพียงแค่เปลี่ยนของที่เป็น decorative item เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ต่างๆ มาเป็นของที่กินได้เท่านั้นเอง”

“ด้วยพื้นฐานที่เรียนโปรดักต์มา ทำให้เราเข้าใจวัสดุต่างๆ ได้ดีกว่าคนที่ไม่ได้เรียน ทำไมต้องนวดขนมปังบนหินอ่อน เพราะมันเย็น มันทำให้ยีสต์ค่อยๆ โต ถ้าเป็นสเตนเลส อุณหภูมิความร้อนของมือ น้ำอุ่น จะทำให้ยีสต์โตเร็วกว่า หรือภาชนะทองเหลือง ทองแดงที่เก็บอุณหภูมิได้ดีกว่า เราก็เอามากวนแยม ข้อดีคือไม่มีสารตกค้างเหมือนสเตนเลสที่ใช้กวนอาหาร แล้วทองเหลืองมันทำให้ผลไม้รสเปรี้ยวคายเพกตินที่เป็นสารความหนืดออกมาเองโดยไม่ต้องผสมสารเพิ่มความหนืดในแยมด้วย หรืออย่างการเสิร์ฟอาหารด้วยจานไม้ เราก็จะเฮ้ย ใช้จานไม้ในการเสิร์ฟขนมร้อนๆ ไม่ได้นะ เพราะว่าไม้ที่ออกจากโรงงานมาเขาก็จุ่มน้ำยาแล้วนะ”

“พอเรารู้เรื่องวัสดุ ก็จะรู้ว่าอะไรที่ใช้กับของกินแล้วมันเหมาะ คนที่ทำของกินยิ่งต้องใส่ใจเรื่องชีวิตคนอื่นมากกว่าคนที่ทำงานออกแบบที่เป็นของข้างนอกอีก”

ทำไมเราถึงไม่ค่อยใส่ใจเรื่องของกินที่เข้ามาในตัวเรากัน – เราถาม

“เพราะว่าเราไม่ได้ถูกฝึกให้มองเห็นความสำคัญของระบบภาพรวมของร่างกาย เราจะเห็นความสำคัญก็ต่อเมื่อมันเกิดความผิดปกติบางอย่างขึ้น แล้วก็เราให้ความสนใจเรื่องภาพลักษณ์ข้างนอกเป็นหลัก ข้างในจะยับเยินยังไงก็ได้ ข้างนอกจะต้องสวยไว้ก่อน ซึ่งอันนี้มันเป็นเปลือกที่หนามากของเรา

“เรากินเพราะว่าเสียงสังคมมันบอก แต่เราไม่ได้กินเพราะว่าร่างกายเราบอกให้กิน”

“เรากินเพราะเราอยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นๆ แต่เราลืมไปว่าร่างกายเรารับได้แค่ไหน เราแค่อร่อยไปกับลิ้น แต่ไม่ได้คิดว่าอวัยวะข้างในต้องทำอะไรบ้าง” 

จากที่ทำขนมปังไปแบ่งปันเพื่อนๆ ในคลาสโยคะ จนเกิดออเดอร์เล็กๆ ชวนให้เข้าครัว ประกอบกับระบบขนส่งที่ฉับไวรวดเร็วขึ้น เธอจึงสามารถเปิดเตาอบขนมส่งผู้คนได้ทุกวันเท่าที่ยังมีออเดอร์ หรือแม้แต่วันที่ต้องไปพบคุณหมอที่ศิริราช เธอก็ยังไม่วายมีออเดอร์จากเพื่อนพี่น้องที่นั่งรอคิวหาคุณหมอเหมือนกัน 

“แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าเราไม่ใช่ขนมสำหรับผู้ป่วยมะเร็งนะ มีคนอินบ๊อกซ์มาบอกว่าคุณพ่อเป็นมะเร็งอยากให้ทานขนมปังที่นี่ค่ะ ไม่ใช่ เราไม่ใช่ยารักษามะเร็ง” เธอร้องเสียงสูง “ขนมและขนมปังของเราใส่สูตรปกติ แต่เราตั้งใจเลือกวัตถุดิบ แป้งสาลีที่ใช้ก็เลือกที่ออร์แกนิกเท่าที่เลือกได้ แป้งไรย์ก็ใช้แป้งไรย์ออร์แกนิก ถั่ว งาต่างๆ เราเอาไปอบก่อนทำเท่านั้น เพราะไม่รู้ว่ามันมีเชื้อราอะไรหรือเปล่า เนยก็ใช้เนยแท้ น้ำตาลก็ออร์แกนิก ไข่หาออร์แกนิกเท่าที่หาได้ บางทีหาออร์แกนิกไม่ได้ก็เลือกที่สดเท่าที่จะสามารถหาได้ ส่วนพวกแยมหรือผลไม้ที่ใช้ก็เลือกออร์แกนิกเท่าที่เลือกได้ เสาวรสเลือกของเชียงใหม่ ซึ่งมันกระจายรายได้ให้ชุมชนด้วย หรือเลมอนของพสุธารา ซึ่งเรารู้ว่าปลอดสารเคมีแน่ๆ เราก็เลือกมาใช้ อย่าบอกว่าไม่มีน้ำตาล มันมีทั้งน้ำตาล เนย นม ครีม แต่ทุกอย่างมันถูกเลือกมาแล้ว เพราะว่าพ่อเรากินด้วย เราก็คงไม่ทำอะไรไม่ดีให้พ่อเรากิน”

“เราไม่ได้กินขนมให้สุขภาพดีนะ เรากินขนมเพราะมันอร่อย อยากสุขภาพดี ไปกินอาหารหลักให้ดี หาความพอดีให้เจอ ทำให้มันเป็นอย่างที่มันเป็น” 

ตลาดที่บางครั้งก็ไม่ต้องใช้เงิน 

เมื่อไปขายของที่ตลาด Greenery Market นอกจากจะได้เจอคนกินแบบได้บอกเล่า ได้ทักทาย และได้ทำความรู้จักกันผ่านขนมปังของเธอ ที่เดียวกันนี้ยังเป็นโลกอีกใบที่เหล่าพ่อค้าแม่ขายได้แลกเปลี่ยนวัตถุดิบกันและกัน แถมบางทีก็ไม่เสียสตางค์ด้วยซ้ำเพราะแลกกันด้วยของที่ตั้งใจทำจริง

“เพราะเรารู้ที่มาของวัตถุดิบ รู้ว่าเขาเป็นใคร เอาเงินไปไหน เขาปลูกยังไง ตลาดนี้รวมของดีเยอะมาก เราได้ข้าว 7 สายพันธุ์มา หอมมาก เอามาทำขนมปัง เราทำเลมอนเคิร์ดจากเลมอนของพสุธารา ก็คุยกันกับไอศกรีมจินตะที่อยากจะเอาไปผสมกับไอติมดาร์กช็อกฯ มันคือการรวมกันเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ เป็นความชอบ เป็นความสนุก”

เธอเล่าด้วยสายตาเป็นประกายเมื่อยกตัวอย่างเพื่อนร่วมอุดมการณ์ในตลาดเดียวกัน เช่นเดียวกับนักกินที่แวะเวียนมาอุดหนุน ทั้งเจอหน้าค่าตากันในตลาด และคนที่สั่งกันเข้ามาผ่านช่องทางออนไลน์

“เราไม่รู้ว่ามันเกิดจากอะไร เรามีแต่ลูกค้าที่ดีสำหรับเรา มีคุณป้าที่กินอะไรแล้วก็รู้สึกไม่สบายตัว แต่เขาชอบขนมปังเรา เขาบอกว่าป้ากินแล้วรู้สึกดี เจอลูกค้าที่ซื้อไปฝากเพื่อนๆ ที่ปฏิบัติธรรมด้วยกัน เราว่าอาหารมันส่งต่อพลังงานกันได้ มันกลายเป็นขนมที่ดึงดูดคนน่ารักๆ เข้ามา”

โยคะให้หายใจให้เป็น ก่อนวันที่ไม่ต้องหายใจ

รอบๆ บ้าน เรามองเห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จากการเดินทางไปอินเดียสม่ำเสมอของเธอ และในบทสนทนา เธอก็บอกเล่าถึงประเทศนี้หลายครั้ง เช่นเดียวกับโยคะ การดูแลตัวเองที่เธอเลือกและปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ

