รู้มั้ยว่าต้นไม้ริมถนนที่เพิ่งเดินผ่านเมื่อเช้าคือต้นอะไร สวนสาธารณะที่ชอบไปวิ่งมีต้นไม้พันธุ์อะไรบ้าง ต้นไม้ใหญ่ปากซอยบ้านออกดอกตอนไหน หรือต้นที่เพิ่งถูกตัดจนโกร๋นเพราะสายไฟมาระรานคือต้นอะไรกันนะ
ไม่แปลกหรอกที่เราจะไม่รู้จักต้นไม้ที่เห็นกันอยู่ทุกวัน อาศัยร่มเงายามแดดร้อนทุกเที่ยง เพราะนอกจากต้นไม้ประจำชาติ ต้นไม้ประจำโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เราก็ดูจะไม่รู้จักต้นไม้มากไปกว่านั้น ยิ่งกับคนที่โตมาในเมืองและไม่รู้จะตีสนิทกับต้นไม้ยังไง ก็ยิ่งห่างไกลกันเข้าไปทุกที เราจึงอยากชวนทุกคนมาตีสนิทกับต้นไม้ใหญ่ ผ่านวิธีที่เป็นมิตรอย่างการกิน เพราะเมื่อเราได้รู้จักรส รู้จักอร่อย และรู้จักปรุง ต้นไม้เขียวๆ ยืนต้นนิ่งๆ ธรรมดา อาจกลายเป็นเพื่อนผู้แบ่งปันมื้อโปรดจนได้รับการเลื่อนขั้น เป็นต้นไม้แสนรักไปเลยก็ได้
ในวงเสวนา ‘กินผักอายุยืน โลกอายุยาว’ ที่บ้านชีววิถี ได้ข้อสรุปจากการแลกเปลี่ยนเรื่องการรักษาต้นไม้ใหญ่ให้ยืนต้นต่อไปผ่านการกินว่า
การที่จะทำให้คนส่วนใหญ่หันมาทำความรู้จักไม้ยืนต้นผ่านการกินนั้น มี 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ ความรู้ ความเชื่อมั่น และความอร่อย
นั่นคือต้องมีความรู้ก่อนว่าอะไรกินได้ อะไรกินดี อะไรกินอร่อย เลยรวมไปถึงรู้จักวิธีปรุงเพื่อได้รสชาติที่ดี และที่สำคัญ คือความเชื่อมั่นในทรัพยากรที่เรามีอยู่นั่นเอง
ชวนมากินต้นไม้
เราอาจจะคุ้นเคยกับการกินผัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้ล้มลุกอายุสั้นอย่างคะน้า กวางตุ้ง กะหล่ำปลี กะเพรา โหระพา แต่จริงๆ แล้วยังมีต้นไม้อีกมากมายที่เรากินได้และอร่อยด้วย เราจึงไม่จำเป็นต้องวนเวียนอยู่กับการกินผักหรือผลไม้ไม่กี่อย่างที่ขายอยู่ตามท้องตลาดหรือร้านอาหารตามสั่งเท่านั้น ลองเงยหน้าสูงๆ มองต้นไม้ใหญ่ หรือแม้กระทั่งลองเดินตลาดในโซนที่ไม่คุ้นเคย คุณอาจจะเจอแผงผักพื้นบ้านที่คัดสรรผลิตผลจากต้นไม้กินได้มาให้คุณได้ลิ้มลองในราคาย่อมเยา หากไม่รู้จะปรุงอย่างไรให้อร่อย ก็ลองถามแม่ค้า (หรือลูกค้าที่เลือกซื้ออยู่ข้างๆ ดู) นอกจากรู้วิธีกิน ยังได้เคล็ดลับก้นครัวมาอีกเพียบแน่นอน
ยอดสุดยอด: ลองนึกภาพร้านขนมจีนน้ำยาปักษ์ใต้ที่มีผักเหนาะเรียงรายให้เลือกไม่รู้กี่สิบชนิดสิ ในหลายๆ ชนิดนั้นคือผักใบจากไม้ยืนต้นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ยอดมะกอก เปรี้ยวๆ ฝาดๆ แก้เผ็ดดีนัก ใบยาร่วง (มะม่วงหิมพานต์) หอมๆ มันๆ เข้ากับน้ำพริกกะปิเป็นที่สุด ไหนจะ ใบเหลียง ผักไข่หรือต้มกะทิที่แทบไม่มีรสขมกวนลิ้น หรือ ยอดอีหล่ำ อันอวบอ้วนและมีรสหวาน เป็นผักที่แกงเลียงอร่อยเป็นที่สุด หรือจะลวกหรือผัดน้ำมันเหยาะเกลือนิดๆ ก็ดีเหมือนกัน
ขึ้นต้นด้วยอาหารใต้อาจทำหลายคนไม่คุ้น มาว่ากันถึงผักที่เราเห็นกันบ่อยๆ ในสำรับที่คุณย่าคุณยายชอบ แต่คุณลูกคุณหลานไม่ยอมลองกิน ไม่ว่าจะเป็น ยอดกระถิน จิ้มน้ำพริกก็เด็ด กินแนมหอยนางรมทรงเครื่องก็ดี ยอดขี้เหล็ก แกงกะทิหมูย่าง ยอดผักหวานป่า ที่ทำได้สารพัดเมนู ตั้งแต่แกงเลียง แกงส้ม ทอดแทนไข่ชะอม ต้มปลาสลิด หรือจะลวกทำยำรสจัดๆ ก็ช่วยให้เจริญอาหารดีนักแหละ
ดอกเด็ด: หลายคนอาจจะรู้จักดอกแคในแกงส้ม แต่กับ ดอกแคนา สีขาวทรงปากแตรน่ารักที่หลายบ้านปลูกเป็นไม้ประดับ กลับทิ้งให้ร่วงลงพื้นอย่างน่าเสียดาย เราจึงขอชวนให้เอามาลวกจิ้มน้ำพริก กินสด ใส่แกงอ่อม หรือยัดไส้หมูสับทำแกงจืดก็ได้ ดอกเสี้ยว สีแดงสดกินได้ทั้งยอดอ่อนรสมันกรอบเจือเปรี้ยว และดอกอ่อนรสมันก็กินสดๆ ได้เหมือนกัน แถมเอามาปรุงใส่แกงอ่อมน้ำใสก็ได้รสอร่อย ส่วน ดอกงิ้ว หลายคนอาจจะคุ้นกับขนมจีนน้ำเงี้ยวที่มีส่วนผสมของเกสรดอกงิ้วแห้ง แต่จริงๆ แล้วเราสามารถกินดอกงิ้วแบบสดๆ ก็ได้ จะลวกจิ้มน้ำพริก ใส่แกงส้ม แกงแค ได้ทั้งนั้น ดอกหมาก ก็จัดอยู่ในหมวดเดียวกัน บ้านใครมีหรือเดินเจอตามตลาด ควรหามาลองลิ้มชิมรสหวานๆ ของมันดูสักที
ฝักใฝ่: ฝักเพกา หรือลิ้นฟ้า ที่เป็นฝักยาวๆ สีเขียวอื๋ออาจดูไม่เป็นมิตรกับคนเกลียดรสขม ยิ่งเอาไปต้มยิ่งขมระดับกินไม่ได้ แต่ถ้าลองนำไปเผาให้เปลือกนอกไหม้ เนื้อในสุก แล้วขูดเปลือกออก รับรองว่าต้องเปลี่ยนใจถ้าได้กินคู่น้ำพริกแซ่บๆ รสขมนิดๆ (ภาษาโบราณเรียก ‘หร่อมๆ’) ของมันช่วยให้อร่อยกับน้ำพริกอีกหลายเท่าตัว ฝักกระถิน แกะเม็ดมาโรยส้มตำแซ่บๆ หรือขนมจีนน้ำยาช่วยเพิ่มทั้งเท็กซ์เจอร์และกลิ่นรสให้เอนจอยเข้าไปใหญ่ หรือของยอดฮิตกลิ่นแรงอย่าง สะตอ จะผัดกะปิ ผัดพริก หรือกินกับน้ำพริก ก็สะใจสายใต้ทั้งสิ้น
ผลดี: นอกจาก มะม่วง มะยม ขนุน ทำไม้ยืนต้นกินผลได้ที่เรารู้จักกันดีแล้ว ต้นไม้เขียวเขียวตามถนนหนทาง ยังมีผลจากต้นไม้ใหญ่ที่เราเอามากินได้ ปรุงรสดี และอร่อยด้วยอีกมากมาย อย่าง ลูกฉิ่ง หรือมะเดื่อป่า รสหวานอมฝาดที่ช่วยตัดรสเผ็ดจ้าของอาหารใต้ได้หรอยนักแหละ หรือจะเป็น มะแขว่น หรือพริกหอมรสเผ็ดท้องถิ่นของไทยที่เมล็ดแห้งของมันเอามาใช้เป็นเครื่องปรุงรสเผ็ดร้อนหอมทนของอาหารทางเหนือ หรือจะเป็น มะข่วง ที่คล้ายกันแต่ใหญ่กว่า เอามาทำยำและแกงหน่อไม้แบบทางเหนือถือว่าลำขนาด
กินรักษาโรคและโลก
นอกจากอิ่มท้อง อร่อยลิ้น การกินพืชพันธุ์เหล่านี้ยังให้ประโยชน์เชิงสุขภาพ เป็นเหมือนยาป้องกันและรักษาโรคไปด้วยในอิ่มเดียวกัน เพียงแต่มันไม่ถูกบอกเล่าให้ฟังดูใหญ่โตเหมือนซูเปอร์ฟู้ดยอดฮิต หากจะยกตัวอย่างพอให้เห็นภาพ ก็เช่นใบขี้เหล็กมีแคลเซียมสูง ส่วนดอกขี้เหล็กมีวิตามินซีสูงที่สุดในบรรดาผักผลไม้ไทย ฝักเพกาช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้ ดอกแคนาเป็นยาระบายอ่อนๆ และช่วยให้เจริญอาหารดีนัก
แต่ในอีกแง่หนึ่ง การที่เรากินเป็น กินอร่อย และเห็นคุณค่าของมันเกินจะถูกตัดโค่นลงเมื่อไหร่ก็ได้ เราก็จะช่วยยืดอายุให้ต้นไม้เหล่านั้น และสร้างพื้นที่สีเขียวให้โลกมากขึ้น
ภาพประกอบ: paperis