“เราเริ่มสนใจโยคะเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ตอนนั้นเพิ่งเริ่มเป็นมะเร็ง คนที่เป็นระยะสุดท้ายมีปัจจัยที่จะทำให้ตายคือ 2 อย่างคือ น้ำท่วมปอด แล้วก็ติดเชื้อในกระแสเลือด นี่มันคือระยะสุดท้ายที่ต้องผจญเจอใช่ไหม เราอยากตายแบบมีสติ อยากหายใจเป็นก็เลยไปเรียนโยคะ เพราะถ้าเตรียมได้ เราอยากจะเตรียมเรื่องการหายใจ ไม่ได้อยากสะบักสะบอมไปแบบไม่รู้เรื่อง อยากหายใจเป็นเพื่อที่จะไปอย่างมีสติ”

เธอบอกว่าเธอเตรียมพร้อมที่จะตาย-อย่างไม่ฟูมฟายหรือดราม่า 

“มะเร็งคือโรคที่ดีสำหรับเรา เพราะเป็นโรคที่เปิดโอกาสให้เรามีเวลาจัดการ”

“เราไม่ได้รับมือหรือต่อสู้นะ มันเป็นเรื่องปกติมากเลย มันไม่เคยถึงจุดที่ ‘เป็นมะเร็งว่ะ เศร้าจัง’ ทุกคนก็ถามว่าดีลกับมันยังไง สู้กับมันยังไง เปล่านี่ ไม่ได้สู้ ก็ใช้ชีวิตไป ข้อดีคือมะเร็งของเรามันไม่ได้ปวด แต่บางคนเขาไม่สามารถอยู่อย่างเราได้ เพราะเขาปวด หรือเกิดอาการต่างๆ อะไรก็ตามแต่ เราจะบอกให้ทุกคนมาคิดแบบเราไม่ได้” เธอยอมรับว่าเธอโชคดีที่โรคนี้ไม่ใจร้ายกับเธอมากนัก

“ในอีกมุมหนึ่ง เราไม่เคยเสียดายหรือเสียใจกับที่ผ่านมา เพราะเรารู้ว่าทำเต็มที่แล้ว ถ้าจะเลือกอีกทาง ก็ต้องจัดการให้ได้ มันอยู่ที่สมดุลเลยนะ เคยไปบรรยาย 3 ชั่วโมงได้เงินเยอะกว่าทำขนมปังทั้งเดือน แต่เงินก็ไม่ได้ถึงบ้านนะ ซื้อต้นไม้ ซื้อนู่นนี่ ได้เยอะมันก็ใช้เยอะ พอรายได้เราน้อยลงมาก เราก็รู้ว่าเราควรซื้ออะไร ซื้อเท่าที่จำเป็น ใช้เท่าที่จำเป็น”

เมื่อถามเธอว่าแล้วเป้าหมายชีวิตในระยะสั้นๆ คืออะไร เธอส่ายหัวแล้วตอบว่าไม่มี

“มันอิ่มแล้ว ทำมาหมดทุกอย่าง เขียนคอลัมน์ เป็นอาจารย์ เป็นวิทยากร เป็นที่ปรึกษา เป็นทุกอย่างแล้ว วันที่เราเคยคิดว่าความรู้ที่เรามีมันช่วยคนอื่นให้มีอาชีพได้ตั้งเยอะ มาจนวันที่คิดว่าไม่มีเราเขาก็อยู่ได้ เขาก็ยังดำเนินชีวิตต่อไปได้ เราก็ควรมาทำชีวิตเราให้มันดี”

“ทุกวันนี้ได้ตื่นมามันก็โอเคแล้ว เพราะมันเคยมีไม่ตื่น พ่อแทบจะนิมนต์พระมา นอนหกโมงเย็น ตื่นอีกทีสี่โมงเย็น แปลว่าถ้าวันไหนตื่นมายังไหวอยู่ วันนั้นคือโอเคแล้ว ไม่ได้มีในหัวเลยว่าปีหน้าฉันจะขยายนู่นนี่นั่น ชีวิตวันต่อวัน ไม่มีอนาคตอันใกล้ ไม่ได้ขยายไลน์โปรดักต์ ถ้าอันใกล้มากๆ ก็ไป Greenery Market จะขายอะไรบ้าง 2 วัน 3 วันข้างหน้าจะทำอะไร เมื่อก่อนนี้ต้องมีแพลนจ้า ล่วงหน้า 2 เดือน 3 เดือน เดี๋ยวนี้ไม่มีจ้า แพลนเนอร์ไม่ต้องใช้”

แต่เมื่อถามว่าแล้วแฮปปี้ดีไหม เธอยิ้มกว้างแทนคำตอบ

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง